ท. เลียงพิบูลย์

ท. เลียงพิบูลย์

โดย : พงศกร

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ชาวพุทธเติบโตมากับหลักคำสอน เรื่องการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำบาปตกนรก ความละอายต่อบาป หากมาในช่วงหลังจากกึ่งพุทธกาล ดูเหมือนพุทธทำนายจะเริ่มเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ผู้คนไม่มีความเกรงกลัวต่อความผิดบาปใดๆ ศีลห้าข้อเป็นเรื่องที่คนในปัจจุบันหลงลืมไปเสียแล้ว โลกจึงวุ่นวายขึ้นทุกทีๆ

ท.เลียงพิบูลย์เป็นนามปากกาของทองหยก เลียงพิบูลย์

ปรากฏการณ์และความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ไม่พ้นไปจากสายตาของคุณทองหยก เลียงพิบูลย์ ผู้เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2444 ในครอบครัวที่ชอบทำบุญและปฏิบัติธรรม เด็กชายทองหยกเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม หลังจบการศึกษาก็ได้เข้าทำงานกับบริษัทต่างชาติหลายแห่ง จนสุดท้ายได้มาเปิดกิจการร้านขายอะไหล่รถยนต์เป็นของตนเอง

แน่นอนว่า เมื่ออยู่ในวัยหนุ่มแถมยังเป็นคนมีฐานะร่ำรวย คุณทองหยกจึงมีเพื่อนฝูงจำนวนมาก เขาชอบเที่ยวเตร่เฮฮาและดื่มสุราเป็นประจำ การดื่มสุราหนักอย่างต่อเนื่องทำให้คุณทองหยกล้มเจ็บลง จนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล

เป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารชั้นนำหลายฉบับ

ระหว่างพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คุณทองหยกหยุดหายใจไปถึงสองครั้ง ระหว่างนั้นเขาเชื่อว่าได้เดินทางไปในดินแดนที่อยู่ระหว่างความเป็นกับความตาย ได้เห็นเหตุการณ์ในภพภูมิอื่น เมื่อฟื้นขึ้นมาคุณทองหยกจึงเชื่อเรื่องนรก สวรรค์ และบาปบุญคุณโทษเป็นอย่างมาก เริ่มหันมาปฏิบัติธรรมและเขียนหนังสือเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับบาปบุญ เพื่อหวังให้คนได้อ่านแล้วจะได้มีสติในการดำรงชีวิต

ในช่วงแรกคุณทองหยกตั้งชื่อชุดหนังสือว่า ‘ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’

ในระยะแรก เขาเขียนเล่าเป็นเรื่องสั้นๆ เก็บเอาไว้ ตั้งใจจะนำมาพิมพ์เพื่อใช้เป็นของชำร่วยในงานแต่งงานของบุตรสาวคนที่สอง เมื่อปี พ.ศ. 2500 ใช้ชื่อเรื่องสั้นว่า ‘ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’ ภายใต้นามปากกา ‘ท. เลียงพิบูลย์’ ซึ่งมาจากชื่อจริง

แต่บุตรสาวของคุณทองหยกไม่ได้แจกหนังสือดังกล่าวในงานแต่งของเธอ เหตุเพราะรู้สึกว่าแปลก เนื่องจากในเวลาช่วงเวลานั้น พ.ศ. นั้น ยังไม่เคยมีการแจกหนังสือในงานมงคลสมรส

ท.เลียงพิบูลย์ได้ไปบรรยายเรื่องบุญกรรมและเขียนเรื่องสั้นมาตลอดชีวิตของท่าน

แม้หนังสือที่เขียนขึ้นไม่ได้เผยแพร่อย่างที่ตั้งใจ หากคุณทองหยกไม่หยุดเขียน

ทุกๆ วาระสำคัญเช่นปีใหม่ คุณทองหยกจะเขียนเรื่องสั้นใหม่ๆออกมาและพิมพ์แจกนักอ่าน

เขายังคงเขียนงานออกมาเรื่อยๆ และในปี พ.ศ. 2501 คุณทองหยกก็ได้ลงทุนพิมพ์หนังสือชุดเรื่องสั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ออกมาเอง เพื่อแจกในงานทอดกฐินที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ปรากฏว่าคนที่ได้รับไปอ่านแล้วชอบมาก มีการขออนุญาตพิมพ์เผยแพร่แจกตามงานกุศลต่างๆ ซึ่งคุณทองหยกได้อนุญาตโดยไม่เคยคิดเงิน

หนังสือกฏแห่งกรรมมีจำนวนหลายชุด
ได้รับความนิยมขอนำไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกในงานศพหลายครั้ง

ในระยะหลังเริ่มมีคนขอเพื่อนำไปพิมพ์แจกในงานศพ ซึ่งปรากฏว่าเป็นที่นิยมชมชอบเป็นอย่างมาก ในช่วงปี พ.ศ. 2505-2520 หนังสือชุด กฎแห่งกรรม นี้ได้รับการพิมพ์เผยแพร่มากมาย และคุณทองหยกก็เขียนตอนใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ

แรกเริ่มเดิมทีเขาตั้งใจจะเขียนแค่ 150 เรื่อง เพราะรู้สึกว่าตัวเองอายุมากแล้ว สายตาไม่ค่อยดี แต่มีคนเรียกร้องกันมาก จนคุณทองหยกต้องเขียนออกมาเรื่อยๆ จนได้ทั้งหมด 263 เรื่อง

กฏแห่งกรรมฉบับพิมพ์ล่าสุดโดยสำนักพิมพ์ธรรมสภา

เรื่องสั้นทั้งหมดในชุด กฎแห่งกรรม เขียนจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ประสบมาด้วยตนเอง แทรกข้อเท็จจริง เหตุการณ์จริง หรือบุคคลจริง เล่าถึงบาปบุญคุณโทษ การเวียนว่ายตายเกิด วิญญาณ การระลึกชาติ อดีตชาติ ชีวิตหลังความตาย การชดใช้กรรม เจ้ากรรมนายเวร และหลักกรรมตามการตีความของผู้เขียนหรือผ่านประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้พบมา

หนังสือกฏแห่งกรรม
กฏแห่งกรรม ฉบับที่กิ่งฉัตรพิมพ์แจกฟรีเป็นธรรมบรรณาการ

ความนิยมของเรื่องสั้นชุดกฏแห่งกรรม ทำให้สถานีโทรทัศน์ช่องเจ็ดขอลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นละครสั้นจบในตอนในปี พ.ศ. 2520 ซึ่งก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นำเสนออย่างต่อเนื่องยาวนานอยู่หลายปี หลังจากนั้นก็มีการนำมารีเมกอีกครั้งในปี พ.ศ. 2533 รวมถึงได้รับการทำเป็นหนังสือเสียงและบทละครวิทยุเผยแพร่ในวงกว้าง

นอกจากเรื่องชุดกฏแห่กรรม คุณทองหยกยังเขียนหนังสือธรรมะออกมาหลายเล่ม
นครแลลับอยุธยาแห่งความหลังและอดีตที่ผ่าน งานเขียนที่หาอ่านยากของ ท.เลียงพิบูลย์

คุณทองหยกมีความคุ้นเคยกับพระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม) วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 คุณทองหยกเคยคุยกับท่านและเขียนเรื่องสั้นอีกชุดหนึ่ง ชื่อ ‘นครแลลับอยุธยาแห่งความหลังและอดีตที่ผ่าน’ เล่าเรื่องราวของวิญญาณทหารแห่งอยุธยาเมื่อคราวเสียกรุง ปัจจุบันเป็นหนังสือที่หาอ่านได้ค่อนข้างยากแล้ว

คุณทองหยกเป็นคนอายุยืน ท่านเสียชีวิตลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. 2527

ทุกวันนี้หนังสือชุด กฎแห่งกรรม ของท่านยังสามารถหาอ่านได้ ล่าสุดสำนักพิมพ์ธรรมสภา ได้รวบรวมมาพิมพ์จนครบชุดทุกเรื่องเป็นหนังสือปกแข็งจำนวน 7 เล่มสวยงามน่าสะสม

Don`t copy text!