วาณิช จรุงกิจอนันต์

วาณิช จรุงกิจอนันต์

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

กระแสละคร ‘แม่เบี้ย’ ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ทำให้นึกถึงนักเขียนผู้สร้าง ‘เมขลา’ และ ‘ชนะชล’ ขึ้นมาในโลกวรรณกรรม ไม่ใช่แค่ละครเท่านั้นที่จะโด่งดัง เมื่อครั้งที่ ‘แม่เบี้ย’ ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร ลลนา ก็โด่งดังไม่แพ้กัน

วาณิช จรุงกิจอนันต์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ประเภทเรื่องสั้น พ.ศ. 2527

นวนิยายเชิงสัญลักษณ์ที่สะท้อนตัณหาและความรักใคร่ในก้นบึ้งจิตใจมนุษย์เรื่องนี้ เป็นบทประพันธ์ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2527 จากผลงานรวมเรื่องสั้น ‘ซอยเดียวกัน’

แม้จะเป็นที่รู้จักกันดีจากผลงานเรื่องสั้นและนวนิยาย แต่วาณิชเริ่มงานเขียนด้วยการแต่งกลอน ผลงานกลอนเรื่องแรกของเขาลงเผยแพร่ในนิตยสาร แม่บ้านการเรือน เมื่อปี พ.ศ. 2507

จดหมายถึงเพื่อน เป็นผลงานเขียนเรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้กับวาณิช จนเขาหันมายึดอาชีพนักเขียนอย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา

วาณิชเป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี จบการศึกษาจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีผลงานมากมาย เริ่มมีชื่อเสียงจากการเขียนบทความ ชื่อ ‘จดหมายถึงเพื่อน’ ลงพิมพ์ในนิตยสาร ลลนา ตอนนั้นวาณิชไปเรียนต่อที่อเมริกาแล้วเขียนบทความทำนองจดมายที่แฝงไปด้วยอารมณ์ขันส่งกลับมา ผลตอบรับจากนักอ่านนั้นดีมากๆ เมื่อเรียนจบกลับมาเมืองไทย วาณิชจึงหันมาทำงานเขียนอย่างเต็มตัว

แม่เบี้ย เป็นนวนิยาย erotic thrillers ที่โด่งดัง
แม่เบี้ยได้รับการสร้างเป็นละครและภาพยนตร์หลายครั้ง

วาณิชชอบเขียนเรื่องสั้นมากกว่า เขาเขียนนวนิยายเอาไว้ไม่มากนัก แต่ทุกเรื่องได้กลายมาเป็นละครและภาพยนตร์ สร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจให้กับวงการ ด้วยนวนิยายทุกเรื่องนั้นเล่าด้วยภาษาเรียบง่าย แฝงแนวความคิดที่ทรงพลังเอาไว้อย่างแนบเนียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของใครบางคนพยายามติดตามหาความรักที่แท้จริงใน ‘เคหาสน์ดาว’, เรื่องราวของความรัก คนรัก การพลัดพรากและการค้นพบใหม่ใน ‘ยามเมื่อลมพัดหวน’, เรื่องราวความลับอันดำมืด และจิตใจที่เต็มไปด้วยกิเลสคตัณหาใน ‘แม่เบี้ย’, ภาพการใช้แรงงานเด็กและกลุ่มคนชายขอบในนวนิยาย suspense เรื่อง ‘ตุ๊กตา’ และอีกมากมายหลายเรื่อง

ยามเมื่อลมพัดหวนเป็นนวนิยายรักโรแมนติก ใช้ฉากต่างประเทศเป็นหลัก
ยามเมื่อลมพัดหวนเคยสร้างเป็นละครหนึ่งครั้ง นำแสดงโดยลลิตา ปัญโญภาสและเจตริน วรรธนะสิน สองดาราดังในเวลานั้น
ตุ๊กตา เป็นบทประพันธ์ที่สะท้อนถึงเรื่องแรงงานเด็ก ผ่านการดำเนินเรื่องแนวลึกลับภูตผี
ละครเรื่องตุ๊กตาเป็นอีกเรื่องที่มีเรตติ้งสูงมาก

หลังจากเป็นนักเขียนเต็มตัว วาณิชเข้าทำงานประจำแผนกละคร บริษัทแกรมมี่เอนเทอร์เทนเมนท์ จำกัด ตลอดเวลาที่แกรมมี่ วาณิชได้สร้างสรรค์บทประพันธ์เพื่อไปสร้างละครและเป็นที่โด่งดังมากมายหลายเรื่อง เช่น บัลลังก์เมฆ, วังน้ำวน, สามหนุ่มสามมุม และ รักออกแบบไม่ได้ เป็นต้น น่าเสียดายที่เรื่องราวเหล่านี้เป็นงานที่เขียนขึ้นสำหรับสร้างเป็นละครโดยเฉพาะ ไม่มีบทประพันธ์รูปเล่มให้แฟนๆ ได้ติดตามอ่านกัน

ไอ้พวกสุพรรณ รวมเรื่องสั้นที่บ่งบอกถึงตัวตนวาณิช จรุงกิจอนันต์ได้เป็นอย่างดียิ่ง

วาณิชเป็นคนสุพรรณ เขาภูมิใจและรักในบางปลาม้าซึ่งเป็นบ้านเกิดของตัวเองมาก สังเกตได้จากงานเขียนและละครหลายเรื่องจะมีตัวละครเอกเป็นคนสุพรรณบุรี อย่างเช่น อาโป เพียงธาร ระริน สามสาวแห่งวังน้ำวน พวกเธอเป็นคนสุพรรณ เป็นเพื่อนรัก เรียนหนังสือมาด้วยกัน ก่อนจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ แล้วมาแตกกันในภายหลัง เป็นต้น

วาณิช จรุงกิจอนันต์ในอิริยาบถสบายๆ

มีคนบอกว่า หากอยากรู้จักตัวตนของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ แล้วล่ะก็ ให้ลองหารวมเรื่องสั้นชุด ‘ไอ้พวกสุพรรณ’ มาอ่าน แล้วจะเห็นเงาของวาณิชแทรกอยู่ในหลายบทหลายตอนของเรื่องราวทั้งหมดในหนังสือเล่มนั้น

หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพวาณิช จรุงกิจอนันต์

วาณิช จรุงกิจอนันต์ มีครอบครัวที่อบอุ่น มีบุตรสามคน

เขาล้มป่วยลงอย่างกะทันหันด้วยโรคลูคีเมีย และเสียชีวิตในวัยเพียง 61 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2553

รูปปั้นของวาณิชที่วัดแค จังหวัดสุพรรณบุรี

คนสุพรรณบุรี สร้างรูปปั้นของเขาเป็นที่ระลึกถึง ปัจจุบันรูปปั้น วาณิช จรุงกิจอนันต์ อยู่ที่วัดแค เป็นตัวแทนถึงคนสุพรรณบุรีที่มีความสามารถ และสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดอย่างน่าภาคภูมิใจ

Don`t copy text!