ดอกไม้สด

ดอกไม้สด

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

เมื่อญาติของวิมลเอ่ยปากขอเสื้อโดยไม่ได้รู้สึกเกรงใจ วิมลก็ยอมยกให้ไปและเอ่ยว่า

“ก็คนมันหน้าด้านขอ ใครจะหน้าด้านพอที่จะไม่ให้”

ซึ่งประโยคนี้ก็กลายมาเป็นประโยคอมตะในเวลาต่อมาที่นักอ่านนวนิยายเรื่อง ‘ผู้ดี’ ทุกคนจะต้องจำได้

ผู้ดี เป็นบทประพันธ์ของ ‘ดอกไม้สด’ ที่ได้รับเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนไทย ทำให้คนไทยจำนวนมากได้รู้จักดอกไม้สด ผ่านจากบทประพันธ์เรื่องนี้

ดอกไม้สดเป็นนามปากกาของ มล.บุปผา กุญชร หรือมล.บุปผา นิมมานเหมินทร์

ผู้ดี เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2480 เป็นผลงานประพันธ์ในช่วงท้ายๆ ของดอกไม้สด เขียนขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 5 ปี สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นและผู้คนในสังคมช่วงเวลานั้นผ่านชีวิตของวิมลผู้เป็นธิดาของพระยาอมรรัตน์ฯ ซึ่งต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำครอบครัว เมื่อท่านบิดาสิ้นชีวิตลงโดยกะทันหัน

นวนิยายเรื่องผู้ดี ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปีพ.ศ. 2480
นวนิยายเรื่องผู้ดี ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง

ดอกไม้สดเป็นนามปากกาของ ม.ล. บุปผา กุญชร เธอเป็นธิดาลำดับที่ 31 ของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) และหม่อมมาลัย เริ่มเขียนนวนิยายเมื่ออายุได้ 20 ปี นวนิยายเรื่องแรกของเธอคือ ‘ศัตรูของเจ้าหล่อน’ ลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ ไทยเขษม ในช่วงแรกๆ ของชีวิตการประพันธ์ นวนิยายของดอกไม้สดเป็นแนวพาฝันกึ่งสมจริง เป็นนักเขียนนวนิยายผู้หญิงรุ่นแรกๆ ที่เขียนงานออกมาในแนวนี้ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะเห็นได้ชัดว่าแนวความคิดของดอกไม้สดเริ่มเปลี่ยนไป ใน ‘สามชาย’ นวนิยายที่เขียนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงหนึ่งปี ดอกไม้สดเขียนให้ รัตน์ ปวุตติกุล พระเอกของเรื่องเลือกอาชีพค้าขาย แทนที่จะสมัครเป็นข้าราชการตามแบบค่านิยมในเวลานั้นที่ต้องการให้บุตรหลานรับราชการ รัตน์ได้รับการต่อต้านทั้งจากญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ พยายามก่อร่างสร้างตัวจนประสบความสำเร็จ จุดสูงสุดของเรื่องอยู่ที่ตอนท้ายที่รัตน์ได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิกสโมสรสันนิบาต ซึ่งจะรับแต่ข้าราชการและบุตรหลานของผู้ดีเท่านั้น แสดงให้เห็นการยอมรับจากสังคมว่ารัตน์ก็เป็นผู้ดีเหมือนพวกเขา

นวนิยายของดอกไม้สดอ่านยากสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะสำนวนภาษาออกจะไม่คุ้นหู และการดำเนินเรื่องเป็นไปตามขนบของนวนิยายในสมัยนั้น คือ เรียบเรื่อย ไม่หวือหวา ไม่มีตบกัน ไม่มีเลิฟซีนร้อนแรง

นวนิยายเรื่องหนึ่งในร้อย ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปีพ.ศ. 2477

คนไทยคุ้นกับชื่อดอกไม้สดเป็นอย่างมาก เพราะเรื่องสั้น อัวรานางสิงห์ ได้รับการบรรจุในหนังสือเรียนภาษาไทย นวนิยายเรื่อง ผู้ดี ได้รับเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา และนวนิยายเรื่อง หนึ่งในร้อย ได้รับเลือกให้เป็นหนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน เมื่ออายุครบชาตกาลในปี พ.ศ. 2548 สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยก็จัดงานฉลองใหญ่โต รวมถึงไปรษณีย์ไทยก็นำภาพถ่ายของดอกไม้สดไปทำเป็นแสตมป์ที่ระลึกอีกด้วย

แสตมป์ 100 ปีนักเขียนไทย มีภาพดอกไม้สดเป้นนักเขียนสตรีคนเดียวในชุด

การจัดให้ ผู้ดี เป็นหนังสือนอกเวลาสำหรับนักเรียน ในมุมมองส่วนตัวแล้วเหมือนดาบสองคม  ข้อดีคือนักเรียนได้อ่านวรรณกรรมคลาสสิก แต่ข้อเสียคือคนอ่านอาจรู้สึกว่านี่คือยาขม รู้สึกเหมือนถูกบังคับ เลยพลอยจะไม่ชอบอ่าน และไม่อยากหยิบนวนิยายเรื่องอื่นๆ ของดอกไม้สดขึ้นมาอ่านกัน เพื่อนที่รู้จักหลายคนรู้สึกเช่นนี้

ดอกไม้สดออกงานร่วมกับสามี ที่สถานทูตไทยในอินเดีย
สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำอินเดีย ณ กรุงนิวเดลี

แต่ถ้าเราเอาชนะความยากของภาษา และความเรียบเรื่อยของเนื้อเรื่องไปได้แล้ว จะพบเพชรที่มีซุกซ่อนอยู่ในนวนิยายทุกเรื่องของดอกไม้สด และเรียนรู้จักกับความเปลี่ยนแปลงของชีวิตผ่านตัวละครทั้งหลาย

ศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินทร์

ดอกไม้สดเคยคิดเอาไว้ว่าจะไม่แต่งงาน แต่สุดท้ายเธอได้สมรสกับศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย นักการเมือง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงเศรษฐการ

ดอกไม้สดกับแขกที่มาเยือนสถานทูตไทย

ดอกไม้สดเขียนนวนิยายเอาไว้ 12 เรื่อง และรวมเรื่องสั้นอีกสองเรื่อง นวนิยายเรื่องสุดท้ายชื่อ ‘วรรณกรรมชิ้นสุดท้าย’ เขียนไว้ไม่จบ เล่าเรื่องราวความขัดแย้งทางสังคมระหว่างกลุ่มสนับสนุนฮิตเลอร์ ญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะ กับกลุ่มสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร ผ่านตัวละครจากนวนิยายเรื่อง ‘นี่แหละโลก’ ที่นำกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งในเรื่องนี้ น่าเสียดายที่ดอกไม้สดเสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวาย ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำอินเดีย ณ กรุงนิวเดลี หลังจากเพิ่งลงมือเขียนไปได้แค่สองตอน

นวนิยายเรื่องสุดท้ายที่ดอกไม้สดเขียนไม่จบ

เพราะไม่ได้ตั้งชื่อนวนิยายเรื่องนี้เอาไว้ เมื่อสำนักพิมพ์นำมาพิมพ์รวมเล่ม จึงเรียกชื่อนวนิยายเรื่องนี้ว่า ‘วรรณกรรมชิ้นสุดท้าย’

 

Don`t copy text!