ลอรา อิงกัลส์ ไวล์เดอร์
โดย : พงศกร
อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรมไทย
*************************
– ลอรา อิงกัลส์ ไวล์เดอร์ –
แม้จะเป็นนักเขียนอเมริกัน แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้จักและโตมากับวรรณกรรมชุด บ้านเล็กในป่าใหญ่ ผลงานของลอรา อิงกัลส์ ไวล์เดอร์ เวอร์ชันภาษาไทยแปลกันไว้หลายสำนวนมาก ที่รู้จักกันแพร่หลายก็คือสำนวนของสุคนธรส หรือ ม.ล. รสคนธ์ อิศรเสนา
บ้านเล็กในป่าใหญ่ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการบุกเบิกอเมริกาผ่านครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่ง ผ่านการบอกเล่าของเด็กหญิงตัวเล็กๆ ซึ่งก็คือตัวผู้เขียนเอง เราจะได้เห็นความวิริยะอุตสาหะ ความอดทน ความเพียรเป็นอย่างมาก ครอบครัวเล็กๆ แห่งนี้ต้องย้ายบ้านครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดี กว่าครอบครัวเล็กๆ จะผ่านความยากลำบากมาได้ก็เป็นเวลาหลายปี ได้เห็นการเติบโตของอเมริกาว่ามีรากฐานอย่างไร กว่าจะมายิ่งใหญ่อย่างในวันนี้
บ้านเล็กในป่าใหญ่ จึงเปรียบเสมือนบันทึกทางสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ลอราเล่าถึงอาหารการกิน การเดินทาง สภาพของป่า ดอกไม้ ต้นไม้ ให้รายละเอียดได้ชัดเจนมาก โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่ลอราบรรยายเอาไว้ละเอียดจนเราแทบจะได้กลิ่นหอมตามไปด้วย ร้านอาหารในอเมริกาบางร้านถึงกับมีเมนูพิเศษ มีรายการอาหารแบบที่ลอรากล่าวไว้ในหนังสือ ให้ลูกค้าได้ลองรับประทานอาหารตามรอย บ้านเล็กในป่าใหญ่ กันเลยทีเดียว
ลอราเริ่มเขียน บ้านเล็กในป่าใหญ่ ในปี พ.ศ. 2473 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ธุรกิจฟาร์มของลอราได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันในช่วงปีนั้นลอรากำลังตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าเป็นอย่างมาก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเสียชีวิตของคาโรไลน์ผู้เป็นมารดาในปี พ.ศ. 2467 และแมรีพี่สาวคนโตในปี พ.ศ. 2472
ลอราตัดสินใจลุกขึ้นมาเขียนบันทึกความทรงจำในวัยเด็ก หวังว่านั่นจะช่วยเยียวยาใจของเธอได้บ้าง ลอราให้ชื่อหนังสือบันทึกความทรงจำนั้นว่า ‘ เมื่อคุณย่ายังเด็ก’ หรือ When Granma was a Little Girl
หลังจากเขียนเสร็จเรียบร้อย ลอราพบว่างานเขียนเยียวยาใจของเธอได้จริง
การเขียนถึงเรื่องราวความสุขในอดีตช่วยให้เธอคลายเศร้า ลอราลองเอาต้นฉบับให้ โรส ไวล์เดอร์ ลูกสาวคนเดียวของเธอซึ่งทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์อ่านดู โรสพบว่ามันเป็นบันทึกกึ่งอัตชีวประวัติที่น่าสนใจมาก เธอนำต้นฉบับไปให้บรรณาธิการของเธออ่าน เขารู้สึกว่าเป็นเรื่องเล่าที่น่าสนใจมาก แต่สั้นไปหน่อย จึงแนะนำให้ลอราขยายความเขียนให้ยาวขึ้น พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ หรือ Little House in the Big Woods และหนังสือเล่มแรกของชุดก็ได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2478 ซึ่งประสบความสำเร็จในแทบจะทันทีที่วางจำหน่าย ส่งผลให้ลอราต้องเขียนตอนต่อออกมาอีกเจ็ดเล่ม
ลอราเขียนงานอื่นๆ เอาไว้ไม่มาก นอกจาก บ้านเล็กในป่าใหญ่ แล้วก็มีบทความเบ็ดเตล็ดที่สำนักพิมพ์จัดมารวมเล่มในภายหลัง ความยิ่งใหญ่ของ บ้านเล็กในป่าใหญ่ ทำให้สมาคมห้องสมุดอเมริกันนำชื่อของเธอมาตั้งเป็นชื่อรางวัลลอรา อิงกัลส์ ไวล์เดอร์ สำหรับมอบให้กับวรรณกรรมเยาวชนที่มีความโดดเด่น มีนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนหลายคนได้รับรางวัลนี้ เช่น อีบี ไวต์ เจ้าของเรื่อง แมงมุมเพื่อนรัก, เบเวอรี เคลียร์รี เจ้าของเรื่องชุด ราโมนา เป็นต้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 สมาคมห้องสมุดอเมริกันมีมติเปลี่ยนชื่อรางวัลจากลอรา อิงกัลส์ ไวล์เดอร์ เป็นรางวัล Children’s Literature Legacy Award แทน ด้วยเหตุผลที่ว่างานเขียนของลอรามีความไม่เหมาะสมหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องของการเหยียดชาติพันธุ์กลุ่มชนพื้นเมืองอย่างอินเดียนแดง
ยกตัวอย่างเช่น ในเล่ม ‘บ้านเล็กในทุ่งกว้าง’ ฉบับภาษาอังกฤษมีข้อความว่า “The only good Indian is a dead Indian” หรืออินเดียนแดงที่ดีมีแต่อินเดียนแดงที่ตายแล้วเท่านั้น ในหนังสือเล่มแรกของชุด บทแรกก็มีประโยคเปิดเรื่องว่า ลอร่าอาศัยอยู่ในดินแดนที่ “ไม่มีบ้าน ไม่มีถนน ไม่มีมนุษย์ มีแต่อินเดียนแดงและสัตว์ป่า” ซึ่งในมุมของนักมานุษยวิทยาเห็นว่าเป็นการดูหมิ่นชาติพันธุ์อย่างรุนแรง ในบ้านเล็กฯฉบับหลังๆ นี้จึงตัดคำว่าอินเดียนแดงออกไป เพื่อลดทอนความรุนแรงในความรู้สึกของผู้อ่านลง
อย่างไรก็ตาม มีนักอ่านและบรรณารักษ์จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อรางวัล พวกเขามีคิดว่าลอราเกิดและเติบโตขึ้นในช่วงเวลาที่คนผิวขาวคิดอย่างนั้นกับชนพื้นเมือง และเธอก็แค่บันทึกทุกสิ่งที่เธอพบเห็น สิ่งที่ผู้คนในห้วงเวลาดังกล่าวนึกคิดลงไปในงานเขียนของเธอเท่านั้น ในเวลาที่ลอรามีชีวิตอยู่ ไม่มีคำว่า Racism หรือเหยียดชาติพันธุ์ด้วยซ้ำไป
ลอราเสียชีวิตในวัย 90 ปีอย่างสงบที่บ้านของเธอในรัฐมิสซูรี จากโรคเบาหวานและโรคหัวใจ ทิ้งวรรณกรรมเรื่องยิ่งใหญ่และข้อถกเถียงมากมายไว้เบื้องหลัง แต่สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนปฏิเสธไม่ได้ก็คือความยิ่งใหญ่ของ บ้านเล็กในป่าใหญ่ ที่ครองใจของผู้คนมาอย่างเนิ่นนาน
- READ ชินจิ วาดะ
- READ ชาร์ลส ดิกเกนส์
- READ แขไข เทวินทร์
- READ โรอัลด์ ดาห์ล
- READ ร.จันทพิมพะ
- READ กาญจนา นาคนันทน์
- READ เจน ออสเตน
- READ คำพูน บุญทวี
- READ เอ เอ มิลน์
- READ โกวเล้ง
- READ ดวงดาว
- READ สุริยฉัตร ชัยมงคล
- READ อกาธา คริสตี้
- READ บาร์บารา คาร์ทแลนด์
- READ บุษยมาส
- READ สรจักร
- READ เบียทริกซ์ พอตเตอร์
- READ วาณิช จรุงกิจอนันต์
- READ ริชาร์ด อดัมส์
- READ เจ้าฟ้ากุ้ง
- READ น้ำอบ
- READ เจ้าฟ้ากุณฑล – เจ้าฟ้ามงกุฎ
- READ เท็ตสุกะ โอซามุ
- READ ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เนตต์
- READ เพ็ญพิมล ธัมมรัคคิต
- READ ท. เลียงพิบูลย์
- READ อี. บี. ไวต์
- READ ลพบุรี
- READ โดโรธี ดานีลส์
- READ คุณพุ่ม
- READ โดโรธี อีเดน
- READ จรัสพร
- READ ริชาร์ด แมทธีสัน
- READ สุภาว์ เทวกุลฯ
- READ วิลเลียม เชคสเปียร์
- READ กิมย้ง
- READ สุวรรณี สุคนธา
- READ เหม เวชกร
- READ ลิวอิส แครอล
- READ เพิร์ล เอส บั๊ค
- READ ศรีฟ้า ลดาวัลย์
- READ รัดยาร์ด คิปลิง
- READ พระนางเธอลักษมีลาวัณ
- READ ซี. เอส. ลิวอิส
- READ พิมล กาฬสีห์
- READ จินตนา ปิ่นเฉลียว
- READ มากาเร็ต มิตเชลล์
- READ สันต์ เทวรักษ์
- READ เอมิลี่ บรองเต้
- READ อ.ไชยวรศิลป์
- READ บรรจบ พันธุเมธา
- READ มารี คอเรลลี
- READ แอล แฟรงค์ โบห์ม
- READ ดอกไม้สด
- READ เอโดงาวะ รันโป
- READ น.ม.ส
- READ วิกตอเรีย โฮลต์
- READ อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูว์เปรี
- READ อ.สนิทวงศ์
- READ จันตรี ศิริบุญรอด
- READ ลอรา อิงกัลส์ ไวล์เดอร์
- READ น้อย ชลานุเคราะห์
- READ ไอแซก ไดนีเสน
- READ ศุภร บุนนาค