มารี คอเรลลี

มารี คอเรลลี

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

โลกในยุควิกตอเรียน หรือปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อต้นรัชกาลที่ 6 ดูเหมือนกับจะเป็นโลกของบุรุษ สตรีมีหน้าที่และบทบาทเป็นเพียงแม่บ้าน คอยดูแลความเป็นอยู่ให้กับสามีและลูกๆ การที่ผู้หญิงสักคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาเป็นนักเขียนจึงเป็นเรื่องที่ออกจะท้าทายสังคมอยู่ไม่น้อย

แมรี่ เมคเคย์ หรือ มารี คอเรลลี

แต่ มารี คอเรลลี โนสน โนแคร์

ฉันชอบเขียน ฉันก็จะเขียน ใครจะวิจารณ์ก็วิจารณ์ไป

แถมงานเขียนของ มารี คอเรลลี ยังสร้างปรากฏการณ์ยอดขายถล่มทลายแทบทุกเรื่องเสียด้วยสิ เล่นเอาบรรดานักวิจารณ์หัวร้อนไปตามๆ กัน

สมัยนั้นนักวิจารณ์มีอิทธิพลทางความคิดของนักเขียนมาก นักเขียนดังๆ หลายคนยอมเปลี่ยนสไตล์ตัวเอง เพื่อให้นักวิจารณ์ชื่นชม

แต่นั่นไม่ใช่มารี

ภาพวาดมารีกับสุนัขตัวโปรดของเธอ

เธอเขียนสิ่งที่เธออยากเขียน ยิ่งมารีดังนักวิจารณ์ก็ยิ่งตามจิก หลายคนไม่ยอมรามือ แต่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในเนื้อหา หลายคนไม่เชื่อว่าเธอเขียนเอง หลายคนวิจารณ์ด้วยอคติ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็เข้าได้กับคำกล่าวที่ว่ายิ่งด่าก็ยิ่งดัง ยิ่งนักวิจารณ์กระหน่ำโจมตีมารีมากเพียงใด หนังสือของเธอก็ยิ่งขายดีมากขึ้น บุคคลสำคัญผู้มีชื่อเสียงในเวลานั้นจำนวนมากเป็นแฟนนักอ่านของมารี ไม่เว้นแม้แต่สมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษ

สมเด็จพระราชินีทรงประทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำกับมารีเป็นการเฉพาะด้วย และนั่นทำให้มารียิ่งดัง เพราะแม้แต่พระราชินียังทรงอ่านและเก็บสะสมงานของเธอ

มารี คอเรลลี คือนามปากกาของ แมรี่ แมคเคย์

มารีในวัยสาว

เธอเป็นธิดาของ เอลิซาเบธ มิลล์ ผู้เป็นแม่บ้านของ ดอกเตอร์ชาร์ลส แมคเคย์ กวีชื่อดังชาวสกอต ไม่มีบันทึกปรากฏชัดเจนว่าบิดาของหนูน้อยแมรี่คือใคร แต่ชาวบ้านก็เล่าลือกันว่าบิดาของแมรี่ ที่จริงก็คือดอกเตอร์ชาร์ลสนั่นละ ไม่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ดอกเตอร์ชาร์ลสก็จดทะเบียนรับแมรี่เป็นบุตรบุญธรรม และส่งเสียให้ร่ำเรียนเขียนอ่านจนแมรี่มีความรอบรู้สูงกว่าสตรีในยุคเดียวกัน และนี่ก็เป็นพื้นฐานที่ทำให้เธอกลายเป็นนักเขียนในเวลาต่อมา

มารีในบ้านของเธอ

กว่าที่นวนิยายเรื่องแรกของ มารี คอเรลลี คือ The Romance of Two World ตีพิมพ์ออกมาในปี พ.ศ. 2429  ก็ต้องผ่านเส้นทางวิบากพอสมควร เมื่อสำนักพิมพ์ต่างๆ พากันปฏิเสธ บางสำนักพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์ทำนองว่าเขียนแบบนี้ควรจะเลิกเขียนไปเสีย แต่มารีก็ไม่ย่อท้อ สุดท้ายนวนิยายเรื่องแรกในชีวิตของเธอก็ได้ตีพิมพ์ออกมาในที่สุด และแน่นอนว่าทันทีที่ออกวางจำหน่าย ก็กลายเป็นหนังสือติดอันดับขายดีในทันที เล่นเอาสำนักพิมพ์ที่ก่อนหน้าเคยปฏิเสธถึงกับกระอักด้วยความเจ็บใจ

จากนวนิยายเรื่องแรก มารีก็ทำงานเขียนอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 25 เรื่อง ทุกเรื่องประสบความสำเร็จมากน้อยแตกต่างกันออกไป แต่ไม่มีเล่มไหนที่ไม่ติดอับดับขายดีเลย

งานเขียนของมารีเป็นที่ถูกอกถูกใจนักอ่านมาก เพราะเล่าเรื่องราวลึกลับแนวจิตวิญญาณที่คนอ่านตื่นเต้น เช่น กงเกวียน เล่าถึงนางรำคนโปรดที่ถูกฟาห์โรฝังทั้งเป็นเพื่อให้เธอเฝ้าสมบัติของเขา ต่อมาวิญญาณของนางรำกลับมาทวงความแค้น ต้องการเอาชีวิตของเขาไปเฝ้าสมบัติแทนเธอ หรือใน อานุภาพพิศวง มารีเล่าถึงอากาศยานประหลาดที่บินไปในอากาศได้เหมือนกับนก แถมยังมีอาวุธประหลาดเป็นรังสีที่ทรงพลัง ทั้งๆ ที่ในเวลานั้น โลกของเรายังไม่มีเครื่องบินและยังไม่มีระเบิดนิวเคลียร์ เป็นต้น

อมราวดี นักแปลคู่บุญของมารี คอเรลลี

นวนิยายของมารีไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักของคนอังกฤษเท่านั้น แต่ยังได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ อีกมากมาย สำหรับภาษาไทยก็ได้รับการแปลออกมาหลายเรื่อง เช่น กงเกวียน (Ziska), อานุภาพพิศวง (The Secret Power), ขุนคลัง (The Sorrow of Satan), คนหลงโลก (The Mighty Atom), นางแก้ว (The Murder of Delicia) เป็นต้น งานเกือบทุกเรื่องของมารีได้รับการแปลโดย ‘อมราวดี’ นักแปลอาวุโสของไทย แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่แปลโดยนักแปลคนอื่นๆ เช่น เต็ลมา เจ้าหญิงแห่งนอร์เวย์ โดย แม่วัน และแปลใหม่ล่าสุดโดย ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร

Vendetta นวนิยายเรื่องดังของมารี
ฉบับแปลชื่อความพยาบาท โดย แม่วันหรือพระยาสุรินทราชา

เรื่องที่ดังที่สุดของมารีในบ้านเรา เห็นจะไม่พ้นเรื่อง ความพยาบาท หรือ Vendetta ซึ่งได้รับการแปลโดยแม่วัน หรือพระยาสุรินทราชา ว่ากันว่าเป็นนวนิยายแปลเรื่องแรกของประเทศไทยก็ว่าได้ อิทธิพลของ ความพยาบาท ทำให้มีการนำไปสร้างเป็นละครเวทีโดยคณะปรีดาลัย ตั๋วขายดิบขายดีจนต้องเพิ่มรอบการแสดงไปอีกหลายสิบรอบ

เต็ลมา อีกหนึ่งในเรื่องดังของมารี คอเรลลี

เต็ลมา ก็คืออีกหนึ่งเรื่องดัง เป็นนวนิยายรักอ่อนหวานระหว่างสาวชาวนากับขุนนางหนุ่มชาวอังกฤษในนอร์เวย์ ดินแดนแห่งพระอาทิตย์เที่ยงคืน เต็ลมา เป็นนวนิยายพาฝันที่สาวๆ ชื่นชอบกันมาก และได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์หลายครั้งเช่นกัน

ปัจจุบัน หนังสือแปลของ มารี คอเรลลี ออกจะหาอ่านยากแล้ว ต้องตามหาจากร้านหนังสือเก่า หากมีโอกาสอยากชวนให้ลองเสาะหามาอ่านกันดู แล้วจะทึ่งในความคิดของสตรีในยุครัชกาลที่ 5 ว่ามีจินตนาการที่ล้ำยุคล้ำสมัยอย่างไม่น่าเชื่อ

แม้งานเขียนของ มารี คอเรลลี จะประสบความสำเร็จสูง แต่ชีวิตส่วนตัวของเธอกลับตรงกันข้าม

คฤหาสน์ของมารี คอเรลลี

มารีพบความผิดหวังในความรักครั้งแล้วครั้งเล่า ชายคนแรกที่เธอตกหลุมรักคือพี่ชายต่างมารดา ที่เป็นความรักต้องห้าม จากนั้นก็มีชายหนุ่มอีกหลายคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของมารี

ที่พำนักสุดท้ายของมารี คอเรลลีที่ Stratford – Upon – Avon
Stratford – Upon – Avon เมืองชนบทที่งดงามและอากาศดี

ชีวิตบั้นปลายของมารีเต็มไปด้วยความอ้างว้าง เธอซื้อคฤหาสน์โบราณที่สแตรทฟอร์ด-ออน-เอวอน และอยู่อย่างเดียวดายหลังจากที่เซเวิร์นชายคนรักทิ้งเธอกลับไปหาคนรักเก่าของเขา

เบอร์ธา วีเวอร์ มิตรแท้ที่อยู่กับมารีจนวาระสุดท้าย

มารีล้มป่วยลงและถึงแก่กรรมอย่างสงบที่คฤหาสน์ในปี พ.ศ. 2467 โดยมีเพียงเพื่อนสนิทที่เป็นสุภาพสตรีชื่อ เบอร์ธา วีเวอร์ อยู่เคียงข้าง

มารียกสมบัติทั้งหมดของเธอรวมถึงลิขสิทธิ์ของนวนิยายทุกเรื่องให้กับเบอร์ธา ผู้อยู่กับเธอจนวาระสุดท้าย

Don`t copy text!