ชาร์ลส ดิกเกนส์

ชาร์ลส ดิกเกนส์

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

 

ทุกๆ วันคริสต์มาส เราทุกคนมักจะหวนรำลึกถึงรอบปีที่ผ่านมาว่าได้ทำสิ่งใดไปบ้าง อะไรดีงาม อะไรผิดพลาด ก่อนจะมองปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง หลายคนนึกย้อนถึงสิ่งต่างๆ ที่เราได้ทำไป ลิ่งที่เราปรารถนาจะทำในปีหน้า และแน่นอนในช่วงเวลาคริสต์มาส เรามักนึกถึงเสียงเพลง ของขวัญ การเฉลิมฉลอง รวมถึงนึกถึงบรรดานิทาน เรื่องเล่าต่างๆ ซานตาคลอส อากาศที่หนาวยะเยือก ความสุข และสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ รวมถึงเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่ตรึงใจคนทั่วโลก ให้นึกถึงแง่มุมงดงามในใจของมนุษย์ นั่นคือ A Christmas Carols ของ ชาร์ลส ดิกเกนส์

ชาร์ลส ดิกเกนส์ มีชื่อเต็มว่า Charles John Huffam Dickens

A Christmas Carols หรือ กำนัลแห่งคริสต์มาส ในฉบับแปลภาษาไทย เรื่องราวของคุณสครูจ นายธนาคารผู้มั่งคั่ง แต่ลึกๆ เป็นคนเลือดเย็นและละโมบโลภมาก สครูจเกลียดคริสต์มาสเป็นอย่างมาก เพราะเขาเป็นคนโดดเดี่ยว ไม่มีครอบครัว ไม่มีใครรัก แต่ถึงแม้จะไม่มีใครรัก… แล้วไงใครแคร์ เขามีเงินทองมากมายจนใครๆ อิจฉา จนกระทั่งในวันคริสต์มาสปีหนึ่ง สครูจได้พบกับวิญญาณของเพื่อนเก่าและภูตแห่งคริสมาสต์ทั้งสาม ที่ทำชีวิตของมหาเศรษฐีขี้เหนียวต้องแปรเปลี่ยนไปในชั่วข้ามคืน

ภาพวาดชาร์ลส ดิกเกนส์ ขณะกำลังเขียนงาน

A Christmas Carols ทำงานกับจิตใจมนุษย์ ความรู้สึกภายใน ความเมตตา ความกรุณาปราณี จึงไม่แปลกใจที่ A Christmas Carols กลายเป็นวรรณกรรมคลาสสิกของโลก ที่เล่าขานกันมาจนถึงทุกวันนี้ และคงจะเล่าต่อไปไม่รู้จักจบสิ้น ตราบใดที่มนุษยชาติยังมีการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสกันอยู่

บ้านเกิดของดิกเกนส์ที่เมือง Portsmouth ประเทศอังกฤษ

ตอนเขียน A Christmas Carols เราไม่รู้ว่า ชาร์ลส ดิกเกนส์ กำลังคิดอะไรอยู่ เขาจะมีญาณหยั่งรู้หรือไม่ว่า วรรณกรรมจากปลายปากกาของเขาจะโด่งดังเป็นที่รู้จักของผู้คนมากมายขนาดนี้

โอลิเวอร์ ทวิสต์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก
The Tale of Two cities ฉบับพิมพ์ครั้งแรก
The Great expectation ฉบับพิมพ์ครั้งแรก

ชาร์ลสเขียนเรื่องนี้ขึ้นในวันเวลาที่อังกฤษกำลังเผชิญกับอากาศที่หนาวเย็น มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของชนชั้น ครอบครัวเศรษฐีได้เฉลิมฉลองคริสต์มาสกันอย่างมีความสุข ได้กินอาหารดีๆ ดื่มไวน์ราคาแพง ขณะที่ยังมีเด็กยากจน ไร้บ้าน ไร้ครอบครัว เร่ร่อนอยู่บนท้องถนนอีกมากมาย และเขาสะท้อนให้เห็นถึงความจริงในใจของมนุษย์ว่า ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีหรือยาจก ไม่ว่าจะยากหรือดี มีหรือจน สุดท้ายแล้วสิ่งที่มนุษย์ปรารถนาก็คือความรัก…

ความรัก ซึ่งเงินทองก็ซื้อไม่ได้…

A Christmas Carols ฉบับพิมพ์ครั้งแรก

ชาร์ลส ดิกเกนส์ เป็นคนอังกฤษโดยกำเนิด เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง ทีเมืองพอร์ตสมัธ พ่อทำงานเป็นเสมียนทำเงินเดือนของกองทัพเรือ ชีวิตครอบครัวในวัยเด็กเต็มไปด้วยความสุข พ่อของเขาเป็นนักอ่าน ชาร์ลสเลยมีโอกาสได้อ่านหนังสือดีๆ เป็นจำนวนมาก เรื่องที่เขาชอบมากที่สุด คือ โรบินสัน ครูโซ และ พันหนึ่งราตรี

A Christmas Carols เป็นวรรณกรรมที่นิยมกันอ่านกันตลอดมาและตลอดไป

ครอบครัวชาร์ลสอยู่ดีมีสุขจนกระทั่งชาร์ลสอายุได้สิบสองปี พ่อของเขาเกิดมีปัญหาเรื่องการงานจนถึงขั้นต้องติดคุก ครอบครัวดิกเกนส์จึงประสบกับภาวะยากลำบาก ชาร์ลสต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เขาทำงานในโรงงานแห่งหนึ่ง ที่นั่นทำให้ชาร์ลสได้เรียนรู้ชีวิต ได้เห็นความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม ในขณะเดียวกันเขาก็หาเวลาเรียนไปด้วยพร้อมๆ กับทำงานหาเงินส่งตัวเอง รวมทั้งเริ่มเขียนบทความ เรื่องสั้น ไปลงตามหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ ทำให้มีรายได้ไม่ลำบากนัก

เมื่อ A Christmas carols ได้รับการดัดแปลงไปเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2444

นวนิยายเรื่องแรกของชาร์ลสชื่อ Pickwick Paper ที่เอาประสบการณ์ของตัวเองช่วงที่พ่อต้องประสบกับปัญหาเรื่องงานจนติดคุกมาเขียน หนังสือประสบความสำเร็จในแทบจะทันทีที่พิมพ์จำหน่าย นวนิยายเรื่องต่อมาของเขาคือ โอลิเวอร์ ทวิสต์ เรื่องราวของเด็กชายที่ใช้ชีวิตอยู่ริมถนน และ โอลิเวอร์ ทวิสต์ ก็ประสบความสำเร็จมากมายหลายเท่า แม้แต่สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ก็ทรงโปรดงานของ ชาร์ลส ดิกเกนส์ เป็นอย่างมาก

ชาร์ลส เป็นนักเขียนยอดนิยม เขามักจะออกทัวร์ไปอ่านหนังสือให้บรรดาแฟนคลับฟังตามเมืองต่างๆอยู่เสมอ

ชาร์ลสทำงานหนัก เขาเขียนงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเล่าของสองนคร (A Tale of Two Cities), เดวิด คอปเปอร์ฟิลด์ (David Copperfield), แรงใจและไฟฝัน (The Great Expectation) เป็นต้น ผลงานนวนิยายแทบทั้งหมดของเขาจะลงพิมพ์ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ก่อนจะรวมเล่มออกจำหน่าย เล่ากันว่ามีผู้คนมากมายถึงกับไปยืนรอที่เรือเทียบท่าที่ท่าเรือในนิวยอร์d เพื่อจะรออ่านนิตยสารฉบับใหม่ที่มีนวนิยายของชาร์ลสส่งมาจำหน่ายกันเลยทีเดียว

อนุสาวรีย์ชาร์ลส ดิกเกนส์ที่ฟิลาเดลเฟีย

วรรรกรรมชองชาร์ลสหยั่งรากลึกในอังกฤษ แต่ไปเติบโตเป็นอย่างมากในอเมริกา เพราะประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องเด็กกำพร้า เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั้นโดนใจคนอ่านชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก นวนิยายของเขาเกือบทุกเรื่องได้รับการดัดแปลงไปเป็นละครเวทีตั้งแต่ตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ ชาร์ลสและภรรยาได้รับเชิญให้ไปพบกับแฟนหนังสือที่อเมริกาถึงสองครั้ง และตลอดชีวิตของเขาต้องรับเชิญไปขึ้นเวทีเพื่ออ่านหนังสือที่ตัวเองเขียนให้บรรดาแฟนๆ ฟังไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยหน

ได้รับเกียรติ์ให้เป็นภาพกระจกสีร่วมกับนักเขียนที่มีชื่อเสียงเช่น เชคสเปียร์ ที่ห้องสมุดเมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา

ชาร์ลสล้มป่วยลงด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบตอนอายุ 56 ปี ทำให้เขาเป็นอัมพฤกษ์ เดินเหินลำบาก แต่กระนั้นเขายังพยายามจะเขียนหนังสือออกมาอย่างสม่ำเสมอ

บ้านหลังสุดท้ายของชาร์ลส ดิกเกนส์ที่เมืองเคนต์
ร่างของเขาได้รับเกียรติ์ให้ฝังร่วมกับบุคคลที่มีชื่อเสียงในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ประเทศอังกฤษ

นวนิยายเรื่องสุดท้ายของชาร์ลสคือ The Mystery of Edwin Drood ที่เขาตั้งใจจะเขียนทั้งหมด 12 บท แต่ยังไม่ทันทำได้อย่างที่ตั้งใจ ก็มาด่วนเสียชีวิตไปก่อน

The mystery of Edwin Drood วรรณกรรมเรื่องสุดท้ายของชาร์ลส ดิกเกนส์

ชาร์ลสเขียนบทที่ 6 ของ The Mystery of Edwin Drood ในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2413 ตอนนั้นเขามีอายุได้ 58 ปี

ชาร์ลส ดิกเกนส์ เสียชีวิตในวันรุ่งขึ้น ปล่อยให้ The Mystery of Edwin Drood เป็นนวนิยายที่ไม่มีตอนจบมาจนถึงทุกวันนี้…

Don`t copy text!