เหม เวชกร

เหม เวชกร

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

คนไทยรู้จัก ครูเหม เวชกร เป็นอย่างดีจากภาพวาดปกนวนิยาย ภาพวาดประกอบในหนังสือหลายๆเล่ม ลายเส้นของครูเหมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่มีใครเหมือน แต่มีไม่มากคนนักที่รู้ว่า เหม เวชกร ยังเป็นนักเขียนฝีมือดี โดยเฉพาะนิยายผีๆ สางๆ ที่จับเอาบรรยากาศของกรุงเทพมหานครเมื่อหกสิบกว่าปีก่อนมาเป็นฉากหลัง

เหม เวชกร จิตรกรเอกแห่งสยาม

สำหรับบทความตอนนี้ จะไม่เล่าถึงงานด้านจิตรกรรมมากนัก เพราะตัวแน่นได้เล่าอย่างละเอียดไปแล้วในคอลัมน์ ‘หลงรูป’ ของเขา แต่จะมาชวนคุยเรื่องผีๆ จากปลายปากกาของครูเหมแทน

นิยายผีของครูเหมเริ่มต้นจากการจับมือกันของบุคคลสามคน คือ ครูเหม เวชกร คุณเสาว์ บุญเสนอ และ คุณเวช กระตุฤกษ์ ทั้งสามร่วมกันเปิดสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ขึ้น ในช่วงปี พ.ศ. 2475

ครูเหมโด่งดังจนได้ขึ้นปกนิตยสารวิทยาสาร

สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ในช่วงเปิดตัวใหม่ๆ เน้นพิมพ์นิยายขนาดสั้นขาย เป็นนิยายเล่มบางๆ อ่านแป๊บเดียวจบ ขายแค่เล่มละสิบสตางค์ ซึ่งถือว่าราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับนิยายอื่นๆ ในเวลานั้นซึ่งเป็นปกแข็ง อ้วนหนา ขายกันเล่มละ 30-50 สตางค์ขึ้นไป

เหม เวชกรเป็นคนร่าเริง มีเพื่อนฝูงมากมาย ชอบท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ

นิยายสิบสตางค์สามารถขายราคาถูกได้เพราะลดคุณภาพของกระดาษให้ถูกลง ปรับกลยุทธ์ให้ดึงดูดใจผู้อ่านด้วยภาพปกสี่สวยงาม เน้นแนวนิยายเรื่องรักๆ ใครๆ ไพร่-ผู้ดี อิจฉาริษยา ลูกยาจก ลูกเศรษฐี รวมไปถึงเรื่องผีๆ นักวิชาการหลายคนนิยามว่านิยายสิบสตางค์เป็นนิยายประโลมโลกย์ พ่อแม่หลายคนไม่อยากให้ลูกอ่าน แต่ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ เพราะนวนิยายสิบสตางค์ของสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ขายดิบขายดีจนต้องพิมพ์ออกวางจำหน่ายกันทุกวันนั่นเลย แถมยังมีสำนักพิมพ์หลายแห่งเริ่มหันมาทำตาม ทำให้ในตลาดหนังสือเวลานั้นเกิดนิยายสิบสตางค์ขึ้นเป็นจำนวนมาก

ครูเหมมีโอกาสได้รับเลือกให้วาดภาพซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ห้องที่ 69 ตอนศึกมังกรกรรฐ์
ภาพประกอบหนังสือฝีมือครูเหม

คุณเสาว์ บุญเสนอ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ เล่าให้ ศรัณย์ ทองปาน ฟังในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า เหตุผลที่นิยายสิบสตางค์ขายดีเป็นเพราะว่านักอ่านกลุ่มหลักคือกลุ่มผู้หญิง แม่บ้าน เด็กวัยรุ่นๆ ประกอบกับนิยายสิบสตางค์เป็นความบันเทิงราคาถูกของนักอ่านกลุ่มนี้ที่ต้องการเพียงเวลาไม่นานนัก กับความรู้พออ่านออกเขียนได้ ซึ่งการศึกษาสมัยใหม่ที่เริ่มต้นมาหลายสิบปีก่อนหน้านี้ได้ปูทางไว้ให้เรียบร้อยแล้ว

ภาพนางในวรรณคดี ฝีมือครูเหม

แน่นอน ผู้ที่รับบทเขียนนิยายผีลึกลับ ปีศาจหลอกหลอนก็คือ ครูเหม เวชกร

ครูเหมเขียนเรื่องผีเป็นตอนสั้นๆ ใช้ตัวละครเดินเรื่องหลักเป็นคนกลุ่มเดิม ที่ไปเผชิญกับภูตผีและเหตุการณ์ประหลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพระนครและหัวเมืองและเก็บมาเล่าให้ผู้อ่านฟัง เลขานุการผี หยดน้ำสังข์ ผ้าป่าผีตาย ใครอยู่ในอากาศ และอีกมากมาย ล้วนอยู่ในความทรงจำของผู้อ่านทุกรุ่น ตัวละครหนึ่งในนั้นชื่อ ‘นายทองคำ’ ซึ่งก็คือตัวครูเหมนั่นเอง เพราะเหม แปลว่าทองคำ

สูจิบัตรนิทรรศการภาพเขียนของเหม เวชกร

เรื่องสั้นผีของครูเหมได้รับความนิยมมาก รวมเล่มหลายครั้ง ล้วนแต่ขายดิบขายดี เพราะเล่าเรื่องเรียบง่าย มีภาพประกอบที่น่ากลัว อีกทั้งเรื่องราวไม่ได้ไกลตัวคนอ่านเกินไปนัก หลายเรื่องเล่าถึงบรรยากาศของพระนครในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เอาไว้อย่างละเอียด นับเป็นบันทึกทางสังคมชั้นดีที่ทำให้คนในยุคปัจจุบันได้เห็นบ้านเมืองในเวลานั้น

นอกจากเนื้อเรื่องรักหวานซึ้ง โศกสลด นิยายภูตผีปีศาจที่น่ากลัว หรือบู๊สะบั้นหั่นแหลกแล้ว ส่วนสำคัญของนิยายสิบสตางค์ก็คือหน้าปกที่ดึงดูดใจคนซื้อ คุณเสาว์เล่าว่าเป็นเพราะภาพปกเตะตา ทำให้คนเห็นก็อยากซื้อไว้ก่อน

และแน่นอน จิตรกรผู้รังสรรค์ปกที่สวยงามเหล่านั้นก็คือ ครูเหม เวชกร นั่นเอง

หนังสือรวมเรื่องผีๆ ของครูเหม เวชกร

ครูเหมไม่ได้เรียนจิตรกรรมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เขาชอบวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก ได้รับการสนับสนุนแนะนำจาก คาร์โล ริโกลี จิตรกรชาวอิตาลี ซึ่งเป็นผู้เขียนภาพบนเพดานโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคม

เรื่องสั้นผีของครู ได้ถูกสร้างเป็นละครหลายครั้ง ครั้งสำคัญคือเวอร์ชั่นของสถานีโทรทัศน์ itv นำมาทำเป็นละครจนเกือบครบชุด

คาร์โลพบครูเหมโดยบังเอิญ นายช่างชาวอิตาเลียนรู้สึกถูกชะตาเด็กชายเหมที่มานั่งวาดภาพอยู่ริมถนนเป็นอย่างมาก จึงลงมือสอนให้เด็กชายเหมหัดวาดเส้นและลวดลายต่างๆ คาร์โลเห็นพรสวรรค์ในตัวของเด็กชายเหม จึงชวนให้เดินทางไปอิตาลีด้วยกันเพื่อเรียนต่อทางศิลปะ แต่โชคชะตาเกิดพลิกผันเสียก่อน ครูเหมจึงไม่มีโอกาสได้ไปเรียนต่อทั้งที่เตรียมตัวไว้แล้ว

ครูเหม เวชกรในยามว่าง
กับคุณแช่ม เวชกร ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก

แต่อย่างไรก็ดี ครูเหมก็ไม่ได้ย่อท้อ ยังคงตั้งใจวาดภาพ และเหมือนกับว่าคาร์โลกับครูเหมยังคงเขียนจดหมายติดต่อกันมาเรื่อยๆ คาร์โลสอนและแนะนำครูเหมให้วาดภาพผ่านทางจดหมายพวกนั้นมาอย่างยาวนาน และครูเหมได้รับโอกาสครั้งสำคัญในชีวิต เมื่อได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้เขียนภาพซ่อมแซมเรื่อง รามเกียรติ์ ที่อยู่ในระเบียงรอบอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หนึ่งในจำนวน 700 คน ครูเหมผ่านการคัดเลือก และมีโอกาสได้เขียนภาพห้องที่ 69 พระรามแผลงศรล้างมังกรกัณฐ์ ซึ่งเป็นผลงานที่ครูภาคภูมิใจมากในชีวิต

แสตมป์ครบรอบชาตกาลเหม เชกร

ครูเหมเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2512 อายุได้ 66 ปี ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้ำค่าไว้ให้คนรุ่นหลังมากมาย หนังสือรวมเรื่องสั้นชุด ปีศาจของไทย ของครู ยังเป็นที่นิยมอ่านมาจนถึงทุกวันนี้ และไปรษณีย์ไทยก็ให้เกียรติครูในโอกาสครบชาตกาลด้วยการออกแสตมป์ชุดพิเศษ นำเอาภาพวาดฝีมือ เหม เวชกร มาจัดทำเป็นแสตมป์ชุดสี่ดวงอย่างสวยงาม

 

Don`t copy text!