อ.ไชยวรศิลป์

อ.ไชยวรศิลป์

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

นวนิยายเมืองเหนือและละครที่มีฉากหลังเป็นเมืองเหนือหลายเรื่อง มักจะให้ภาพสาวเหนืออ่อนต่อโลก สวยงามเหมือนเอื้องในป่า พวกเธอมักจะถูกผู้ชายชาวกรุงมาหลอกให้หลงรัก สุดท้ายพวกเธอก็ช้ำใจจนต้องฆ่าตัวตาย หรือบางคนก็ถูกหลอกมาขายตัวที่กรุงเทพฯ ดูเหมือนว่าในระยะหนึ่งนวนิยายและละครที่เกี่ยวกับสาวเหนือจะอยู่ในวังวนเช่นนี้ จนเกิดเป็นภาพจำของนักอ่านและผู้ชมละคร

อ.ไชยวรศิลป์เป็นนามปากกาของอำพัน ไชยวรศิลป์

แต่ถ้าหากมีโอกาสได้อ่านนวนิยายของ อ.ไชยวรศิลป์ สักหนึ่งหรือสองเรื่องละก็ เราจะได้เห็นภาพของสาวเหนืออีกด้านหนึ่ง เป็นหญิงสาวที่แข็งแกร่ง ต่อสู้กับชะตาชีวิต ทำมาหากิน สร้างเนื้อสร้างตัวไม่แพ้นางเอกจากนวนิยายเรื่องอื่นๆ กันเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ อ.ไชยวรศิลป์ หรือ อำพัน ไชยวรศิลป์ จึงได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนสตรีผู้ปฏิรูปบทบาทของสตรีล้านนาให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้อ่าน ให้เห็นภาพลักษณ์ด้านอื่นๆ ที่ดีงาม แทนที่จะถูกจดจำแต่เรื่องขายตัว ถูกหลอก ใจง่าย

อ.ไชยวรศิลป์ เป็นนามปากกาของ อำพัน ไชยวรศิลป์ นักเขียนสตรีชาวเชียงใหม่ที่สร้างผลงานนวนิยาย เรื่องสั้น และวรรณกรรมเรื่องเล่าล้านนาไม่ต่ำกว่า 40 เรื่อง

จากคำบอกเล่าของคนใกล้ชิด คุณป้าอำพันเป็นคนอารมณ์ดี ร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส

อ.ไชยวรศิลป์ เกิดที่อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เป็นธิดาของดาบพรหมินทร์ และนางตุ่นคำ ในวัยเด็กเธอย้ายติดตามพ่อไปรับราชการหลายจังหวัด ตั้งแต่เหนือจรดใต้ จากแพร่ไปสู่นครศรีธรรมราช ต้องย้ายโรงเรียนไปหลายแห่ง สุดท้ายมาเรียนจบมัธยมปลายที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย

ริมฝั่งแม่ระมิงค์ นวนิยายที่โด่งดังมากของอ.ไชยวรศิลป์

อ.ไชยวรศิลป์ เริ่มงานเขียนจากเรื่องสั้น เรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ ‘หนทางรัก’ เขียนเมื่ออายุ 15 ปี หลังจากเขียนเรื่องสั้นออกมาหลายสิบเรื่องก็เริ่มเขียนนวนิยายบ้าง เรื่องแรกของ อ.ไชยวรศิลป์ คือ ‘เกิดเป็นคน’ เรื่องที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดคือ ‘ริมฝั่งแม่ระมิงค์’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเจน แอร์นั่นเอง ริมฝั่งแม่ระมิงค์ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์และละครหลายครั้ง ทุกครั้งล้วนแต่ประสบความสำเร็จเป็นที่กล่าวขาน นวนิยายก็ขายดิบขายดี พิมพ์ซ้ำหลายครั้ง

แต่ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในร้อยหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน คือ แม่สายสะอื้น

แม่สายสะอื้น หนึ่งในร้อยหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน

แม่สายสะอื้น เป็นคนละเรื่องกับ แม่อายสะอื้น ละครที่โด่งดังมากๆ เรื่องนั้น

แม่สายสะอื้น เล่าเรื่องราวของนันทาวดี หญิงสาวผู้ที่ถูกชะตากรรมทำลายชีวิตที่สมบูรณ์ลง และพัดพาให้ระหกระเหินไปอยู่กับกองพันทหารปลดแอกบนดอยสูง แม่สายสะอื้น จบลงแบบโศกนาฏกรรม ด้วยความตายของตัวละครเอกกลางลำน้ำแม่สาย ขณะพยายามว่ายข้ามแม่น้ำเพื่อไปซื้อยา แม้จะจบลงด้วยความเศร้า แต่เรื่องราวระหว่างบรรทัดนั้นสะท้อนให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่นวนิยายเรื่องนี้ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน และพวกเราควรหามาอ่านกัน

เล่าเรื่องเมืองเหนือ เรื่องเล่าตำนานเมืองเหนือ ภายใต้นามปากกาอสิธารา

อ.ไชยวรศิลป์ รู้จักและสนิทสนมกับนักคิดนักเขียนไทยหลายคนในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะ ส.ธรรมยศ ผู้เป็นครู เป็นนักปรัชญา และเป็นนักเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ความสนิทสนมกับ ส.ธรรมยศส่งอิทธิพลให้ อ.ไชยวรศิลป์ เก็บเอาตำนาน เรื่องเกร็ดประวัติศาสตร์ล้านนามาเขียนเป็นสารนิยายชุด ‘เล่าเรื่องเมืองเหนือ’ ขึ้น ภายใต้นามปากกา ‘อสิธารา’

เล่าเรื่องเมืองเหนือ กลายมาเป็นหนังสือสำคัญ เพราะรวบรวมเอาเรื่องเล่าต่างๆ ที่ อ.ไชยวรศิลป์ ได้ยินมา เรื่องที่คนเหนือเล่าสืบต่อกัน เก็บไว้อย่างเป็นระบบ เรื่องเล่าชุดนี้ได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. 2510 และได้รับการพิมพ์ต่อมาอีกหลายครั้ง ใครสนใจเรื่องเล่าพื้นเมืองล้านนา ไม่ควรพลาดโดยเด็ดขาด

ผลงานนวนิยายของอ.ไชยวรศิลป์มีมากกว่า 40 เรื่อง

ต่อมาเมื่อการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มมีความเข้มข้น อ.ไชยวรศิลป์ ก็หันมาเขียนเรื่องหนักขึ้น เรื่องสั้นและนวนิยายช่วงหลังจากนั้นหลายเรื่องสะท้อนภาพการเมืองและสังคม เธอรวมกลุ่มกับเพื่อนนักเขียนหลายคน มีศรีบูรพาเป็นหัวหน้าทีม ตั้ง ‘คณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย’ ขึ้นเพื่อรณรงค์คัดค้านอาวุธปรมาณู และต่อต้านการแทรกแซงของอเมริกาต่อสงครามคาบสมุทรเกาหลี การรวมกลุ่มในครั้งนั้นทำให้ อ.ไชยวรศิลป์ และนักเขียนอีกหลายคนถูกจับในข้อหากบฏ ก่อนจะได้รับนิรโทษกรรมในที่สุด

นิรโทษกรรมแล้วแต่คราวเคราะห์ก็ยังไม่หมด อ.ไชยวรศิลป์ ได้ร่วมเดินทางไปเยือนจีนพร้อมกับศรีบูรพาและเพื่อนนักเขียนรวม 12 คน ทันทีที่กลับถึงเมืองไทยเธอกับเพื่อนก็ถูกจับเข้าคุกข้อหากบฏภายนอกและภายในราชอาณาจักร เหตุเพราะจีนมีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ และยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ผู้ที่เดินทางไปจีนในช่วงนั้นจึงมีความผิดในข้อหาฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์

หลังได้รับการปล่อยตัว อ.ไชยวรศิลป์ ก็ย้ายกลับมาอยู่เชียงใหม่ สร้างบ้านเล็กๆ ตั้งชื่อว่ากระท่อมเสกศิลป์ ทำงานเขียนที่เธอรักตราบจนวาระสุดท้ายในชีวิต

ปัจจุบันงานเขียนบางเรื่องของ อ.ไชยวรศิลป์ เช่น พระจันทร์ครึ่งดวงที่วาปี, เอื้องม่านฟ้า, มนตร์แม่ระมิงค์ ได้รับการพิมพ์ใหม่โดยสำนักพิมพ์ปอย ในเครือบ้านมงคล เดิมทีทางสำนักพิมพ์ตั้งใจจะพิมพ์ออกมให้ครบทุกเรื่อง แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจทำให้ต้องยุติการพิมพ์ลง ทำให้หนังสือของ อ.ไชยวรศิลป์ หาอ่านยากขึ้นเรื่อยๆ

เอื้องม่านฟ้าฉบับพิมพ์ใหม่ โดยสำนักพิมพ์ปอย ในเครือบ้านมงคล

อ.ไชยวรศิลป์ เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2533 อายุได้ 72 ปี

กระท่อมเสกศิลป์ รอคอยผู้มาเยือนอยู่ที่เชียงใหม่
ลายเซ็นของอ.ไชยวรศิลป์

ปัจจุบันกระท่อมเสกศิลป์ของเธอได้รับการอนุรักษ์เป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ หากไปเที่ยวเชียงใหม่และอยากสัมผัสกับ อ.ไชยวรศิลป์ ให้ใกล้ชิดขึ้นอีกสักนิดละก็ แฟนนักอ่านสามารถแวะไปเยี่ยมชมสถานที่ทำงานสุดท้าย และอ่านต้นฉบับลายมือเขียนของเธอได้ โดยทำการนัดหมายทางเฟซบุ๊กเพจ อ.ไชยวรศิลป์ ใครจะรู้… ที่นั่น อาจสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณๆ ได้ไม่มากก็น้อย…

Don`t copy text!