เอโดงาวะ รันโป

เอโดงาวะ รันโป

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

นามปากกาเอโดงาวะ รันโป ของทาโร ฮิราอิ ได้มาจากเอ็ดการ์ อัลแลน โป (Edgar Allen Poe) นักเขียนนวนิยายลึกลับชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียง ฮิราอิชอบงานของโปมาก เลยเอาชื่อของนักเขียนคนโปรดมาตั้งเป็นนามปากกาของตัวเองเสียเลย

ทาโร ฮิราอิ หรือเอโดงาวะ รัมโป
เอ็ดการ์ อัลแลน โป นักเขียนผู้เป็นแรงบันดาลใจของรัมโป

เอโดงาวะ รันโป ก็คือเอ็ดการ์ อันแลน โป ในแบบฉบับที่ออกเสียงเป็นภาษาญี่ปุ่นนั่นเอง และแน่นอน ในเมื่อชอบงานเขียนแนวนี้ เขาเลยสร้างผลงานในแนวนี้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างต่อเนื่อง มีผลงานในแนวลึกลับ สืบสวน มากกว่าหนึ่งร้อยเล่ม เอโดงาวะ รันโป เป็นนักเขียนคนสำคัญของญี่ปุ่น เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนรุ่นหลังมากมาย ใครที่ชื่นชอบการ์ตูน นักสืบจิ๋วโคนัน คงจะจำกันได้ว่าชื่อเต็มของโคนันก็คือ ‘เอโดงาวะ โคนัน’ ซึ่งมีที่มาจากเอโดงาวะ รันโป นี่เอง

ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน มีชื่อจริงว่าเอโดงาวะ โคนัน

รันโปเริ่มเขียนงานตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2466 หรือราวรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงเวลานั้นเทรนด์การอ่านของโลกใบนี้ ผู้คนนิยมชมชอบวรรณกรรมแนวนักสืบกันเป็นอย่างมาก วรรณกรรมชิ้นสำคัญของโลกก็คือ เชอร์ล็อค โฮล์ม ซึ่งส่งอิทธิพลไปมากมาย แม้แต่ล้นเกล้ารัชกาลที่หกก็ยังนำมาเขียนงานพระราชนิพนธ์นักสืบชุด ‘นิทานทองอิน’

ภาพจาก comics เรื่องเก้าอี้มนุษย์ วาดจากผลงานเขียนของรันโป

งานเขียนเรื่องแรกของรันโปชื่อ ‘เหรียญทองแดงสองเซ็น’ ซึ่งเป็นเรื่องสืบสวนสอบสวน ไขปริศนาด้วยเหรียญอันหนึ่ง หลังจากตีพิมพ์ในนิตยสาร ชื่อของรันโปก็กลายมาเป็นที่น่าจับตาทันที เพราะงานของเขามีความสดใหม่ แปลกไปจากนวนิยายและเรื่องสั้นอื่นๆ ในช่วงเวลานั้น และอาเคจิ โคโกะโร นักสืบจากเรื่องเหรียญทองแดงสองเซ็นนี้ ก็เป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านอย่างมาก จนรันโปต้องเขียนให้เขาออกวาดลวดลายสืบคดีอื่นๆ ต่อเนื่องตามมาอีกหลายคดี สำหรับ เหรียญทองแดงสองเซ็น นี้ ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดยสำนักพิมพ์ JLIT สามารถหาซื้อมาลองอ่านกันดูได้

เหรียญทองแดงสองเซ็น โดยสำนักพิมพ์ JLIT

หลังจากงานเขียนเรื่องแรกประสบความสำเร็จ รันโปก็มุ่งมั่นเขียนงานในแนวลึกลับนีกสืบออกมาอีกหลายสิบเรื่อง กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการนวนิยายลึกลับของญี่ปุ่น ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รันโปก็ยังมุ่งมั่นเขียนงานออกมาอีกไม่น้อย แต่เปลี่ยนเป้าหมายจากผู้อ่านวัยทำงานมาเป็นเยาวชน เขาหยิบเอาโคโกโร่ อาเคจิ มาตีความใหม่ เขียนให้เป็นนักสืบในช่วงวัยรุ่น สืบคดีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ชุดนักสืบแก๊งค์จิ๋วเจาะคดี, ชุดเจ้าหนูนักสืบไขคดีพิศวง หลายเล่มได้รับการแปลออกมาเป็นภาษาไทยแล้วเช่นกัน

สยองขวัญ แปลโดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

ความสนใจของรันโปยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น เขาอ่านนวนิยายภาษาอังกฤษมามาก เลยเกิดความคิดว่าทำไมไม่แปลนวนิยายญี่ปุ่นออกเป็นภาษาอังกฤษให้ฝรั่งอ่านกันบ้าง ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2493-2502 รันโปทำงานกับล่าม คัดเลือกงานเขียนของเขาบางเรื่องมาแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Japanese Tales of Mystery and Imagination (ซึ่งต่อมาได้แปลเป็นภาษาไทยใช้ชื่อ ‘สยองขวัญ’ โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ) ทำให้นักอ่านฝรั่งได้รู้จักกับความสยองขวัญแบบเอเชีย

Japanese Tales of mystery and imagination

 

อย่างไรก็ตาม รันโปเล่าว่าการทำงานชิ้นนี้ไม่ง่ายเลย เพราะล่ามที่มาช่วยแปลภาษาสามารถพูดญี่ปุ่นได้ก็จริงแต่อ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก ส่วนรันโปพูดอังกฤษได้แต่เขียนไม่ได้ การแปลจึงเกิดขึ้นด้วยการที่รันโปต้องพูดออกมาทีละประโยคให้ล่ามค่อยๆ แปล จากนั้นก็ต้องมีการตรวจสอบภาษาอังกฤษที่แปลว่าถูกต้องหรือไม่จากการที่ล่ามอ่านให้ฟังทีละประโยค หนังสือเล่มนี้จึงใช้เวลาทำงานร่วมกันนานถึงห้าปี

Writing the Love of Boys: Origins of Bish nen Culture in Modernist Japanese Literature

รันโปสนใจศึกษาเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคมญี่ปุ่นโบราณ

ความสนใจของรันโปนั้นยังพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ในช่วงท้ายของชีวิต รันโปกับเพื่อนสนิทของเขาชื่อจุนอิจิ อิวาตะ ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาให้ความสนใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคมญี่ปุ่นมาก ทั้งสองช่วยกันรวบรวมหนังสือและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความรักของคนเพศเดียวกันเอาไว้ได้อย่างมากมาย อิวาตะเสียชีวิตไปก่อน รันโปทำงานชิ้นนี้ต่อมา เขารวบรวมข้อมูลทั้งหมดและเขียนเป็นหนังสือออกมาชื่อ Writing the Love of Boys: Origins of Bish nen Culture in Modernist Japanese Literature ถือเป็นหมุดหมายสำคัญอีกหนึ่งเล่มสำหรับผู้ที่สนใจในเรื่อง Queer study ในญี่ปุ่น

บ้านพักและห้องทำงานของรันโป

เอโดงาวะ รันโป มีอาการของโรคพาร์กินสัน และเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดในสมองแตกเมื่อปี พ.ศ.  2509 อายุได้ 70 ปี สุสานของเขาอยู่ที่เมืองฟุชู โตเกียว

สุสานของรันโปในโตเกียว
อนิเมะเรื่อง Edogawa Ranpo

เรื่องราวของเขาถูกนำมาสร้างเป็นอนิเมะเรื่อง Edogawa Ranpo และทุกวันนี้สมาคมนักเขียนเรื่องลึกลับของญี่ปุ่น ได้จัดตั้งรางวัลเอโดงาวะ รันโปมอบให้กับนักเขียนนวนิยายแนวลึกลับของญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี มาจนถึงปัจจุบัน

Don`t copy text!