เจ้าฟ้ากุ้ง

เจ้าฟ้ากุ้ง

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

เมื่อเล่าถึงเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ สองเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงไปแล้ว หากจะไม่เล่าถึงเจ้าฟ้ากุ้งก็คงจะไม่ครบถ้วนนัก อ่านคลาสสิคตอนนี้ จึงยังคงอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลายกันอีกหนึ่งตอน

ภาพวาดเจ้าฟ้ากุ้ง ไม่มีใครทราบว่าหน้าที่ถูกต้องของพระองค์เป็นเช่นไร เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีกล้องถ่ายภาพ

หากจะกล่าวว่าคนไทยเกือบทุกคนต้องเคยรู้จักเจ้าฟ้ากุ้ง หรือถ้าไม่รู้จัก อย่างน้อยๆ ก็ต้องเคยได้ยินบางบทบางตอนของ กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์ของพระองค์กันมาบ้าง โดยเฉพาะท่อนที่ว่า

‘สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย

งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์

เพียงหงส์ทรงพรหมมินทร์

ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม

กาพย์บทที่นักเรียนไทยท่องจนขึ้นใจกันแทบทุกคนนี้ แสดงให้เห็นถึงความงดงามของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ที่เป็นลำเด่นในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีที่มีมาแต่สมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี

วัดมงคลบพิตรที่เจ้าฟ้ากุ้งทรงเป็นแม่งานทำการบูรณะจนเสร็จสมบูรณ์ ก่อนจะถูกเผาทำลายเมื่อคราวเสียกรุง

เจ้าฟ้ากุ้ง หรือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและกรมหลวงอภัยนุชิต แต่เดิมเจ้าฟ้ากุ้งทรงกรมเป็นกรมขุนเสนาพิทักษ์

ผลงานของเจ้าฟ้ากุ้งถูกรวบรวมและเป็นวรรณคดีสำคัญของคนไทยมาจนทุกวันนี้
กาพย์เห่เรือคือผลงานชิ้นเอกของพระองค์ ที่ใช้เห่ในพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค

ทรงมีพระปรีชาสามารถรอบด้าน ทั้งเรื่องรบ เรื่องแต่งบทกวี และเรื่องรัก พระราชกรณียกิจสำคัญคือ ทรงเป็นแม่กองในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีสรรเพชญ์ ทรงควบคุมงานต่อพระเศียรพระมหามงคลบพิตร รวมถึงทรงรื้อมณฑปที่ประดิษฐานพระมหามงคลบพิตรแล้วก่อขึ้นใหม่เป็นพระวิหารแทน

ในด้านบทกวี พระองค์ทรงมีผลงานที่โดดเด่นมากมาย เช่น บทเห่เรื่องกากี, บทเห่สังวาสและเห่ครวญ, กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก, กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง, กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท แต่ที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีคือ กาพย์เห่เรือ

พยุหยาตราทางชลมารคเป็นพระราชพิธียิ่งใหญ่ที่มีมาแต่โบราณกาล
กระบวนเรือจะมีเรือพระที่นั่งจำนวนมากมายหลายร้อยลำ ภาพนี้วาดโดยฝรั่งที่เคยเห็นพระราชพิธีในสมัยอยุธยา

นอกจากนี้ ตอนที่พระองค์ต้องราชภัย จนต้องเสด็จหนีไปผนวชอยู่ที่วัดโคกแสง เจ้าฟ้ากุ้งศึกษาพระธรรมและพระไตรปิฏก และนำมาพระราชนิพนธ์วรรณคดีสำคัญทางพระพุทธศาสนาถึงสองเรื่องคือ นันโทปนันทสูตรคำหลวง ทรงพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2279 และ พระมาลัยคำหลวง ทรงพระนิพนธ์ขึ้นในปีถัดมา

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จะเป็นเรือเอกในประบวนพระราชพิธี

หลังจากลาผนวช สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงสถาปนากรมขุนเสนาพิทักษ์ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าอินทสุดาวดีซึ่งเป็นพระขนิษฐาให้ทรงกรมเป็นกรมขุนยิสารเสนี และพระราชทานให้เป็นพระอัครชายาในกรมพระราชวังบวรฯ ด้วย

พระมาลัยคำหลวง เป็นวรรณคดีสำคัญทางพระพุทธศาสนา

นักประวัติศาสตร์หลายคนวิเคราะห์ว่า หากเจ้าฟ้ากุ้งไม่สิ้นพระชนม์ไปก่อน พระองค์ก็จะได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอยู่หัวต่อจากสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ อยุธยาก็จะไม่เกิดความวุ่นวายในการแย่งชิงราชบัลลังก์ และโฉมหน้าของประวัติศาสตร์ก็อาจจะเปลี่ยนไป เพราะพระปรีชาสามารถในทางการรบของพระองค์ น่าจะทำให้อยุธยารบชนะพม่าในการศึกปี พ.ศ. 2310

พระมาลัยเป็นพระอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้าที่ลงไปโปรดสัตว์ในนรก

เจ้าฟ้ากุ้งทรงมีชะตาชีวิตที่โลดโผน ยามขึ้น ขึ้นสูงสุด ยามลงก็ลงจนต่ำสุดเช่นกัน

พระมาลัยคำหลวงเป็นวรรณคดีที่แพร่หลายในหมู่ชาวพุทธ

ทรงมีเจ้าจอมหม่อมห้ามเท่าที่ปรากฏนามราวสิบคน มีพระโอรสและพระธิดาหลายพระองค์ ส่วนมากแล้วเกือบทุกพระองค์ถูกเชิญเสด็จไปประทับอยู่ที่อังวะเมื่อคราวเสียกรุง

ในช่วงบั้นปลายของพระชนม์ชีพ ทรงต้องพระราชอาญาด้วยข้อหาลักลอบทำชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ซึ่งเป็นพระสนมของพระราชบิดา

วัดไชยวัฒนารามสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

ข้อหานี้ดูจะเป็นที่ถกกันเป็นอย่างมาก บ้างก็ว่าทั้งสองพระองค์เคยสมัครรักใคร่กันมาก่อนที่เจ้าฟ้าสังวาลย์จะถูกเลือกให้เป็นพระสนม บ้างก็ว่าไม่เป็นความจริง แต่ด้วยเกมการเมืองที่พระอนุชาต่างมารดาต้องการจะโค่นอำนาจของเจ้าฟ้ากุ้งลง จึงทำให้เกิดกระบวนการใส่ร้าย

เจดีย์นอกกำแพงแก้วองค์หนึ่ง เชื่อว่าเป็นที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้ากุ้งและเจ้าฟ้าสังวาลย์หลังถูกสำเร็จโทษ

แต่ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงจะเป็นเช่นไร เจ้าฟากุ้งก็โดนลงโทษด้วยการเฆี่ยนจนสิ้นพระชนม์ เชื่อกันว่าพระศพถูกบรรจุอยู่ในเจดีย์ที่วัดไชยวัฒนารามมาจนถึงทุกวันนี้…

Don`t copy text!