กิมย้ง

กิมย้ง

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

‘พบกันน้อยนิด จากกันเนิ่นนาน’ เป็นประโยคอมตะใน แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ที่สะท้อนถึงสัจธรรมแห่งชีวิต

กิมย้งหรือจาเหลียงยงในวัยหนุ่ม

ดูเหมือนประโยคง่ายๆ หากทว่าสะท้อนภาพความเป็นไปของโลกและผู้คน จะมีให้เราเก็บเกี่ยวได้มากมายในงานเขียนทั้งสิบห้าเรื่องของกิมย้ง และนี่ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกแต่อย่างใด ที่ผลงานนวนิยายของกิมย้งจะเป็นอมตะอยู่ในใจคนอ่านมาแล้วหลายรุ่น และจะคงสืบทอดกันต่อๆไป

กิมย้งเกิดในครอบครัวบัณฑิต ตระกูลของเขารับราชการในราชสำนักมาอย่างยาวนาน

กิมย้งเป็นนามปากกาของ จาเหลียงยง หรือ Louis Cha Leung-yung เกิดที่จีนแผ่นดินใหญ่ ในครอบครัวบัณฑิตที่รับราชการในราชสำนักสืบต่อกันมานานหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงถึงราชวงศ์ชิง กิมย้งเป็นลูกคนที่สองของบ้าน

ถ่ายกับภรรยาในวันแต่งงาน

จึงไม่แปลกที่กิมย้งถูกปลูกฝังให้รักการอ่าน เขาได้รับการศึกษาที่ดี มีโอกาสได้อ่านหนังสือและวรรณกรรมมากมาย เมื่ออายุ 9 ขวบ กิมย้งอ่านหนังสือคลาสสิกสี่เล่มของจีนจนจบ ครบทั้งสี่เรื่อง อันได้แก่ สามก๊ก, ซ้องกั๋ง, ไซอิ๋ว และ ความฝันในหอแดง ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กิมย้งก็ย้ายไปลงหลักปักฐานอยู่ที่ฮ่องกงและทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ในเวลานั้นเขายังไม่ได้เริ่มเขียนนวนิยาย

กิมย้งเป็นนักเขียนผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของฮ่องกง

กิมย้งมาเริ่มเขียนนวนิยายอย่างจริงจังหลังจากได้พบกับ เฉินเหวินถง นักเขียนนิยายกำลังภายใน และสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว

กิมย้งเป็นคนใจดี หน้าตายิ้มแย้มอยู่เสมอ

เฉินเหวินถง ใช้นามปากกาว่า เนี่ยอู้เซ็ง ผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาคือ นางพญาผมขาว

เฉินเหวินถง แนะนำให้กิมย้งลองเขียนนิยายดูบ้าง กิมย้งเริ่มลงมือเขียนหลังจากนั้น และใช้เวลานานถึงสองปี จึงเขียนนวนิยายเรื่องแรกสำเร็จ จอมใจจอมยุทธ ได้รับความนิยมและสร้างชื่อเสียงให้กิมย้งในทันที

จอมใจจอมยุทธ นวนิยายเรื่องแรกของกิมย้ง

หลังจากนั้นกิมย้งก็เขียนนวนิยายต่อเนื่องออกมาอีกถึง 15 เรื่อง

นวนิยายทั้งหมดของของกิมย้งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยจนครบแล้ว มีหลายสำนวน เรียงตามลำดับเวลาการเขียน ได้แก่ 1.จอมใจจอมยุทธ 2.เพ็กฮ่วยเกี่ยม 3.จิ้งจอกภูเขาหิมะ 4.มังกรหยก 5.มังกรหยก ภาคสอง 6.จิ้งจอกอหังการ 7.นวนิยายขนาดสั้นเรื่อง เทพธิดาม้าขาว 8.นวนิยายขนาดสั้นเรื่อง ดาบสันนิวาส 9.กระบี่ใจพิสุทธิ์ หรือ มังกรสะท้านบู๊ลิ้ม 10.ดาบมังกรหยก 11.แปดเทพอสูรมังกรฟ้า 12. มังกรทลายฟ้า 13.กระบี่เย้ยยุทธจักร หรือที่คนมักรู้จักในชื่อของ เดชคัมภีร์เทวดา 14.กระบี่นางพญา และ 15. เรื่องสุดท้ายคือ อุ้ยเสี่ยวป้อ

กิมย้งแวดล้อมด้วยตัวละครจากจินตนาการของเขา
เมื่อเปิดกล้องละครเรื่องใด หากมีเวลา กิมย้งจะไปเยี่ยมกองถ่ายเป็นประจำ

หลังจากเขียน อุ้ยเสี่ยวป้อ จบลง กิมย้งก็ตัดสินใจวางปากกา เขาบอกว่าอะไรที่อยากเขียนก็ได้เขียนหมดแล้ว ไม่เหลืออะไรที่อยากเขียนอีกต่อไป

อีกหนึ่งเหตุผลที่เขาหยุดเขียนเพราะงานหนังสือพิมพ์ยุ่งมาก ทำให้ไม่มีเวลา งานเขียนของเขาทั้ง 15 เรื่องได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง แปลออกไปหลายภาษา ขายได้มากกว่า 300 ล้านเล่ม สร้างรายได้อย่างมั่นคงให้กับเขา

ภาพวาดจากกระบี่เย้ยยุทธจักร

โกวเล้ง นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งของจีน ยังยกย่องกิมย้งว่า “กิมย้งเป็นนักเขียนที่ข้าพเจ้านับถือที่สุดเสมอมา”

แม้ว่าผลงานของกิมย้งได้รับความนิยมอย่างสูงในเอเชีย แต่คนยุโรปและอเมริกากลับไม่ค่อยรู้จัก  จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มังกรหยก ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ ในชื่อ Legends of the Condor Heroes จึงทำให้ชาวตะวันตกรู้จักกิมย้งมากขึ้น

มังกรหยกภาคสองสร้างชื่อให้กับหลิวเต๋อหัวเป็นอย่างมาก

The Guardian หนังสือพิมพ์ของอังกฤษ ถึงกับยกย่องกิมย้งเป็น เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน แห่งประเทศจีนนั่นเลยทีเดียว

นักอ่านของกิมย้งมีมากมาย ทั้งคนธรรมดา มหาเศรษฐี บุคคลสำคัญระดับรัฐบาลและราชวงศ์ แม้แต่นักธุรกิจระดับโลกอย่าง แจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งเวบไซต์อาลีบาบา ก็เป็นแฟนนิยายของกิมย้ง เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่ากิมย้งมีอิทธิพลต่อเขาและการดำเนินธุรกิจของอาลีบาบาเป็นอย่างมาก

มังกรหยกภาคแรกที่โด่งดัง

กิมย้งไม่เพียงแต่เป็นนักเขียนวนิยายฝีมือเยี่ยม เขายังได้รับยกย่องว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์และนักวิจารณ์การเมืองชั้นเยี่ยมอีกด้วย บทความต่างๆ ในหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์อย่างตรงไปตรงมา

เพื่อเป็นเกียรติกับนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมฮ่องกง ในเขตชาติน แถบอีสต์ นิว เทอริทอรีส์ ได้เปิดห้องกิมย้งขึ้นเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2560

รูปปั้นกิมย้งที่หน้าพิพิธภัณฑ์

ภายในมีชิ้นงานจัดแสดงมากกว่า 300 ชิ้น นับตั้งแต่ภาพของกิมย้ง วีดีทัศน์ประวัติ รายชื่อผลงาน หนังสือที่เขาเขียน ต้นฉบับลายมือที่มีการแก้ไขข้อความ รวมทั้งวีดีทัศน์ภาพยนตร์ละครโทรทัศน์ที่สร้างขึ้นจากเรื่องของเขาเอง และภาพเขียนของตัวละครต่าง ๆ

ภาพวาดในห้องกิมย้ง พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมฮ่องกง

กิมย้งชอบเดินทางท่องเที่ยว เขาชอบเมืองไทยมาก และมาพักผ่อนที่ภูเก็ตเป็นประจำ

พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมฮ่องกงที่เขตอีสต์ นิวเทอริเทอรี่ส์

ในปีที่เกิดสึนามิครั้งใหญ่ในเมืองไทย กิมย้งก็อยู่ที่ภูเก็ตในตอนนั้นด้วย และรอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์

กิมย้งเสียชีวิตลงด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ.2561 สิริรวมอายุได้ 95 ปี

Don`t copy text!