เจ้าฟ้ากุณฑล – เจ้าฟ้ามงกุฎ

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

อ่านคลาสสิคตอนนี้ จะพาท่านย้อนกลับไปไกลถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ช่วงราชวงศ์บ้านพลูหลวง ที่ศิลปวัฒนธรรมรุ่งเรืองถึงขีดสุด ก่อนที่ราชอาณาจักรจะล่มสลายลง

ในช่วงเวลานั้น มีเจ้าฟ้าหญิงสองพระองค์ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถ นิพนธ์บทละครเอาไว้เป็นมรดกตกทอดมาถึงทุกวันนี้

สตรีไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีคือ อิเหนา และ ดาหลัง

เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นพระธิดาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและเจ้าฟ้าสังวาลย์ เจ้าฟ้ากุณฑลเป็นพี่ เจ้าฟ้ามงกุฎเป็นน้อง ทั้งสองพระองค์เป็นขนิษฐาต่างพระมารดากับเจ้าฟ้ากุ้งหรือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ เอกกวีแห่งกรุงศรีอยุธยานั่นเอง จึงไม่ต้องสงสัยว่าเหตุใดทั้งสองพระองค์จึงมีความสามารถด้านการแต่งกลอนเป็นอย่างมาก

แผนที่อยุธยาช่วงปลาย

เป็นธรรมเนียมในราชสำนักที่เจ้าฟ้าหญิงจะต้องมีพระพี่เลี้ยงคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

พระพี่เลี้ยงของเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นหญิงชาวปัตตานี จึงทำให้มีโอกาสได้ฟังนิทานพื้นเมืองต่างๆ อยู่เป็นประจำ ทั้งสองพระองค์ชอบนิทานปันหยีที่พี่เลี้ยงเล่าให้ฟังมาก จึงนำมาดัดแปลงแต่งใหม่ในสำนวนของตัวเอง เจ้าฟ้ากุณฑลคนพี่แต่งเรื่อง ดาหลัง เจ้าฟ้ามงกุฎแต่งเรื่อง อิเหนา สำหรับเรื่อง ดาหลัง นั้น คนในวังเรียกกันว่า ‘อิเหนาใหญ่’ เพราะแต่งโดยเจ้าหญิงคนพี่ ส่วนอิเหนาที่แต่งโดยเจ้าฟ้ามงกุฎเรียกกันเล่นๆ ว่าอิเหนาเล็ก

อิเหนา นิพนธ์ต้นเค้าเป็นของเจ้าฟ้ามงกุฎ
ดาหลัง นิพนธ์ต้นเค้าเป็นของเจ้าฟ้ากุณฑล

ทั้ง ดาหลัง และ อิเหนา ได้รับความนิยมในราชสำนักอยุธยาเวลานั้นเป็นอย่างมาก ทรงแต่งต่อไปเรื่อยๆ จนเป็นเรื่องยาว และยังนำหลายบทหลายตอนมาจัดแสดงเป็นละครรำอีกด้วย

ละครรำในสมัยก่อน

ดาหลัง และ อิเหนา เล่าเรื่องของเจ้าชายที่มีเส้นทางชีวิตโลดโผน มีคนรักมากมาย นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังหลายคนวิเคราะห์ว่า เรื่องเล่าที่พระพี่เลี้ยงนำมาเล่าให้กับเจ้าหญิงทั้งสองพระองค์ฟังไม่ใช่แค่นิทานเล่าสนุกๆ หากแท้จริงแล้วเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหญิงในราชสำนักได้เข้าใจความเป็นไปของสังคมมากกว่า เพราะผู้ชายในเวลานั้น เมื่อก้าวขึ้นสู่บัลลังก์และราชอำนาจ จำเป็นจะต้องมีมเหสีจำนวนมากเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการเมือง และการจะอธิบายเรื่องแบบแผนให้เจ้าหญิงองค์เล็กๆ ฟังเข้าใจนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย การเล่าผ่านนิทานจึงเป็นตัวช่วยที่ดีมาก โดยเฉพาะเรื่องของ อิเหนา ที่มีเมียมากถึง 10 คน

หลังจากกรุงแตก เส้นทางของวรรณคดีทั้งสองเรื่องก็แตกออกเป็นสองสาย

ละครในเรื่องดาหลัง

สายแรกไปพร้อมกับการที่เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎถูกเชิญเสด็จไปมัณฑะเลย์พร้อมกับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและบรรดาเชื้อพระวงส์องค์อื่นๆ กับเชลยศึกชาวอยุธยาจำนวนมาก

รำโยเดีย

ทั้งสองพระองค์ได้รับการดูแลจากพระเจ้ามังระเป็นอย่างดี สมพระเกียรติที่เป็นพระราชธิดาของกษัตริย์อยุธยา ทรงได้รับพระราชทานตำหนักอยู่ในพระราชวัง กับโปรดให้ถ่ายทอดศิลปะการแสดงต่างๆให้กับราชสำนักพม่า ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็น ‘รำโยเดีย’ ‘รำฉุยฉาย’ และอีกมากมายในพม่า ที่มีลักษณะคล้ายกับรำของไทยในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีต้นกำเนิดมาจากนาฏศิลป์สายเดียวกัน นอกจากนี้ในพม่าก็ยังมีวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ และ อิเหนา คล้ายกับของไทยเช่นกัน ทั้งหมดนี้มีต้นกำเนิดมาจากเจ้าฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์ ที่ถ่ายทอดความงดงามของบทกลอนและท่ารำของอยุธยา จนเกิดเป็นศิลปะชั้นสูงของพม่าในเวลาต่อมา

รามเกียรติ์ของโยเดีย

เส้นทางสายที่สองของ ดาหลัง และ อิเหนา เกิดขึ้นในสยาม หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างบ้านแปงเมือง กอบกู้แผ่นดินที่ล่มสลาย ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นมาใหม่แทนเมืองหลวงเดิม นอกจากภารกิจสร้างบ้านเมืองแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือ พระองค์พยายามจะรวบรวมสรรพวิทยาการต่างๆ ที่แตกกระจายหายสูญไปในช่วงสงครามขึ้นมาใหม่

ทรงรับสั่งให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตรวบรวมเอาวรรณคดีในสมัยอยุธยาเท่าที่รวบรวมได้มาไว้ด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ ดาหลัง และ อิเหนา

พระราชวังมัณฑะเลย์ที่เจ้าฟ้าจากอยุธยาประทับอยู่หลายพระองค์

ในสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องพิมพ์ ไม่มีหนังสือเป็นเล่มๆ ตัวเขียนต้นฉบับก็ไหม้ไปในสงครามหมดแล้ว ตัวผู้แต่งก็โดนกวาดต้อนไปไกลถึงพม่า จึงทรงใช้วิธีการให้บรรดาคนเก่าคนแก่ที่เคยฟังเคยจำบทกลอนของเจ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎได้ ช่วยกันเล่า ช่วยกันบันทึกท่อนที่จำได้ คนละเล็กคนละน้อย แล้วแต่งเสริมในส่วนที่ขาดหายเข้าไป จนเกิดเป็น ดาหลัง และ อิเหนา ในฉบับปัจจุบันที่เราคุ้นเคยกันดี

ในต้นเรื่องของอิเหนา รัชกาลที่ 1 ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ จึงทรงออกตัวไว้ว่า

‘อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง                 สำหรับงานการฉลองกองกุศล

ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์                  แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไป

ไม่มีบันทึกว่าเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎประทับอยู่ที่อังวะหรือพม่าต่อมาอีกกี่ปี แต่มีหลักฐานปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรที่เสด็จไปพร้อมกัน ทรงประทับอยู่ที่พม่านานถึง 29 ปี สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.2339

เจดีย์ที่สุสานลินซินกอง เชื่อว่าเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร

แต่สิ่งหนึ่งที่เราแน่ใจได้ว่า ทั้งสองพระองค์อยู่ดีมีสุขในแผ่นดินพม่า ผลงานด้านพระราชนิพนธ์และนาฏศิลป์ของเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎที่ทรงทิ้งไว้ ก็เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญและยิ่งใหญ่ ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทยเท่านั้น หากยังมีความเชื่อมโยงกับพม่า อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

Don`t copy text!