รัดยาร์ด คิปลิง

รัดยาร์ด คิปลิง

โดย : พงศกร

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

โอ้เมื่อมีไฟ ไฟ ไฟ ลุกขึ้นแจ่มจ้า

สุขอุราเมื่อเรามา พร้อมหน้ากัน

คืนวันนี้มีสุขปลดเปลื้องทุกข์รับความสำราญ

เธอกับฉันนั้นมาเล่นรอบกองไฟ

จำเพลงรอบกองไฟเพลงนี้ได้ไหมครับ แน่ละ…ผู้อ่านหลายคนน่าจะเคยร้องเพลงนี้กันมาก่อน สมัยยังเป็นเด็กเรียนวิชาลูกเสือ วิชาเนตรนารี และได้เล่นรอบกองไฟ เพลงนี้คือเพลงหนึ่งที่เด็กๆ ได้นำมาขับร้องกันอย่างสนุกสนาน

รัดยาร์ด คิปลิง ชายหนุ่มชาวอังกฤษ ผู้เกิดในอินเดีย

อันว่าการเล่นรอบกองไฟในวิชาลูกเสือนั้น มีที่มาจากวรรณกรรมเรื่องเอกของ รัดยาร์ด คิปลิง ซึ่งตัวเอกเป็นเด็กชายที่พ่อแม่ลืมทิ้งไว้ในป่า เมื่อครั้งที่ถูกเสือโคร่งชื่อแชร์คานทำร้าย ทารกน้อยได้รับความช่วยเหลือจากหมาป่า และได้กลายเป็นสมาชิกของครอบครัวหมาป่านับแต่นั้นเป็นต้นมา และเพราะเด็กน้อยเป็นมนุษย์ตัวลื่นๆ เนียนๆ ไม่มีขน พ่อแม่หมาป่าเลยเรียกเขาว่าเมาคลี ซึ่งแปลว่าลูกกบนั่นเอง

รัดยาร์ด คิปลิง เป็นคนอังกฤษ แต่ไปเกิดที่ประเทศอินเดียเมื่อปี พ.ศ. 2408 ตรงกับช่วงปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

รัดยาร์ดและจอห์น คิปลิง บิดาของเขา

พ่อและแม่ของเขาพบกันที่อังกฤษ หลังจากนั้นก็แต่งงานกันแล้วย้ายไปทำงานที่อินเดีย รัดยาร์ดและน้องสาวของเขาเกิดที่บอมเบย์ เมื่ออายุถึงวัยเข้าเรียน พ่อและแม่ก็ส่งรัดยาร์ดและน้องสาวกลับไปเรียนที่อังกฤษ รัดยาร์ดเคยเล่าไว้ในอัตชีวประวัติของเขาว่า ช่วงที่ไปอยู่อังกฤษใหม่ๆ เขาและน้องสาวรู้สึกแปลกแยกกับคนที่นั่นเป็นอย่างมาก ในความรู้สึกของเขา เขารู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนอินเดียมากกว่าคนอังกฤษ หลังจบชั้นมัธยม รัดยาร์ดไม่ได้เรียนต่อเพราะพ่อแม่ไม่มีเงินมากพอจะส่งเขาเรียนมหาวิทยาลัย รัดยาร์ดจึงเดินทางกลับมาที่บอมเบย์ และเริ่มอาชีพนักหนังสือพิมพ์

รัดยาร์ด เป็นชายหนุ่มผู้มีบุคลิกร่าเริง รักการผจญภัย บุคลิกนี้เองที่สะท้อนออกมาในงานเขียนของเขา

รัดยาร์ดเป็นนักผจญภัยในสายเลือด เขาไม่ชอบทำอะไรอยู่ในกฏระเบียบเป็นเวลานานๆ หลังจากรู้สึกอิ่มตัวกับการทำงานในอินเดีย เขาเดินทางท่องเที่ยวไปหลายประเทศ ญี่ปุ่น จีน แอฟริกาใต้ พม่า สิงคโปร์ การเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพิ่มพูนให้เขามีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างจากนักเขียนรุ่นเดียวกันในเวลานั้น

รัดยาร์ดในห้องสมุดส่วนตัวของเขา
แคโรไลน์ สตาร์ ภรรยาของรัดยาร์ด

รัดยาร์ดแต่งงานกับแครี่ – คาโรไลน์ สตาร์ บาลาสเทียร์ หญิงสาวผู้มีอายุมากกว่าเขาสามปี

รัดยาร์ดพาภรรยาออกเดินทางไปทั่วโลก ก่อนจะมาลงหลักปักฐานที่รัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา ที่บ้านหลังนี้เอง รัดยาร์ดเริ่มเขียนนวนิยายเรื่องยาว The Jungle Books หรือ เมาคลีลูกหมาป่า ที่ทุกคนรู้จักกันดี เขาส่งเมาคลีไปลงตีพิมพ์ในนิตยสารเป็นตอนๆ ต่อเนื่องถึงสองปี ก่อนจะได้รับการรวมเล่ม ในฉบับพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกนั้น มีภาพประกอบฝีมือของ จอห์น คิปลิง ซึ่งเป็นบิดาของเขาอยู่หลายภาพ ปัจจุบันนี้ The Jungle Books ฉบับพิมพ์ครั้งแรกกลายเป็นหนังสือหายากที่นักสะสมต้องการ

โจเซฟิน ลูกสาวผู้เป็นแรงบันดาลใจให้รัดยาร์ดเขียนเมาคลีลูกหมาปา
เมาคลีลูกหมาป่า ฉบับพิมพ์ครั้งแรก

เมาคลีลูกหมาป่า ขายดิบขายดีมาก ได้รับการพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ได้รับการนำไปถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์และแอนิเมชั่นหลายครั้งหลายหน เมื่อปี พ.ศ. 2553 เมื่อบ้านของรัดยาร์ดได้รับการบูรณะใหม่ มีการค้นพบต้นฉบับลายมือร่างแรกของ เมาคลีลูกหมาป่า รัดยาร์ดบันทึกเอาไว้ว่าเขียนขึ้นเพื่อเป็นของขวัญให้กับบุตรสาวชื่อ โจเซฟิน คิปลิง แต่น่าเสียดายที่แม่หนูบุญน้อย ไม่มีโอกาสได้อ่านวรรณกรรมที่พ่อของเธอตั้งใจเขียนให้ โจเซฟิน คิปลิง เสียชีวิตด้วยอาการปอดบวมเมื่ออายุได้เพียง 6 ปีเท่านั้น

นักอ่านส่วนใหญ่รู้จักรัดยาร์ดจาก เมาคลีลูกหมาป่า ที่จริงแล้วรัดยาร์ดเขียนเรื่องสั้นและบทความ รวมถึงวรรณกรรมอื่นๆ เอาไว้อีกมากมายหลายสิบเรื่อง เช่น Plain Tale from the Hill,  In Black and White, Wee Willie Winkie เป็นต้น กล่าวกันว่า เรื่องสั้นของรัดยาร์ดเป็นเรื่องที่มีคุณค่ามาก เพราะสะท้อนถึงสภาพบ้านเมืองอินเดียในยุคอาณานิคมได้เป็นอย่างดี

ภาพประกอบในฉบับพิมพ์ครั้งแรก

ความที่รัดยาร์ดเป็นคนร่าเริง ช่างพูดช่างคุย จึงทำให้เขามีเพื่อนนักเขียนที่สนิทสนมกันหลายคน หนึ่งในเพื่อนสนิทของเขาก็คือเซอร์ อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ เจ้าของเรื่อง เชอร์ล็อก โฮล์มส์ อันลือลั่น ท่านเซอร์อาเธอร์เป็นคนสอนให้รัดยาร์ดตีกอล์ฟ และพวกเขาก็สนิทสนมกันจนถึงวาระสุดท้าย

เพื่อนอีกคนหนึ่งของรัดยาร์ดก็คือ โรเบิร์ต บาเดน พาวเวลล์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งลูกเสือโลกขึ้นมา

โรเบิร์ต บาเดน พาวเวลล์ ขอยืมบุคลิกตัวละครจากหนังสือเรื่อง เมาคลีลูกหมาป่า เช่า อาคีล่า, บาลู, แชร์คาน และอีกมากมายหลายตัวละคร มาจัดค่ายสำหรับเด็กชายจะได้มาอยู่รวมกันและฝึกวิชาต่างๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีพ นั่นคือต้นกำเนิดของลูกเสือโลก และความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับนวนิยายเรื่องเมาคลีมาจนถึงทุกวันนี้

เมาคลีลูกหมาป่า ได้รับการผลิตเป็นภาพยนตร์และการ์ตูนแอนิเมชันหลายครั้งหลายหน

รัดยาร์ดได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปีพ.ศ. 2450 นั่นส่งผลให้ผลงานของรัดยาร์ดยิ่งมีชื่อเสียงโด่งดังกว่าเก่า รวมถึงได้รับการแปลออกไปหลายภาษา

รัดยาร์ดบนปกนิตยสารไทม์

รัดยาร์ดมีความสุขกับงานเขียน เขาเขียนหนังสือทุกวัน และยังคงเขียนหนังสือต่อมาอีกหลายเรื่องจนกระทั่งอายุ 70 ปี เขาเริ่มล้มป่วยลงด้วยอาการเลือดออกจากลำไส้เล็ก และเสียชีวิตจากอาการลำไส้ทะลุในที่สุด

บ้านของรัดยาร์ดในอเมริกา ปัจจุบันนี้รัฐเวอร์มอนต์ ได้เปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์รัดยาร์ด คิปลิง

การเสียชีวิตของรัดยาร์ดนับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการวรรณกรรมอังกฤษ สแตนลีย์ บาลด์วิน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในเวลานั้น ยังมาร่วมแสดงความเสียใจในพิธีศพของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษร่วมกับแขกคนดังคนอื่นๆ

ที่พำนักสุดท้ายของรัดยาร์ดในมหาวิหารเวสมินสเตอร์

ร่างของรัดยาร์ดได้รับอนุมัติให้ฝังอยู่ในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ อยู่ติดกับ ชาร์ลส ดิกเกน และนักเขียนชื่อดังอีกหลายคนตราบจนทุกวันนี้

Don`t copy text!