กาญจนา นาคนันทน์

กาญจนา นาคนันทน์

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

หากนึกถึงนวนิยายที่มีตัวเอกเป็นทหารในเหล่าต่างๆ แน่นอนว่าเรื่องที่เรานึกถึงกันเป็นลำดับต้นๆ เห็นจะเป็น ผู้กองยอดรัก, ยอดรักผู้กอง, ผู้กองอยู่ไหน และ ชื่นชีวานาวี ของ ‘กาญจนา นาคนันทน์’ ที่สร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับนักอ่านมาอย่างยาวนานหลายสิบปี

กาญจนา นาคนันทน์ เป็นนามปากกาของนงไฉน ปริญญาธวัช

ภาพของนายพัน หนุ่มสุพรรณบุรี ผู้เป็นทนายความแต่จับพลัดจับผลูต้องมาเป็ทหารเกณฑ์ จนพบรักกับผู้กองฉวีผ่อง เป็นภาพจำของนักอ่านและผู้ชมละครเป็นอย่างดียิ่ง ทุกครั้งที่สร้างเป็นละคร แน่นอนว่าคนดูจะต้องคอยจับตาว่าพระเอกคนไหนจะได้รับบทสำคัญนี้

นอกจากนวนิยายผู้กองยอดรัก งานเขียนของ กาญจนา นาคนันทน์ ที่ทุกคนรู้จัก เพราะมีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้กันได้แก่ ผู้ใหญ่ลีกับนางมา, ธรณีนี่นี้ใครครอง, เกวลี สอยดาว, สามดรุณ, เขาชื่อเดช และอีกมากมาย

กาญจนา นาคนันทน์ มีผลงานนวนิยายมากกว่า 50 เรื่อง เป็นที่นิยมและชื่นชอบของผู้อ่านเป็นอย่างมาก

‘กาญจนา นาคนันทน์’ เป็นนามปากกาของ นงไฉน ปริญญาธวัช ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปีพ.ศ. 2555

นงไฉนเป็นคนชัยภูมิ เป็นธิดาของรองอำมาตย์ตรี มนู นาคามดี หรือ หนู นาคามดี ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการของโรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล เธอได้รับนิสัยรักการอ่านมาจากบิดานั่นเอง

นอกจากนามปากกา ‘กาญจนา นาคนันทน์’ เธอยังมีนามปากกาอื่นอีก ได้แก่ ธวัชวดี, น.ฉ.น. และดนัยศักดิ์ มีผลงานนิยายมากกว่ 50 เรื่องและเรื่องสั้นไม่ต่ำกว่า 100 เรื่อง

ผู้ใหญ่ลีกับนางมา นวนิยายที่เป็น signature ของกาญจนา นาคนันทน์

ตอนที่ ‘กาญจนา นาคนันทน์’ เริ่มเขียนนวนิยายเมื่อปี พ.ศ. 2486 ใครหลายคนคงยังไม่เกิด นวนิยายของเธอให้ภาพของบ้านเมืองและสังคมในช่วงนั้นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะ ‘ผู้ใหญ่ลีกับนางมา’ ที่สร้างชื่อให้กับเธอมากที่สุด

‘กาญจนา นาคนันทน์’ เล่าที่มาที่ไปของนวนิยายเรืองนี้ไว้ในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ว่า “เมื่อ พ.ศ. 2486 ดิฉันออกไปเป็นครูที่จังหวัดชัยภูมิ อยากเป็นนักเขียนเหลือเกิน แต่ไม่ทราบว่าจะเขียนเรื่องอะไร… มีผู้เล่าให้ฟังว่า ผู้ใหญ่ลีไปประชุมที่อำเภอ ท่านสั่งให้เลี้ยงสุกรทุกบ้าน เป็นการช่วยเหลือประเทศชาติ /… ผู้ใหญ่ลีกลับจากประชุมแจ้งแก่ลูกบ้าน ลูกบ้านต่างก็ไม่ทราบว่า ‘สุกร’ คืออะไร ในที่สุด เขาก็ช่วยกันคิดและสรุปเอาอย่างแยบคายว่า ‘สุนัข’ แปลว่า ‘หมาใหญ่’ ส่วน ‘สุกร’ คงแปลว่า ‘หมาน้อย’ แน่ๆ

ผู้กองยอดรัก หนึ่งในนวนิยายที่ผู้อ่านชอบมากจนต้องเขียนต่อมาอีกสองภาคคือ ยอดรักผู้กอง และผู้กองอยู่ไหน

เรื่องของผู้ใหญ่ลีนี้ ไม่เพียงแต่จะได้รับการบันทึกเอาไว้ในนวนิยายเท่านั้น หากถูกนำมาแต่งเป็นเพลง ‘ผู้ใหญ่ลี’ ที่โด่งดังในเวลาต่อมา

ผู้ใหญ่ลีกับนางมา ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายครั้ง ทุกครั้งล้วนประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นอกจาก ผู้ใหญ่ลีกับนางมา ‘กาญจนา นาคนันทน์’ ยังเขียนนวนิยายเอาไว้อีกมาก ทุกเรื่องนำเสนอชีวิตของผู้คนในมุมต่างๆ หลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะทหารบกและทหารเรือ ผ่านนวนิยายเรื่อง ‘ผู้กองยอดรัก’ และ ‘ชื่นชีวานาวี’ ที่โด่งดัง

เขาชื่อเดช ผลงานที่ได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน 100 หนังสือดี ในโครงการหนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน จาก สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

‘ผู้กองยอดรัก’ ลงพิมพ์ในนิตยสาร สตรีสาร เป็นตอนๆ เป็นนวนิยายฮิตเรื่องหนึ่งที่ผู้อ่านรอคอยทุกสัปดาห์ เมื่อไปเป็นละครก็เป็นที่ชื่นชอบของทั้งนักอ่านและผู้ชมละครเป็นอย่างมาก จน ‘กาญจนา นาคนันทน์’ ต้องเขียนภาคต่อออกมากอีกสองเรื่องคือ ‘ยอดรักผู้กอง’ และ ‘ผู้กองอยู่ไหน’ แน่นอน ภาคต่อก็ดังและสนุกสนานไม่แพ้ภาคแรกเช่นกัน

นิรุตติ์ สิริจรรยาและดวงใจ หทัยกาญจน์ พรางที่โด่งดังมากจากผู้กองยอดรัก
ชื่นชีวานาวี เป็นอีกหนึ่งนวนิยายที่สะท้อนภาพของทหารเรือออกมาอย่างน่ารักสนุกสนาน

นอกจากนวนิยายฟีลกู้ด ที่สร้างรอยยิ้มให้กับผู้อ่านแล้ว ‘กาญจนา นาคนันทน์’ ยังเขียนวนิยายแนวสะท้อนสังคมเอาไว้อีกหลายเรื่อง เช่น แม่-ไต้ฝุ่นมาแล้ว, เขาชื่อเดช, สามดรุณ เป็นต้น

ผู้กองยอดรักในอีกเวอร์ชั่น
ผู้กองยอกรัดเวอร์ชั่นล่าสุด

‘กาญจนา นาคนันทน์’ ใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี แม้จะเขียนหนังสือน้อยลง แต่เธอก็มีกิจกรรมช่วยเหลือสังคมและท้องถิ่นอยู่ตลอดเวลา มีกองทุน ‘กาญจนา นาคนันทน์’ เพื่อช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนาและตอบแทนคุณแผ่นดิน ให้ความช่วยเหลือ นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ยากไร้และขาดโอกาส เธอจัดตั้ง ‘ห้องสมุดกาญจนา นาคนันทน์’ ขึ้นที่บ้าน เพื่อรวบรวมงานเขียนทั้งหมด มีหนังสือเก่าๆ หายากไว้บริการให้คนในชุมชนสามารถเข้ามาอ่านได้อีกด้วย

กาญจนา นาคนันทน์ ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสุขสงบอยู่ที่ จ.จันทบุรี

‘กาญจนา นาคนันทน์’ เสียชีวิตลงเมื่อปี พ.ศ.2557 อายุได้ 93 ปี ทิ้งนวนิยายและตัวละครที่สร้างสรรค์ขึ้นมา สร้างรอยยิ้มและกำลังใจให้กับผู้อ่านต่อไปอีกนานแสนนาน

Don`t copy text!