บรรจบ พันธุเมธา

บรรจบ พันธุเมธา

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

เมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งดั้นด้นเดินทางไปในดินแดนที่ผู้คนส่วนใหญ่ไปไม่ถึง ด้วยเหตุผลที่อยากไปสอบรากเหง้าของภาษาไทย เรียกง่ายๆ ว่าเป็นนักสืบภาษานั่นเอง การเดินทางไปในดินแดนห่างไกลอย่างรัฐอาหม รัฐฉาน และอีกหลายเมืองในเวลานั้นไม่ได้ไปง่ายๆ เหมือนอย่างทุกวันนี้ หลายเมืองมีเพียงทางเกวียนเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยฝุ่น ไม่มีโรงแรม ไม่มีที่พักดีๆ แถมไม่มี Google Maps บอกทาง ไม่มีไกด์บุ๊กอีกต่างหาก เพราะฝรั่งที่เขียนไกด์บุ๊กก็ไม่เคยเดินทางไปในเมืองเหล่านั้น แต่เธอไปมาแล้ว และกลับมาเขียนบันทึกการเดินทางชื่อ ‘กาเลหม่านไต’ ทิ้งเอาไว้เป็นมรดกอันล้ำค่าให้เราได้อ่านกัน

ศาสตราจารย์ ดร. คุณบรรจบ พันธุเมธา ก็คือสุภาพสตรีท่านนั้น

คุณบรรจบ พันธุเมธา นักสืบภาษาหนึ่งเดียวของคนไทย

คุณบรรจบไม่ได้เดินทางเพียงครั้งเดียว ภายในช่วงเวลา 20 ปีท่านเดินทางไปรัฐอัสสัมถึง 7 ครั้ง นอกจากอัสสัม คุณบรรจบยังเดินทางไปอีกหลายประเทศเพื่อสืบค้นหาที่มาของคำไทย ครั้งหนึ่งที่เดินทางไปเวียดนามเพื่อเสาะหาคนไทยที่อาศัยอยู่ในญวน รถที่คุณบรรจบนั่งมาเกิดพลิกคว่ำ แล้วยังถูกโกงเงินไปจนเกือบหมดตัว แถมยังถูกมอเตอร์ไซค์เฉี่ยวอีกต่างหาก ตกระกำขนาดนี้เป็นคนอื่นคงยอมแพ้ไปแล้ว แต่คุณบรรจบยังไม่ถอดใจ ยังคงเดินหน้าศึกษาค้นหาที่มาของ ‘คำไทย’ ในท้องที่ต่างๆ ประเทศต่างๆ ที่มีคนเชื้อสายไทยอาศัยอยู่ต่อไป อย่างไม่หยุดยั้ง

กาไลหม่านไตในรัฐชาน เป็นอีกเล่มที่หาอ่านยากมาก

กาเลหม่านไต ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร สตรีสาร สร้างความสนใจให้กับผู้อ่านเป็นอย่างมาก เพราะคุณบรรจบบรรยายชีวิตของผู้คน ท้องถิ่นที่ได้ไปเยี่ยมเยือนอย่างน่าสนใจ นอกจาก กาเลหม่านไต คุณบรรจบยังเขียนเรื่องเล่าการเดินทางออกมาอีกหลายเรื่อง เช่น กาเลหม่านไตในรัฐชาน, ไปสอบคำไทย, อาหม, คำคมไทใหญ่, ไมตรีทางภาษาเขมร-ไทย และอื่นๆอีกมากมาย

คุณบรรจบสวมส่าหรีที่อัสสัม

ผลผลิตของการเดินทางในแต่ละครั้ง นอกจากเรื่องเล่าที่ตื่นตาตื่นใจแล้ว คุณบรรจบยังรวบรวมเอาความรู้ทางภาษาที่สืบมาได้ ทำเป็นพจนานุกรมฉบับสำคัญได้แก่ พจนานุกรมเขมร-ไทย, พจนานุกรมมอญ-ไทย, พจนานุกรมภาษาพ่าเก่-ไทย-อังกฤษ, พจนานุกรมอ่ายตอน-ไทย-อังกฤษ อ่านมาถึงตรงนี้ คงมีคนสงสัยว่าพ่าเก่และอ่ายตอนคืออิหยัง ทั้งสองก็คือชื่อของคนไทยกลุ่มหนึ่ง พ่าเก่อยู่ในรัฐอัสสัมของอินเดีย เช่นเดียวกันกับอ่ายตอน

คอลัมน์นิทานนานาชาติ ในนิตยสารสตรีสาร

อีกหนึ่งผลผลิตที่คุณบรรจบได้มาด้วยก็คือนิทานของแต่ละชนชาติ เพราะเวลาลงไปศึกษาภาษานั้น คุณบรรจบจะต้องพูดคุยกับผู้คนมากมาย จึงมีโอกาสได้ฟังนิทานที่เล่าสืบต่อกันมา คุณบรรจบมีคอลัมน์นิทานนานาชาติ เขียนเล่าอย่างต่อเนื่องอยู่ใน สตรีสาร นานหลายสิบปี เล่านิทานกว่าสามร้อยเรื่อง น่าเสียดายที่ไม่เคยมีสำนักพิมพ์ไหนนำมาจัดพิมพ์รวมเล่มเป็นเรื่องเป็นราว นอกจากนิทานนานาชาติแล้ว คุณบรรจบยังเขียนนวนิยายขนาดสั้นเอาไว้อีกหนึ่งเรื่องชื่อว่า ‘หมาๆ แมวๆ’ เล่าเรื่องราวของเพื่อนสี่ขาเอาไว้อย่างน่าประทับใจ

นวนิยายเรื่องหมาๆ แมวๆ

คุณบรรจบเล่าไว้ในคำนำของ หมาๆ แมวๆ ว่า

‘…เมื่อข้าพเจ้ากลับจากอินเดียมาบ้าน อดรู้สึกประหลาดใจไม่ได้ว่า… นี่บ้านเรากลายเป็นสวนสัตว์ไปแล้วหรือ… เพราะปรากฏว่ามีทั้งแมวทั้งหมานับเป็นสิบ และเป็นธรรมดาของสัตว์คนละประเภทย่อมจะต้องมีวิวาทบาดทะเลาะกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีเสียงเอะอะเจี๊ยวจ๊าวทั้งเสียงคนเสียงสัตว์ แต่ในความวุ่นวายนี้ก็ได้มีสิ่งน่าสนใจที่แมวหมาบางตัวก็เล่นกัน เรียกหากัน ดูแลกัน อันเป็นเรื่องผิดวิสัยที่น่าจะบันทึกไว้ จึงเกิดความคิดเขียนเรื่องหมาๆ แมวๆ นี้ขึ้น…’

คุณบรรจบได้รับพระเกี้ยวทองคำ ในฐานะผู้เผยแพร่ภาษาไทยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีพ.ศ.2529
คุณบรรจบได้รับได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น “จตุตถจุลจอมเกล้า” ในปีพ.ศ.2530

หมาๆ แมวๆ ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร สตรีสาร เป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านมาก อย่างไรก็ตาม หมาๆ แมวๆ ก็จบลงโดยกะทันหันเมื่อ ‘บ๊อบ’ สุนัขของคุณบรรจบ พระเอกของเรื่องเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสะเทือนใจเกินกว่าจะเขียนต่อไปได้ เรื่องราวจึงจบลงเพียงเท่านั้น หมาๆ แมวๆ ได้รับการพิมพ์รวมเล่มหนึ่งครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2521 กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่หาอ่านได้ยาก ขึ้นแท่นหนังสือคลาสสิกไปเป็นที่เรียบร้อย

คุณบรรจบกับคนไทยในอัสสัม
หนังสือเดินทางของคุณบรรจบ
ทุกครั้งที่เดินทางไกล คุณบรรจบจะเขียนจดหมายเล่าเรื่องราวต่างๆกลับมาถึงเพื่อนๆและผู้บังคับบัญชาเสมอ

คุณบรรจบเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2535 ด้วยอาการลำไส้อุดตัน อายุได้ 72 ปี ท่านได้กล่าวข้อเตือนใจสุดท้าย ฝากบรรดาลูกศิษย์และนักอ่านของท่านเอาไว้ว่า

‘อย่าได้ประมาทว่าเราจะไม่เจ็บ

อย่าได้ประมาทว่าเราจะไม่จน

อย่าได้ประมาทว่าเราจะไม่บกพร่องในการงาน เพราะเหตุที่ไม่คาดฝัน อาจเกิดขึ้นได้เสมอทุกเวลา เพื่อความไม่ประมาท พึงตั้งสติมั่นในที่ทั้งปวง

 

*ขอขอบคุณภาพถ่ายจากห้องสมุด ศ. ดร. คุณบรรจบ พันธุเมธา มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

 

Don`t copy text!