พระนางเธอลักษมีลาวัณ

พระนางเธอลักษมีลาวัณ

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

คนไทยส่วนมากรู้จักพระนาม ‘พระนางเธอลักษมีลาวัณ’ ในฐานะพระมเหสีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มีน้อยคนมากที่รู้ว่านอกจากพระสิริโฉมที่งดงามแล้ว พระองค์ยังมีพระอัจฉริยภาพในด้านการประพันธ์เป็นอย่างมาก มีผลงานเขียนทั้งบทละคร โคลงกลอน รวมถึงนวนิยายเป็นจำนวนมาก

ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะพระองค์คือพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับ หม่อมหลวงตาด วรวรรณ ผู้ทรงก่อตั้งละครคณะปรีดาลัยขึ้นมาเมื่อช่วงปลายรัชกาลที่ 5

หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล วรวรรณ

ปรีดาลัยเป็นคณะละครที่โด่งดังมาก ละครทุกเรื่องที่จัดแสดงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เรื่องที่โด่งดังที่สุดก็คือ สาวเครือฟ้า คณะละครปรีดาลัยมาเฟื่องฟูที่สุดในช่วงรัชกาลที่ 6 ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไปในช่วงรัชกาลที่ 7 ก่อนที่พระนางเธอลักษมีลาวัณจะทรงฟื้นฟูโรงละครขึ้นใหม่อีกครั้งในช่วงรัชกาลที่ 8

ทรงเสด็จออกงานพระราชพิธีต่างๆ ร่วมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระนางเธอลักษมีลาวัณ เป็นสตรีที่มีชะตาชีวิตผกผันราวกับนวนิยาย ยามขึ้นก็ขึ้นสูงสุด ยามลงก็ลงจนถึงที่สุดเช่นกัน

พระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสีผู้ทรงสิริโฉม

พระองค์มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล วรวรรณ หรือท่านหญิงติ๋ว ต่อมาได้รับพระราชทานพระนามใหม่จากรัชกาลที่ 6 เป็นหม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ

ทรงฉายพระรูปคู่กับพระราชสวามี

เพราะมีสายเลือดศิลปิน หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณจึงมีความสามารถในเรื่องการประพันธ์ พระองค์สนพระทัยด้านวรรณกรรม และทรงพระนิพนธ์โคลงกลอนมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

เมื่อชันษา 21 ปี พระองค์มีโอกาสได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานประกวดภาพเขียน ณ โรงละครวังพญาไท ครั้งนั้นพระนางเธอเสด็จไปพรอมกับเจ้าพี่เจ้าน้องหลายองค์ จะว่าไปแล้วงานที่จัดขึ้นในครั้งนั้นก็คืองานที่ในหลวงจะทรงหาคู่ครองที่เหมาะสมนั่นเอง

สาวเครือฟ้า ละครร้องที่โด่งดังที่สุดของปรีดาลัย

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชักชวนให้ท่านหญิงไปแสดงละครในวังหลวง และโปรดให้แสดงเป็นนางเอกในพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง เช่น เป็นเจ้าหญิงอันโดเมดราในเรื่อง วิวาหพระสมุท นับเป็นสตรีท่านแรกที่ได้รับบทนางเอกในละครพูด

หลังจากงานเลี้ยงที่วังพญาไทไม่นาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าวัลลภาเทวี ซึ่งเป็นพระภคินีของหม่อมเจ้าหญิงวรณพิมลขึ้นเป็นพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ในฐานะพระคู่หมั้น แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็ทรงถอนหมั้นพระวรกัญญาปทาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ พร้อมกับทรงหมั้น และมีพระราชวินิจฉัยว่าจะได้ทรงทำการราชาภิเษกสมรสด้วย

โรงละครปรีดาลัย ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนตะละภัฏศึกษา ล่าสุดดูเหมือนโรงเรียนจะปิดกิจการไปแล้ว

แต่แล้วโชคชะตาก็พลิกผันอีกครั้ง เพราะเมื่อเฉลิมพระยศได้เพียงหนึ่งเดือนสิบเก้าวัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เปลี่ยนพระทัย ไปทรงอภิเษกสมรสกับพระสุจริตสุดา ธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) แทน ทรง ‘แยกกันอยู่’ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณซึ่งยังไม่ทันได้อภิเษกสมรสกัน ต่อมาพระองค์เจ้าลักษมีลาวัณก็ได้รับโปรดเกล้าสถาปนาขึ้นเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ

เรือนใจที่ไร้ค่า

หลังจากนั้นพระองค์ก็เริ่มเก็บพระองค์ ลดบทบาทต่างๆ ลง พร้อมกับแยกพระตำหนักไปประทับอยู่ตามลำพัง ทรงประทับอยู่อย่างสันโดษ และเพื่อเลี่ยงความเงียบเหงา พระองค์จึงให้เวลากับการนิพนธ์หนังสือและบทละคร รวมถึงการรื้อฟื้นคณะละครปรีดาลัยของพระบิดาขึ้นมาอีกครั้ง

เรือนใจที่ไร้ค่าภาคพิเศษ ตามคำเรียกร้องของนักอ่าน

ในช่วงนั้นเอง ทรงเขียนนิพนธ์นวนิยายออกมามากมายหลายเรื่อง ในนามปากกา ‘ปัมทะ’ ‘วรรณพิมล’ และ ‘พระนางเธอลักษมีลาวัณ’

นวนิยายแทบทุกเรื่องของพระองค์เป็นที่นิยมของผู้อ่านในเวลานั้นเป็นอย่างมาก เพราะโครงเรื่องแปลกใหม่ หลายเรื่องเป็นเรื่องแปล เช่น ชีวิตหวาม ที่ทรงแปลมาจาก The Reflections of Ambrosine ของ Elinor Glyn เป็นต้น

สนเท่ห์เสน่หา หนึ่งในหนังสือหายากของพระนางเธอลักษมีลาวัณ

นวนิยายเรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้กับพระองค์มากที่สุดคือ เรือนใจที่ไร้ค่า ซึ่งเป็นเรื่องราวของสุภาพสตรีในสังคมชั้นสูงของสยามที่ต้องประสบกับชะตากรรมอันโลดโผน รันทด และความรักที่พลิกผัน เรื่องนี้นักอ่านหลายคนลงความเห็นว่า มีเค้าโครงชีวิตของพระองค์ปะปนอยู่ด้วยไม่น้อย เรือนใจที่ไร้ค่าได้รับความนิยมสูงมากจนต้องมีภาคสองตามมา

วังลักษมีวิลาศ ปัจจุบันคือ คริสต์จักรนิมิตใหม่ ศูนย์รวมนักศึกษาแบ๊บติสต์ บริเวณสี่แยกพญาไท
รวมบทละครในนามปากกาปัทมะ แจกในงานพระราชทานเพลิงศพของพระนางเธอลักษมีลาวัณ

แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่าชีวิตของคนเรานั้นได้ถูกกำหนดมาแล้ว วันหนึ่งในปี พ.ศ. 2504 พระนางเธอลักษมีลาวัณถูกคนร้ายที่เข้ามาขโมยทรัพย์สินปลงพระชนม์ พระศพของพระนางถูกอำพรางไว้ จนหลายวันต่อมาจึงถูกพบ และได้รับพระราชทานเพลิงอย่างสมพระเกียรติตามโบราณราชประเพณี

ภาพสุดท้ายของพระนางเธอลักษมีลาวัณในวัย 60 พรรษา ยังทรงพระสิริโฉมงดงาม

ปัจจุบันนี้ พระนิพนธ์ของพระนางเธอลักษมีลาวัณ กลายเป็นบทประพันธ์คลาสสิกที่หายาก ในตลาดหนังสือเก่ามีราคาแพงมาก และไม่มีใครรู้ว่าจะมีโอกาสได้นำมาพิมพ์ซ้ำเพื่อเผยแพร่อีกหรือไม่

 

Don`t copy text!