น้อย ชลานุเคราะห์

น้อย ชลานุเคราะห์

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรมไทย

*************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ชื่อ ‘น้อย ชลานุเคราะห์’ น่าจะทำให้นักอ่านรุ่นปัจจุบันเงิบไปพักใหญ่ หลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อด้วยซ้ำ เพราะอย่างนี้ ‘อ่านคลาสสิก’ เลยหยิบยกมาชวนคุยกันสักหน่อย

น้อย ชลานุเคราะห์ เป็นนักเขียนที่มีผลงานมากมาย โด่งดังอยู่ในยุคเดียวกับดอกไม้สดและ ก.สุรางคนางค์ มีผลงานมากมาย เช่น สไบทิพย์, มาลัยทิพย์, น้ำทิพย์, คนละแบบ. สองพี่น้อง, ชะรอยกรรม, ห้วงกรรม และอีกมากมายที่วันนี้หาอ่านยากแล้ว

นวนิยายของน้อยมีมากกว่าหนึ่งร้อยเรื่อง เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องรัก เรื่องแนวครอบครัว คุณธรรมน้ำมิตร สะท้อนสังคม มีตัวเอกตัวร้าย มีอิจฉาริษยา ครบสูตรตามแบบของนวนิยายที่นิยมกันในเวลานั้น มาอ่านวันนี้หลายคนอาจรู้สึกขัดแย้งว่าทำไมตัวเอกถึงตัดสินใจแบบนี้ ทำแบบนั้น แต่ถ้าลองย้อนไปดูว่าพระเอกนางเอกในเรื่องคือคนในช่วงปี พ.ศ. 2448-2500 ก็คงพอจะนึกออกว่าเพราะมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน วิธีคิด วิธีการตัดสินใจของพวกเขาและเธอก็เลยแตกต่างจากคนในปี พ.ศ. 2563

หยิบมาอ่านในวันนี้อาจจะเชยไปแล้ว แต่สิ่งที่เราจะเห็นในงานของน้อยก็คือสภาพบ้านเมืองช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การแต่งตัวของผู้คน นโยบายรัฐนิยมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องห้ามกินหมาก ออกไปไหนมาไหนต้องสวมหมวก ต้องทักทายกันด้วยคำว่าสวัสดี ทั้งหมดนี้ได้บันทึกผ่านเรื่องราวและความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร อ่านไปดีๆ แล้วจะเห้นเงาของผู้เขียนสะท้อนอยู่ในเงาของตัวละคร ทั้งนี้ อาจเพราะ ‘น้อย ชลานุเคราะห์’ ก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้น

เธอเป็นลูกสาวของนาวาเอกพระยาชลธารพินิจจัยและคุณหญิงเชื้อ ชื่อเมื่อแรกเกิดคือ ‘ชาญสมร’ แต่นโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงครามบอกว่า เกิดเป็นหญิงตั้งชื่อ ต้องชื่อฟังเป็นหญิง ดังนั้น เด็กหญิงชาญสมร ชลานุเคราะห์ จึงต้องเปลี่ยนเป็น สมร ชลานุเคราะห์ ในภายหลัง

ไม่มีประวัติว่าเธอสมรสมีครอบครัวหรือไม่ น้อยเป็นนักเขียนที่ค่อนข้างเก็บตัว ไม่ค่อยมีใครรู้ประวัติของเธอมากนัก จะว่าไปแล้วนักเขียนรุ่นนั้นส่วนใหญ่ไม่ค่อยเปิดเผยตัวตนกันเหมือนสมัยนี้ หลายนามปากกาที่แฟนๆ ติดตามอ่านกันอย่างเหนียวแน่นก็ยังไม่มีใครรู้จนบัดนี้ว่าตัวจริงของพวกเขาคือใคร อย่างเช่น ‘ดาวหาง’ เจ้าของนวนิยายการเมืองที่โด่งดังอย่าง พัทยา ก็ยังเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้ว่าเขาคือใครกันแน่

ฐานะครอบครัวของ น้อย ชลานุเคราะห์ จัดว่าดีมาก บ้านอยู่ที่ริมคลองบางกอกใหญ่ ภายในบริเวณบ้านมีบ้านหลายหลัง เรือนประธานเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น หลังคาสังกะสี ปลูกสร้างอย่างธรรมดาทั่ว ๆ ไป เน้นเอาประโยชน์ใช้สอยมากกว่าความสวยงาม ปัจจุบันทายาทผู้ได้รับมรดกรื้อลงหมดแล้ว ด้านริมคลองปล่อยตามธรรมชาติ ไม่ได้สร้างเขื่อนเหมือนหลังอื่นๆ

ครอบครัวมีห้องแถวสร้างให้เจ๊กเช่า 6-7 ห้อง อาชีพของผู้เช่าส่วนใหญ่ขายหมู หอยแมลงภู่ หอยกระพง เฉพาะหอยแมลงภู่นอกจากขายเป็นตัวๆ แล้ว ยังแกะเปลือกเอาแต่เนื้อออกขาย เปลือกที่แกะทิ้งลงใต้ถุนบ้าน เวลาน้ำลงจะเห็นเปลือกหอยแมลงภู่ทับถมอยู่ริมคลองเป็นกองสูงเต็มไปหมด เปลือกหอยที่ว่านี้มีมากเสียจนสามารถนำไปถมที่ในบ้านพระยาชลธารฯ ได้เลย

มีอยู่ระยะหนึ่ง คุณแม่น ชลานุเคราะห์ ซึ่งเป็นพี่ชายของน้อย นำภาพยนตร์มาฉายดูเล่นๆ กันในลานบ้าน อนุญาตให้ผู้คนแถวนั้นมาดูได้ หนังกลางแปลงของบ้านพระยาชลธารฯ เลยได้ชื่อว่า ‘เฉลิมหอย’ เรียกเลียนแบบโรงหนังเฉลิมไทย

ความทันสมัยต่างๆ เหล่านี้ สะท้อนออกมาในงานเขียนของ น้อย ชลานุเคราะห์ เกือบทุกเรื่องนางเอกจะเป็นหญิงสาวที่มีหัวคิดทันสมัย หยิ่งในศักดิ์ศรี ส่วนพระเอกก็จะเป็นชายหนุ่มที่หล่อราวพระเอกฝรั่ง มีนิสัยทระนงองอาจ ไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจอิทธิพลใดๆ

เวลาผ่านไปนานหลายสิบปี สังคมเปลี่ยนไปมากมาย ทว่า น้อย ชลานุเคราะห์ ก็ยังคงเขียนงานที่เธอรักอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเริ่มล้มป่วยลงด้วยโรคหัวใจ และเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2519 อายุ 62 ปี ทิ้งผลงานเอาไว้เบื้องหลังมากมาย และแน่นอน นวนิยายทุกเรื่องกลายเป็นหนังสือที่หาอ่านยากมากแล้วในปัจจุบัน

 

Don`t copy text!