ไอแซก ไดนีเสน

ไอแซก ไดนีเสน

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรมไทย

*************************

– ไอแซก ไดนีเสน –

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

I have a farm in Africa, at the foot of Ngong hill…

นี่คือประโยคเปิดเรื่องที่แสนจะเป็นอมตะของภาพยนตร์และหนังสือเรื่อง Out of Africa หรือ ‘รักที่ริมขอบฟ้า’ ผลงานของ ไอแซก ไดนีเสน (Isak Dinesen) ซึ่งเป็นนามปากกาของ คาเรน บลิกเซน (Karen Blixen)

Out of Africa ฉบับพิมพ์ครั้งแรก

Out of Africa เล่าเรื่องราวของคาเรน หญิงสาวชาวเดนมาร์กที่แต่งงานกับ บารอน บรอร์ บลิกเซน ผู้มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้อง และเดินทางไปทำไร่กาแฟที่เคนยาด้วยกัน

ทั้งสองผ่านชะตากรรมและเรื่องราวต่างๆ มากมาย ทั้งดีและร้าย ส่วนใหญ่จะร้ายมากกว่าดี จนต้องหย่าร้างกันในที่สุด จุดแตกหักของสองสามีภรรยาคือการที่บารอนมีคู่นอนมากมายจนติดซิฟิลิสและนำเอาโรคมาติดคาเรน ทำให้เธอต้องป่วยและทรมานกับโรคนี้อยู่นานหลายปี

คาเรน บริกเซน

หลังเลิกกับสามี คาเรนตัดสินใจอยู่ที่เคนยาและทำไร่กาแฟต่อ ระหว่างนั้นเธอก็มีคนรักใหม่เป็นนายพรานหนุ่มชาวอังกฤษ ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันจนกระทั่งเขาตายจากไปเพราะเครื่องบินส่วนตัวตก หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดวิกฤตการล่มสลายของตลาดกาแฟ คาเรนจึงเป็นต้องขายกิจการและทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมดและเดินทางกลับเดนมาร์กในปี พ.ศ. 2474 รวมเวลาที่คาเรนอยู่ในแอฟริกานานกว่าสิบปี ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศเคนยา รวมถึงเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในตัวตนของเธอเองอย่างมากมาย

เดนนิส ฟลินส์ นายพรานชาวอังกฤษ คนรักของคาเรน

แอฟริกาทำให้มุมมองและความคิดของหญิงสาววัตถุนิยมไปเป็นอีกคนที่เห็นถึงคุณค่าของผู้คนและจิตวิญญาณของพวกเขาเหล่านั้น

เมื่อกลับมาถึงเดนมาร์ก คาเรนจึงเริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจัง โดยใช้นามปากกาว่า ไอแซก ไดนีเสน หนังสือเล่มแรกของเธอชื่อ Seven Gothic Tales เมื่อออกวางจำหน่ายก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงในทันที

เล่มต่อมาคือ Out of Africa ยิ่งประสบความสำเร็จมากกว่าเล่มแรกหลายเท่าตัว คาเรนเขียนหนังสือออกมาอีกหลายเล่ม เช่น The Angelic Avengers, Writer’s Tales, Last Tales, Anecdotes of Destiny, Shadows on the Grass และอีกหลายเรื่อง แต่ไม่มีเรื่องไหนที่ได้รับความนิยมจนต้องพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายหนเท่ากับ Out of Africa ว่ากันว่าความสำเร็จหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือการที่คาเรนถ่ายทอดความงดงามของแอฟริกาผ่านตัวอักษรได้อย่างละเมียดละไม ทำให้คนยุโรปจำนวนมากที่ใฝ่ฝันอยากเดินทางไปที่แอฟริกา แต่ไม่มีโอกาสจะได้ไปด้วยตัวเอง ได้เห็นภาพความสวยงามของบ้านเมืองและสภาพภูมิประเทศผ่านจากปลายปากกาของเธอ

ซึ่งจะว่าไปแล้ว Out of Africa และ Shadows on the Grass ก็คืออัตชีวประวัติของตัวคาเรนนั่นเอง หนังสือทั้งสองเล่มแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดย สุริยฉัตร ชัยมงคล ใช้ชื่อ พรากจากแสงตะวัน และ รูปเงาในพรมหญ้า ตามลำดับ ปัจจุบันนำมาพิมพ์ซ้ำโดยสำนักพิมพ์ทับตะวัน และยังพอหาซื้อมาอ่านกันได้

ส่วนมากแล้ว คาเรน บลิกเซน จะเขียนงานเป็นภาษาอังกฤษก่อน แล้วค่อยแปลกลับมาเป็นภาษาแดนิชในภายหลัง

เริ่มบทบาทนักเขียนในนามปากกาไอแซก ไดนีเสน

งานเขียนของ คาเรน บลิกเซน มักจะเป็นเรื่องเล่า เกือบทุกเรื่องแอบเอาบางส่วนของนิยายปรัมปรามาผสมผสานอยู่ด้วยเสมอ งานเขียนในยุคนั้นมีเงาสะท้อนสังคมที่หม่นมัวของยุโรป หลายเรื่องของคาเรนก็เป็นแบบนั้น ออกแนวกอธิกหน่อยๆ อ่านสนุกๆ ก็ได้ หรือจะอ่านแบบต้องตีความก็ได้ เรียกว่ามีความหมายถึงสองชั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่งานเขียนของ คาเรน บลิกเซน ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงโนเบลหลายครั้ง โดยเฉพาะเรื่อง Out of Africa ที่ว่ากันว่ามีโอกาสสูงมากที่จะได้รับรางวัลในปีนั้น แต่เพราะเธอเป็นผู้หญิง และยังไม่เคยมีการให้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมกับผู้หญิงมาก่อน รางวัลในปีนั้นจึงตกไปเป็นของ จอห์น สไตน์เบ็ก

แต่จะได้รางวัลโนเบลหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะถึงวันนี้ผลงานของ ไอแซก ไดนีเสน ก็ได้รับความนิยม ได้รับเสียงชื่นชมไปทั่วโลก ทั้งจากบรรดานักอ่านทั่วไป และนักเขียนด้วยกันเอง มีการแปลออกไปเป็นภาษาต่างๆ มากมาย

ได้รับเกียรติให้ปรากฏบนธนบัตรประเทเดนมาร์ก

รัฐบาลประเทศเดนมาร์กก็นำภาพของเธอมาพิมพ์ลงบนธนบัตร 50 โครนของเดนมาร์ก และแสตมป์ของเดนมาร์กถึง 2 รุ่น นอกจากนี้ ยังได้ตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อย Asteroid 3318 Blixen เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 100 ปีของเธออีกด้วย

บ้านไร่ของคาเรนในเคนยา ปัจจุบัน รัฐบาลจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์คาเรน บลิกเซน

คาเรนเสียชีวิตจากโรคชรา ในปี พ.ศ. 2505 มีอายุได้ 77 ปี พร้อมกับทิ้งผลงานคลาสสิกมากมายไว้เบื้องหลัง ปัจจุบันนี้บ้านไร่ของเธอที่เคนยายังคงอยู่ในสภาพเดิม รัฐบาลเคนยาร่วมกับเดนมาร์กเปิดบ้านหลังนั้นเป็นพิพิธภัณฑ์คาเรน บลิกเซน เพื่อให้แฟนๆ นักอ่านที่ชื่นชอบ Out of Africa ได้สัมผัสกับบรรยากาศว่า เมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น… คาเรนเคยอยู่อย่างไร

Don`t copy text!