บุษบาลุยไฟ ตอนที่ 8 : ทะเยอทะยาน

โดย : ปราณประมูล

Loading

บุษบาลุยไฟ โดย ปราณประมูล เรื่องราวของ ลำจวน หญิงสาวผู้ต่อสู้กับค่านิยมทางสังคมในยุค ร.3 เธอลุกขึ้นทำสิ่งที่คนในห่วงเวลานั้นไม่ทำกัน หนทางจึงไม่ได้ราบรื่น หากเต็มไปด้วยอุปสรรคและถ้าไม่ใช่เพราะแรงรักแรงใจที่หนุ่มจีนคนนั้น คงยากที่บุษบาดอกนี้จะไปสู่จุดหมาย ‘บุษบาลุยไฟ’ นวนิยายเรื่องเยี่ยมที่อ่านเอานำมาให้อ่านออนไลน์

อากาศเย็นสบายในยามราตรี คณะละครนายสุ่นใช้พื้นที่บริเวณลานกว้างริมน้ำหน้าเรือนซ้อมการแสดง ที่มีคนมาว่าไปเล่นงานทำบุญอายุของผู้หลักผู้ใหญ่บางคน ที่ถึงกับจะปิดตลาดชานพระนครฉลองกันเร็วๆ นี้ เรื่องที่ได้รับการกำหนดมาคือ ไกรทอง

ในแสงไต้สว่างจ้าทั่วลานริมน้ำ คนแสดงที่ร่ายรำทำกริยาเป็นชายล้วน แต่ใส่จริตหญิงดิ้นเดือด

ได้เอย ได้ฟัง                    ตะเภาทองแค้นคั่งเคืองจิต

เจ็บแสนแปลบใจดังไฟพิษ                   ด้วยว่าถูกที่คิดก็โกรธา

กระทืบเท้าก้าวเดินเข้าไปใกล้               ถ่มน้ำลายรดให้แล้วร้องว่า

เดิมทีผัวมึงอ้ายกุมภา                        ขึ้นมาคร่าคาบกูลงไป

นักร้องทั้งสองก็เป็นชายหนุ่มเช่นกัน ถือสมุดไทย มีบทที่เขียนเป็นลายมือ วางไว้ตรงหน้าให้อ่านออกได้ในแสงตะเกียงร้องไปด้วยกัน ผลัดกันร้องโต้ตอบอย่างมีรสชาติแม้นักดนตรีไม่ว่างมาซ้อม จึงไม่ได้ใช้วงดนตรี แค่มีคนฉิ่งตีให้จังหวะ

ลำจวนที่อาบน้ำกินข้าวแล้ว ผัดหน้าขาว กระดืบไปที่แคร่หลังคนร้อง โผล่หน้ายื่นมาอยู่ระหว่างสองชายหนุ่มเพื่อมองดูสมุด เสมือนก้มอ่านจริงจังไปกับเขาด้วย ทั้งๆ ที่อ่านไม่ออก

 แล้วจำแลงแปลงตัวเป็นมนุษย์              ฉวยฉุดยุดมือถือไหล่

จำเป็นเสียตัวด้วยกลัวภัย                   กูไม่ได้จงจิตไปคิดตาม

ไม่เหมือนอีอุบาทว์ชาติกุมภีล์               อีกุลีกุลำส่ำสาม

คนร้องรับที่นั่งใกล้ลำจวน ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดใช้สมองจดจำบทกลอน

“อี กุ ลี กุ ลำ ส่ำ…สาม”

บนยกพื้นชานเรือน นายโรงสุ่นนั่งหย่อนใจ เคี้ยวหมาก สลับกับจิบน้ำชาเมื่อรู้สึกคอแห้ง ฟังลูกวงซ้อมละครอย่างสบายอารมณ์ คุณนายนอบนั่งเคียง มีนางปุกนั่งพัดให้พวกนายของนาง ส่วนแม่จำปากับนางทิมนั่งต่ำลงมาตรงหัวบันได หัวเราะหัวใคร่ไปกับบทด่าทออันจัดจ้าน

เนตรเดินขึ้นมาจากท่าน้ำเมื่อเสร็จจากการอาบน้ำ นุ่งผ้าลอยชาย มีผ้าขาวม้าพาดบ่า มือถือขันใส่กระปุกเครื่องอาบน้ำประคำดีควาย แป้งดินสอพองที่ประร่างมาลายพร้อย อีกน้ำมันหอมใส่ผมที่ชโลมไว้จนหอมกรุ่น

เขาเดินผ่านคณะละครอย่างไม่ใส่ใจอันใดนัก แต่เมื่อมองไปเห็นลำจวน ที่นั่งเสนอหน้ามาส่องบทละคร หน้าขาวผ่องกลางแสงตะเกียงท่ามกลางเหล่าคนละครชายล้วน เนตรก็หยุดกึก อารมณ์แช่มชื่นเปลี่ยนเป็นร้อนระอุ

บทร้องตอนนั้น มาถึงช่วงกำลังเผ็ดร้อนยิ่ง

ลอยหน้าลอยตาว่าข้างาม         แต่งจริตติดตามผัวกูมา

กูจะว่าให้สาสมใจ                  อีจัญไรร้อยแปดแพศยา

แม้นไม่เข็ดหลาบยังหยาบช้า      จะให้ข้ากูตบไสคอไป

ลำจวนก็ทำท่าราวกับอ่านบทนั้นออกไปกับเขา

“อีจัญ…ไร ร้อยแปด แพศยา…”

ทั้งๆ ที่ความจริง เด็กหญิงกำลังพยายามท่องจำกลอนที่ได้ยินอยู่

“จะให้ข้ากูตบไสคอไป”

หน้าตาของเธอแสดงออกทุกอารมณ์ ไม่แพ้พวกพี่ๆ น้าๆ เหล่านั้น ซึ่งมันรบกวนเนตรจนไม่อาจจะอดทนไหว

เขาฝ่าวงซ้อมละครเข้าไป ดึงหูลำจวนหิ้วขึ้นข้างหนึ่งราวจับกระต่าย ไม่ให้มันดิ้นหนีไปได้

“นางคนนี้ เผลอเป็นไม่ได้ ออกมาบัดเดี๋ยวนี้…”

“โอ๊ย พี่เนตรอีกแล้วหรือ ปล่อยฉันๆ”

แต่พวกชาวคณะนายสุ่นกลับมองตามอย่างขบขันปนระอา เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เห็นประจำจนชินเสียแล้ว

“อีกแล้ว โดนจนได้ แม่ลำจวนเอ๊ย…”

หนุ่มนักร้องเสียงทองถึงกับร้องออกมาแทนบทกลอน

 

ที่บนเรือน เนตรเหวี่ยงปล่อยหูเด็กหญิงลงตรงหน้าพ่อแม่ โดยมีจำปาและทิมวิ่งเข้ามาประคองร่างเล็กๆ นั้นไว้

ลำจวนน้ำตาไหล กุมหูข้างนั้นอย่างเจ็บปวด

“คุณพ่อครับ คุณพ่อจักปล่อยนางนี่ไว้เยี่ยงนี้รือ คณะละครนายสุ่นล้วนผู้ชาย แม้บางคนจะไม่ใช่ชายที่…มีพิษภัยอะไร แต่ทุกคนก็เป็นชายนะขอรับ แล้วนางคนนี้ก็ชอบเสียจริง ที่จะเที่ยวคลุกคลีตีโมงกับพวกบุรุษ”

เนตรเกรี้ยวโกรธ

นางจำปาสุดจะทนเงียบได้ เมื่อลูกสาวถูกกล่าวหาถึงเพียงนั้น

“พ่อเนตร…ลำจวนยังเด็กนัก”

“ไม่เด็กแล้ว แม่จำปา อีกปีเดียวก็ตัดจุกแล้ว อีกสองปีก็จักมีระดูแล้ว แม่จำปาต้องตัดไฟแต่ต้นลม เพราะลูกสาวแม่จำปาไม่เหมือนแม่น้อยแม่นวลที่เขาไม่เป็นเยี่ยงนี้ แลกระผมก็ไม่เคยเห็นเด็กผู้หญิงที่ไหนไม่มีความน่าเอ็นดูเลยแม้แต่นิดเช่นนี้ แก่นแก้วแก่แดดแก่ลมสิ้นดี”

น้ำเสียงชายหนุ่มเปี่ยมไปด้วยความชิงชัง จนจำปาไม่อาจเล็งเห็นเศษเสี้ยวของความห่วงใยใดๆ ได้

“ฉันไม่ได้แก่แดดแก่ลม ฉันอยากบอกบทเป็นเช่นคุณพ่อท่านบ้าง”

ลำจวนเถียงฉอด

“บอกบท! ผู้หญิงที่ไหนเป็นคนบอกบท”

คุณนายนอบร้องขึ้นพลางตบอก

“ทำไมผู้หญิงจักบอกบทมิได้ คนหากอ่านหนังสือได้ ก็ต้องบอกได้ทั้งนั้น”

เถียงคำไม่ตกฟาก คือลักษณะของเด็กหญิงผู้นี้แท้ๆ

เนตรโมโหจี๊ด

“ดูมัน กับนายแม่มันยังไม่กลัว เถียง สวน ย้อน…”

นายสุ่นเงียบ ไม่แก้แทนลูกสาวคนสุดท้อง หากจ้องนางจำปาอย่างสำทับด้วยสายตา

จำปาก็เข้าใจนัยนั้น

“ลำจวน…กราบขอโทษนายแม่เสีย” เธอดุเสียงเกรี้ยว

ลำจวนมองหน้าแม่ น่าแปลก ที่เด็กหญิงยอมตาม

เธอนิ่งไปอึดใจ ก่อนจะทรุดลง กราบลงกับพื้น

“ขอโทษค่ะ นายแม่”

แต่เนตรหาได้พอใจไม่ อาการว่าง่ายผิดปกติของลำจวน เขามองเป็นการประชดหรือเสแสร้งมากกว่า จึงยิ่งรู้สึกหมั่นไส้

“แล้วนึกว่ามันงามรือ เป็นผู้หญิงมานั่งบอกบทเรื่องไกรทอง บทเมียน้อยเมียหลวงด่าทอกันหยาบๆ คายๆ  ฉลาดนัก…ไม่รู้รือ ว่าละครผู้ชายเล่นเขามีไว้ให้แม่ค้าปากตลาดดู เออ…คิดเสียบ้าง คิดสิ คิด…ว่าทำไมเขาไม่ให้ผู้หญิงเล่น เพราะมันจัดจ้าน ปากว่ามือถึง เขาถึงให้ผู้ชายเล่น บทละครก็ต้องเจ็บๆ แสบๆ ถึงอกถึงใจพระเดขพระคุณ อยากอ่านหนังสือ อยากอ่านหนังสือ ไม่รู้หรือไร ว่าในหนังสือนั้นมันมีสิ่งอันตราย เรื่องบางเรื่อง ผู้หญิงไม่ควรไปรู้ไปเห็นเลย ปัดโธ่!”

ยิ่งพูดก็ดูเหมือนโทสะของเนตรจะยิ่งเพิ่มพูนทวี

ลำจวนจ้องหน้าพี่ชายต่างมารดาตาไม่กะพริบ หามีวี่แววสลดไม่

เนตรจ้องตอบ เข่นเขี้ยว

“ทีละครผู้หญิง สุภาพเรียบร้อยๆ  ดีๆ งามๆ  ให้รำไม่รำ”

“ละครผู้หญิง อิฉันก็อยากอ่าน อยากเขียน อยากแต่งบทได้ ไม่ใช่อยากรำ”

ลำจวนสวนไม่ละลด

“คุณพ่อ ฟัง ฟังมัน กระผมหมดคำพูดแล้ว ถ้าคุณพ่อไม่ทำอันใดสักอย่าง กระผมขอทำนายเลย ว่านางนี่มันจะทำให้พ่อแม่อับอายขายขี้หน้า ทำให้ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลพินาศย่อยยับแน่”

เนตรทำนายหรือจะสาปก็ไม่แจ้ง หันสะบัดเดินปึงปังกลับห้องไป

 

ค่อนคืน…พระจันทร์ครึ่งดวงผ่านหมู่ไม้

นายสุ่นนั่งไล่ระนาดเล่นลำพัง ดับความคิดที่วุ่นวายสับสน

ลูกๆ ของเขาเติบโตขึ้นทุกวัน ไม่มีสิ่งใดที่ปรารถนาเท่าส่งลูกๆ ให้ถึงฝั่งทั้งชายหญิง แต่ลำจวนนั้นน่าเป็นห่วงบ่วงใยยิ่ง สุ่นอดคิดเข้าข้างเด็กหญิงไม่ได้

จะว่าไป ทุกวันนี้ เจ้านายผู้หญิงก็เรียนหนังสือมากขึ้น หากลำจวนจะได้เรียนบ้าง…มันคงมีความสุข

แต่ผู้หญิงที่รู้หนังสือจนเก่งกาจฉลาดเฉลียว ชายใดจะต้องการเอาไปชุบเลี้ยงเป็นลูกเมียให้มันมาทำฤทธิ์เดชข่มขี่อยู่เหนือหัวกบาลเล่า…

หรือว่า…มันไม่มีใครเอาก็ช่าง ก็ให้มันมาช่วยแต่งละคร บอกบทละครจนแก่เฒ่าคาโรงไป แต่เอาเข้าจริง มันจะทำได้หรือไม่หนอ

เอาเป็นว่า…น่าจะรอให้นางเติบโตและได้เป็นเมียของผู้มีอำนาจวาสนาเสียก่อนน่าจะดีกว่า ตอนนั้น จะเรียนให้มากมายเพียงไร ก็คงไม่ใช่ภาระของพ่ออีกต่อไปแล้ว

พื้นกระดานไหวน้อยๆ  จากฝีเท้าเบาหวิวก้าวมา นายสุ่นหยุดมือจากการไล่ระนาด

ร่างเล็กของแม่ครู ขาวซีดอยู่ในแสงจันทร์ข้างแรม เหมือนวิญญาณภูตพราย

แม่ครูทรุดลงนั่ง หลังตรง ห่างออกไปมากอยู่ และเอ่ยด้วยเสียงทรงอำนาจ

“ละครผู้ชายส่วนมาก บทก็เป็นอย่างตลาดๆ  หยาบ ระคายหู ตบตีกัน อย่างที่พ่อเนตรเขาว่าจริงๆ แหล ดูแต่บทเรื่องมโนห์ราของกรุงเก่าไหมเล่า มโนห์รากับแม่…ถึงกับด่ากัน…ว่าอีดอกทอง…หรืออย่างอื่น ที่ฉันก็ไม่กล้าพูด มันกระดากปากนัก”

สุ่นถอนใจ

“กระผมก็อยากจะดัดแปลงบทละครให้ถ้อยคำสุภาพกว่านี้ แต่หากทำเช่นนั้น ก็จะไม่ถึงใจพระเดชพระคุณ ชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลายก็จะบ่นเอา ว่าละครจืดชืด หนีไปดูคณะอื่น ที่ตบเป็นตบ จิกหัวกันจนรัดเกล้ากระจาย”

“นายสุ่น นายสุ่นจะเอาคนดูละครพวกเดิมๆ ที่เป็นชาวปากตลาด หรืออยากขยับมาให้เป็นคณะที่คนชั้นสูงก็ดูได้ พวกไพร่ก็ดูดี ทุกวันนี้มีเสด็จพระองค์ชายตั้งหลายพระองค์ หันมาแต่งละครนอกชนิดที่จัดจ้าน แต่ก็ไม่ต้องใช้คำต่ำๆ นายสุ่นลองไปดูละครนอกตามวังเหล่านี้บ้าง หากนายสุ่นยึดอยู่แต่กับความเคยชิน คณะนายสุ่นก็จะเหลือแต่คนดูพวกแม่แปรก ปากจัด ที่นับวันจะแก่ตายไป”

“แม่ครู แม่ครูนี่แหละที่จะช่วยให้คณะของกระผม ได้ไปรู้จักคนชั้นสูง ได้เล่นให้คนชั้นสูงดู ผมฝากความหวังไว้ที่แม่ครู”

นายสุ่นพนมมือกลางอก

แม่ครูถอนใจยาว หวนคำนึงถึงอดีตอันรุ่งโรจน์ ที่สวนขวา ชีวิตงามประณีตนั้นผ่านไปไม่กลับมาแล้ว

“เพลานี้ ฉันก็ทำให้นายสุ่นได้เป็นพ่อตาเสด็จในกรมสำเร็จแล้ว อีกไม่นาน พระองค์ท่านต้องพา

นายสุ่นไปเข้ากลุ่มคณะละครที่อยู่ในระดับเดียวกัน แต่ก่อนอื่นนายสุ่นควรพิจารณาดูเครื่องดนตรีที่นายสุ่นใช้ด้วย เครื่องไม้กระดำกระด่างเก่าคร่ำมอซอเช่นนี้”
แม่ครูปรายตามาที่ระนาดรางเก่าแก่

“ไปเล่นที่ไหน มันก็ดูเป็นคณะละครชั้นสูงไปไม่ได้ดอก…เออ…ถ้าเป็นเครื่องมุก…ก็ค่อยยังชั่ว”

นายสุ่นแทบหงายหลัง เหงื่อแตก

“เครื่องมุก! มันจะเทียมเจ้าเทียมนายไปกระมังขอรับ”

 

คืนเดียวกันนั้น ที่ห้องพักซอมซ่อ หลังศาลเจ้าแม่กวนอิมเก่าแก่ของชาวฮกเกี้ยน ใกล้ปากคลองบางกอกใหญ่ ในแสงตะเกียงน้ำมันริบหรี่ เจ้าเด็กหนุ่มผมเปียถือชิ้นถ่านไฟด้วยมือซ้าย กำลังวาดลวดลายกนกไทยลงบนฝาผนังปูน

อากงกำลังกางมุ้งอยู่ในห้องด้านหลัง มองผ่านลูกซี่กรงปูนกั้นมุมด้านหลังเห็นหลานหมกมุ่นเอาจริง เอาจังฝึกฝนอยู่นานแล้วไม่ยอมเลิกรา เขียนไปลบไปอยู่เช่นนั้น แม้ไส้ตะเกียงจะสั้นหดลงทุกทีๆ จนแทบจะมืดมิดแล้ว

กงเดินมามองสิ่งที่หลานเขียน แล้วเงยดูลายจีนต่างๆ ที่มีในศาล

ฮุนไม่วาดสิ่งเหล่านั้นลงไปเลย

“ไม่เห็นวาดลายพวกนี้บ้าง ประแจจีน เงื่อนมงคล ดอกพุดตาน ลายเมฆ”

ฮุนแอบเบ้ปากเบาๆ

“ลื้อเห็นภาพเหล่านี้มาแต่เกิด ลื้อไม่อยากวาดบ้างรือ”

“ต้องหัดวาดลายไทยสวยๆ ยากๆ  จึงจะได้เป็นศิษย์ท่านทองหลู่”

ไม่รู้ว่าฮุนคิดอะไรเมื่อเอ่ยเช่นหน้า แต่สีหน้ามันดูยุ่งยากยิ่ง

“ลายจีนก็สวย”

“อั๊วะไม่อยากวาดลายจีน”

“อ้อ”

“อั๊วะอยากพูดไทยชัดๆ”

“อ้อ”

“จะเป็นขุนนางสยาม ต้องพูดไทยชัด”

“ลื้อไม่ชอบเป็นคนจีนรือ”

ฮุนเงียบ ไม่ตอบ รู้สึกขมขื่น

ฮุนเติบโตขึ้นมากแล้ว เป็นหนุ่มเต็มตัวมาได้สองสามปี อายุเท่ากับจำนวนเวลาที่หลิมกิมเส่งได้มาอยู่ในแผ่นดินสยาม และได้ผูกปี้เป็นคนของอู่ต่อเรือตามหลิมกิมเส่ง

หลิมกิมเส่งตัดสินใจเดินทางออกจากท่าเรือเซี้ยเหมินเมื่ออายุมากแล้ว เขาทำงานเย็บใบเรือมาแต่หนุ่มจนแก่ คืออายุถึงสี่สิบกว่าปี มีครอบครัวที่ลูกๆ เติบโตขึ้นถึงขั้นมีหลานให้แล้วหลายคน อยู่กันมาอย่างไม่สุขสบาย แต่ก็ไม่ทุกข์ยากจนเกินไป จนภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของเขาล้มป่วยลงด้วยโรคติดต่อร้ายแรงบางอย่างที่ทำให้ไข้สูงและหายใจไม่ได้ ตอนนั้น คนจีนในเมืองท่าหลายคนล้มตายลงเป็นใบไม้ร่วง มีคนบอกว่าโรคนี้ พวกอั้งม้อที่รอนแรมข้ามทะเลมา พากันเอามาขึ้นเรือที่ท่า นำมาแพร่ให้ผู้คน

ลูกสะใภ้ที่ทำหน้าที่พยาบาลแม่ผัว ติดโรคเป็นคนต่อมา จากนั้น ครอบครัวของหลิมกิมเส่งทั้งหมด ลูกๆ หลานๆ ได้เสียชีวิตไปดุจใบไม้ร่วง

แต่ไม่รู้สวรรค์หรือนรกกำหนด

กิมเส่งจึงเป็นคนเดียวในครอบครัว ที่รอด

เขาเป็นคนหนึ่งที่ร่วมเผาศพผู้คนเป็นกองพะเนิน ที่รวมร่างหลานๆ เล็กๆ และลูกชาย ลูกสาว

ผู้คนจำนวนหนึ่งลงเรือหนีโรคร้าย ไปตายเอาดาบหน้า รวมทั้งกิมเส่งด้วย

เรือสำเภาแล่นใบลงใต้ในเดือนสาม เขาตัดสินใจทิ้งบ้านเมืองและชีวิตที่เหลือเพียงตัวคนเดียว มากับผู้คนเดนตายด้วยร่างผอมผ่าย เหมือนมีวิญญาณสิงอยู่ให้เดินไปมาทำสิ่งต่างๆ ได้ แต่ไร้ใจ

คู่ผัวหนุ่มเมียสาว ที่ภรรยาท้องแก่ นอนป่วย โรคร้ายเพิ่งแสดงอาการ หลังจากที่ออกเรือมาหลายวัน อยู่ข้างๆ ที่นอนของเขา ที่มีเพียงเสื่อผืนแต่ไม่มีหมอนใบ อย่างที่คนกล่าวกัน

ทั้งสองหวังจะให้ลูกปลอดภัยจากโรคร้าย เมื่อไปคลอดที่แผ่นดินใหม่

กิมเส่งได้รู้ตัวเองว่า เขายังไม่ไร้ใจจริงดังที่คิด เมื่อนางเมียท้องสาวของเจ้าหนุ่มที่ผอมเหลือแต่ซี่โครงทุรนทุรายปวดท้องจะคลอด

ประสบการณ์ที่ช่วยดูแลเมียและลูกสาวตอนคลอดมาบ้าง ทำให้กิมเส่งช่วยชีวิตทารกนั้นมาได้

และเจ้าเด็กทารกชายผู้นั้น ก็เหมือนได้รับพรเดียวกันกับเขา

พ่อแม่มันตายลงในเรือ ศพถูกโยนลงในทะเลทันที แต่ตัวมันกลับรอด

โชคดีที่มีแม่ลูกอ่อนคนหนึ่งในเรือ เวทนาให้มันกินนมจากอก

เมื่อเรือแล่นเข้ามา…ในอ่าวไทยอันอุ่นอ้าว คนที่เหลือในเรือนั้น ก็มีเพียงคนที่เหลือเลือกจากพญายมอยู่ไม่กี่คน

กิมเส่งลงจากเรือที่เกาะสีชัง อุ้มทารกไปซุกหัวนอนที่หลังหมู่บ้านชาวประมง

จนกระทั่งมีคนเรือสำเภาที่ค้าขายกับสยามมานานผ่านมาพบ จำได้ว่าเขาเป็นช่างทำใบเรือเก่าแก่มีฝีมือ จึงพาเขาลงเรือมาฝากงานที่อู่ท่านเจ้าสัวโต หรือท่านเต๋า แซ่อึ้งผู้ยิ่งใหญ่

กิมเส่งบอกทุกคน ว่าฮุน…เจ้าเมฆน้อยผู้นี้ เวลาที่เขาสุดสิ้นหวังในเรือกลางทะเล มีมันอยู่ในอ้อมกอด นั่งเหม่อลอยมองดูเมฆในแสงตะวันสีทอง ทำให้เขาอยากมีชีวิตต่อไปเพื่อเลี้ยงมันให้เติบโต…แทนลูกๆ หลานๆ แท้ๆ ของเขา ที่ล่วงลับไปหมดแล้ว

เวลานี้หลินกิมเส่ง ช่างเย็บใบเรือ อายุ 60 กว่า หลานชายผู้นี้ก็ย่างเข้า 16 ปี ยังทำงานในอู่ตามที่พี่น้องคนทำเรือช่วยสอนวิชาให้บ้าง แต่มันกลับชอบวาดๆ เขียนๆ มากกว่า และฝักใฝ่อยากเป็นช่างเขียนเหลือเกิน

กิมเส่งไม่รู้ว่าพ่อแม่มันเป็นใคร เชื้อสายวงศ์แซ่มีใครเคยเป็นช่างเขียนหรือไม่ จึงไม่เคยขัดขวาง ได้แต่สนับสนุน

“ดี…งั้นลื้อก็ฝึกไป ครูทองอยู่ท่านเห็นลูกศิษย์ใหม่ ขยันขันแข็ง จะได้พาไปเป็นช่างหลวงเร็วๆ”

กงเดินหายไปในห้องด้านใน

แต่ฮุนยั่งนั่งนิ่งขรึม มองชิ้นถ่านดำสกปรกในมือซ้าย ที่เปื้อนดำ

ดวงตาฮุนหิวกระหาย ทะเยอทะยาน แม้เขาจะโกหกกงซึ่งเป็นบาปหนัก แต่ฮุนจะทำให้คำโกหกนั้นกลายเป็นจริงให้ได้

ฮุนคาดไม่ถึงว่ากงจะเดินกลับออกมา พร้อมห่อชาจีนอย่างดีที่สุด

“เอ้า เอาไปให้ครูทองอยู่ท่าน”

กงวางห่อชาลงตรงหน้า

“ชาจีนอย่างดี ท่านเจ้าสัวเอามาให้พวกคนงานแก่ๆ ที่อู่ อั๊วะก็ได้มาด้วย เอาไปให้ครูทองอยู่ท่าน ท่าน

มีบุญคุณสูงส่ง เราต้องให้ของที่ดีที่สุด เป็นการตอบแทน”

ฮุนพูดไม่ออก ทุกข์ใจอย่างมาก

 

พระอาทิตย์วันใหม่สาดแสงสีทองอมชมพูเรื่อที่ตีนฟ้า เหนือทิวพฤกษาสวนละแวกคลองบางกอกน้อย สงกรานต์เพิ่งพ้นผ่านไปไม่กี่วัน

พระพักตร์ พระศาสดา พระประธานปางมารวิชัย ในอุโบสถวัดสุวรรณาราม ต้องแสงเทียนที่ถูกจุดขึ้นที่แท่นด้านหน้า

เนตรคือผู้ลงมือจุดเทียนเหล่านั้น ที่ถูกปักเรียงราย จนทำให้โบสถ์สว่างไสวขึ้น

เสร็จแล้วก็จัดแจงปูพรมรองนั่งให้ครูและเพื่อน พี่ น้องร่วมสำนักได้ทำพิธีกรรม

ควันธูปที่ถูกจุดใหม่ ถูกปักลงที่กระถาง

ครูทองอยู่เป็นผู้ปักธูป แล้วถอยไปในที่นั่งอันสมควร แล้วกราบลงสามครั้ง

พวกศิษย์ทั้งหมดกราบตาม โดยเนตรนั่งอยู่หลังสุด คอยจับตา ควบคุมความสงบเรียบร้อยของทุกผู้คนในคณะ

ในควันธูปและแสงเทียน ครูทองอยู่ เนตร และศิษย์ช่างเขียนรูปสี่ห้าคน นั่งภาวนาเจริญสติกัน

 

พระอาทิตย์จ้าเต็มฟ้า เวลาสาง

ในคลองบางกอกน้อย มีคนพายเรือสัญจรไปมาคึกคัก ที่ท่าเรือวัดทอง เรือของพระที่บิณฑบาตกลับมา ทยอยจอดเทียบท่าใหญ่หน้าวัด บรรดาศิษย์วัดเข้าไปรับกันคึกคัก

แสงสว่างสาดเข้ามาเต็มทุกช่องหน้าต่างประตู

ที่พื้นโบสถ์ ตรงหน้าบริเวณนั่งร้านที่ข้างขวาหน้าต่าง เสื่อสาด เศษผ้ากันสี ถูกปูลง

สมุดไทยสี่ห้าเล่ม ถูกวางกองเป็นตั้ง

เนตรคือผู้จัดการทุกอย่างตามขั้นตอน

สมุดไทยเล่มหนึ่งถูกเปิดออก กระดาษข่อยอย่างดี สีขาวตุ่น ทำในโรงงานกระดาษย่านบางยี่ขัน บนแผ่นกระดาษนั้น คือแบบร่างภาพเนมิราชโดยรวมอย่างคร่าวของครูทองอยู่ ที่จะใช้เป็นต้นแบบการวาดภาพ

บรรดาศิษย์ครูทองอยู่นั่งล้อมดูกันเงียบกริบ เต็มไปด้วยความเคารพ

ครูทองอยู่ชี้ไปที่ตำแหน่งต่างๆ ในภาพ พลางอธิบายเล่าแผนการรวมๆ แล้วเปิดพลิกสมุดประกอบต่อไปให้ดู ว่าต้องการอะไรในภาพที่จะเขียนกันบ้าง

ในสมุดไทยเหล่านั้น ประกอบไปด้วยภาพแบบอย่างของปราสาทราชมณเฑียร วิมาน กำแพง รูปแบบของสถาปัตยกรรมที่ใช้กันมาแต่ครั้งกรุงเก่า

ธงต่างๆ ฉัตรต่างๆ อาวุธต่างๆ

หน้าพระ-นาง เทวดา นางฟ้า คน หันข้าง ตรง สงบ งาม นิ่ง ไม่ยิ้มหัวหรือมีอารมณ์ใด

ท่าทาง ร่างกาย สรีระ ลักษณะมือ ลักษณะอิริยาบถทั้งหลาย การก้าว เดิน ยืน นั่ง เหาะ เหิน ที่เป็นแบบแผน สัดส่วนแน่นอน ตายตัว

เสื้อ ผ้า อาภรณ์ เครื่องประดับ เครื่องแต่งตัว ชฎา เครื่องทรง ลายผ้า

เครื่องยศ เครื่องใช้ พาน พุ่ม ดอกไม้ โต๊ะเครื่องบูชา

ต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ กระถาง แจกันแบบต่างๆ

เมื่อมีศิษย์คนใดสงสัย ไต่ถาม ครูทองอยู่ก็อธิบายอย่างเคร่งขรึม จริงจัง สุขุม นุ่มนวล

และแล้ว คุณหลวงวิจิตรเจษฎา ก็เริ่มงาน

ท่านนั่งตัวตรงสง่าบนนั่งร้าน มือเรียวงามของท่านจับพู่กันและไม้ที่รองมือเพื่อไม่ให้ส้นมือกดทับลงไปบนภาพขึ้นมา

ครูทองอยู่จรดพู่กัน ร่างเส้นแบบของครูลงบนผนัง

ท่านวาดเส้นภายนอก ร่างองค์ประกอบโดยรวม ของตัวอาคาร กำแพง วิมาน

บรรดาศิษย์ยืนล้อม เงยหงายหน้าดูอยู่เบื้องล่าง และห่างออกไป กอดอก ตั้งใจ เงียบกริบ

เนตรคือผู้ที่ยืนควบคุมอยู่หลังสุดตามเคย ว่าตามจริง เขาไม่ใช่ช่างที่มีฝีมือโดดเด่น แต่มีหน้าที่ดุจผู้คุ้มกฎ เจ้าพิธีรีตอง และเป็นผู้ปรนนิบัติวัตถากใกล้ชิดท่านครูทองอยู่ที่สุด

ใบหน้าครูทองอยู่สงบงาม ขณะมืออันเรียวนิ้วยาวขาวดุนุ่มนวล ร่างเส้นสายอ่อนไหวลงเพียงบางเบา เป็นเงารางๆ ของสรรพสิ่ง

พลัน ตีนเปล่าเทอะทะสกปรกของเจ้าฮุน ก้าวสวบๆ  เข้ามาทางประตูหน้าโบสถ์

เมื่อเจ้าผมเปียโผล่ทะเล่อทะล่ามา เผชิญกับบรรยากาศอันศักดิ์สิทธิ์ เต็มไปด้วยมนตร์ขลัง

มันชะงักเท้าหยุดแทบไม่ทัน หัวเกือบทิ่ม ตั้งสติ ควบคุมลมหายใจให้เบา พลางค่อยๆ ถอยๆ  ไปหาที่ยืนดูไกลๆ อย่างเกรงๆ  แต่ก็ไม่อาจหักห้ามความอยากรู้อยากเห็น

ครูทองอยู่ค่อยๆ วาดเส้นอันแม่นยำนั้นช้าๆ ประณีต ด้วยจิตอันเป็นสมาธิแน่วแน่

จากที่ยืนสงบเสงี่ยมดูอยู่ห่างๆ เด็กหนุ่มลืมตัว ค่อยๆ สืบเท้าก้าวเข้าไปช้าๆ  ด้านหลังเหล่าศิษย์ของครูทองอยู่

ฮุนหายใจแรงขึ้น เมื่อความงามนั้นตราตรึง ตื่นตา ตื่นใจ จนตื่นเต้น

มือฮุนล้วงไปหยิบห่อใบชาในย่ามที่กงให้มา มองดูแล้วลังเล จะทำเช่นใดดี

เนตรรู้สึกถึงความแปลกปลอม เขาหันขวับ

ฮุนที่ย่องใกล้เข้ามาเรื่อยๆ สบตาจังๆ กับเนตรพอดี

เนตรถลึงตาจ้อง ชิงชัง รังเกียจ

ไม่ต้องกล่าวคำใด ก็ทำให้ฮุนรีบวางมือจากห่อชา ถอยหลัง แล้วหันเดินออกไปในลักษณะเกือบเป็นวิ่งหนี

 

ที่เพิงใต้ต้นไม้ใหญ่ของคณะคงแป๊ะ ฮุนเดินลากขาเข้ามา คอตก สลด เศร้าใจอย่างสุดจะกล่าว

เด็กหนุ่มทรุดลงนั่งที่ตอไม้ที่ใช้ต่างเก้าอี้ ซึมเซา มองดูรอบๆ ข้างอย่างไร้ความหมายอันใด แต่แล้วก็มาสะดุดที่บางสิ่ง

บนม้าวางของชั่วคราวตรงมุมนั้น มีหม้อดิน ที่แช่เศษทองแดงวางทิ้งไว้ เวลานี้สนิมเขียวขึ้นเป็นสีเขียวอมฟ้า ที่เรียกว่าตังแช

ฮุนสนใจ เดินเข้าไปดู

เด็กหนุ่มหยิบอุปกรณ์ที่เคยใช้ขูดเขม่าก้นหม้อทำสีดำ มาขูดผงสนิมเขียวนั้นออกมา

เขาเอาผงสีที่ได้ใส่ลงในกะโหลกกะลาใกล้มือ แล้วลองเอายางมะขวิด มาละลายน้ำที่ยังอุ่นอยู่ในก้นกาบนเตา พอละลายเหลวข้นพอดี ฮุนก็หยอดกาวนั้นลงไปในผสมกับผงสีตังแชในกะลา

ฮุนเหลียวซ้ายขวา หยิบพู่กันขนาดเหมาะมือของใครที่วางเรียงไว้ มาทดลองจุ่มสีเขียวตังแช แล้วลองวาดลงที่พื้นแผ่นกระดานต่างโต๊ะที่ตรงนั้น

เด็กหนุ่มใช้มือซ้าย

ฮุนยืน ก้มหน้าลงวาดลายกนกแบบจีน เป็นรูปดอกพุตตาน ใบเทศ ลายก้านขด เป็นช่อเถาไปเรื่อยๆ อย่างอิสระตามประสา เหมือนที่เคยใช้ดินสอพองวาดฝาบ้านอย่างตั้งใจไปเงียบๆ

เวลาผ่านไปเป็นครู่ สัญชาตญาณของฮุนจึงเพิ่งบอกว่าตนไม่ได้อยู่ลำพัง เขาพลันเงยหน้าขึ้น แล้วถึงแก่สะดุ้งแทบกระโดด

ตรงหน้า คงแป๊ะนั่งบนตอไม้ที่ต่างเก้าอี้ หันมาทางฮุน มีสมุดข่อยประจำตัวอยู่บนตัก กำลังวาดรูปบางอย่างลงในนั้น ด้วยปากกาจิ้มหมึกจีน ท่าทางสบายๆ

คงแป๊ะเงยมา เห็นฮุนมองตนอยู่อย่างสงสัย จึงยิ้มให้

ฮุนหน้าเจื่อน รีบวางมือจากพู่กัน แล้วรีบทรุดลงคุกเข่ากับพื้นดิน พนมมือไหว้อย่างไทย แต่ก้มหัวโค้งลงแบบไหว้เจ้า

“ห่าวเตี้ยว โต้หลงๆ”

…อาจารย์ ขอโทษๆ…เด็กหนุ่มพูดเป็นภาษาฮกเกี้ยน ที่ชาวจีนส่วนใหญ่ในบางกอกเวลานั้นใช้กัน

“บ่อเซียงกังๆ”

คงแป๊ะหัวเราะ ใช้ภาษาอย่างคนไทยที่ไม่ได้พูดจีนในชีวิตประจำวัน

“อั๊วะอยากลู้ว่าสีอันนี้เขียนแล้วเป็นอย่างไล”

เมื่อเห็นว่าที่จริงคงแป๊ะไม่ได้ใช้ภาษาเดียวกันกับเขา ฮุนก็พูดไทยด้วย

“สีเขียวตังแช ทำจากสนิมทองแดง เจ้านี่…มิใช่ผูกปี้เป็นจับกังธรรมดา ฝีมือเขียนดอกพุดตาน ใบเทศ ก้านขด ของเจ้าไม่เลว ไปจำมาจากที่ใด”

น้ำเสียงห้าวอบอุ่นนิ่มนวล บ่งบอกถึงจิตใจอันเปี่ยมกรุณา

“ที่วักขอลับ ผมไปลู หลายๆ วัก ชอบลู ที่วักเลียบฟากคะโน้น ผมก็เคยไปลู”

เมื่อมีคนสนใจ ฮุนก็กระหายจะเล่า

“ชอบดู…ไปดู รือ…”

คงแป๊ะชอบใจ อดหัวหัวเราะไม่ได้ เพราะคำว่า ‘ชอบลู’  ‘ไปลู’

“นี่…อาฮุน ลื้อมานี่…มา”

คงแป๊ะพยักหน้าเรียก

เด็กหนุ่มลุกขึ้น ก้มตัวอย่างสุภาพ เดินย่อๆ ตัวเข้าไปหาผู้อาวุโส

คงแป๊ะเผยให้ดูสิ่งที่ตนวาด

ฮุนชะโงกดู แล้วอ้าปากค้าง

ในหน้าสมุดนั้น เป็นภาพลายเส้น วาดง่ายๆ จากเส้นกรอบภาพเพียงไม่กี่เส้น แต่ก็ดูออกชัดเจนว่าเป็นตัวฮุนเองที่ยืนก้มวาดรูป หน้าตาตั้งอกตั้งใจอย่างยิ่ง ลายเส้นแม่นยำตามหลักสรีระ

“คูคงแป๊ะ…วาดลูปอั๊วะ!”

เด็กหนุ่มเนื้อเต้น

นี่คือการให้เกียรติอย่างสูง ที่เขาไม่เคยได้รับมาก่อน

ฮุนถึงกับทรุดลงคุกเข่าตรงหน้าบุรุษผู้อาวุโส

คงแป๊ะ หันสมุด เปิดพลิกให้ฮุนดูหน้าอื่นๆ

สมุดนั้นคือสมุดจดร่างรวมรูปผู้คนหน้าตาแปลกๆ จีนจามพราหมณ์แขกฝรั่ง ท่าทางต่างๆ สุข เศร้า ร่าเริง เหม่อ ที่พบเจอได้ตามท้องถนน วาดด้วยลายเส้นปากกาจีนสีดำบ้าง ด้วยปลายพู่กันเป็นสีๆ บ้าง

สุดท้าย คือรูปเทวดา รูปพราหมณ์ และรูปมโหสถ

“รู้ไหม นี่ผู้ใด”

ฮุนเขม้นมอง คิดๆ  แล้วมองหน้าคงแป๊ะ ส่ายหัว

“นี่คือมโหสถ รู้จักมโหสถไหมล่ะ”

ฮุนพยักหน้า แววตื่นเต้นฉายชัด หรือนี่คือภาพร่างของภาพมโหสถชาดก ที่ท่านกำลังจะเขียนที่ผนังโบสถ์วัดทอง

“มโหสก เป็งพระโพทิสัก คือพระพุกทาจ้าวในชากก่อง ที่เกิกมาบำเพ็งปังยาบาลามี”

คงแป๊ะถึงกับเบิกตากว้าง ทึ่ง และพอใจอย่างยิ่ง

“เจ้านี่สำคัญนัก อาฮุน”

เท่านั้นก็เป็นคำชม ที่ทำให้ฮุนยิ้มแล้วหัวเราะออกมาด้วยความดีใจ จนสุดจะกลั้นไว้ได้

เจ้าเปียยาวล้วงมือลงไปในย่าม ควักห่อชาขึ้นมา คุกเข่าลง ยื่นให้คงแป๊ะ

“อันใดกัน”

“ใบชาขอลับ ใบชาหยั่งลีที่สุก อากง…ให้กาผมมามอบให้คู ที่เมกตา รับเด็กต้อยต่ำอย่างกาผมเป็งลุกสิก”

สายตาคงแป๊ะทอดอ่อน เวทนา ท่านปัดมือเจ้าเด็กน้อย

“ไม่ต้องดอก ของดีๆ  ก็เอากลับไปให้อากงเถิด”

แต่ฮุนก้มหัวลงติดพื้นดิน ก่อนจะเงยขึ้น อ้อนวอน

“ลับไว้ขอลับ กาลุลาลับไว้ ขอล้องขอลับ ขอล้อง”

คงแป๊ะมองดวงตาเรียวที่แรงเป็นประกายเปี่ยมพลัง

ท่านยิ้ม แล้วรับห่อชามา

 



Don`t copy text!