บุษบาลุยไฟ ตอนที่ 36 : ดวงเดือนเคลื่อนคล้อย

โดย : ปราณประมูล

Loading

บุษบาลุยไฟ โดย ปราณประมูล เรื่องราวของ ลำจวน หญิงสาวผู้ต่อสู้กับค่านิยมทางสังคมในยุค ร.3 เธอลุกขึ้นทำสิ่งที่คนในห่วงเวลานั้นไม่ทำกัน หนทางจึงไม่ได้ราบรื่น หากเต็มไปด้วยอุปสรรคและถ้าไม่ใช่เพราะแรงรักแรงใจที่หนุ่มจีนคนนั้น คงยากที่บุษบาดอกนี้จะไปสู่จุดหมาย ‘บุษบาลุยไฟ’ นวนิยายเรื่องเยี่ยมที่อ่านเอานำมาให้อ่านออนไลน์

 

กิจวัตรหนึ่ง ที่คุณพุ่มจะทำหลังรับประทานอาหารกลางวันคือร้อยมาลัยดอกไม้หอม ประดิษฐ์เป็นพู่กลิ่น เครื่องแขวนห้อยรูปทรงสวยงามต่างๆสำหรับประดับตกแต่งเรือน ที่ทั้งสวยงาม กระตุ้งกระติ้ง กระจุ๋มกระจิ๋มและหอมกรุ่น แขวนลอยตัวตามมุมต่างๆ ระหว่างบานหน้าต่าง ประตู ขื่อ คาน  สุดแต่จะมีที่ตรงไหนเหมาะให้แขวนห้อยทิ้งตัวลงมา

หน้าที่ของลำจวน คือช่วยเด็ดดอกไม้ ใบไม้ เตรียมเครื่องใช้ อย่างเข็มมาลัย ด้ายฝ้าย

ส่วนนางเต็ม ก็ทำเครื่องใบตอง สำหรับเป็นสำรับเชิญ

เมื่อคุณพุ่มร้อยเสร็จ แม่เต็มก็เอาพู่กลิ่นอันงดงามน่ารักนี้ วางลงในเครื่องใบตองที่ตนรังสรรค์อย่างประณีต วางในพานเงินอันสูงค่า

“  เสร็จเสียที..สำหรับวันนี้ ”

คุณพุ่มออกไปบิดตัวแก้เมื่อยที่หน้าแพ สูดอากาศสักครู่ แล้วเข้าห้องไปล้างหน้าตาเนื้อตัว

นางเต็มกับลำจวน ช่วยกันเก็บกวาด

นายหมายมารอท่า

“ รอประเดี๋ยวหนา นายหมาย ”

นางเต็มบอก เมื่อคุณพุ่มแต่งตัวเรียบร้อย สวมเสื้อ มีผ้าคลุมบ่า เดินออกมา

“ ไป..นายหมาย

คุณพุ่มออกไปลงเรือ นายหมายเชิญพานพู่กลิ่นนั้นตามติดไป

“ คุณพุ่มร้อยพู่กลิ่นทุกวันเวลาบ่าย แล้วนำไปให้ใครคะ แม่เต็ม ”

ลำจวนทำตัวตามสบาย เมื่ออยู่กันลำพัง

“ ขอรับ..คุณต้องไม่พูดคะสิคะ ”

แม่เต็มไม่ยอมให้ผ่อนพัก

“ ร้อยมาลัยไปให้ใครหรือขอรับ แม่เต็ม  อ๋อ หรือให้เจ้าคุณพ่อเธอ ”

นางเต็มนิ่งไปชั่วครู่ ตัดสินใจตอบ

“ ร้อยไปถวาย..”

นางพนมมือเหนือหัว ไหว้ไปทางวังหลวง

“ ถวาย..ที่วัง..? ”

นางเต็มพยักหน้า

“ ถวายใครคะ? ”

ลำจวนยังคงไม่กระจ่างใจ

“ ขอรับ! ”

“ถวายใครขอรับ?”

ลำจวนแก้

“ ไม่ต้องรู้ทุกอย่างก็ได้นะ พ่อเฉก ”

นางเต็มเมินหน้า

“  อ้าว..”

หญิงสาวหน้าจ๋อย เพราะถูกน้ำเสียงตำหนิเข้ม นางเต็มมอง สงสารอาการราวไก่หงอย จึงเปรยกระซิบ

“ ก็..ถวาย..พระเจ้าอยู่หัวนั่นแหละ พู่กลิ่น..ใช้แขวนบนที่บรรทม เคยทำถวายมาแต่สาว..ก็..ถึงจะกราบบังคมทูลลาไม่กลับเข้าไปอีกแต่ก็ขอถวายรับใช้..แสดงกตเวที..เท่าที่จะทำได้..จากตรงนี้ ”

นางเต็มอ้อมแอ้ม ก่อนจะหอบเศษดอกไม้ใบตองใส่ถาด เดินหนีไปหลังเรือนแพ

‘ คุณอาพุ่ม ’ ช่างมีหลายเรื่องราวลึกซึ้ง ลำจวนคิด กวาดแพไปพลันเกิดแรงใจอย่างหนึ่งขึ้นมา

จำปา ชื่อมารดาของลำจวน ภาษาลาวมิได้หมายถึงดอกจำปาสีเหลืองทองที่คู่กับดอกจำปีสีขาวนวลของคนไทย ทว่าหมายถึงดอกลั่นทม  ไม้ดอกกลิ่นหอมราวมีมนตราลึกลับที่นิยมปลูกกันตามวัด

เช้ามืดรุ่งขึ้น หญิงสาวเข้าไปในป่าต้นลั่นทมหน้าวัดสลักหรือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯนามทางการในสมัยนั้น เก็บดอกขาว หอมตรึงใจ ที่ร่วงหล่นใหม่ๆ มาร้อยเรียงใส่ด้ายฝ้ายด้วยเข็มมาลัย ทำเป็นพวงสายยาวง่ายๆ แบบเดียวกับที่เคยร้อยเล่นด้วยก้านดอกหญ้า

ที่ริมทางตรอกท้ายวัง ทางผ่านไปตลาดที่สาวๆชาววังต้องใช้ทุกคน คือจุดตั้งแผงขายผ้าประจำของแม่

วันติดตลาดนัดเช่นวันนี้ แม่จำปากับนางทิมมาเปิดหีบตั้งแผงกันตามเคย

บรรดาคุณท้าวนางเธอที่ร่ำรวยกับคุณข้าหลวงสาวๆ ธิดาขุนนางเสนาบดีที่ล้วนมีอัฐหนักหนา พากันมารุมชมผ้างามๆที่แม่เสาะหามาใหม่ไม่ซ้ำใครเสมอ

เจ้าหนุ่มเฉก ถือมาลัยลั่นทม ดมพลาง ยืนแอบดูอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ห่างออกมา

เมี่อขาดกำลังสำคัญคือลูกสาวที่เคยช่วยร้องขาย พูดคุยเจรจา ตอบคำถาม เกลี้ยกล่อม ต่อรองลูกค้า แม่กับนางทิมก็ช่วยกันอยู่เพียงสองคน ดูวุ่นวายสับสน

ลำจวนน้ำตาไหล อย่างน้อยก็เป็นเรื่องดี ที่ผ้าของแม่ยังคงขายดิบขายดี แม่น่าจะมีรายได้ไม่ขาดมือ ตัวแม่กับนางทิมต่างยังแข็งแรงคล่องแคล่วเปี่ยมด้วยพละพลัง มิได้ผอมแห้งแรงน้อย อ่อนแอ ซูบซีด เสียรูปทรงไป

เมื่อสบจังหวะ ลูกค้ากางผ้าออกชม บังตาแม่จำปาและทิม เฉกรีบเอามาลัยซ่อนไว้ข้างหลัง เดินโฉบเข้าไปวางลงในหีบผ้า แล้วรีบหันหลัง เดินปะปนกับชาวบ้านชาวเมืองไป

แม่จำปาหันมาจะหยิบผ้าจากหีบไปให้ลูกค้าดู เห็นมาลัยลั่นทมสายยาวงามวางอยู่ เธอแปลกใจมาก หยิบขึ้นมาดม พลางมองหาไปรอบๆ แต่ไม่เห็นว่ามีใคร ที่จะพอมีท่าทีว่ารู้เรื่อง

แม่จำปาไม่รู้ว่าแผ่นหลังในเสื้อสีปูนแห้งของชายหนุ่มน้อยคนหนึ่งที่กันตีนผมด้านหลังศีรษะจนขาวเกลี้ยง ที่เธอมองไปเห็นเดินปะปนไปกับหมู่ผู้คนทั้งหญิงชายอื่นๆกลมกลืนยังไม่ไกลนั้น คือลูกสาวของเธอ

กลิ่นหอมเย็นซ่านของดวงจำปาลาวนั้นชวนขนลุก สะท้อนสะเทือนใจ ชวนให้หวนถวิลหาอดีตอันนานแสนนาน ลางๆเลือนๆ คล้ายเรื่องราวรักระคนเศร้าครั้งก่อนเก่ายามเยาว์วัยไกลโพ้น..จนสุดจะรำลึกได้

ด้วยสัญชาตญาณ เธอเอามาลัยนั้นมาวงรอบมวยผมตน อย่างที่เรียกเป็นภาษาลาวว่า พันซ้อง..นางทิมหันมาเห็นก็เข้ามาช่วย

แม่จำปาไม่ได้เห็น ว่าเด็กหนุ่มหน้าตาผ่องใสผู้นั้น ได้หันกลับมามอง ยิ้มทั้งน้ำตา ก่อนจะรีบสาวเท้าก้าวเดินรวดเร็วหายไป

 

ค่ำนั้น ดวงจันทร์กลมโตริมขอบฟ้า เหนือลำน้ำเจ้าพระยา นางทองใบกำลังเดินเข้าออกใช้คุไม้ไผ่สานตักน้ำจากในแม่น้ำมาใส่ตุ่มในห้องกั้นสำหรับอาบน้ำด้านหลัง ลำจวน พาดผ้าผืนใหญ่บนบ่า เดินมาหยุดรอ

 “ กระไรมาตักน้ำกลางคืน ทองใบ? ”

ทองใบทาสสาว  มองดูคุณเฉก หลานชายของนาย ดวงตาแววหวานวับ

“ พระจันทร์เต็มดวงเช่นนี้ คุณจะได้อาบน้ำเพ็ญอย่างไรเจ้าคะ ”

“ อ้อๆ ทองใบช่างมีน้ำใจเหลือเกิน ”

เฉกก้มหัวให้

ทองใบมองร่างกะทัดรัด อรชรอ้อนแอ้นดังพระเอกลิเกอย่างปลาบปลื้ม

“ สว่างออกอย่างนี้คุณน่าจะลงอาบที่ท่า จะได้อาบไปชมจันทร์ไป ”

ลำจวนกลอกตา

“ ทองใบก็ไปอาบซี ฉันชอบอาบน้ำตุ่ม ให้น้ำมันตกตะกอนสักหน่อยก่อน ”

ทองใบยังไม่ยอมไปง่าย  ปักหลักมองดูดวงหน้าผุดผาดของลำจวนอย่างเพลิดเพลิน

“ ทองใบไปพักเถิด ฉันจะอาบแล้ว ”

ทองใบหัวเราะ เอามือบังปากอย่างมีจริต

“ แปลกจริง ”

“ อะไร? ”

ลำจวนระแวง

“ คุณพุ่มเธอเป็นผู้หญิง เธอยังอาบน้ำที่ข้างหน้าแพบ่อยๆ แต่คุณเป็นผู้ชาย อาบน้ำแต่ในห้องนี้ ”

“ ทองใบ..”

ลำจวนลากเสียง ระอานัก

“ อยากให้ทองใบถูหลัง ขัดขี้ไคลให้ไหมเล่าคะ ?”

ทาสสาวทำตาขี้เล่นใส่นายหนุ่ม

คุณเฉกถอนใจ

“ ไปได้แล้ว..”

คุณเธอมองสำทับ แววตาแข็งกร้าวดุดัน

“ เจ้าค่ะๆ ”

ทองใบค้อนควัก เดินสะบัดสะบิ้ง กระแทกกระทั้นลงส้นจากไป

ลำจวนมองส่งจนเจ้าหล่อนลับตา

จึงค่อยเดินเข้าในห้อง เอาผ้าพาดขอบผนังระแนงกั้น เริ่มถอดเสื้อ ถอดผ้า แหงนหน้ามองไปบนฟ้า ดูพระจันทร์สว่างกลมโตเต็มดวง

ลำจวนใช้กระบวยใหญ่ตักน้ำราดตัว ทอดสายตาเศร้าหมอง เหม่อมองจันทร์

 

จันทร์สว่างบนฟ้าสะท้อนเงาลงมาในลำคลอง

เรือลำน้อยพายลัดตัดคลองย่อยระหว่างสวนบางบำหรุ  เสียงเพลงบุหลันลอยเลื่อนหวานเยือกเย็น เอิบอาบไปทั้งคุ้งน้ำ

บนเรือนใหญ่ริมคลอง สาวเตย ยืนใกล้หน้าต่างบานกว้างจรดพื้น ตามองเดือนดวงเดียวกัน มือของหญิงสาวบีบกันไปมาอย่างไม่รู้ตัว ดวงตาอ่อนเชื่อมรับกับแสงจันทร์นวลผ่อง

ที่ลานกว้างเบื้องล่าง ยกพื้นเป็นเฉลียงปูกระดานแผ่นโตๆ มียกพื้นต่างระดับ ปูพรมวางหมอนอิง คงแป๊ะกับครูพุด นั่งฟังเพลงอย่างเคลิบเคลิ้มพลางจิบสุราบางยี่ขันรื่นรมย์ มีกับแกล้มกินเล่นเป็นขิงเป็นถั่ว

ศิษย์สองสามคนนั่งกินข้าวกินปลากันอยู่ที่แคร่ใต้ถุนเรือน

คนเป่าขลุ่ยเพลงพระราชนิพนธ์ในหลวงแผ่นดินกลาง คือครูมี

ท่านเป็นชายวัยเดียวกันกับคงแป๊ะ ทว่าผิวคล้ำ ใบหน้าเข้ม หน่วยตาโตคมกริบ จมูกโด่งงาม รีบกับเรียวคาง สมกับที่คนชอบเรียกนามว่า..ครูมีแขก

คนหนึ่งเป็นแป๊ะ คนหนึ่งเป็นแขก ทว่ามาคบค้าสมาคมกันเป็นสหาย

ศิษย์ครูมีแขกสองคน คนหนึ่งตีฉิ่ง คนหนึ่งเคาะโทนรำมะนาคลอเบาๆบางๆ

ฮุนถือถ้วยเล็กๆ ใส่มะขามเปรี้ยวแคะเมล็ดคลุกดอกเกลือเดินจากครัวมา ลอดผ่านใต้หน้าต่างที่เตยยืนเหม่อลอยเคลิ้มฝัน  ฮุนเงยไปเห็นเตย ชายหนุ่มจึงร้องเรียกอย่างเอื้อเฟื้อ

“ เจเจ้..ลงมาฟังครูมีท่านข้างล่างนี่เถอะ ”

เตยมองลงมา แสยะปากรำคาญ

“ ไม่ ไปให้พ้น ”

“ อ้าว..”

ฮุนทำคอย่นล้อ

“ ไม่ต้องมากวนใจ เจ้าเจ๊กบ้า นึกหรือว่าข้าจักพิศวาสเจ้านักหนา พวกช่างเขียนตัวเปื้อนสี  มือก็จับแปรงจนหยาบกร้าน ไม่นุ่มเหมือนกับมือพวกผู้ดีมีสกุลเขา..”

หญิงสาวลูบมือและแขนตน จดจำ รำลึกถึงรอยสัมผัสจากหนุ่มผิวบางรูปงามดุจเทพบุตรในภาพบนฝาผนังวัด

ฮุนเงยหน้ามอง สนใจรอฟังต่อ ทว่าสตรีผู้สูงวัยกว่ากลับเงียบไป

“ ผู้ดีมีสกุล..ใครรือ เจเจ้? ”

“ จุ๊..หนกขู ข้าจะฟังบุหลันลอยเลื่อนให้เยือกเย็นใจยู่ตรงนี้ ไปไป๊ ”

ฮุนหัวเราะ ไม่เอาเรื่องเอาราว  รีบเดินเอาถ้วยกับแกล้มไปวางให้พวกครูช่างเขียนที่วงสุรา

ที่ท่าน้ำ เรือลำเล็กพายเข้ามาเทียบ ชายวัยกลางคนร่างสันทัด ผิวนวลสะอาดสะอ้าน เด่นที่หน่วยตากลมอ่อนโยน คิ้วหนา หนวดเรียว ร่างไม่สูงใหญ่บึกบึน แต่สะโอดสะองอย่างที่อาจเรียกว่าผู้ดีผิวบาง ทว่าท่วงท่าก้าวเดินองอาจมีสง่า ตามติดด้วยฝีพายคนสนิทที่รูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกัน ด้วยคือบุตรชายของท่านนั่นเอง

บุหลันลอยเลื่อนที่อ้อยสร้อยเศร้าซึ้งด้วยเสียงขลุ่ย ทอดลมหายใจสุดท้ายจบลงพอดี อย่างอาลัยอาวรณ์

“ บุหลันลอยเลื่อน..พากระผมตามเสียงขลุ่ยแลแสงจันทร์มาถึงนี่ ”

เสียงพูดจาทุ้มนุ่มนวลมีจังหวะจะโคน แต่ดังก้องกังวานอย่างคนมีพลังกล้าแข็ง สวนกับปลายเสียงขลุ่ยออดอ้อนทอดถอนสะท้อนใจ

คงแป๊ะหันไป แล้วโดดพรวดลุกขึ้น ลิงโลดราวเด็กหนุ่ม

“ โอ๊ย..คุณหลวงสุนทรโวหาร..  นึกว่ายังอยู่หัวเมืองขอรับ พ่อพัด  มาๆๆ นั่งๆๆ ”

ครูพุดไหว้ รีบลุกไปรื้อพรมมาลาดปูอย่างให้เกียรติเต็มที่

ส่วยฮุนรีบไปทำหน้าที่เข้าครัวหาของกินมาเพิ่ม

ครูมียิ้มพริ้มพราย

“ ครบองค์แล้ว คืนนี้สนุกแน่ พ่อภู่กวีเอกออกจากถ้ำมาได้ เป็นบุญเสียจริง ”

ตรงหน้าครูมีแขก ตั้งชุดน้ำชาจีนต่างหาก ไม่ปะปนกับเครื่องดองของเมาของเพื่อนๆ มีจานใส่มะตูมเชื่อม เปลือกส้มโอเชื่อม ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ วางอยู่ตรหน้า ข้างกายท่านมีปี่ ซอสามสาย วางเรียงรายให้เลือกหยิบใช้

ครูมีจิบชา แก้คอแห้งปากแห้งหลังเป่าขลุ่ย ที่บัดนี้ท่านกลับเก็บลงแล้ว

‘ พ่อภู่ ’ ที่ท่านเรียกนามอย่างสนิท เข้ามาบีบหลังไหล่ครูมีหยอกๆ

“ ได้ยินเสียงฝีปากเป่าของพ่อมีแต่ไกล แม้เป็นเสียงขลุ่ยก็รู้เลยว่าพระอภัยมณีตัวจริงอยู่ที่นี่ ”

หลวงสุนทรฯ กลับมานั่งข้างคงแป๊ะ

“ คุณคง คุณรู้ไหม ว่าเหตุเพราะนั่งฟังเพลงปี่พ่อคนนี้นี่แล จึงเกิดนิทานพระอภัยมณีขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาได้ ”

ครูมีแขกหันมา ยักคิ้วเป็นเชิงโอ้อวดรับสมอ้าง ทำให้พวกช่างเขียนร้องฮือ อย่างอยากรู้เรื่องราวเบื้องหลังขึ้นมาเต็มที

เมื่อฮุนยกจอกและจานกับแกล้มมาวางให้ท่านภู่และบุตรชาย ครูคงแป๊ะของเขากำลังคุยเสียงดังอย่างมีความสุข ปลอดโปร่งใจเป็นพิเศษ

“ เพิ่งรู้หนานี่หนา  ว่านิทานที่ชาวบ้านร้านตลาดตั้งแต่หญิงแก่กินหมาก ถึงลูกเด็กเล็กแดงกล่าวขวัญชอบฟังนักฟังหนา พระเอกคือครูมีแขก ”

ท่านหันมาพยักเพยิดให้พวกลูกศิษย์ที่มองมาเป็นตาเดียว

“ เอ้า ทุกคน เคยฟังนิทานพระอภัยมณีกันหรือยัง  จำเอาไว้หนาคนแต่งคือคนนี้ ส่วนพระเอกคือคนนั้น ”

แท้จริงแล้ว บุคคลทั้งสองมีความผูกพันใกล้ชิดกันอย่างลึกล้ำ

เพราะเมื่อครั้ง… เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตรลบ   ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา   นั้น

ทั้งท่านภู่ และครูมี ก็หมอบใกล้พระบาท ‘ เจ้านาย ’ เดียวกัน

พระราชนิพนธ์กลอนบทละครอิเหนา มีอาลักษณ์ภู่ถวายรับใช้ เช่นเดียวกับ เพลงพระราชนิพนธ์บุหลันลอยเลื่อน ก็มีครูมีแขกถวายคำปรึกษา ซอสายฟ้าฟาด ซอสามสายประจำพระองค์ ครูมีผู้นี้คือผู้ประดิษฐ์คิดทำ

จน สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา  วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์..  ทั้งสองก็สิ้นวาสนาออกมาในคราเดียวกัน  พร้อมๆกับเหล่าพนักงานละครใน นางร้อง นางรำ คนดนตรีหญิงทั้งหลาย พร้อมกับความล่มสลายของสวนขวา อุทยานอันรวมไว้ด้วยโรงละคร สระน้ำ เกาะแก่ง ป่าเขาจำลองที่ทรงโปรดให้ ‘เจ้าสัวทับ’ พระโอรสข้างพระองค์เป็นผู้สร้างขึ้นให้เป็นที่ทรงสำราญ ทอดพระเนตรละคร เล่นเรือแสดงสักวา ครั้นสิ้นแผ่นดิน ทุกสิ่งก็ถูกรื้อไปถวายวัด ตามพระราชนิยมของแผ่นดินปัจจุบัน ‘ เจ้าสัวทับ ’ ผู้ทรงเห็นละครในเป็นการฟุ่มเฟือยสิ้นเปลืองของราชสำนัก และการสร้างวัดวาอาราม บำรุงพระศาสนาเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นของบ้านเมือง

แต่ก็ทรงอนุญาตให้เจ้านายวังนอกทั้งหลายทำนุบำรุงคณะละครผู้หญิงต่อไปได้ ทำให้บรรดานักละคร ดนตรี นักกวี ทั้งหลาย แพร่กระจายออกจากวังหลวงสู่วังเล็กและบ้านช่องใหญ่โตของเหล่าข้าราชบริพารที่มีบารมีอำนาจสูงพอ

อาลักษณ์ภู่เคยได้ไปพักอาศัยตั้งหลักชีวิตกับครูมีแขกพักหนึ่ง ก่อนตัดสินใจไปบวชในเวลาต่อมา  จากลาห่างหายกันไปหลายปี เมื่อมาพบกันนานๆทีเมื่อสึกแล้ว และกลับคืนถิ่นธนบุรีบางกอก ได้มาพบปะสังสันทน์กันเช่นนี้ จึงนับเป็นความรื่นรมย์ยิ่ง

ฮุนรินสุราให้ท่านภู่ และกำลังจะรินให้พ่อพัดบุตรชาย

“ กระผมขอเป็นน้ำฝนเถิดขอรับ ให้คุณพ่อดื่มสุราแต่ผู้เดียว ผมกินน้ำฝน ”

นายพัดรีบห้าม

“ ได้ขอรับ ”

ฮุนหยิบคนโทดินเผา มารินน้ำฝนเย็นฉ่ำให้พัด ยิ้มนอบน้อมยกย่อง

“ ได้ยินชื่อคุณพ่อของคุณมานาน เพิ่งได้เห็นตัววันนี้  เป็นบุญเหลือเกินขอรับ ”

นายพัดมองฮุน แปลกใจ

“ ไม่ยักทราบว่าชื่อเสียงท่านโด่งดังไปถึงคนจีนด้วย ”

ครูมีเงี่ยฟังเด็กๆคุยกัน ถึงกับหัวเราะออกมาเบาๆ

“ กระไรได้ พ่อพัด บิดาเจ้าโด่งดังขนาดที่ว่า.. “อย่างหม่อมฉันอันที่ดีแลชั่ว  ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว  เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว  เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร ”  ทีเดียวเจียวหนา..”

คงแป๊ะถึงกับหยอกเย้า

“ ไม่ค่อยโอ่อวดเท่าใด ”

“ แหม..กระผมออกจะอ่อนน้อมถ่อมตน ”

ท่านภู่ทำเสียงอ่อนเบา

ทำเอาทุกคนฮารับ

พัดยิ้ม จิบน้ำ มองหน้าฮุน

“ เป็นศิษย์ลุงคงหรือขอรับ ”

“ ขอรับ ”

ฮุนก้มหัวรับ

“ ไม่เคยเห็นจีนผมเปียฟังกลอน รือเป็นช่างเขียนเลย ”

ทั้งสองยิ้มกัน ลดเสียงเบาลง ไม่ให้ไปกวนทางผู้หลักผู้ใหญ่

“ กระผมชื่อฮุนขอรับ ”

“ ผมชื่อพัด มาคอยดูแล เวลาคุณพ่อเมา ”

แต่ท่านภู่ก็ได้ยินจนได้ ต้องแย้งดัง

“ บ๊ะ  เจ้าพัด พูดถึงพ่อเสียๆหายๆ เคยเห็นพ่อดีเหมือนคนอื่นเขาบ้างไหมเจ้า เฮ้อ ฟังแล้วกลุ้ม

ทุกคนขบขันกับการล้อกันของพ่อกับลูกรักด้วยเอ็นดู เสียงสรวลเสเฮฮาดังขึ้นเป็นระลอกๆหน้าเรือนใหญ่ของช่างเขียนที่เป็นแหล่งสำราญของเหล่าคนดีมีวิชาที่คบค้าสมาคมกันอยู่ในละแวกคลองแห่งฝั่งธนบุรีนั้น 

 

ทว่าอีกฟากของแม่น้ำ ณ ฝั่งพระนคร ที่แพคุณพุ่ม

คุณพุ่ม นางเต็ม และเจ้าเฉก นั่งเอนกาย บ้างนอนหนุนหมอนอิง ชมจันทร์อยู่ที่ระเบียงหน้าแพในความสงบสงัด อากาศเยือกลงจากหัวค่ำ กลิ่นดอกไม้กลางคืนหอมเย็น พาให้รัญจวนปั่นป่วนใจ ลอยตามลมมาจากสวนของท่านเจ้าคุณพ่อของเจ้าของแพ

แต่ละคนล้วนตกในมนตร์จันทร์และกลิ่นหอมเร้าความรู้สึก ต่างเคลิ้มอยู่ภวังค์ กับความในใจของแต่ละคนที่แตกต่าง

“ จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกง  ขอแหวนทองแดง ผูกมือน้องข้า..”

จู่ๆนางเต็มก็รำพันเพลงกล่อมเด็กออกมา แม้ว่านางจะยังไม่เคยมีผัวมีลูกมาก่อนแต่อย่างใด

คุณพุ่มกับเฉก ต่างหันมาสนใจ รอฟังความวรรคถัดไป ทว่านางเต็มกลับเงียบงัน

เจ้าหนุ่มเฉกหันกลับไปเงยหน้ามองจันทร์ต่อ เกิดอยากจะระบายความในใจออกมาบ้าง

สักรวา จันทร์เจ้าเอ๋ย เคยกล่อมน้อง..”

คุณพุ่มหันมามอง เลิกคิ้ว รอฟัง

เจ้าเฉกเห็นท่าทางคาดหวังนั้น จึงว่าต่อให้

ขอแหวนทอง ช้างม้า มาให้เจ้า

ขอข้าวแดง แกงร้อน ป้อน..น้องเรา

ขอละคร อิเหนา บุษบา  ”

เธอสบตาคุณพุ่ม ยิ้ม พยักหน้า ผายมือให้ ทำนองว่า..ถึงตาคุณอาแล้วขอรับ..

คุณพุ่มเบือนหน้ากลับไป มองจันทร์ แล้วกล่าวต่อ ตามสภาพที่แท้ของดวงจันทร์ยามนั้น

แต่คืนนี้ จันทร์บัง อยู่หลังเมฆ

ไม่ยอมเสก ข้าวของ ให้น้องข้า ”

 เธอหยุดนิ่งไปเฉยๆ

ลำจวนและเต็มตาโต ต่างขยับตัวตรง ตื่นเต้น รอฟังกลอนของนักกลอนสดสตรีเรืองนามให้เป็นบุญหู

องค์อิเหนา เจ้าไปลับ ไม่กลับมา

เหลือบุษบา ให้มองจันทร์ ในฝันเอย

เธอเอ่ยเสียงแผ่วเบา ราวกระซิบ

แต่ทำให้แม่เต็มน้ำตาไหลพรากออกมาทันที ราวทำนบแตก เธอรีบซับน้ำตา ขยี้หน้า หาวหวอดดัง  แล้วกระแอมกระไอแก้เขิน ทำเป็นว่ากำลังง่วงอย่างถึงขีด

ลำจวนเกิดอาหารแน่นอัดอั้นขึ้นในอก อยู่ๆก็เศร้าโศกขึ้นมา ทั้งๆที่ไม่มีสาเหตุ

แต่คุณพุ่มกลับยิ้มละไมน้อยๆ พริ้มตาลงหลับพักสายตาชั่วครู่อย่างแสนสบายอารมณ์ ราวกับเป็นสตรีที่หัวใจกลายเป็นศิลาแลง หาได้สะทกสะเทือนต่อการกรีดเฉือนใดอีกต่อไป

ใต้แสงจันทร์ดวงเดียวกัน ริมคลองบางบำหรุ เสียงขับทำนองเสนาะเป็นจังหวะจะโคนสนุกของบุรุษผู้เป็นเจ้าของถ้อยความนั้นเองแท้ๆ

ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย  ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย

พลันเสียงปี่ เป่าเลียนเสียงคน หนักเบา สั้นยาว.. คมชัด ไม่ผิดเพี้ยน

ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย  ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย

“  โอ๋..”

เจ้าหนุ่มจีนร้องอุทานด้วยความอัศจรรย์ใจ ดวงตาเบิกกว้าง อ้าปากค้าง

หนุ่มพัดหันมาสบตากับเขา แล้วพยักเพยิดแทนวาจา เป็นเชิงว่าเห็นหรือไม่เล่าว่าท่านเหล่านี้ มิใช่คนธรรมดา

“ แม่เจ้าเหวย..

ครูพุดร้องขึ้นมา อย่างสุดทึ่ง

พวกศิษย์ช่างเขียนอื่น ต่างขยับตัว นั่งตรง ตั้งใจฟัง แม้แต่แม่เตยที่อยู่บนบ้าน ยังหยุดเพ้อ โผล่หน้ามาดูให้เห็นกับตา

คงแป๊ะหัวเราะ  สาสมใจ ที่ทุกคนตะลึงกับฝีปากเป่าปี่ ที่เลียนเสียงคนได้อย่างแนบเนียน

ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย   จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย

ท่านภู่ขับนำ มองมาที่สหายท่านอย่างท้าทาย

ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย   จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย

ครูมีเป่ารับคำท้าด้วยสีหน้าสนุก คึกคัก เสียงปี่นั้นเป็นคำและเสียงที่คมชัดราวกับเสียงท่านภู่เอง

ฮุนมองครูทั้งคู่ไปมา ตื่นตาตื่นใจ เหมือนชมดูสองนักดาบประชันฝีมือ

พัดหันมา หัวเราะกับฮุน แล้วต่างหยิบจอกขึ้นมา ยกให้กันก่อนจะดื่ม

“ พระจันทร จรสว่าง กลางพะโยม ไม่เทียมโฉม นางงาม เจ้าพราหมณ์เอ๋ย ”

หลวงสุนทรโวหาร แกล้งโหนหางเสียงให้สูงขึ้นอีก

ครูมีก็หาครั่นคร้ามไม่ เป่าเสียงสูงวิเวกไหว…ลงเสียง..เจ้าพราหมณ์เอ๋ย..ให้อารมณ์โหยหาอาวรณ์ปานๆกัน

ทันใด คงแป๊ะตบเข่าฉาด แล้วขัดจังหวะขึ้น

“ พูดถึงนางงาม เช้าวันนี้เผอิญผมพบนางงามเข้าที่วัดพระเชตุพน ”

ท่านภู่ตบเข่าล้อเข้าให้บ้าง

“ บ๊ะๆๆ นั่นปะไร!!..ใครกัน พ่อคง? ”

“ อ้าวๆ พูดถึงนางงาม ..เลิกใส่ใจเสียงปี่กระผมเลยหนอ คนเรา ”

ครูมีอุทธรณ์ ทว่ารอฟังตาเป็นประกายกับเขาเช่นกัน

“ นางงามจริงๆ.. จนป่านนี้ก็ยังงามนัก..คุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง ”

คงแป๊ะยักคิ้วราวกับหนุ่มน้อยวัยคะนอง

ฮุนสะดุ้ง  หันไปสบตากับครูพุด ซึ่งหันมาหาฮุนพร้อมๆกับที่ฮุนหันไป

ครูพุดกระแอมเบาๆ รีบดื่มแก้คอแห้ง

เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน   เหมือนอย่างนางเชิญ  พระแสงสำอางข้างเคียง..”

ท่านภู่รำพึงเป็นกาพย์ ด้วยทำนองหวานระรื่น

“ โอ๊ะๆ ”

ครูมีร้อง แล้วเอาปี่ขึ้นมาเปล่า เลียนคำกาพย์นั้น ซี่งไพเราะจนทุกคนฮือฮา ทำตาฝันไปตามๆกัน

“ เมื่อครั้งคุณพุ่มเธอเป็นนางเชิญพระแสง..งามอย่างหาตัวจับยากเชียวหนา ”

ท่านภู่มีสีหน้าจดจำรำลึก

“ แต่งกาพย์รือ พ่อภู่ ไม่แต่งกลอนแล้ว ”

ครูมีเย้า

“ เขากล่าวหากันว่าผมแต่งเป็นแต่กลอน อย่างอื่นไม่เป็นรส  ผมจึงลองเขียนกาพย์ดู..”

“ เรื่องอันใด? ”

ครูมีจิบชา ท่าทางชอบใจมาก

“ ยังไม่รู้เหมือนกัน ลองแต่งบทชมป่าเล่นๆไปก่อน ต่อไป..คิดเรื่องได้เมื่อไร จึงจะนำไปประสมประเสให้เป็นเรื่องนิทานคำกาพย์ขนาดยาวๆดูบ้าง ”

หากมีใครสังเกตฮุน เจ้าลูกศิษย์ผมเปียของคงแป๊ะ  คงแปลกใจที่ตาเฉียงเรียวยาวของมัน อ่อนโยนแพรวพราวระยินระยับ เพราะไม่ทราบว่ามาจากเหตุอันใด จะว่าเพราะซาบซึ้งในบทร้อยกรองเหล่านักหนาหรือ ก็ไม่น่าจะใช่

ที่แท้ ฮุนนึกถึงแต่ลำจวน หรือจะกลายเป็นคุณชายเฉกไปแล้วก็ตาม

ฮุนปรารถนาที่จะให้บุคคลผู้นั้น ไม่ว่าจะในรูป ในนามใด มาอยู่ในหมู่ชนชั้นครูเหล่านี้ ณ.ที่นี่ด้วยกันเหลือเกิน

         

ดึกดื่นเที่ยงคืน แม่เต็มนอนหลับไปแล้ว ในมุ้งเล็กๆ ที่กางอยู่ปลายเท้าที่นอนคุณพุ่ม

คุณพุ่มยังนั่งที่หน้ากระจก ทาแป้งดินสอพองเจือน้ำอบไทยในขวดแก้วเจียระนัย ละลายให้เข้ากันในมือ แล้วประเป็นลายตามตัว

ลำจวนตามกลิ่นมาเยี่ยมหน้าดู แล้วย่องมานั่งข้างๆ หยิบพัดมาพัดให้น้ำอบแห้งเร็ว

คุณพุ่มยิ้ม

“ ขอบใจออลำจวน ”

หญิงสาวสูดกลิ่น ทำหน้าสดชื่น

“ น้ำอบนี้หอมจริงค่ะ ”

“ เมื่อเย็น เอาพู่กลิ่นไปถวาย..มีคนคุ้นเคยกันเขาให้มา ”

คุณพุ่มหยิบขวดเจียระนัยมาอวด

“ คุณเคยอยู่ในวัง? ”

ลำจวนถามย้ำ

คุณพุ่มชะงักเล็กน้อย แล้วก็อดขำไม่ได้ ที่เด็กนี่ช่างไม่รู้อะไรเอาเลย

“ ใช่..”

“ เป็นอาลักษณ์หญิงรือคะ? ”

คุณพุ่มหัวเราะ

“ มีหรือ อาลักษณ์หญิง ไม่มีดอก ลำจวน..ฉันเป็นนางเชิญพระแสง..”

ลำจวนตาโต

“ พระแสง..พระแสงของใครคะ? ”

คุณพุ่มถอนใจ

“ พระแสง..ของพระเจ้าอยู่หัวน่ะซี จะของใคร ”

ลำจวนอ้าปากค้าง

“ เรื่องมันนานนมเนมาแล้ว อย่าไปสนใจเลย ไป..ไปนอนได้แล้ว เจ้าเฉก นี่ห้องนอนของพวกผู้หญิงเขา เจ้าไปนอนที่ของเจ้า ไป..”

ลำจวนรีบไหว้ ทำจริตเป็นชายไหล่ผึ่ง คลานถอยรวดเร็ว แล้วลุก จะเดินออก

“  เจ้าช่อมะกอก เจ้าดอกมะไฟ  

เจ้าเห็นเขางาม เจ้าตามเขาไป

เขาทำเจ้ายับ เจ้ากลับมาไย

เขาสิ้นอาลัย เจ้าแล้วหรือเอย

คุณพุ่มขับบทสร้อยท้ายสักวาออกมาเบาๆในลำคอ ทำให้ลำจวนหยุดชะงัก หันกลับมา

คุณพุ่มที่กำลังจะเปิดเข้ามุ้ง หันมาเห็นเข้า ก็หัวเราะเบาๆ

“ ไพเราะจัง..คุณแต่งรือ..ขอรับ? ”

“ อุ๊ย..ไม่กล้าดอก..พระราชนิพนธ์จ้ะ ”

“ เรื่องอะไร..ขอรับ? ”

เมื่อเป็นเฉก ลำจวนก็ต้องไม่ลืม..ขอรับ

“ เรื่อง..”

สตรีงามในแบบฉบับที่ต่างจากใครทั้งสิ้นหัวเราะดังเหมือนกำลังเยาะเย้ยใคร

“ ด่าคนไม่รักดี..กระมั้ง..”

เธอดับตะเกียงมืดลง แล้วเข้ามุ้งไป

ลำจวนเดินงงๆออกมา บ่นกับตัวเองอุบอิบ

“ พระราชนิพนธ์..เรื่องด่าคนไม่รักดี..ไม่เคยได้ยิน..” 



Don`t copy text!