วิกตอเรีย โฮลต์
โดย : พงศกร
อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม
*************************
หากจะกล่าวว่าคอนิยายแปลอิงประวัติศาสตร์และนวนิยายลึกลับแนวโกธิก ไม่มีใครที่ไม่รู้จักวิกตอเรีย โฮลต์ คงไม่เกินความจริงไปมากนัก นักอ่านจำนวนไม่น้อยเติบโตมากับนวนิยายของเธอที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย ‘นิดา’ เรื่องที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่ทำให้คนไทยรู้จักวิกตอเรีย โฮลต์ และนิดา เห็นจะไม่พ้นเรื่อง ‘คำสารภาพของมารี อังตัวแนตต์’ ที่แปลมาจาก The Queen’s Confession: The Story of Marie-Antoinette
คำสารภาพของมารี อังตัวแนตต์ ลงในนิตยสาร สตรีสาร ราวปี พ.ศ. 2516 ก็ได้รับความนิยมในทันที หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ถึงกับทรงเขียนจดหมายหาคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ผู้เป็นบรรณาธิการ สตรีสาร เพื่อแสดงความชื่นชม หลังจากนั้น วิกตอเรีย โฮลต์ กับนิดา ก็กลายเป็นนักเขียนนักแปลคู่บุญกัน มีผลงานร่วมกันมาอีกมากมายหลายสิบเรื่อง เช่น เหนือปรารถนา (The Legend of the Seventh Virgin), เงาเสือ (The Shadow of the Lynx), มยุรารำแพน (The India Fan), เสียงเพรียกจากเกลียวคลื่น (The Black Opal) เป็นต้น
วิกตอเรีย โฮลต์ เป็นนามปากกาของเอเลนอร์ ฮิบเบิร์ต (Eleanor Hibbert) นักเขียนชาวอังกฤษที่เกิดและเติบโตมาในครอบครัวธรรมดา พ่อเป็นคนงานท่าเรือ แม่เป็นแม่บ้าน แต่ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวรักการอ่าน พ่อของเอเลนอร์มีหนังสือมากมายในบ้าน โดยเฉพาะหนังสือประวัติศาสตร์ เด็กหญิงจึงเติบโตมาท่ามกลางหนังสือเหล่านั้น
ความลุ่มหลงในประวัติศาสตร์ของเอเลนอร์มีมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากแต่งงานกับจอร์จ เพอร์สิวาลด์ ฮิบเบิร์ต สามีของเธอซื้อบ้านเก่าที่สร้างขึ้นในสมัยทิวดอร์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เล่ากันว่าพระเจ้าเฮนรีที่ 8 เคยปลอมตัวออกมาท่องเที่ยว และเสด็จมาประทับบ้านหลังนั้นอยู่ระยะหนึ่ง นั่นทำให้เอเลนอร์ยิ่งตกหลุมรักเรื่องราวแต่เก่าก่อนอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
เอเลนอร์เริ่มงานเขียนเรื่องแรกในปี พ.ศ. 2488 โดยใช้นามปากกาจีน เพลดี้ (Jean Plaidy) เขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์หลายเรื่อง นักอ่านชาวไทยรู้จักจีน เพลดี้ จากเรื่อง ‘รักของอลิซาเบธที่ 1’ ซึ่งนิดาแปลมาจากเรื่อง Gay Lord Robert อีกสิบห้าปีต่อมาเอเลนอร์จึงเริ่มงานเขียนในนามปากกาวิกตอเรีย โฮลต์ นวนิยายเรื่องแรกของเธอคือ Mistress of Mellyn (ฉบับแปลเป็นภาษาไทยชื่อ คฤหาสน์เงา โดย กัณหา แก้วไทย) เป็นนวนิยายโกธิก
Mistress of Mellyn เป็นเรื่องราวของมาร์ธา หญิงสาวคนหนึ่งที่ต้องเดินทางไปยังคฤหาสน์เมาท์เมลลิน เพื่อเป็นครูพี่เลี้ยงให้กับเด็กหญิงอัลลีน บุตรสาวของคอนแนน ชายหนุ่มผู้เงียบขรึมผู้เป็นเจ้าของคฤหาสน์แห่งนั้น
คอนแนนสูญเสียอลิซผู้เป็นภรรยาไปอย่างลึกลับเมื่อหลายปีก่อน และมาร์ธาเริ่มสงสัยว่านั่นอาจเป็นฆาตกรรม และเมื่อเธอเริ่มลงมือสืบหาตัวคนร้าย ก็เริ่มเกิด ‘อุบัติเหตุ’ ขึ้นซ้ำๆ กับตัวเธอ และยิ่งมาร์ธาใกล้ชิดกับคอนแนนมากเพียงไร เธอก็ยิ่งตกอยู่ในอันตรายมากขึ้นเพียงนั้น
Mistress of Mellyn สร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจให้กับวงการหนังสือเป็นอย่างยิ่ง หนังสือขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง งานเขียนแนวโกธิกกลับมาเป็นที่นิยมทั้งในยุโรปและอเมริกา เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนจำนวนมากเริ่มหันมาเขียนงานแนวโกธิก รวมถึงนักเขียนชายที่มีชื่อเสียงหลายคนก็หันมาเขียนนวนิยายแนวโกธิกในนามปากกาของนักเขียนสตรี!
เอเลนอร์ไม่ได้หยุดตัวเองอยู่แค่ความสำเร็จของจีน เพลดี้ และวิกตอเรีย โฮลต์ เท่านั้น บรรณาธิการของเธอแนะนำให้เอเลนอร์เขียนนวนิยายใหม่ เป็นซีรีส์แนวประวัติศาสตร์ที่เธอชื่นชอบ แต่คราวนี้แทนที่จะเขียนถึงบุคคลในประวัติศาสตร์ตรงๆ บรรณาธิการแนะนำเอเลนอร์ให้สร้างตัวละครสมมติขึ้นมา ให้เข้าไปเดินเรื่องเป็นตัวละครหลัก เล่าประวัติศาสตร์ผ่านสายตาของคนธรรมดา เอเลนอร์เห็นด้วยและเริ่มใช้นามปากกาใหม่คือฟิลลิปปา คาร์ (Phillippa Carr) ในปี พ.ศ. 2515 งานเขียนของฟิลลิปปา คาร์ ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นเช่นกัน และหลายเรื่องนักแปลคู่บุญอย่างนิดา ก็แปลออกมาให้นักอ่านไทยได้สัมผัสกับความสนุกนั้น เช่น รักหลังบัลลังก์เลือด (The Miracle at St. Bruno’s), สิงห์เจ้าสมุทร (The Lion Triumphant), หอร้างริมผา (The Witch from the Sea) เป็นต้น
เอเลนอร์เขียนงานภายใต้หกถึงเจ็ดนามปากกา ที่ดังสุดสามนามปากกาคือ จีน เพลดี้, วิกตอเรีย โฮลต์ และฟิลลิปปา คาร์ เธอเขียนงานออกมาอย่างสม่ำเสมอปีละหลายเรื่อง สร้างรายได้มากมายมหาศาล หลังจากสามีเสียชีวิตไป เอเลนอร์ซื้อบ้านใหม่ที่เคนซิงตัน และแน่นอน เป็นบ้านโบราณสมัยทิวดอร์เช่นเดียวกัน
เอเลนอร์เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2536 ด้วยอาการหัวใจวายระหว่างนั่งเรือสำราญ เธอเสียชีวิตบริเวณที่เรือสำราญอยู่ระหว่างน่านน้ำกรีกและอียิปต์ ตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวเรือ ร่างของเอเลนอร์ถูกฝังลงไปในท้องทะเล
เสียงเพรียกจากเกลียวคลื่น หรือ Black Opal คือนวนิยายเรื่องสุดท้ายในชีวิตของเธอ ได้รับการตีพิมพ์หลังจากเอเลนอร์เสียชีวิตไปแล้ว ภายใต้นามปากกาวิกตอเรีย โฮลต์ และแน่นอนว่ามันได้สร้างปรากฏการณ์ขายดีเช่นเดียวกับทุกเรื่องที่ผ่านมา
- READ ชินจิ วาดะ
- READ ชาร์ลส ดิกเกนส์
- READ แขไข เทวินทร์
- READ โรอัลด์ ดาห์ล
- READ ร.จันทพิมพะ
- READ กาญจนา นาคนันทน์
- READ เจน ออสเตน
- READ คำพูน บุญทวี
- READ เอ เอ มิลน์
- READ โกวเล้ง
- READ ดวงดาว
- READ สุริยฉัตร ชัยมงคล
- READ อกาธา คริสตี้
- READ บาร์บารา คาร์ทแลนด์
- READ บุษยมาส
- READ สรจักร
- READ เบียทริกซ์ พอตเตอร์
- READ วาณิช จรุงกิจอนันต์
- READ ริชาร์ด อดัมส์
- READ เจ้าฟ้ากุ้ง
- READ น้ำอบ
- READ เจ้าฟ้ากุณฑล – เจ้าฟ้ามงกุฎ
- READ เท็ตสุกะ โอซามุ
- READ ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เนตต์
- READ เพ็ญพิมล ธัมมรัคคิต
- READ ท. เลียงพิบูลย์
- READ อี. บี. ไวต์
- READ ลพบุรี
- READ โดโรธี ดานีลส์
- READ คุณพุ่ม
- READ โดโรธี อีเดน
- READ จรัสพร
- READ ริชาร์ด แมทธีสัน
- READ สุภาว์ เทวกุลฯ
- READ วิลเลียม เชคสเปียร์
- READ กิมย้ง
- READ สุวรรณี สุคนธา
- READ เหม เวชกร
- READ ลิวอิส แครอล
- READ เพิร์ล เอส บั๊ค
- READ ศรีฟ้า ลดาวัลย์
- READ รัดยาร์ด คิปลิง
- READ พระนางเธอลักษมีลาวัณ
- READ ซี. เอส. ลิวอิส
- READ พิมล กาฬสีห์
- READ จินตนา ปิ่นเฉลียว
- READ มากาเร็ต มิตเชลล์
- READ สันต์ เทวรักษ์
- READ เอมิลี่ บรองเต้
- READ อ.ไชยวรศิลป์
- READ บรรจบ พันธุเมธา
- READ มารี คอเรลลี
- READ แอล แฟรงค์ โบห์ม
- READ ดอกไม้สด
- READ เอโดงาวะ รันโป
- READ น.ม.ส
- READ วิกตอเรีย โฮลต์
- READ อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูว์เปรี
- READ อ.สนิทวงศ์
- READ จันตรี ศิริบุญรอด
- READ ลอรา อิงกัลส์ ไวล์เดอร์
- READ น้อย ชลานุเคราะห์
- READ ไอแซก ไดนีเสน
- READ ศุภร บุนนาค