ศรีฟ้า ลดาวัลย์
โดย : พงศกร
อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม
*************************
หากจะกล่าวว่า หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ หรือ ศรีฟ้า ลดาวัลย์ คือผู้รู้ด้านประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ที่หาตัวจับยาก คงไม่ผิดความจริงมากนัก
เพราะเธอเกิดในราชสกุลลดาวัลย์ อีกทั้งยังมีศักดิ์เป็นหลานสาวของ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ หม่อมหลวงศรีฟ้าจึงได้รับฟังเรื่องราวเก่าก่อนที่เล่าสืบกันต่อมาในตระกูล ได้รับรู้เรื่องราวประเภทที่เรียกว่า ‘พงศาวดารกระซิบ’ ที่ไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรหลายๆ เรื่อง ดังนั้น เมื่อเธอลงมือเขียนสารคดีชุดเลาะวังและเวียงวัง เรื่องราวที่หม่อมหลวงศรีฟ้าหยิบมาบอกเล่าจึงเต็มไปด้วยสีสันและข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้
หม่อมหลวงศรีฟ้าเพิ่งมาเริ่มเขียนสารคดีประวัติศาสตร์ในช่วงหลังนี้เอง ก่อนหน้านี้เธอคือนักเขียนนวนิยายที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ภายใต้นามปากกา ‘สีฟ้า’ ‘ศรีฟ้า ลดาวัลย์’ ‘จุลลดา ภักดีภูมินทร์’ และ ‘ภัฏฏินวดี’ ซึ่งนามปากกาหลังนี้ใช้ตอนเริ่มเขียนเรื่องสั้นลงใน เดลิเมล์วันจันทร์ และ ไทยใหม่รายสัปดาห์ แต่ต่อมาได้เลิกใช้ไป
นวนิยายเรื่องแรกในชีวิตของหม่อมหลวงศรีฟ้า คือ ปราสาทมืด ภายใต้นามปากกา ‘จุลลดา ภักดีภูมินทร์’
นามปากกานี้มีที่มาจากการที่เธอเป็นหลานปู่ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดีนั่นเอง ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง หม่อมหลวงศรีฟ้าเล่าว่า นามปากกา จุลลดา ภักดีภูมินทร์ แปลว่า ‘ลดาน้อยๆ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระองค์เจ้าชายลดาวัลย์ หรือกรมหมื่นภูมินทรภักดี’
ทันทีที่ ปราสาทมืด ลงพิมพ์ในนิตยสาร ศรีสัปดาห์ ก็โด่งดังถึงขนาดมีคนมาต่อแถวรอกันที่หน้าโรงพิมพ์ เพื่อซื้อ ศรีสัปดาห์ ฉบับล่าสุดไปอ่านไวๆ
นวนิยายของหม่อมหลวงศรีฟ้าเป็นที่รู้จักกันดีมากในหมู่นักอ่านชาวไทย ไม่ว่าจะเป็น ปราสาทมืด, ริษยา, อีสา – รวีช่วงโชติ, ขมิ้นกับปูน, อรุณสวัสดิ์, วงเวียนชีวิต, ความรักสีเพลิง, พรหมไม่ได้ลิขิต, ไม้อ้อน, สมการวัย, ประทีปอธิษฐาน, คอนโดมิเนียม, กนกลายโบตั๋น, ใต้ฟ้าสีคราม, ใครกำหนด และอีกมากมาย เกือบทุกเรื่องได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ ตัวหนังสือเล่มก็ขายดิบขายดี พิมพ์ซ้ำหลายครั้งหลายหน
แต่ที่มีความโดดเด่นกว่านักเขียนสตรีคนไหนๆ ก็คือ นวนิยายในแนวการเมือง เพราะมีนักเขียนไม่กี่คนนักที่จะเขียนงานในแนวนี้อย่างจริงจังต่อเนื่อง
อาจเป็นเพราะหม่อมหลวงศรีฟ้าเกิดในราชสกุล และเติบโตมาในช่วง พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นปีเปลี่ยนผ่านการปกครองของไทย นอกจากจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและ เธอยังสัมผัสกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นด้วยตัวเอง ทั้งหมอนั้นจึงเป็นความทรงจำอันฝังใจ และได้นำมาถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของตัวละครต่างๆ
มีภาพความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ปรากฏให้เห็นอยู่ในนวนิยายหลายเรื่องของเธอ เป็นต้นว่า ‘ขมิ้นกับปูน’ เรื่องราวของขุนนางสองตระกูลที่ต้องปรับตัวกับการเมืองที่เปลี่ยนไป, เรื่องโชคชะตาที่ขึ้นสูงสุดและตกต่ำถึงที่สุดของตระกูลขุนนางเก่าแก่ในนวนิยายเรื่อง ‘หลง’, ความรังเกียจเศรษฐีใหม่ของผู้ดีเก่า ในนวนิยายเรื่อง ‘ใครกำหนด’ เป็นต้น
สำหรับงานเขียนแนวจริงจัง สะท้อนสังคม และการเมือง หม่อมหลวงศรีฟ้าจะใช้นามปากกา ‘สีฟ้า’ เริ่มต้นจาก ความรักสีเพลิง ซึ่งเขียนในช่วงปี พ.ศ. 2515-2516 ตามมาด้วย บ้านเกิด, แผ่นดินนี้ยังรื่นรมย์, ผู้เป็นที่รักนิรันดร์, เปลือก, แก่นกระพี้, ตะวันไม่เคยเลยลับ จนกระทั่งนวนิยายเรื่องสุดท้ายในชีวิตก่อนวางปากกาคือ มหาสมุทรสุดลึกล้นฯ ก็เป็นนวนิยายสะท้อนการเมืองบ้านเราให้อ่านกันอย่างแสบๆคันๆ
ผู้เขียนเคยมีโอกาสพบกับหม่อมหลวงศรีฟ้าหลายครั้ง จึงได้ทราบว่านวนิยายแนวการเมืองที่ท่านนักและภาคภูมิใจมากที่สุดก็คือ พิกุลแกมเกดแก้ว ที่เปรียบเสมือนบันทึกประวัติการเมืองไทยนับแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา หากยังมีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ ก็ไม่แน่ว่าท่านเห็นบรรยากาศอลวลอลเวงของการเมืองไทยในพ.ศ. ปัจจุบัน หม่อมหลวงศรีฟ้าอาจนึกสนุกเขียนนวนิยายสะท้อนสภาพบ้านเมืองให้เราได้อ่านกันอีกก็เป็นได้
หลังวางปากกาจากนวนิยาย ในช่วงบั้นปลายของชีวิต หม่อมหลวงศรีฟ้าเขียน ‘ชีวิต ความคิดและนวนิยาย’ ซึ่งเป็นสารคดีกึ่งอัตชีวประวัติ เล่าเรื่องราวในชีวิตของท่าน รวมถึงเล่าที่มาที่ไปของนวนิยายแต่ละเรื่องเอาไว้อย่างน่าสนใจ
หม่อมหลวงศรีฟ้าได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2539 และเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2556 ด้วยอาการเส้นเลือดสมองตีบเฉียบพลัน ทิ้งผลงานนวนิยายไว้มากมาย ซึ่งนับวันจะเริ่มหาอ่านยากขึ้นเรื่อยๆ จึงขอแนะนำให้นักอ่านที่ต้องการสะสมผลงานของหม่อมหลวงศรีฟ้า จงอย่ารอช้า รีบลงมือเก็บสะสมเสียแต่วันนี้ ก่อนที่ราคาจะพุ่งทะยานไปไกลจนจับต้องไม่ได้ แล้วต้องมานั่งเสียดายเสียใจในภายหลัง….
- READ ชินจิ วาดะ
- READ ชาร์ลส ดิกเกนส์
- READ แขไข เทวินทร์
- READ โรอัลด์ ดาห์ล
- READ ร.จันทพิมพะ
- READ กาญจนา นาคนันทน์
- READ เจน ออสเตน
- READ คำพูน บุญทวี
- READ เอ เอ มิลน์
- READ โกวเล้ง
- READ ดวงดาว
- READ สุริยฉัตร ชัยมงคล
- READ อกาธา คริสตี้
- READ บาร์บารา คาร์ทแลนด์
- READ บุษยมาส
- READ สรจักร
- READ เบียทริกซ์ พอตเตอร์
- READ วาณิช จรุงกิจอนันต์
- READ ริชาร์ด อดัมส์
- READ เจ้าฟ้ากุ้ง
- READ น้ำอบ
- READ เจ้าฟ้ากุณฑล – เจ้าฟ้ามงกุฎ
- READ เท็ตสุกะ โอซามุ
- READ ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เนตต์
- READ เพ็ญพิมล ธัมมรัคคิต
- READ ท. เลียงพิบูลย์
- READ อี. บี. ไวต์
- READ ลพบุรี
- READ โดโรธี ดานีลส์
- READ คุณพุ่ม
- READ โดโรธี อีเดน
- READ จรัสพร
- READ ริชาร์ด แมทธีสัน
- READ สุภาว์ เทวกุลฯ
- READ วิลเลียม เชคสเปียร์
- READ กิมย้ง
- READ สุวรรณี สุคนธา
- READ เหม เวชกร
- READ ลิวอิส แครอล
- READ เพิร์ล เอส บั๊ค
- READ ศรีฟ้า ลดาวัลย์
- READ รัดยาร์ด คิปลิง
- READ พระนางเธอลักษมีลาวัณ
- READ ซี. เอส. ลิวอิส
- READ พิมล กาฬสีห์
- READ จินตนา ปิ่นเฉลียว
- READ มากาเร็ต มิตเชลล์
- READ สันต์ เทวรักษ์
- READ เอมิลี่ บรองเต้
- READ อ.ไชยวรศิลป์
- READ บรรจบ พันธุเมธา
- READ มารี คอเรลลี
- READ แอล แฟรงค์ โบห์ม
- READ ดอกไม้สด
- READ เอโดงาวะ รันโป
- READ น.ม.ส
- READ วิกตอเรีย โฮลต์
- READ อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูว์เปรี
- READ อ.สนิทวงศ์
- READ จันตรี ศิริบุญรอด
- READ ลอรา อิงกัลส์ ไวล์เดอร์
- READ น้อย ชลานุเคราะห์
- READ ไอแซก ไดนีเสน
- READ ศุภร บุนนาค