สุภาว์ เทวกุลฯ

สุภาว์ เทวกุลฯ

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

สมัยเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน กลุ่มนักเขียนสตรีที่สนิทกันมากๆ มีนัดรับประทานอาหารกันบ่อยๆ มักจะมีชื่อขึ้นต้นว่า ‘สุ’ กันเป็นส่วนใหญ่… สุกัญญา ชลศึกษ์ (กฤษณา อโศกสิน), สุภัทร สวัสดิรักษ์, สุวรรณี สุคนธา, สุภาว์ เทวกุล และนักเขียนท่านอื่นๆ อย่างเช่น คุณหญิงวิมล (ทมยันตี), คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ เป็นต้น

วงสนทนานี้เป็นที่แลกเปลี่ยนความคิดของเหล่านักเขียนผู้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นบ่อเกิดนวนิยายสนุกๆ มากมาย ครั้งหนึ่ง มีการถกเถียงกันเรื่องเมียหลวงและเมียน้อยว่าใครถูกใครผิด ใครดีใครไม่ดี คุณสุภัทรเลยให้โจทย์กับนักเขียนไปเขียนวนิยายเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดย กฤษณา อโศกสิน เขียน ‘เมียหลวง’ และทมยันตี เขียน ‘เมียน้อย’ ลงประชันกันใน สกุลไทย เป็นต้น

คุณสุภาว์ เทวกุลฯ

สุภาว์ เทวกุลฯ เป็นนามปากกาของ สุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา

เธอเป็นธิดาของหลวงประกาศโกศัยวิทย์ เคยสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ แต่ไม่ได้เข้าเรียนเพราะรู้สึกว่าไมใช่สิ่งที่ตัวเองถนัด เธอเคยเป็นครูสอนที่โรงเรียนราชินีอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งสมรสแล้วจึงลาออกมาดูแลครอบครัว พร้อมกับเขียนนวนิยาย

คุณสุภาว์ร่วมกับเพื่อนๆ รวมถึงนักเขียนผู้ใหญ่ในเวลานั้นหลายคน ก่อตั้งสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยขึ้น เธอดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมติดต่อกันมาหลายปี และได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนที่ 6 เป็นนายกสมาคมฯ อยู่ถึง 2 สมัย

สุภาว์ เทวกุลฯ เริ่มเขียนหนังสือจากเรื่องสั้น ตามแบบนักเขียนคนอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน

วงสังสรรค์ของเหล่านักเขียนสตรี

เรื่องสั้นเรื่องแรกได้ลงในนิตยสาร โบว์แดง และ ศรีสัปดาห์ ก่อนจะมีเรื่องสั้นอีกมากกว่าสามร้อยเรื่องตามมา เธอมีผลงานลงตีพิมพ์ในนิตยสาร แนวหน้า ในเวลานั้นพร้อมกันหลายฉบับ

นวนิยายมากมายของคุณสุภาว์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก หลายเรื่องนำไปสร้างเป็นละคร เช่น ไม้แปลกป่า กำแพงบุญ สะใภ้จ้าว ไฟใต้น้ำ เยี่ยมวิมาน แค่เอื้อม เป็นต้น แน่นอนว่าทุกเรื่องที่นำมาสร้างละคร ได้รับเสียงตอบรับดีมาก หลายเรื่องโด่งดังจนมีการนำมารีเมกหลายหน

คุณสุภาว์และกลุ่มนักเขียน ชอบเดินทางท่องเที่ยวไปกับเพื่อนๆนักเขียน

นวนิยายของ สุภาว์ เทวกุลฯ มีจุดเด่นคือ พล็อตแปลกใหม่ ตัวละครเอกโดยเฉพาะนางเอกเป็นคนสู้คน ไม่ยอมถูกกระทำ หลายเรื่องมีแนวคิดที่น่าสนใจแตกต่างจากนวนิยายเรื่องอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน เช่น กำแพงบุญ ที่เล่าถึงคนที่ลุ่มหลงการทำบุญ และคิดว่าคนที่บริจาคเงินมากจะได้บุญมากกว่าคนที่บริจาคน้อยๆ เป็นต้น

ไฟใต้น้ำ หนึ่งในนวนิยายเรื่องดังของสุภาว์ เทวกุล

บางครั้งเธอก็ใช้อีกนามปากกาคือ ‘รจนา’ เขียนนวนิยาย เรื่องที่ดังมากที่สุดในนามปากการจนาเห็นจะไม่พ้น สะใภ้จ้าว

สะใภ้จ้าว ในนามปากกา รจนา

คุณสุภาว์บรรยายบรรยากาศในรั้วในวังได้เห็นภาพ เหตุเพราะเธอเป็นสะใภ้จ้าวตัวจริง สามีของเธอคือ มรว. ทัดเทพ เทวกุล

ละครสะใภ้จ้าว ประสบความสำเร็จทั้งเรื่องเรตติ้งและได้รับรางวัลต่างๆมากมาย

คุณสุภาว์กลายมาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเมื่อสามีเสียชีวิตไปอย่างกะทันหัน ตอนนั้นธิดาคนเล็กของคุณสุภาว์เพิ่งมีอายุได้ 10 เดือนเท่านั้น เธอทำงานหนักมากขึ้นจากเขียนนวนิยายเพียงอย่างเดียว คุณสุภาว์เริ่มเขียนบทละครให้กับละครโทรทัศน์หลายเรื่อง เพื่อนนักเขียนหลายคนเมื่อได้ทราบว่าละครของตัวเองมีคุณสุภาว์เป็นคนเขียนบทก็จะสบายใจมาก เพราะมั่นใจว่าเส้นเรื่องจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นคนละเรื่อง

ละอองเทศ นวนิยายพล็อตแปลกและทันสมัย

ช่วงหลัง นอกจากจะเขียนบทแล้ว คุณสุภาว์ยังขยับมาเป็นผู้กำกับการแสดงอีกด้วย นับว่าเป็นการต่อยอดจากงานเขียนอย่างเป็นรูปธรรม

งานเสวนาในการมอบรางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ ครั้งหนึ่ง

คุณสุภาว์ทำงานหนัก เวลาเครียดจะสูบบุหรี่เพื่อผ่อนคลาย ระยะหลังมีอาการเหนื่อยง่ายและอาการหอบ ในวันหนึ่งหลังจากเขียนงานเสร็จเรียบร้อย คุณสุภาว์ เทวกุลฯ ก็เสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจล้มเหลว อายุได้ 65 ปี สร้างความตกใจให้กับบรรดาเพื่อนนักเขียนเป็นอย่างมาก

กำไลบุษบง ผลงานนวนิยายของหม่อมหลวงกุลรัตน์ เทวกุลฯ ลูกไม้ที่หล่นใต้ต้นของคุณสุภาว์ เทวกุล

หลังจากเสียชีวิต สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งกองทุนชื่อ ‘กองทุนรางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ’ ดำเนินการประกวดเรื่องสั้นและนวนิยายสลับปีกัน เพื่อส่งเสริมนักเขียนหน้าใหม่ให้มีเวทีและมีโอกาสได้ก้าวเข้ามาทำงานในวงการวรรณกรรม มีนักเขียนหลายคนที่ถือกำเนิดมาจากรางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ นี้ เช่น เสถียร ยอดดี, พญ.ชัญวลี ศรีสุโข, สาคร พูลสุข, พงศกร เป็นต้น

นอกจากนี้ หม่อมหลวงกุลรัตน์ ธิดาคนหนึ่งของคุณสุภาว์ เทวกุลฯ ก็เป็นนักเขียน มีผลงานนวนิยายออกมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

Don`t copy text!