คุณพุ่ม

คุณพุ่ม

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

หากจะกล่าวว่าโลกของนักเขียนในเมืองไทยเมื่อร้อยกว่าปีก่อนนั้นเป็นโลกของผู้ชาย คงไม่ผิดนัก

เพราะบรรดานักเขียนชื่อดัง กวีที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นสุนทร (ภู่), เจ้าพระยาพระคลัง (หน), ศรีปราชญ์ และอีกมากมายหลายท่าน ล้วนเป็นบุรุษเพศทั้งสิ้น แต่ในบรรดาผู้มีชื่อเสียงทั้งหมดนั้น มีสตรีหนึ่งเดียวที่มีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้กวีชาย นั่นคือ ‘คุณพุ่ม’

คุณพุ่มเป็นใคร และเธอโดดเด่นขึ้นมาได้อย่างไร เราคงต้องเริ่มต้นกันที่เรือนแพแห่งหนึ่งในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นที่พำนักของกวีหญิงคนนี้

สตรีสมัยที่คุณพุ่มมีชีวิตอยู่นิยมแต่งกายเช่นนี้

คุณพุ่มเกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 ไม่ปรากฏว่าเกิดเมื่อปี พ.ศ. ใด เธอเป็นธิดาของพระยาราชมนตรี ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เดิมถวายตัวเป็นข้าหลวงรับราชการอยู่ในราชสำนักฝ่ายใน แต่ต่อมาไม่สบายเลยทูลลากลับไปอยู่บ้านบิดา และไม่กลับเข้าไปในวังอีก

คุณพุ่มเป็นคนชอบแต่งกลอน เมื่อมาอยู่นอกวัง มีอิสระ จึงแต่งกลอนได้อย่างเต็มที่ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ในเวลานั้นสังคมสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้คนนิยมเล่นเพลงยาว ต่อกลอนสักวากันอย่างแพร่หลาย มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายองค์นิยมแวะไปต่อสักวากับคุณพุ่มที่เรือนแพ ซึ่งจอดอยู่ใกล้กับท่าเรือจ้างตรงท่าพระ ใครต่อใครเลยพากันขนานนามคุณพุ่มว่า ‘บุษบาท่าเรือจ้าง’

ผู้คนในเวลานั้น นิยมอาศัยอยู่ในเรือนแพ

ที่ผู้คนเรียกเธอว่าบุษบา ก็เพราะครั้งหนึ่งคุณพุ่มเคยเล่นสักวากับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเธอรับบทเป็นนางบุษบา และพระองค์ทรงรับบทเป็นอิเหนา เป็นที่จดจำกันไปทั่งทั้งกรุงรัตนโกสินทร์ในเวลานั้น

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

บรรดาเจ้านายที่มาต่อสักวากับคุณพุ่ม มีตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ไปจนถึงข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ อย่างเช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ครั้งยังเป็นหลวงนายสิทธิ์ เป็นต้น

คุณพุ่มเองก็คงสนิทกับท่านเหล่านั้นเป็นอย่างมาก ถึงกับมีบันทึกว่าครั้งหนึ่งเธอเคยแย่งพระแสงดาบจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมาถือไว้ หากไม่ใช่คนใจกล้าและมีความสนิทสนมมากพอ คงทำเช่นนั้นมิได้

เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

คุณพุ่มเด่นดังมาตลอดรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 ครั้นพอขึ้นแผ่นดินใหม่ บิดาของเธอก็ถึงแก่อนิจกรรมลง คุณพุ่มเริ่มลำบากจนต้องแต่งกลอนขาย

ในเวลานั้นบ้านเมืองเรายังไม่มีการพิมพ์หนังสือขายแพร่หลายเหมือนอย่างในปัจจุบัน การขายกลอนในเวลานั้นคือแต่งขึ้นมา หากใครอยากจะอ่านก็ต้องมาขอคัดลอกเอาไป ข้างผู้แต่งก็คิดเงินตามที่ต้องการ กวีดังๆ ในสมัยนั้น เช่น สุนทรภู่ มีค่าแต่งกลอนแพงมาก วิธีการนี้คือวิธีการขายผลงานของบรรดากวีที่มีชีวิตอยู่ในห้วงเวลานั้น

เจ้าจอมมารดาดวงคำ ที่คุณพุ่มแต่งเพลงยาวนิราศวังบางยี่ขันถวาย
เรือนแพในแม่น้ำเจ้าพระยา

เพลงยาวที่คุณพุ่มแต่ง เป็นกลอนที่ผู้คนนิยมซื้อไปอ่าน เพราะเล่าถึงเหตุการณ์บ้านเมือง และเล่าถึงเรื่องราวแปลกๆ ที่สนใจ เป็นต้นว่า เพลงยาวนิราศวังบางยี่ขัน ที่แต่งให้กับเจ้านายสตรีฝ่ายลาวที่มาถวายตัวรับราชการในวัง, เพลงยาวนิราศฮ่องกง ที่แต่งเล่าเรื่องราวการเดินทางจากสยามไปฮ่องกง ที่เล่าเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างละเอียดลออ ทั้งๆ ที่คุณพุ่มไม่เคยไปฮ่องกงเลย ที่เธอแต่งได้ก็เพราะว่าแม่ปุก คนที่ว่าจ้างให้คุณพุ่มเขียนเพลงยาวนี้ขึ้นมา ได้เดินทางไปถึงฮ่องกงและเล่ารายละเอียดให้คุณพุ่มฟัง จนสามารถแต่งเพลงยาวนี้ได้อย่างสมจริง เป็นต้น

ชุมชนคนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นิยมปลูกเรือนแพอยู่กันเป็นหมู่

เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เคยรับสั่งชวนให้คุณพุ่มกลับเข้าไปรับราชการในราชสำนักฝ่ายใน แต่คุณพุ่มปฏิเสธเพราะชอบชีวิตที่เป็นอิสระมากกว่า เธอได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้านายหลายพระองค์ ทำให้มีเงินเลี้ยงชีพได้ไม่ลำบากนัก

ไม่มีบันทึกว่าคุณพุ่มมีครอบครัวหรือไม่ และสิ้นชีวิตเมื่อใด

ฮ่องกงในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

แต่จากผลงานที่ปรากฏ พบว่าในช่วงต้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทุกครั้งที่ในวังมีงานใหญ่ๆ คุณพุ่มจะได้รับเชิญไปเล่นสักวาอยู่เสมอ แต่ในการฉลองพระราชลัญจกร ในพระราชพิธีสมโภชสิริราชสมบัติครบหนึ่งหมื่นวันของรัชกาลที่ 5 ไม่ปรากฏชื่อคุณพุ่มมาเล่นสักวาเหมือนทุกครั้ง จึงสันนิษฐานว่าเธอน่าจะเสียชีวิตไปแล้วก่อนปีนั้น

แนวกำแพงวังบางยี่ขันในปัจจุบัน
หนังสือรวมกวีนิพนธ์ของคุณพุ่ม โดยกรมศิลปากร

ทุกวันนี้ ผลงานของคุณพุ่มหาอ่านยาก กระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง จึงเป็นที่น่ายินดีที่ในปี พ.ศ. 2563 กรมศิลปากร ได้รวบรวมผลงานทั้งหมดของคุณพุ่มตีพิมพ์ออกมาในชื่อ ‘กวีนิพนธ์คุณพุ่ม’ นับเป็นหนังสือที่รวบรวมผลงานของกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ท่านนี้เอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์และครบถ้วนที่สุด หากมีโอกาสได้อ่าน ทุกคนคงเห็นพ้องต้องกันว่า เพราะความเก่งฉกาจในเชิงกลอนของเธอนี่เอง ที่ทำให้คุณพุ่มเป็นกวีหญิงหนึ่งเดียวที่ได้รับการจารึกชื่อว่าเก่งกล้าไม่แพ้ชาย

Don`t copy text!