บุษยมาส

บุษยมาส

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

ฝั่งอังกฤษมีราชินีนิยายพาฝัน คือบาร์บารา คาร์ทแลนด์ ฝั่งไทยเราก็มี ‘บุษยมาส’ ที่มีผลงานนวนิยายรักโรแมนติก สร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับนักอ่านชาวไทยเช่นเดียวกัน หากจะกล่าวว่าบุษยมาสคือ ‘ราชินีนิยายพาฝัน’ คงไม่ผิดนัก

บุษยมาสคือนามปากกาของสมนึก สูตะบุตร

นักอ่านอายุรุ่น 40 -50 ปีขึ้นไปจะต้องคุ้นหูกับนวนิยายของเธอเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ดงผู้ดี หนึ่งในทรวง สลักจิต สกุลกา เปลวไฟในดวงดาว หมอกสวาท เงารัก มัตติกา ในม่านเมฆ พิษน้ำผึ้ง นางฟ้าซาตานและอีกมากมายหลายสิบเรื่อง ทุกเรื่องเป็นนวนิยายที่โด่งดังและเมื่อไปเป็นละคร ก็เป็นละครที่โด่งดัง เรตติ้งถล่มทลายไม่แพ้กัน

บุษยมาสคือราชินีนวนิยายพาฝันของประเทศไทย

บุษยมาสเป็นนามปากกาของสมนึก สูตะบุตร เธอเป็นบุตรสาวของหลวงพรหมปัญญา (จำรัส สูตะบุตร) อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดชัยภูมิ และนางสังวาลย์ เกียรติทัตต์ มีน้องชาย 1 คน คือ ร้อยตรี ดร.สันทัด เกียรติทัตต์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงซานดิเอโก้ สาธารณรัฐชิลี

บุษยมาสจบการศึกษาจาก โรงเรียนเบญจมราชาลัย และสมัครเป็นครูสอนเด็กๆ อนุบาลต่อที่โรงเรียนเดิมของตัวเอง หลังจากสอนหนังสือได้ไม่นาน เธอย้ายมารับราชการที่กระทรวงพาณิชย์ ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากราชการมาเป็นนักเขียนเต็มตัว

จุดเริ่มต้นงานเขียนของบุษยมาสเริ่มขึ้นเหมือนกับนักเขียนเกือบทุกคน กล่าวคือ เป็นนักอ่านมาก่อน และวันหนึ่งก็อยากเขียนบ้าง

นวนิยายเรื่องแรกของเธอ คือ หมอกสวาท

ในเวลานั้น นิตยสาร ‘นารีนาถ’ ที่มี ก.สุรางคนางค์เป็นบรรณาธิการ จัดประกวดเรื่องสั้น  บุษยมาสเลยเขียนส่งไป ปรากฏว่าเรื่องสั้นเรื่องแรกของเธอชื่อ ‘รักฉากสุดท้าย’ ได้รับรางวัลชนะเลิศ จึงเป็นกำลังใจให้บุษยมาสเขียนเรื่องสั้นต่อมาอีกหลายสิบเรื่อง ก่อนจะเริ่มลงมือเขียนนวนิยายเรื่องแรกในชีวิตคือ ‘หมอกสวาท’ ตามมาด้วยเรื่องที่สองคือ ‘สลักจิต’ ซึ่งประสบความสำเร็จในทันทีที่ได้พิมพ์เผยแพร่ออกไป และเมื่อสลักจิตไปเป็นภาพยนตร์ ก็ทำรายได้ถล่มทลาย ทำให้ผู้กำกับภาพยนตร์จำนวนมาก ต้องการผลงานของบุษยมาสไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เพราะการันตีทั้งชื่อเสียงว่าดังแน่ อีกทั้งยังการันตีเรื่องรายได้ว่าถล่มทลายแน่ๆ อีกด้วย

สลักจิตคือนวนิยายเรื่องที่สองของบุษยมาส
สลักจิตได้รับการถ่ายทอดเป็นละครหลายครั้งและโด่งดังทุกครั้ง

และที่สำคัญ เธอเป็นนักเขียนที่ผู้กำกับ ผู้สร้างภาพยนตร์ รวมถึงผู้สื่อข่าวให้ความสำคัญและให้เกียรติเป็นอย่างมาก เพราะทุกครั้งที่ ‘บุษยมาส’ เซ็นสัญญาขายบทประพันธ์ไปทำภาพยนตร์ จะต้องมีข่าวปรากฏให้เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์เสมอ นับเป็นการประชาสัมพันธ์ให้นักอ่านคอยติดตามชมภาพยนตร์จากผลงานของนักเขียนคนโปรดได้เป็นอย่างดี

ดงผู้ดีคือหนึ่งในนวนิยายที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ดงผู้ดีได้รับการถ่ายทอดเป็นละคร ทุกครั้งจะสร้างชื่อเสียงให้กับนางเอกที่เล่นเป็น ‘ขม’ เสมอ

ในช่วงนั้น บุษยมาสจึงผลิตงานเขียนออกมามากมาย เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่าช่วงที่งานเขียนชุกที่สุด เธอเคยเขียนนวนิยายลงในนิตยสารถึง 7 เรื่อง 7 ฉบับในเวลาเดียวกัน

การขายลิขสิทธิ์ของบุษยมาส เป็นข่าวดังในหน้าหนังสือพิมพ์
เวลามีข่าวขายลิขสิทธิ์บทประพันธ์ นักอ่านจะตื่นเต้นและรอคอยชมภาพยนตร์จากผลงานของบุษยมาสเสมอ

แม้นวนิยายในแนวถนัดของบุษยมาสจะเป็นนวนิยายรักโรแมนติก แต่เธอเขียนนวนิยายแนวลึกลับโกธิคเอาไว้สองเรื่อง คือ ขวัญหล้าและเหมือนหนึ่งในฝัน

นิมิตนิทรา นวนิยายแนวเหนือจริงอีกเรื่องของบุษยมาส

ขวัญหล้าเป็นเรื่องราวของเด็กสาวผู้ถูกแม่เลี้ยงขายให้ไปอยู่ในไร่ลึกลับ ต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับชายวิกลจริตที่ถูกขังไว้ในกระท่อมท้ายไร่และสมบัติที่หายสาบสูญไป รายละเอียดของขวัญหล้านั้น ‘หมอกมุงเมือง’ เคยเขียนเล่าเอาไว้ในบรรณาภิรมย์ ตอน “ขวัญหล้า” แล้ว

ส่วนเรื่องเหมือนหนึ่งในฝัน เป็นนวนิยายแนวภพชาติ การกลับมาเกิดใหม่และวิญญาณความแค้น ที่มีฉากหลังเป็นประเทศอินโดนีเซีย ทั้งสองเรื่องนับเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมไม่แพ้เรื่องในแนวรักโรแมนติกอื่นๆ ของบุษยมาส

บุษยมาสเล่าว่า อยากให้ผู้อ่านอ่านนวนิยายของเธอแล้วมีรอยยิ้ม เกือบทุกเรื่องของเธอจึงจบด้วยความสุขสมหวัง มีนวนิยายเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่จบลงอย่างโศกนาฏกรรมคือ ‘ขอเพียงรัก’ แต่กระนั้น ขอเพียงรักก็ยังเป็นนวนิยายที่นักอ่านชื่นชอบไม่แพ้เรื่องอื่นๆ ของเธอ

กรวดแกมแก้ว นวนิยายเรื่องสุดท้ายในชีวิตของบุษยมาส

ความสุขของบุษยมาสคือการเขียน เธอยังคงเขียนหนังสือตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต นวนิยายเรื่องสุดท้ายของบุษยมาสคือ “กรวดแกมแก้ว” ลงพิมพ์ในนิตยสารบางกอก และวางจำหน่ายในรูปแบบ eBook ยังไม่มีการพิมพ์รวมเล่มออกมา

ภาพสุดท้ายของบุษยมาสในวันให้สัมภาษณ์ถึงงานเขียนและเส้นทางวรรณกรรมช่วงปลายปี 2559 ต่อต้นปี 2560

บุษยมาสได้รับรางวัลนราธิป ปีพ.ศ. 2554 และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ‘บูรพศิลปิน’ สาขาวรรณศิลป์อีกด้วย เธอล้มป่วยลงด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด และจากนักอ่านชาวไทยไปในเดือนมิถุนายนปี พ.ศ. 2560 เมื่ออายุ 86 ปี

นวนิยายรักของเธอยังคงเป็นตำนาน สร้างความสุขให้กับนักอ่านอย่างต่อเนื่องตลอดมาและตลอดไป…

Don`t copy text!