ลพบุรี
โดย : พงศกร
อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม
*************************
เชื่อได้ว่านักอ่านอายุราวกึ่งศตวรรษจะต้องเคยได้ยินชื่อของ ‘ลพบุรี’ เพราะเรื่อง ‘ขุนพลกาฬสิงห์’ ที่ท่านนำเอาตำนานสิงหวนวัติมาเขียนเป็นนวนิยาย คือเรื่องที่โด่งดังมากๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ใครๆ ก็ต้องเคยรู้จัก แต่เมื่อมาถึงวันนี้ ชื่อของ ‘ลพบุรี’ เริ่มจะเลือนรางไปตามกาลเวลา
ลพบุรี คือ นามปากกาของ ครูชุ่ม ณ บางช้าง
ลพบุรี คือ นามปากกาของ ครูชุ่ม ณ บางช้าง ท่านเกิดที่สมุทรสงคราม ในช่วงเวลาของรัชกาลที่ 5 เป็นบุตรของนายเฉยและนางสาย ณ บางช้าง เมื่ออายุได้สามขวบก็ย้ายไปอยู่ที่ลพบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผู้เป็นมารดา นามปากกา ‘ลพบุรี’ ของครูชุ่มจึงมีที่มาจากจังหวัดที่เติบโตมานั่นเอง
ครูชุ่มเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่เรียนอยู่ที่สวนกุหลาบวิทยาลัย เขาทำหนังสืออ่านกันเองในชั้นเรียนกับเพื่อนๆ เพื่อนสนิทคนหนึ่งเป็นคนเชียงใหม่ ใช้นามปากกาว่า ‘ศรีเชียงใหม่’ ครูชุ่มเลยใช้ ‘ลพบุรี’
อยู่ที่โรงเรียนก็ทำหนังสือเวียนกันอ่านเล่นสนุกๆ แต่จุดเริ่มต้นของการเขียนหนังสืออย่างจริงจัง เกิดขึ้นเมื่อได้ไปเป็นลูกศิษย์ของหลวงสารานุประพันธ์
ในเวลานั้น หลวงสารานุประพันธ์ก็คือนักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก เป็นผู้ก่อตั้งนิตยสาร สารานุกูล มีผลงานทั้งนวนิยายทั้งที่เขียนเองและเรื่องแปล เช่น หน้าผี แพรดำ ราสปูติน ทูตแห่งกาลี เป็นต้น ผลงานที่โด่งดังที่สุดของหลวงสารานุประพันธ์ที่คนไทยทุกคนรู้จักดีไม่ใช่นวนิยาย แต่เป็นเพลงชาติที่เราร้องกันอยู่ทุกวันนี้ หลวงสารานุประพันธ์ก็คือคนแต่งเนื้อเพลงนั่นเอง
ด้วยความที่เป็นศิษย์สวนกุหลาบเหมือนกัน ทำให้หลวงสารานุประพันธ์ให้ความไว้วางใจครูชุ่มเป็นอย่างมาก หลายครั้งเวลาที่ท่านมีธุระยุ่ง แปลต้นฉบับไม่ทันส่งนิตยสาร คุณหลวงจะมอบหมายให้ครูชุ่มช่วยแปลแทน จนเมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 6 หลวงสานุประพันธ์จึงสนับสนุนให้ครูชุ่มได้แปลหนังสือแบบเต็มๆ ตัว เรื่องแรกคือ The Great War in England in 1897 ของ วิลเลียม เลอ เคอซ์ ใช้ชื่อภาษาไทย ‘ภัยแห่งประเทศอังกฤษ’ ซึ่งมีความยาว 8 เล่มจบ
ครูชุ่มได้ค่าเรื่องจากการแปลหนังสือครั้งแรกเป็นเงินถึง ๙๐ บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนมากในเวลาที่ก๋วยเตี๋ยวขายกันแค่ชามละห้าสตางค์ ทำให้ ‘ลพบุรี’ ตั้งใจสร้างผลงานอย่างจริงจัง ถึงกับย้ายไปอยู่ที่บ้านหลวงสารานุประพันธ์ และช่วยแปลหนังสืออื่นๆ ออกมาอีกมากมาย
หลังเรียนจบ ครูชุ่มเข้ารับราชการเป็นครู สอนหนังสือที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ระหว่างอยู่เชียงใหม่ก็มีความสนใจประวัติศาสตร์ล้านนาและตำนานโบราณต่างๆ ของภาคเหนือ พงศาวดารของอาณาจักรน่านเจ้า นครแสนหวี แคว้นโยนก จนมีความรอบรู้เป็นอย่างมาก จึงเริ่มนำเอาตำนานที่ได้อ่านมาเขียนเป็นนวนิยายเรื่องยาว เรื่องแรกชื่อ ‘เลือดโยนก’ ลงพิมพ์ในนิตยสาร สารานุกูล อย่างต่อเนื่อง นับเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องแรกๆ ของไทยเลยก็ว่าได้
ความสำเร็จของ เลือดโยกนก ทำให้ครูชุ่มเขียนนวนิยายในแนวตำนานอิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเหนือออกมาอีกหลายเรื่อง เช่น เศวตฉัตรน่านเจ้า, เอื้องแซะเมืองนาย, เจ้าหมื่นด้งนคร เป็นต้น ที่สร้างชื่อเสียงให้มากที่สุดคือ ขุนพลกาฬสิงห์ ที่มีความยาวถึง ๑๓๘ เล่มจบ
ที่ ขุนพลกาฬสิงห์ โด่งดังและคนอ่านชอบมาก เพราะพระเอกเป็นวีรบุรุษที่เก่งกล้า ตัวละครในเรื่องมีการใช้เวทมนตร์คาถาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มากการต่อสู้ชิงไหวชิงพริบคล้ายนวนิยายจีนกำลังภายใน สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ถึงกับขนานนามนวนิยายแนวนี้ว่า “จินตนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทย”
แต่ถึงแม้จะเป็นนวนิยาย หากเนื้อหาประวัติศาสตร์นั้นมีความแม่นยำมาก ตั้งแต่ลำดับเหตุการณ์สำคัญที่กิดขึ้น ไปจนถึงตำแหน่งที่ตั้งของอาณาจักร
นวนิยายของ ‘ลพบุรี’ ได้รับการพิมพ์ออกมาเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มเล็กๆ โดยสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ เรียกกันว่านวนิยายเพลินจิตต์ฉบับกระเป๋า ช่วงที่นิยมมากๆ ครูชุ่มต้องเขียนนวนิยายพร้อมกันหลายเรื่อง และใช้นามปากกาอื่นๆ เพิ่มเติมคือ พรหมมาศ, เมืองละโว้ และศรทอง ซึ่งทั้งหมดมีความหมายเกี่ยวข้องกับเมืองลพบุรีทั้งสิ้น
จนกระทั่งนวนิยายฉบับกระเป๋าเริ่มเสื่อมความนิยมลง สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ปิดตัวไปใน พ.ศ. 2507 ครูชุ่มเลยหยุดเขียนนวนิยายไปหลายปี จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2512 จึงกลับมาเริ่มเขียนงานอีกครั้ง แต่คราวนี้จะเน้นเขียนเป็นบทความ สารคดีเชิงตำนานของสถานที่ต่างๆ วัดในภาคเหนือ และตำนานท้องถิ่น ไม่ได้กลับไปเขียนวนิยายอีกเลย
ลพบุรี เสียชีวิตลงเมื่อปี พ.ศ. 2530 อายุได้ 90 ปี ด้วยโรคชรา
ปัจจุบัน นวนิยายของท่านหาอ่านได้ยากแล้ว แต่ทุกคนที่ได้อ่านจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ความที่เป็นเรื่องย้อนอดีตไปไกลหลายร้อยปี จึงทำให้ทุกเรื่องเป็นนวนิยายที่อมตะ ไม่ล้าสมัย และยังคงอ่านกันได้จนถึงปัจจุบัน
- READ ชินจิ วาดะ
- READ ชาร์ลส ดิกเกนส์
- READ แขไข เทวินทร์
- READ โรอัลด์ ดาห์ล
- READ ร.จันทพิมพะ
- READ กาญจนา นาคนันทน์
- READ เจน ออสเตน
- READ คำพูน บุญทวี
- READ เอ เอ มิลน์
- READ โกวเล้ง
- READ ดวงดาว
- READ สุริยฉัตร ชัยมงคล
- READ อกาธา คริสตี้
- READ บาร์บารา คาร์ทแลนด์
- READ บุษยมาส
- READ สรจักร
- READ เบียทริกซ์ พอตเตอร์
- READ วาณิช จรุงกิจอนันต์
- READ ริชาร์ด อดัมส์
- READ เจ้าฟ้ากุ้ง
- READ น้ำอบ
- READ เจ้าฟ้ากุณฑล – เจ้าฟ้ามงกุฎ
- READ เท็ตสุกะ โอซามุ
- READ ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เนตต์
- READ เพ็ญพิมล ธัมมรัคคิต
- READ ท. เลียงพิบูลย์
- READ อี. บี. ไวต์
- READ ลพบุรี
- READ โดโรธี ดานีลส์
- READ คุณพุ่ม
- READ โดโรธี อีเดน
- READ จรัสพร
- READ ริชาร์ด แมทธีสัน
- READ สุภาว์ เทวกุลฯ
- READ วิลเลียม เชคสเปียร์
- READ กิมย้ง
- READ สุวรรณี สุคนธา
- READ เหม เวชกร
- READ ลิวอิส แครอล
- READ เพิร์ล เอส บั๊ค
- READ ศรีฟ้า ลดาวัลย์
- READ รัดยาร์ด คิปลิง
- READ พระนางเธอลักษมีลาวัณ
- READ ซี. เอส. ลิวอิส
- READ พิมล กาฬสีห์
- READ จินตนา ปิ่นเฉลียว
- READ มากาเร็ต มิตเชลล์
- READ สันต์ เทวรักษ์
- READ เอมิลี่ บรองเต้
- READ อ.ไชยวรศิลป์
- READ บรรจบ พันธุเมธา
- READ มารี คอเรลลี
- READ แอล แฟรงค์ โบห์ม
- READ ดอกไม้สด
- READ เอโดงาวะ รันโป
- READ น.ม.ส
- READ วิกตอเรีย โฮลต์
- READ อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูว์เปรี
- READ อ.สนิทวงศ์
- READ จันตรี ศิริบุญรอด
- READ ลอรา อิงกัลส์ ไวล์เดอร์
- READ น้อย ชลานุเคราะห์
- READ ไอแซก ไดนีเสน
- READ ศุภร บุนนาค