เจ้าฟ้ากุณฑล – เจ้าฟ้ามงกุฎ
โดย : พงศกร
อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม
*************************
อ่านคลาสสิคตอนนี้ จะพาท่านย้อนกลับไปไกลถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ช่วงราชวงศ์บ้านพลูหลวง ที่ศิลปวัฒนธรรมรุ่งเรืองถึงขีดสุด ก่อนที่ราชอาณาจักรจะล่มสลายลง
ในช่วงเวลานั้น มีเจ้าฟ้าหญิงสองพระองค์ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถ นิพนธ์บทละครเอาไว้เป็นมรดกตกทอดมาถึงทุกวันนี้
ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีคือ อิเหนา และ ดาหลัง
เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นพระธิดาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและเจ้าฟ้าสังวาลย์ เจ้าฟ้ากุณฑลเป็นพี่ เจ้าฟ้ามงกุฎเป็นน้อง ทั้งสองพระองค์เป็นขนิษฐาต่างพระมารดากับเจ้าฟ้ากุ้งหรือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ เอกกวีแห่งกรุงศรีอยุธยานั่นเอง จึงไม่ต้องสงสัยว่าเหตุใดทั้งสองพระองค์จึงมีความสามารถด้านการแต่งกลอนเป็นอย่างมาก
เป็นธรรมเนียมในราชสำนักที่เจ้าฟ้าหญิงจะต้องมีพระพี่เลี้ยงคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
พระพี่เลี้ยงของเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นหญิงชาวปัตตานี จึงทำให้มีโอกาสได้ฟังนิทานพื้นเมืองต่างๆ อยู่เป็นประจำ ทั้งสองพระองค์ชอบนิทานปันหยีที่พี่เลี้ยงเล่าให้ฟังมาก จึงนำมาดัดแปลงแต่งใหม่ในสำนวนของตัวเอง เจ้าฟ้ากุณฑลคนพี่แต่งเรื่อง ดาหลัง เจ้าฟ้ามงกุฎแต่งเรื่อง อิเหนา สำหรับเรื่อง ดาหลัง นั้น คนในวังเรียกกันว่า ‘อิเหนาใหญ่’ เพราะแต่งโดยเจ้าหญิงคนพี่ ส่วนอิเหนาที่แต่งโดยเจ้าฟ้ามงกุฎเรียกกันเล่นๆ ว่าอิเหนาเล็ก
ทั้ง ดาหลัง และ อิเหนา ได้รับความนิยมในราชสำนักอยุธยาเวลานั้นเป็นอย่างมาก ทรงแต่งต่อไปเรื่อยๆ จนเป็นเรื่องยาว และยังนำหลายบทหลายตอนมาจัดแสดงเป็นละครรำอีกด้วย
ดาหลัง และ อิเหนา เล่าเรื่องของเจ้าชายที่มีเส้นทางชีวิตโลดโผน มีคนรักมากมาย นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังหลายคนวิเคราะห์ว่า เรื่องเล่าที่พระพี่เลี้ยงนำมาเล่าให้กับเจ้าหญิงทั้งสองพระองค์ฟังไม่ใช่แค่นิทานเล่าสนุกๆ หากแท้จริงแล้วเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหญิงในราชสำนักได้เข้าใจความเป็นไปของสังคมมากกว่า เพราะผู้ชายในเวลานั้น เมื่อก้าวขึ้นสู่บัลลังก์และราชอำนาจ จำเป็นจะต้องมีมเหสีจำนวนมากเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการเมือง และการจะอธิบายเรื่องแบบแผนให้เจ้าหญิงองค์เล็กๆ ฟังเข้าใจนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย การเล่าผ่านนิทานจึงเป็นตัวช่วยที่ดีมาก โดยเฉพาะเรื่องของ อิเหนา ที่มีเมียมากถึง 10 คน
หลังจากกรุงแตก เส้นทางของวรรณคดีทั้งสองเรื่องก็แตกออกเป็นสองสาย
สายแรกไปพร้อมกับการที่เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎถูกเชิญเสด็จไปมัณฑะเลย์พร้อมกับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและบรรดาเชื้อพระวงส์องค์อื่นๆ กับเชลยศึกชาวอยุธยาจำนวนมาก
ทั้งสองพระองค์ได้รับการดูแลจากพระเจ้ามังระเป็นอย่างดี สมพระเกียรติที่เป็นพระราชธิดาของกษัตริย์อยุธยา ทรงได้รับพระราชทานตำหนักอยู่ในพระราชวัง กับโปรดให้ถ่ายทอดศิลปะการแสดงต่างๆให้กับราชสำนักพม่า ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็น ‘รำโยเดีย’ ‘รำฉุยฉาย’ และอีกมากมายในพม่า ที่มีลักษณะคล้ายกับรำของไทยในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีต้นกำเนิดมาจากนาฏศิลป์สายเดียวกัน นอกจากนี้ในพม่าก็ยังมีวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ และ อิเหนา คล้ายกับของไทยเช่นกัน ทั้งหมดนี้มีต้นกำเนิดมาจากเจ้าฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์ ที่ถ่ายทอดความงดงามของบทกลอนและท่ารำของอยุธยา จนเกิดเป็นศิลปะชั้นสูงของพม่าในเวลาต่อมา
เส้นทางสายที่สองของ ดาหลัง และ อิเหนา เกิดขึ้นในสยาม หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างบ้านแปงเมือง กอบกู้แผ่นดินที่ล่มสลาย ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นมาใหม่แทนเมืองหลวงเดิม นอกจากภารกิจสร้างบ้านเมืองแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือ พระองค์พยายามจะรวบรวมสรรพวิทยาการต่างๆ ที่แตกกระจายหายสูญไปในช่วงสงครามขึ้นมาใหม่
ทรงรับสั่งให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตรวบรวมเอาวรรณคดีในสมัยอยุธยาเท่าที่รวบรวมได้มาไว้ด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ ดาหลัง และ อิเหนา
ในสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องพิมพ์ ไม่มีหนังสือเป็นเล่มๆ ตัวเขียนต้นฉบับก็ไหม้ไปในสงครามหมดแล้ว ตัวผู้แต่งก็โดนกวาดต้อนไปไกลถึงพม่า จึงทรงใช้วิธีการให้บรรดาคนเก่าคนแก่ที่เคยฟังเคยจำบทกลอนของเจ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎได้ ช่วยกันเล่า ช่วยกันบันทึกท่อนที่จำได้ คนละเล็กคนละน้อย แล้วแต่งเสริมในส่วนที่ขาดหายเข้าไป จนเกิดเป็น ดาหลัง และ อิเหนา ในฉบับปัจจุบันที่เราคุ้นเคยกันดี
ในต้นเรื่องของอิเหนา รัชกาลที่ 1 ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ จึงทรงออกตัวไว้ว่า
‘อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง สำหรับงานการฉลองกองกุศล
ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์ แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไป’
ไม่มีบันทึกว่าเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎประทับอยู่ที่อังวะหรือพม่าต่อมาอีกกี่ปี แต่มีหลักฐานปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรที่เสด็จไปพร้อมกัน ทรงประทับอยู่ที่พม่านานถึง 29 ปี สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.2339
แต่สิ่งหนึ่งที่เราแน่ใจได้ว่า ทั้งสองพระองค์อยู่ดีมีสุขในแผ่นดินพม่า ผลงานด้านพระราชนิพนธ์และนาฏศิลป์ของเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎที่ทรงทิ้งไว้ ก็เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญและยิ่งใหญ่ ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทยเท่านั้น หากยังมีความเชื่อมโยงกับพม่า อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
- READ ชินจิ วาดะ
- READ ชาร์ลส ดิกเกนส์
- READ แขไข เทวินทร์
- READ โรอัลด์ ดาห์ล
- READ ร.จันทพิมพะ
- READ กาญจนา นาคนันทน์
- READ เจน ออสเตน
- READ คำพูน บุญทวี
- READ เอ เอ มิลน์
- READ โกวเล้ง
- READ ดวงดาว
- READ สุริยฉัตร ชัยมงคล
- READ อกาธา คริสตี้
- READ บาร์บารา คาร์ทแลนด์
- READ บุษยมาส
- READ สรจักร
- READ เบียทริกซ์ พอตเตอร์
- READ วาณิช จรุงกิจอนันต์
- READ ริชาร์ด อดัมส์
- READ เจ้าฟ้ากุ้ง
- READ น้ำอบ
- READ เจ้าฟ้ากุณฑล – เจ้าฟ้ามงกุฎ
- READ เท็ตสุกะ โอซามุ
- READ ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เนตต์
- READ เพ็ญพิมล ธัมมรัคคิต
- READ ท. เลียงพิบูลย์
- READ อี. บี. ไวต์
- READ ลพบุรี
- READ โดโรธี ดานีลส์
- READ คุณพุ่ม
- READ โดโรธี อีเดน
- READ จรัสพร
- READ ริชาร์ด แมทธีสัน
- READ สุภาว์ เทวกุลฯ
- READ วิลเลียม เชคสเปียร์
- READ กิมย้ง
- READ สุวรรณี สุคนธา
- READ เหม เวชกร
- READ ลิวอิส แครอล
- READ เพิร์ล เอส บั๊ค
- READ ศรีฟ้า ลดาวัลย์
- READ รัดยาร์ด คิปลิง
- READ พระนางเธอลักษมีลาวัณ
- READ ซี. เอส. ลิวอิส
- READ พิมล กาฬสีห์
- READ จินตนา ปิ่นเฉลียว
- READ มากาเร็ต มิตเชลล์
- READ สันต์ เทวรักษ์
- READ เอมิลี่ บรองเต้
- READ อ.ไชยวรศิลป์
- READ บรรจบ พันธุเมธา
- READ มารี คอเรลลี
- READ แอล แฟรงค์ โบห์ม
- READ ดอกไม้สด
- READ เอโดงาวะ รันโป
- READ น.ม.ส
- READ วิกตอเรีย โฮลต์
- READ อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูว์เปรี
- READ อ.สนิทวงศ์
- READ จันตรี ศิริบุญรอด
- READ ลอรา อิงกัลส์ ไวล์เดอร์
- READ น้อย ชลานุเคราะห์
- READ ไอแซก ไดนีเสน
- READ ศุภร บุนนาค