รัดยาร์ด คิปลิง
โดย : พงศกร
อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม
*************************
โอ้เมื่อมีไฟ ไฟ ไฟ ลุกขึ้นแจ่มจ้า
สุขอุราเมื่อเรามา พร้อมหน้ากัน
คืนวันนี้มีสุขปลดเปลื้องทุกข์รับความสำราญ
เธอกับฉันนั้นมาเล่นรอบกองไฟ
จำเพลงรอบกองไฟเพลงนี้ได้ไหมครับ แน่ละ…ผู้อ่านหลายคนน่าจะเคยร้องเพลงนี้กันมาก่อน สมัยยังเป็นเด็กเรียนวิชาลูกเสือ วิชาเนตรนารี และได้เล่นรอบกองไฟ เพลงนี้คือเพลงหนึ่งที่เด็กๆ ได้นำมาขับร้องกันอย่างสนุกสนาน
อันว่าการเล่นรอบกองไฟในวิชาลูกเสือนั้น มีที่มาจากวรรณกรรมเรื่องเอกของ รัดยาร์ด คิปลิง ซึ่งตัวเอกเป็นเด็กชายที่พ่อแม่ลืมทิ้งไว้ในป่า เมื่อครั้งที่ถูกเสือโคร่งชื่อแชร์คานทำร้าย ทารกน้อยได้รับความช่วยเหลือจากหมาป่า และได้กลายเป็นสมาชิกของครอบครัวหมาป่านับแต่นั้นเป็นต้นมา และเพราะเด็กน้อยเป็นมนุษย์ตัวลื่นๆ เนียนๆ ไม่มีขน พ่อแม่หมาป่าเลยเรียกเขาว่าเมาคลี ซึ่งแปลว่าลูกกบนั่นเอง
รัดยาร์ด คิปลิง เป็นคนอังกฤษ แต่ไปเกิดที่ประเทศอินเดียเมื่อปี พ.ศ. 2408 ตรงกับช่วงปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
พ่อและแม่ของเขาพบกันที่อังกฤษ หลังจากนั้นก็แต่งงานกันแล้วย้ายไปทำงานที่อินเดีย รัดยาร์ดและน้องสาวของเขาเกิดที่บอมเบย์ เมื่ออายุถึงวัยเข้าเรียน พ่อและแม่ก็ส่งรัดยาร์ดและน้องสาวกลับไปเรียนที่อังกฤษ รัดยาร์ดเคยเล่าไว้ในอัตชีวประวัติของเขาว่า ช่วงที่ไปอยู่อังกฤษใหม่ๆ เขาและน้องสาวรู้สึกแปลกแยกกับคนที่นั่นเป็นอย่างมาก ในความรู้สึกของเขา เขารู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนอินเดียมากกว่าคนอังกฤษ หลังจบชั้นมัธยม รัดยาร์ดไม่ได้เรียนต่อเพราะพ่อแม่ไม่มีเงินมากพอจะส่งเขาเรียนมหาวิทยาลัย รัดยาร์ดจึงเดินทางกลับมาที่บอมเบย์ และเริ่มอาชีพนักหนังสือพิมพ์
รัดยาร์ดเป็นนักผจญภัยในสายเลือด เขาไม่ชอบทำอะไรอยู่ในกฏระเบียบเป็นเวลานานๆ หลังจากรู้สึกอิ่มตัวกับการทำงานในอินเดีย เขาเดินทางท่องเที่ยวไปหลายประเทศ ญี่ปุ่น จีน แอฟริกาใต้ พม่า สิงคโปร์ การเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพิ่มพูนให้เขามีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างจากนักเขียนรุ่นเดียวกันในเวลานั้น
รัดยาร์ดแต่งงานกับแครี่ – คาโรไลน์ สตาร์ บาลาสเทียร์ หญิงสาวผู้มีอายุมากกว่าเขาสามปี
รัดยาร์ดพาภรรยาออกเดินทางไปทั่วโลก ก่อนจะมาลงหลักปักฐานที่รัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา ที่บ้านหลังนี้เอง รัดยาร์ดเริ่มเขียนนวนิยายเรื่องยาว The Jungle Books หรือ เมาคลีลูกหมาป่า ที่ทุกคนรู้จักกันดี เขาส่งเมาคลีไปลงตีพิมพ์ในนิตยสารเป็นตอนๆ ต่อเนื่องถึงสองปี ก่อนจะได้รับการรวมเล่ม ในฉบับพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกนั้น มีภาพประกอบฝีมือของ จอห์น คิปลิง ซึ่งเป็นบิดาของเขาอยู่หลายภาพ ปัจจุบันนี้ The Jungle Books ฉบับพิมพ์ครั้งแรกกลายเป็นหนังสือหายากที่นักสะสมต้องการ
เมาคลีลูกหมาป่า ขายดิบขายดีมาก ได้รับการพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ได้รับการนำไปถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์และแอนิเมชั่นหลายครั้งหลายหน เมื่อปี พ.ศ. 2553 เมื่อบ้านของรัดยาร์ดได้รับการบูรณะใหม่ มีการค้นพบต้นฉบับลายมือร่างแรกของ เมาคลีลูกหมาป่า รัดยาร์ดบันทึกเอาไว้ว่าเขียนขึ้นเพื่อเป็นของขวัญให้กับบุตรสาวชื่อ โจเซฟิน คิปลิง แต่น่าเสียดายที่แม่หนูบุญน้อย ไม่มีโอกาสได้อ่านวรรณกรรมที่พ่อของเธอตั้งใจเขียนให้ โจเซฟิน คิปลิง เสียชีวิตด้วยอาการปอดบวมเมื่ออายุได้เพียง 6 ปีเท่านั้น
นักอ่านส่วนใหญ่รู้จักรัดยาร์ดจาก เมาคลีลูกหมาป่า ที่จริงแล้วรัดยาร์ดเขียนเรื่องสั้นและบทความ รวมถึงวรรณกรรมอื่นๆ เอาไว้อีกมากมายหลายสิบเรื่อง เช่น Plain Tale from the Hill, In Black and White, Wee Willie Winkie เป็นต้น กล่าวกันว่า เรื่องสั้นของรัดยาร์ดเป็นเรื่องที่มีคุณค่ามาก เพราะสะท้อนถึงสภาพบ้านเมืองอินเดียในยุคอาณานิคมได้เป็นอย่างดี
ความที่รัดยาร์ดเป็นคนร่าเริง ช่างพูดช่างคุย จึงทำให้เขามีเพื่อนนักเขียนที่สนิทสนมกันหลายคน หนึ่งในเพื่อนสนิทของเขาก็คือเซอร์ อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ เจ้าของเรื่อง เชอร์ล็อก โฮล์มส์ อันลือลั่น ท่านเซอร์อาเธอร์เป็นคนสอนให้รัดยาร์ดตีกอล์ฟ และพวกเขาก็สนิทสนมกันจนถึงวาระสุดท้าย
เพื่อนอีกคนหนึ่งของรัดยาร์ดก็คือ โรเบิร์ต บาเดน พาวเวลล์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งลูกเสือโลกขึ้นมา
โรเบิร์ต บาเดน พาวเวลล์ ขอยืมบุคลิกตัวละครจากหนังสือเรื่อง เมาคลีลูกหมาป่า เช่า อาคีล่า, บาลู, แชร์คาน และอีกมากมายหลายตัวละคร มาจัดค่ายสำหรับเด็กชายจะได้มาอยู่รวมกันและฝึกวิชาต่างๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีพ นั่นคือต้นกำเนิดของลูกเสือโลก และความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับนวนิยายเรื่องเมาคลีมาจนถึงทุกวันนี้
รัดยาร์ดได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปีพ.ศ. 2450 นั่นส่งผลให้ผลงานของรัดยาร์ดยิ่งมีชื่อเสียงโด่งดังกว่าเก่า รวมถึงได้รับการแปลออกไปหลายภาษา
รัดยาร์ดมีความสุขกับงานเขียน เขาเขียนหนังสือทุกวัน และยังคงเขียนหนังสือต่อมาอีกหลายเรื่องจนกระทั่งอายุ 70 ปี เขาเริ่มล้มป่วยลงด้วยอาการเลือดออกจากลำไส้เล็ก และเสียชีวิตจากอาการลำไส้ทะลุในที่สุด
การเสียชีวิตของรัดยาร์ดนับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการวรรณกรรมอังกฤษ สแตนลีย์ บาลด์วิน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในเวลานั้น ยังมาร่วมแสดงความเสียใจในพิธีศพของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษร่วมกับแขกคนดังคนอื่นๆ
ร่างของรัดยาร์ดได้รับอนุมัติให้ฝังอยู่ในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ อยู่ติดกับ ชาร์ลส ดิกเกน และนักเขียนชื่อดังอีกหลายคนตราบจนทุกวันนี้
- READ ชินจิ วาดะ
- READ ชาร์ลส ดิกเกนส์
- READ แขไข เทวินทร์
- READ โรอัลด์ ดาห์ล
- READ ร.จันทพิมพะ
- READ กาญจนา นาคนันทน์
- READ เจน ออสเตน
- READ คำพูน บุญทวี
- READ เอ เอ มิลน์
- READ โกวเล้ง
- READ ดวงดาว
- READ สุริยฉัตร ชัยมงคล
- READ อกาธา คริสตี้
- READ บาร์บารา คาร์ทแลนด์
- READ บุษยมาส
- READ สรจักร
- READ เบียทริกซ์ พอตเตอร์
- READ วาณิช จรุงกิจอนันต์
- READ ริชาร์ด อดัมส์
- READ เจ้าฟ้ากุ้ง
- READ น้ำอบ
- READ เจ้าฟ้ากุณฑล – เจ้าฟ้ามงกุฎ
- READ เท็ตสุกะ โอซามุ
- READ ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เนตต์
- READ เพ็ญพิมล ธัมมรัคคิต
- READ ท. เลียงพิบูลย์
- READ อี. บี. ไวต์
- READ ลพบุรี
- READ โดโรธี ดานีลส์
- READ คุณพุ่ม
- READ โดโรธี อีเดน
- READ จรัสพร
- READ ริชาร์ด แมทธีสัน
- READ สุภาว์ เทวกุลฯ
- READ วิลเลียม เชคสเปียร์
- READ กิมย้ง
- READ สุวรรณี สุคนธา
- READ เหม เวชกร
- READ ลิวอิส แครอล
- READ เพิร์ล เอส บั๊ค
- READ ศรีฟ้า ลดาวัลย์
- READ รัดยาร์ด คิปลิง
- READ พระนางเธอลักษมีลาวัณ
- READ ซี. เอส. ลิวอิส
- READ พิมล กาฬสีห์
- READ จินตนา ปิ่นเฉลียว
- READ มากาเร็ต มิตเชลล์
- READ สันต์ เทวรักษ์
- READ เอมิลี่ บรองเต้
- READ อ.ไชยวรศิลป์
- READ บรรจบ พันธุเมธา
- READ มารี คอเรลลี
- READ แอล แฟรงค์ โบห์ม
- READ ดอกไม้สด
- READ เอโดงาวะ รันโป
- READ น.ม.ส
- READ วิกตอเรีย โฮลต์
- READ อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูว์เปรี
- READ อ.สนิทวงศ์
- READ จันตรี ศิริบุญรอด
- READ ลอรา อิงกัลส์ ไวล์เดอร์
- READ น้อย ชลานุเคราะห์
- READ ไอแซก ไดนีเสน
- READ ศุภร บุนนาค