เอมิลี่ บรองเต้

เอมิลี่ บรองเต้

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

สำหรับใครบางคนแล้ว ความอาฆาตพยาบาทก็หล่อเลี้ยงให้เขาดำเนินชีวิตต่อไปข้างหน้า ทำให้มุมานะพยายามที่จะก่อร่างสร้างตัวเพื่อกลับมาล้างแค้น

ใช่… เรากำลังพูดถึงฮีตคลิฟฟ์ พระเอกนวนิยายเรื่อง วัทเตอริง ไฮตส์ ผู้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความแค้น

เอมิลี่ บรองเต้ เจ้าของผลงานคลาสสิคเรื่องเดียวในชีวิตงานประพันธ์

เขาคือเด็กกำพร้าที่ถูกเก็บมาเลี้ยง ต่อมาก็ตกหลุมรักกับหญิงสาวผู้เป็นลูกสาวของผู้มีพระคุณ ตอนแรกๆ ก็ดูเหมือนความรักจะสมหวังดี แต่ต่อมาหญิงสาวคนนั้นก็กลับเลือกจะไปแต่งงานกับชายหนุ่มคนอื่นที่มีฐานะร่ำรวย ทิ้งบาดแผลในใจให้กับฮีตคลิฟฟ์

แน่นอน เรื่องราวไม่ได้จบลงเท่านั้น ฮีตคลิฟฟ์มุมานะสร้างตัวจนร่ำรวย และกลับมาทวงทุกอย่างที่ควรเป็นของเขาคืน แต่สำหรับแคธีนั้นอาจจะสายเกินไป เพราะเธอกำลังจะตาย

แพทริค บรองเต้ บิดาผู้ส่งเสริมให้ลูกๆ รักการอ่าน

ในเมื่อไม่ได้ตัวแม่มาครอบครอง เขาก็เอาแคเธอรีน ลูกสาวมาเลี้ยงเป็นตัวแทน เรื่องราวความรักความแค้นข้ามรุ่นของฮีตคลิฟฟ์กลายมาเป็นต้นกำเนิดของนวนิยายในแนวนี้อีกหลายร้อยเรื่องในเวลาต่อมา

วัทเตอริ่ง ไฮทส์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกปีพ.ศ.2390

เอมิลี่ บรองเต้ เขียน วัทเตอริง ไฮตส์ เอาไว้ในปี พ.ศ. 2390 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี พิมพ์ครั้งแรกเธอใช้นามปากกา เอลลิส เบลล์ (Ellis Bell)

ครอบครัวบรองเต้เป็นครอบครัวนักอ่าน เอมิลี่และพี่น้องเติบโตมากับหนังสือ

พี่น้องบรองเต้เติบโตขึ้นมาเป็นนักเขียนมีชื่อเสียงถึงสามคน

เธอคือลูกสาวคนที่ห้าของครอบครัว ในวัยเด็กพ่อของเอมิลี่ส่งบรรดาลูกสาวไปเรียนหนังสือที่ Clergy daughter’s school โรงเรียนสำหรับกุลสตรีที่มีชื่อเสียงในตอนนั้น แต่เคราะห์ร้ายที่เกิดการระบาดของวัณโรคในโรงเรียน คร่าชีวิตเด็กสาวไปมากมาย รวมทั้งพี่สาวสองคนของเอมิลี่ด้วย

โรงเรียน Clergy daughter’s school ที่เป็นแหล่งแพร่โรควัณโรคจนคร่าชีวิตพี่น้องบรองเต้ไปถึงสี่คน

การระบาดของโรคติดต่อในโรงเรียนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สุดท้าย แพทริก บรองเต้ ผู้บิดา ตัดสินใจให้ลูกๆ ลาออกจากโรงเรียน แล้วจัดการสอนหนังสือให้พวกเธอด้วยตัวเองแบบ Home school

ที่บ้าน เอมิลี่และพี่สาวได้มีโอกาสอันกว้างไกล ได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ในสังคมผ่านบิดาและน้าสาว ได้อ่านหนังสือดีๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือของลอร์ดไบรอน, แมรี แชลลี เป็นต้น ว่ากันว่าหนังสือพวกนี้เป็นหนังสือต้องห้ามสำหรับสุภาพสตรีผู้ดีอังกฤษ ซึ่งถ้าพวกของเอมิลี่ยังเรียนหนังสือในโรงเรียนเดิม ก็คงไม่มีโอกาสได้อ่าน

การอ่านเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเขียน เอมิลี่และพี่ๆ เริ่มเขียนหนังสือร่วมกัน หลายคนแยกมาเขียนเป็นเรื่องเดี่ยวของตัวเอง เอมิลี่เขียนกลอนเป็นหลัก ยังไม่ได้เริ่มเขียนนวนิยายเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนอย่างชาร์ลอตผู้เป็นพี่สาว

เมื่ออายุได้ 20 ปี เอมิลี่ทำงานเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนใกล้ๆ บ้าน แต่ทำงานได้เพียงปีเดียวก็ลาออกเนื่องจากสุขภาพไม่ค่อยดีและเธอพบว่าตัวเองรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยเมื่ออยู่บ้านมากกว่าออกไปข้างนอก อย่างไรก็ตาม อีกสามปีต่อมา ชาร์ลอตชวนเอมิลี่และแอนน์ น้องสาวคนสุดท้องไปเรียนต่อที่ประเทศเบลเยียม เพื่อให้น้องสาวได้เปิดโลกทัศน์และเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ และแน่นอนว่าเอมิลี่รู้สึกไม่มีความสุขเลยเมื่อต้องจากบ้านไปไกลถึงต่างประเทศ แต่ที่เบลเยียมนี่เอง ทำให้เอมิลี่ค้นพบความสามารถอีกอย่างของตัวเอง นั่นคือการเล่นเปียโน

รวมบทกลอนของสามพี่น้องบรองเต

เมื่อต้องอยู่ไกลบ้าน สามพี่น้องบรองเต้ก็ช่วยกันเขียนกลอนเป็นงานอดิเรก ต่อมากลอนของพวกเธอได้รับการพิมพ์รวมเล่มในชื่อ Poem by Currer, Ellis and Acton Bell ซึ่ง Currer ก็คือชาร์ลอต Ellis คือเอมิลี่ และ Acton ก็คือแอนน์นั่นเอง

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเอมิลี่เริ่มเขียน วัทเตอริง ไฮตส์ เมื่อไร แต่หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปีพ.ศ. 2390 ก่อนที่เอมิลี่จะเสียชีวิตเพียงหนึ่งปี

ภาพยนตร์เรื่องวัทเตอริ่ง ไฮทส์ ฉบับพ.ศ. 2482 นำแสดงโดยลอว์เรนส์ โอลิเวียร์

คนที่ได้อ่าน วัทเตอริง ไฮตส์ ส่วนมากคิดว่าคนเขียนเป็นผู้ชาย เพราะบทบรรยายถึงฮีทคลิฟฟ์และอารมณ์อันแปรปรวนของเขานั้นเต็มไปด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ยิ่งพอมารู้ในภายหลังว่าคนเขียนคือเอมิลี่ คนใกล้ชิดยิ่งประหลาดใจเพราะเอมิลี่นั้นเป็นคนน่ารัก อ่อนโยนและจิตใจเต็มไปด้วยความเมตตา ช่างตรงกันข้ามกับตัวละครของเธอราวฟ้ากับเหว นักวิจารณ์หลายคนวิเคราะห์ว่าฮีตคลิฟฟ์อาจจะเป็นภาพสะท้อนของจิตใต้สำนึกที่เต็มไปด้วยความอัดอั้นของเอมิลี่ก็เป็นได้

ต้นรักดอกโศก แปลจากวัทเตอริ่ง ไฮตส์ โดยพิมพา จันทพิมพะ

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม วัทเตอริง ไฮตส์ กลายมาเป็นนวนิยายคลาสสิกที่นักอ่านทั่วโลกให้ความชื่นชม ได้รับการแปลออกไปหลายภาษา ภาษาไทยเคยแปลมาแล้วหลายครั้ง ฉบับที่แพร่หลายเป็นที่รู้จักกันดีคือ ‘ต้นรักดอกโศก’ แปลโดย พิมพา จันทพิมพะ และฉบับแปลงโดย ‘นิดา’ ใช้ชื่อ ‘เสน่หาพยาบาท’ นอกจากนี้ยังได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์และซีรีส์ฉายอีกหลายครั้ง แน่นอนว่าทุกครั้งยังคงได้รับความนิยมอย่างมากมาย

เสน่หาพยาบาท ดัดแปลงโดย นิดา

น่าเสียดายที่เอมิลี่ไม่ได้เห็นความสำเร็จของหนังสือที่เธอเขียน เพราะเธอเสียชีวิตหลังจาก วัทเตอริง ไฮตส์ ตีพิมพ์ได้แค่ปีเดียว

ภาพยนตร์เรื่องวัทเตอริ่ง ไฮทส์ ฉบับพ.ศ. 2535 นำแสดงโดย ราล์ฟ ไฟน์และจูเลียต บิโนช์
ฉากสำคัญในวัทเตอริ่ง ไฮทส์ ตอนที่ฮีทคลิฟฟ์ไปเยี่ยมแคธี่เป็นครั้งสุดท้าย

เอมิลี่เสียชีวิตจากอาการของวัณโรคปอดระยะลุกลาม เป็นโรคติดเชื้อที่เธอได้รับมาจากโรงเรียน และโรคนี้คร่าชีวิตพี่น้องบรองเต้ไปถึงสี่คน

เอมิลี่กำลังเตรียมเขียนนวนิยายเรื่องที่สอง แต่ยังเขียนไม่ทันจบก็มาเสียชีวิตไปก่อน ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครค้นพบต้นฉบับเรื่องดังกล่าว

หลุมฝังศพของพี่น้องบรองเต

เอมิลี่จากไปเมื่ออายุได้เพียง 30 ปีเท่านั้น และ วัทเตอริง ไฮตส์ ก็เป็นนวนิยายเพียงเรื่องเดียวในชีวิตการทำงานของเธอ

Don`t copy text!