มากาเร็ต มิตเชลล์

มากาเร็ต มิตเชลล์

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

“เถอะน่ะ… แล้วพรุ่งนี้ฟ้าก็จะสว่างอีกครั้ง”

ประโยคอมตะนี้ สกาเล็ตต์ โอฮาร่า นางเอกเรื่อง วิมานลอย กล่าวเอาไว้ในตอนอวสานของเรื่อง ต้นฉบับภาษาอังกฤษเขียนไว้ว่า “Tomorrow is another day” แต่แปลเป็นภาษาไทยเนื้อความคงจะเป็นประมาณนั้น

มากาเร็ต มิตเชลล์

แต่ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าประโยคนั้นแปลอย่างไร ความสำคัญคือ วิมานลอย หรือ Gone with the Wind เป็นนวนิยายเรื่องยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษ เล่าถึงชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่งในช่วงสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงแต่ตัวบทประพันธ์จะอมตะคลาสสิกตลอดกาล เมื่อมาสร้างเป็นภาพยนตร์ วิมานลอย ก็ขึ้นหิ้งคลาสสิกไปเรียบร้อย พร้อมกับชื่อเสียงของวิเวียน ลีห์ นางเอกสาวผู้สวมบทบาทสกาเล็ตต์ และ คล้าก เกเบิล พระเอกของเรื่อง ก็กลายเป็นดาราอมตะไปด้วยเช่นกัน

จะมีนักเขียนสักกี่คนในโลกนี้ ที่ทั้งชีวิตเขียนหนังสือแค่เรื่องเดียวแล้วประสบความสำเร็จชนิดที่เรียกว่าถล่มทลาย

มากาเร็ต มิตเชลล์กับความสำเร็จของวิมานลอย นวนิยายเพียงเรื่องเดียวในชีวิต

ทันทีที่ออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2479 วิมานลอย ได้รับรางวัลใหญ่ๆ มากมาย รวมถึงรางวัลพูลิตเซอร์ที่ได้ชื่อว่าเป็นรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมของอเมริกา และ วิมานลอย ก็ยังเป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านเป็นอย่างมาก นักอ่านคนแล้วคนเล่า รุ่นแล้วรุ่นเล่ายังอ่าน วิมานลอย มาจนถึงทุกวันนี้

ความสำเร็จของมากาเร็ตไม่ใช่ส้มหล่นหรือความฟลุกแต่อย่างใด

หากเป็นเพราะมากาเร็ตมีพื้นฐานครอบครัวที่ดี การศึกษาที่ดี จึงทำให้เธอเขียนงานได้อย่างมีพลัง

มากาเร็ต มิตเชลล์กับคล้าก เกเบิ้ล ผู้สวมบทบาทเป็นเร็ต บัตเลอร์

เธอเป็นสาวชาวใต้ เกิดที่มลรัฐจอร์เจีย เมื่อปี พ.ศ. 2443

ยูจีน มิตเชลล์ พ่อของมากาเร็ตเป็นทนายความชื่อดัง และเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง แมรี่ มิตเชลล์ มารดาของเธอก็เป็นสตรีหัวสมัยใหม่ เป็นนักกิจกรรมตัวยง แมรี่คือผู้หญิงคนแรกๆ ที่ออกมาพูดถึงสิทธิสตรี และพยายามรณรงค์ให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้ง พ่อของเธอก็เป็นนักการเมืองที่ออกมารณรงค์ให้โรงเรียนเลิกทำโทษเด็กๆ ด้วยการตี

นี่คือครอบครัวมิตเชลล์!

บ้านคุณยายของมากาเร็ต มิตเชลล์ ต้นแบบของคฤหาสน์ทาร่าในนวนิยาย

ไม่เพียงแต่พ่อและแม่ บรรพบุรุษตระกูลมิตเชลล์ทุกคนล้วนแต่มีบทบาททางการเมือง และมีอิทธิพลในแอตแลนตาอยู่ไม่น้อย แอนนี สตีเฟนส์ คุณยายของมากาเร็ตอาศัยอยู่ในคฤหาสน์สไตล์วิกตอเรียนหลังใหญ่ มีไร่หลายร้อยเอเคอร์ มีคนงานผิวดำทำงานให้เป็นจำนวนนับร้อย เล่าถึงตอนนี้ คงจะเริ่มเห็นเงาของคฤหาสน์ทาร่าและบ้านของสกาเล็ตต์กันแล้วใช่ไหมครับ

มากาเร็ตกล่าวว่า คล้าก เกเบิ้ลก็คือเร็ต บัตเลอร์ ที่เดินออกมาจากหน้าหนังสือของเธอ

มากาเร็ตถูกส่งไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเวสต์มินสเตอร์ ในเมืองหลวงแอตแลนตา ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสำหรับคุณหนูไฮโซ ที่นั่น มากาเร็ตอ่านวรรณกรรมและวรรณคดีมากมาย เธอชอบงานของเชคสเปียร์เป็นที่สุด โดยเฉพาะ หรรษาราตรี หรือ A Midsummer Night’s Sream และมากาเร็ตก็เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ตอนนั้น โดยงานในระยะแรกของเธอเป็นบทความสั้นๆ และนิทานสำหรับเด็กลงในวารสารโรงเรียนและวารสารท้องถิ่น โดยใช้นามปากกาว่า เพ็กกี้ มิตเชลล์

มากาเร็ต กับพิมพ์ดีดที่จอห์นซื้อให้ วิมานลอยมีกำเนิดมาจากพิมพ์ดีดเครื่องนี้

มากาเร็ตลาออกจากมหาวิทยาลัยโดยที่เรียนหนังสือไม่จบ เธอต้องกลับมาดูแลไร่และกิจการของครอบครัว หลังจากที่พ่อและแม่เสียชีวิตลง

มากาเร็ตแต่งงานสองครั้ง ครั้งแรกกับคนรักที่ชอบพอกันมาตั้งแต่ทั้งสองยังเป็นเด็กหนุ่มสาว ครอบครัวของมากาเร็ตไม่ค่อยชอบ เรด อัพชอว์ สามีคนแรกของเธอนัก เพราะชื่อเสียงเรื่องการดื่มหนักและเกกมะเหรกเกเร แต่มากาเร็ตก็ดึงดันจะแต่งงานกับเรดจนได้

ป้ายที่หน้าบ้านของมากาเร็ต มิตเชลล์ในแอตแลนต้า

เป็นงานแต่งงานที่แทบไม่มีคนในครอบครัวไปร่วมแสดงความยินดีด้วยเลย และเรดก็ได้สำแดงธาตุแท้ของความร้ายกาจออกมาให้เห็น เมื่อเขาเมาเหล้าแทบทุกวัน บางครั้งก็ลงไม้ลงมือทุบตีมากาเร็ต สุดท้ายความรักครั้งแรกของมากาเร็ตก็ลงเอยด้วยการหย่าร้าง หลังจากแต่งงานกันได้แค่เพียงสองปี

ตอนแรกเรดก็ไม่ยอมหย่าดีๆ มากาเร็ตได้ จอห์น มาร์ช ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของทั้งสองเข้ามาช่วยเหลือ

มากาเร็ตไปเยี่ยมทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1

จอห์นเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Atlanta Journal ที่มากาเร็ตร่วมงาน เขาต้องจ่ายเงินให้กับเรดไปจำนวนหนึ่ง สามีคนแรกของมากาเร็ตจึงยินยอมเซ็นหนังสือหย่าในที่สุด

จอห์นก็คือเพื่อนเจ้าบ่าวในงานแต่งงานครั้งแรกของมากาเร็ตและต่อมาก็คือสามีคนที่สองของเธอ เขาคือกำลังใจสำคัญของมากาเร็ตในการเขียน วิมานลอย

Gone with the Wind ฉบับพิมพ์ครั้งแรก
ฉบับแปลภาษาไทยชื่อวิมานลอย โดย รอย โรจนานนท์

วิมานลอย เริ่มต้นขึ้นในวันหนึ่งมีมากาเร็ตออกไปทำงานแล้วเกิดหกล้ม ข้อเท้าหัก จอห์นให้ภรรยาลาออกจากงานไปพักผ่อนสบายๆ อยู่กับบ้าน เมื่อเห็นว่ามากาเร็ตเริ่มเบื่อการอยู่กับบ้านเฉยๆ เขาก็เลยซื้อเครื่องพิมพ์ดีดกลับมาให้เธอที่บ้าน และเชียร์ให้มากาเร็ตเริ่มเขียนนิยายโดยใช้ประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่เคยผ่านมา

สามปีหลังจากนั้น วิมานลอย ก็สำเร็จออกมาเป็นรูปเล่มให้แฟนนักอ่านได้อ่านกัน ในตอนแรก สกาเล็ตต์ โอฮาร่า มีชื่อว่า แพนซี โอฮาร่า แต่จอห์นมองว่าชื่อนั้นยังไม่ทรงพลังพอสำหรับสุภาพสตรีผู้มีชีวิตอันสุดแสนโลดโผน เขาเลยเสนอให้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็นสกาเล็ตต์

ภาพยนตร์เรื่องวิมานลอย ภาพยนตร์อมตะตลอดกาล

และ สกาเล็ตต์ โอฮาร่า ก็ได้กลายมาเป็นตัวละครที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดตัวหนึ่งในโลกวรรณกรรมตราบจนทุกวันนี้

มากาเร็ต มิตเชลล์ เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2492 ขณะเดินข้ามถนนกับสามี

หลุมฝังศพของมากาเร็ต มิตเชลล์ในแอตแลนต้า

เขากำลังพาเธอไปชมภาพยนตร์ และแท็กซี่ก็ขับมาด้วยความเร็ว แน่นอน… คนขับเมาเหล้า และแท็กซี่คันนั้นก็พรากเธอไปจากโลกวรรณกรรม ทิ้ง วิมานลอย เอาไว้เป็นผลงานอมตะตลอดกาล

Don`t copy text!