จินตนา ปิ่นเฉลียว

จินตนา ปิ่นเฉลียว

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

 

หากคุณได้ทุนการศึกษาไปเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกา ทุนให้เรียนได้จนจบปริญญาเอก แต่ในขณะเดียวกันคุณก็มีความฝันอยากเป็นนักเขียน อยากทำงานอิสระ เป็นตัวของตัวเอง คุณจะเลือกสิ่งใด

แน่นอนครับ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอนาคตที่รออยู่ข้างหน้าดูจะมีสองทางแยก

รับทุนไปเรียนจบเป็นดอกเตอร์ กลับมาก็มีงานมั่นคงรออยู่แล้ว ได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีผู้คนนับหน้าถือตา แต่อาชีพอิสระก็เป็นความเสี่ยง ที่ไม่รู้เลยว่าอนาคตในอีกห้าปี สิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

แต่ จินตนา ปิ่นเฉลียว เลือกตามหัวใจของตัวเอง

จินตนา ปิ่นเฉลียว

หลังจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยคะแนนเกียรตินิยม จินตนาเลือกที่จะปฏิเสธทุนการศึกษา เพื่อทำงานเป็นนักเขียนตามความฝันของเธอ

เพราะจินตนารักการอ่าน จินตนาอยากเป็นนักเขียน เธอได้รับการปลูกฝังความรักในตัวอักษรมาตั้งแต่เด็ก จินตนาเป็นบุตรีคนสุดท้องของ นายวิวัธน์ และ นางพวง ปิ่นเฉลียว มีพี่ชายสองคนคือ พ.ต.อ. (พิเศษ) ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว และ วาทิน ปิ่นเฉลียว

พี่ชายทั้งสองของเธอเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในวงการวรรณกรรม พ.ต.อ. (พิเศษ) ปกรณ์ เขียนเรื่องสั้นเอาไว้มากมายหลายร้อยเรื่อง ได้รับการขนานนามว่าเป็นราชาเรื่องสั้นคนหนึ่งของประเทศไทย ส่วนคุณวาทินหรือคุณลุงต่วยนั้นเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสาร ต่วย’ตูน ที่ทุกคนรู้จักกันดี กล่าวได้ว่าจินตนาเกิดมาในครอบครัวของนักเขียนโดยแท้

พ.ต.อ. (พิเศษ) ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว ราชาเรื่องสั้นเมืองไทย

จินตนา ปิ่นเฉลียว สร้างชื่อขึ้นจากการเขียนกลอน เธอชนะการประกวดชุมนุมกลอนชาวบ้านจากสถานีโทรทัศน์ไทยช่อง 4 ได้รับรางวัลดีเด่นจากมูลนิธิจอห์น เอฟ. เคนเนดี้สองปีติดกันจาก นิราศพระอาราม ในปีพ.ศ. 2514 และ อยุธยาวสาน ในปี พ.ศ.2515

อยุธยาวสาน ได้รับรางวัลดีเด่นจากมูลนิธิจอห์น เอฟ เคนเนดี้ปี พ.ศ.2515
นิราศพระอาราม ได้รับรางวัลดีเด่นจากมูลนิธิจอห์น เอฟ เคนเนดี้ปี พ.ศ.2514

นอกจากนี้เธอยังเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร ต่วย’ตูน พิเศษ ที่นำเสนอเรื่องราวลึกลับจากทุกมุมโลกอีกด้วย

คุณลุงต่วย – วาทิน ปิ่นเฉลียว ผู้ก่อตั้งนิตยสาร ต่วย’ตูนและ ต่วย’ตูนพิเศษ

แต่ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศมาจากนวนิยายในแนวลึกลับภายใต้นามปากกา ‘จินตวีร์ วิวัธน์’ ซึ่งนำเอาชื่อของพ่อและแม่มารวมกันขึ้นใหม่ งานเขียนของจินตวีร์ วิวัธน์ มีหลากหลายแนวมาก ทั้งผี สยองขวัญ วิทยาศาสตร์ แฟนตาซี ผสมผสานความเชื่อในท้องถิ่น ตำนาน เรื่องเล่า ปกรณัมต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ราชินีเรื่องลึกลับแห่งประเทศไทย’

นิตยสารต่วย’ตูนพิเศษ ที่จินตนาปิ่นเฉลียวนั่งเป็นบรรณาธิการอยู่นานนับสิบปี

จินตนาเริ่มเขียนนวนิยายลึกลับในปี พ.ศ. 2516 ขณะไปเฝ้าคุณแม่ที่นอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาล ผลงานเรื่องแรกคือ อมฤตาลัย เรื่องราวของเจ้าหญิงเขมรผู้เป็นอมตะด้วยการอาบเลือดของชายหนุ่ม ทันทีที่ อมฤตาลัย ออกสู่สายตานักอ่าน ก็ได้รับการจับจองไปทำละคร

อมฤตาลัย โด่งดังมาก ส่งผลให้ ‘จินตวีร์ วิวัธน์’ เป็นที่รู้จักแทบจะทันที หลังจากนั้นก็มีผลงานเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย นิตยสารทุกเล่มในเวลานั้นต่างต้องการเรื่องจากเธอ จินตวีร์ วิวัธน์ เคยให้สัมภาษณ์ว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขียนนวนิยายพร้อมกันราว 5-6 เรื่อง แน่นอนเกือบทุกเรื่องได้รับการนำไปสร้างเป็นละคร และเพราะว่าต้องเขียนงานพร้อมกันหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน จินตนาจึงแตกนามปากกาออกไปอีกหลายนามปากกา เช่น ก่ำฟ้า เฟือนจันทร์, หทัย ธรณี เป็นต้น

อมฤตาลัย ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2516

เสน่ห์ของนวนิยายของ จินตวีร์ วิวัธน์ ไม่ใช่เพียงเพราะเรื่องแปลก สนุก ไม่เหมือนใคร แต่เป็นเพราะ จินตวีร์ วิวัธน์ ได้นำเอาแนวคิดต่างๆ มาผสมผสานกัน เรื่องที่ดูเหมือนไม่น่าเชื่อ เช่น มายาพิศวาส ที่เล่าถึงหญิงสาวผู้มีผมเป็นงู หรือมนุษย์ต่างดาวที่ต้องกลืนกินพลังชีพของคนอื่นใน จุมพิตเพชรฆาต ทั้งหมดนี้ดูเป็นไปไม่ได้ แต่ จินตวีร์ วิวัธน์ ก็ใช้หลักการต่างๆ มาอธิบายสนับสนุนจนผู้อ่านเชื่อว่าเรื่องที่เธอเขียนนั้นสามารถจะเป็นไปได้ จนเกิดเป็นแนวทางเฉพาะของตัวเองที่นักวิจารณ์เรียกว่า ‘วิทยาปาฏิหาริย์’

ละครอมฤตาลัย ถ่ายทำครั้งแรก ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7

เคล็ดลับหนึ่งที่ทำให้งานของ จินตวีร์ วิวัธน์ น่ากลัวสมจริง เป็นเพราะตัวเธอเองนั้นเป็นคนกลัวผีมาก คุณเรณุกา ปิ่นเฉลียว ซึ่งเป็นหลานสาวผู้ใกล้ชิดกับ จินตวีร์ วิวัธน์ เล่าว่า เวลาคุณอาเขียนนวนิยายผีๆ จะต้องเปิดไฟในบ้านหมดทุกดวง และเรียกให้หลานสาวมาเล่นอยู่ใกล้ๆ นี่เองที่ทำให้การบรรยายถึงภูตผีปีศาจต่างๆ ในเรื่องดูสมจริงจนคนอ่านสัมผัสได้

จินตนา ปิ่นเฉลียว สมรสกับ คุณวินัย ภักดีชายแดน มีบุตรชายสองคน

จินตนาและสามี คุณวินัย ภักดีชายแดน

จินตนา ปิ่นเฉลียวทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เธอเริ่มป่วยในช่วงปี พ.ศ. 2531 และเสียชีวิตในวัยเพียงแค่ 46 ปีเท่านั้น ทิ้งผลงานนวนิยายสามเรื่องที่ยังเขียนไม่จบ ได้แก่ จักราพยาบาท ในนิตยสาร กานดา, สุสานเสน่หา นิตยสาร ขวัญเรือน และ เหยื่อยมบาล ในนิตยสาร สกุลไทย

เหยื่อยมบาล นวนิยายเรื่องสุดท้ายของจินตวีร์ วิวัธน์ในนิตยสารสกุลไทย

ที่จริงยังมีนวนิยายอีกหนึ่งเรื่อง ที่ทุกคนคิดกันว่าคุณจินตนาเขียนไม่จบ คือ ภวังค์ ในนิตยสารบางกอก เธอใช้นามปากกาว่า ก่ำฟ้า เฟือนจันทร์

หลังจากที่สำนักพิมพ์กรู๊ฟพับลิชชิ่งได้รับอนุญาตจากทางทายาทให้นำผลงานเก่าของ จินตวีร์ วิวัธน์กลับมาพิมพ์ได้ ทีมงานก็ลงมือสำรวจผลงานต่างๆ ที่มีปรากฏ จึงได้พบว่า ภวังค์ ที่ใครๆ คิดว่าเขียนไม่จบนั้น ที่จริงแล้วคุณจินตนาได้เขียนจนจบบริบูรณ์ บทสุดท้ายลงพิมพ์หลังจากเธอเสียชีวิตไปไม่นานนัก และสำนักพิมพ์จึงได้นำ ‘ภวังค์’ มาพิมพ์รวมเล่มเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปีหลังจาก จินตวีร์ วิวัธน์ เสียชีวิต สร้างความตื่นเต้นให้กับแฟนนักอ่านของเธอเป็นอย่างมาก

ภวังค์ นวนิยายที่นักอ่านส่วนมากคิดว่าจินตวีร์ วิวัธน์เขียนไม่จบ
ผลงานที่สำนักพิมพ์กรู๊ฟพับลิชชิ่งนำกลับมาพิมพ์ใหม่

ปัจจุบันนี้ นักอ่านสามารถหาซื้อผลงานของ จินตวีร์ วิวัธน์ ที่นำกลับมาพิมพ์ใหม่ได้ที่สำนักพิมพ์กรู๊ฟพับลิชชิ่ง ซึ่งพิมพ์ออกมาทั้งหมด 25 เรื่องแล้ว และจะทยอยพิมพ์ออกมาจนครบผลงานทั้งหมด 43 เรื่องในโอกาสต่อไป

Don`t copy text!