สุวรรณี สุคนธา   

สุวรรณี สุคนธา  

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ศิลปินหลายคนมีความสามารถหลากหลายด้าน ครูเหม เวชกร นอกจากวาดภาพเก่งแล้วยังเล่นดนตรีเก่งไม่แพ้กัน, ครูเอื้อ อัจฉริยะกุล เล่นดนตรีเก่งและยังแต่งกลอนเก่ง, ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นอกจากเขียนหนังสือได้ดีเยี่ยม ทุกคนล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทำอาหารเก่งมาก

สุวรรณี สุคนธา เป็นนามปากกาของ คุณสุวรรณี สุคนธ์เที่ยง

เช่นเดียวกับศิลปินหญิงแห่งละแวกหน้าพระลานคนนี้ สุวรรณี สุคนธ์เที่ยง ไม่เพียงแต่วาดภาพเก่ง  ไม่นับเรื่องฝีมือทำอาหารที่เป็นเลิศ เธอยังเขียนหนังสือได้อย่างยอดเยี่ยม นับเป็นหนึ่งในตำนานของนักเขียนแถวหน้าของเมืองไทย

ครอบครัวที่อบอุ่น ในภาพมีคุณน้ำพุหรือ วงศ์เมือง นันทขว้างอยู่ด้วย

สุวรรณีเกิดปี พ.ศ. 2475 หากเธอยังมีชีวิตอยู่ ในวันนี้จะมีอายุเท่ากับประชาธิปไตยของประเทศ

สุวรรณีเป็นคนพิษณุโลก เรียนจบด้านจิตรกรรมและประติมากรรมจากมหาวิทยาลัยศิลปากร มีโอกาสได้เป็นลูกศิษย์ของ อ.ศิลป์ พีระศรี จึงไม่ต้องสงสัยเรื่องฝีมือด้านจิตรกรรมของเธอว่าจะฉกาจฉกรรจ์เพียงใด หลังเรียนจบเธอเป็นครู สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนศิลปศึกษาอยู่ราวสามปี ก่อนจะไปเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

สุวรรณี สุคนธาเป็นศิษย์ของ อ.ศิลป์ พีระศรี

สุวรรณีเริ่มเขียนเรื่องสั้น เรื่องแรกคือ ‘จดหมายถึงปุก’ ในราวปี พ.ศ. 2508

จดหมายถึงปุก ได้ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร สตรีสาร ตามมาด้วยเรื่องสั้นอีกจำนวนหนึ่ง ก่อนที่สุวรรณีจะเริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรก ชื่อ ‘สายบ่หยุดเสน่ห์หาย’ ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักอ่านเป็นอย่างดีมาก

สุวรรณีชอบงานศิลปะมาก เคยเป็นครูสอนศิลปะ และนิตยสารลลนาที่เธอทำก็เต็มไปด้วยภาพประกอบสวยๆ จากศิลปินมากมาย

งานเขียนของสุวรรณีมีเสน่ห์ หลายคนบอกว่าอ่านงานของเธอแล้วเหมือนได้ชมภาพศิลปะสวยๆ เพราะถ้อยคำที่สุวรรณีบรรยายในนวนิยายนั้นชัดเจน หากขณะเดียวกันก็อ่อนไหวราวกับภาพเขียน ทำให้คนอ่านคล้อยตาม และเห็นภาพของเรื่องราวและความเป็นไปของตัวละครได้อย่างชัดเจน หลายเรื่องเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่พบเห็นกันทั่วไป แต่พอผ่านการบอกเล่าจากปลายปากกาของเธอแล้ว เรื่องราวเหล่านั้นก็จะดูพิเศษขึ้นมาทันที และนี่คือพรสวรรค์ของเธอ

อ.ทวี นันทขว้าง สามีของสุวรรณี สุคนธา

สุวรรณีเขียนนวนิยายเอาไว้หลายสิบเรื่อง เช่น คนเริงเมือง, เก้าอี้ขาวในห้องแดง, ทองประกายแสด, จามร, ทะเลฤๅอิ่ม, ความรักครั้งสุดท้าย, พระจันทร์สีน้ำเงิน และอีกมากมาย แต่ที่โด่งดังและคนไทยรู้จักมากที่สุดคือ เรื่องของน้ำพุ ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่นวนิยาย แต่เป็นหนังสืองานศพของน้ำพุ หรือ วงศ์เมือง นันทขว้าง บุตรชายของคุณสุวรรณี ที่เสียชีวิตจากยาเสพติด

สายบ่หยุดเสน่ห์หาย นวนิยายเรื่องแรกของสุวรรณี สุคนธา

การจากไปของน้ำพุ สร้างความโศกเศร้าให้ครอบครัวนันทขว้างเป็นอย่างมาก คุณสุวรรณีเสียศูนย์ไปพักใหญ่ หลังจากตั้งหลักได้เธอเปลี่ยนความเศร้าเป็นพลัง จึงลงมือรวบรวมจดหมายทั้งสิบฉบับของน้ำพุ พิมพ์เป็นหนังสือ โดยหวังว่าจะไม่มีครอบครัวไหนต้องสูญเสียลูกหรือบุคคลในครอบครัวไปจากยาเสพติดเหมือนกับเธอ

นิตยสารลลนา
ภาพประกอบในนิตยสารลลนาเป็นภาพเขียนจากศิลปินมีชื่อ
จากละครเรื่องคนเริงเมือง เวอร์ชั่นที่กำกับการแสดงโดยเริงศิริ ลิมอักษร

หนังสือ เรื่องของน้ำพุ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะในเวลานั้นไม่มีหนังสือหรือเรื่องราวทำนองนี้ออกมาให้อ่านกันมากนัก ครอบครัวไหนมีลูกติดยาเสพติด เหมือนจะเป็นเรื่องน่าอับอาย ไม่มีใครอยากพูดถึง แต่เมื่อคุณสุวรรณีนำมาเล่าตรงๆ แบบนี้ จึงน่าสนใจมาก ถึงขนาดกระทรวงศึกษาธิการบรรจุ ‘เรื่องของน้ำพุ’ ไว้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยม และอ่านมาจนถึงทุกวันนี้

คุณสุวรรณีกับคุณศิริสวัสดิ์ พันธุมสุต หรือน้าแพท คู่ชีวิตคนที่สอง
ภาพเขียนสีน้ำมันของคุณสุวรรณี สุคนธา

นอกจากเป็นหนังสือ เรื่องของน้ำพุ ยังได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ นักแสดงที่รับบทน้ำพุมักจะได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างมาก

หนังสืออนุสรณ์งานศพของสุวรรณี สุคนธา

นวนิยายเกือบทุกเรื่องของคุณสุวรรณีมีประเด็นที่น่าสนใจ สะท้อนภาพตัวละครที่เป็นชนชั้นกลางในสังคม การก่อร่างสร้างตัว ปัญหาชีวิตและสภาพสังคมไทยในช่วงปี พ.ศ. 2520-2530 ตัวละครเอกโดยเฉพาะนางเอก เป็นผู้หญิงที่มีมิติ มีทั้งมุมดีและมุมไม่ดีอยู่ในตัว มีความเป็นปุถุชนสูง ไม่แบนราบเหมือนอย่างในนวนิยายเรื่องอื่นๆ บางเรื่องนางเอกมีสามีถึงเจ็ดคน นับเป็นเรื่องที่ท้าทายสังคมในห้วงเวลานั้นเป็นอย่างมาก

เรื่องของน้ำพุ เรื่องราวของวงศ์เมือง นันทขว้าง บุตรชายผู้เป็นที่รักของสุวรรณี สุคนธา

งานเขียนของคุณสุวรรณีเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่สามารถเป็นรายได้หลักเลี้ยงตัวเอง สุวรรณีจึงลาออกจากราชการ มาเป็นนักเขียนอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ. 2515 เธอทำนิตยสารของตัวเองชื่อ ‘ลลนา’ นับเป็นนิตยสารที่มีความทันสมัย แปลก และต่างจากทุกเล่มในเวลานั้น

ลลนา จะมีนางแบบและนายแบบขึ้นปกในชุดเสื้อผ้าที่นำสมัย เป็นนิตยสารรุ่นแรกๆ ที่จะมีคอลเลกชันชุดว่ายน้ำในฉบับซัมเมอร์ และเริ่มมีภาพประกอบนวนิยายที่วาดโดยศิลปินชื่อดัง

ในช่วงนั้นคุณสุวรรณีจะเขียนนวนิยายลงใน ลลนา เพียงเล่มเดียว ใครอยากอ่านงานของเธอต้องอ่านที่ ลลนา เท่านั้น

นวนิยายเรื่องสุดท้ายที่คุณสุวรรณีเขียนลงในลลนาชื่อ ‘วันวาร’ ที่ คุณกฤษณา อโศกสิน อ่านแล้วรู้สึกว่าเศร้ามาก คุณสุวรรณีเล่าให้คุณกฤษณาฟังว่าเป็นเรื่องของตัวเอง เขียนใกล้จบแล้ว นางเอกที่ชื่อ ‘สวัสดี’ ก็คือเงาของ ‘สุวรรณี สุคนธา’ และตอนจบของเรื่อง ‘วันวาร’ นั้น ทุกคนจะทิ้งนางเอกไป ปล่อยให้นางเอกอยู่คนเดียวตามลำพัง กับหนังสือที่เธอรัก

หากนั่นเป็นเพียงเรื่องในนวนิยาย เพราะชีวิตจริงนั้น คุณสุวรรณีออกไปจ่ายตลาดในตอนเช้าของปีพ.ศ. 2527 แล้วถูกชิงทรัพย์ ปลายมีดของคนร้าย… ได้พรากชีวิตของ ‘สวัสดี’ ไปจากนักอ่านตลอดกาล…

Don`t copy text!