สรจักร

สรจักร

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

หากจะกล่าวถึงเรื่องสั้นสยองขวัญ หักมุมอย่างคาดไม่ถึง เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึง ‘ศพใต้เตียง’, ‘ศพข้างบ้าน’, ‘ศพท้ายรถ’, ‘อำพรางอำยวน’, ‘วิญญาณครวญ’ และอีกหลายเล่มที่เป็นผลงานของ ‘สรจักร’ อย่างไม่ต้องสงสัย

เรื่องสั้นของสรจักรทุกเรื่องมีเสน่ห์ ตื่นเต้น มีความคาดไม่ถึง มีอารมณ์ขันแบบที่เรียกกันว่า Dark Comedy แฝงอยู่ด้วยเสมอ และนั่นคงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาโดดเด่นมากจนได้รับฉายาว่า สตีเฟน คิง แห่งเมืองไทย

สรจักร คือนามปากกาของเภสัชกรสรจักร ศิริบริรักษ์

สรจักร เป็นนามปากกาของ เภสัชกรสรจักร ศิริบริรักษ์

ใช่ครับ…เขาเป็นนักเขียน และขณะเดียวกันก็เป็นเภสัชกรด้วย

งานเขียนแนวลึกลับหักมุม ทำให้เขาได้รับการขนานนามว่าเป็นสตีเฟน คิงส์ของเมืองไทย

งานเขียนของสรจักรเริ่มขึ้นเมื่อได้อ่าน Needful Things ของ สตีเฟน คิง แล้วรู้สึกว่ามีบางอย่างในนั้นที่มากเกินไป บางอย่างที่น้อยเกินไป ระหว่างอยู่บนรถไฟไปนครศรีธรรมราช สรจักรใช้ปากกาขีดฆ่าประโยคที่เขาคิดว่าฟุ่มเฟือยในหนังสือออก พร้อมกันนั้นก็คิดขึ้นมาว่า มานั่งขีดนั่งแก้งานคนอื่นแบบนี้ ทำไมไม่เขียนเองเสียเลย

อำพรางอำยวนคือคอลัมนืประจำในพลอยแกมเพชร

หลังกลับถึงกรุงเทพฯ สรจักรก็ลงมือเขียน ‘ฆาตกรโรคจิต’ เรื่องสั้นเรื่องแรกในชีวิต และเรื่องอื่นตามมาอีก 5 เรื่อง เมื่อลองให้คุณแม่และน้องๆ อ่าน ทุกคนล้วนเห็นตรงกันว่าสนุก ทำไมไม่รวมเล่มขายหรือส่งไปที่นิตยสารต่างๆ สรจักรเลือกจะส่งต้นฉบับไปให้พี่ชาลี หรือ ชุลิตา อารีย์พิพัฒน์กุล บรรณาธิการบริหารของนิตยสาร พลอยแกมเพชร อ่านดู และพี่ชาลีก็ตกลงรับเรื่องสั้นทั้งหมดของสรจักรเอาไว้ รวมถึงเปิดคอลัมน์ประจำชื่อ ‘อำพรางอำยวน’ ให้เขาทันที

เส้นทางนักเขียนของสรจักรจึงเกิดขึ้นนับแต่บัดนั้น

รวมเรื่องสั้นของสรจักรจะเป็นงานลึกลับแนวหักมุม อย่างเช่นผีหัวขาดเล่มนี้
เล่าสู่กันฟัง มาจากคอลัมน์ปกิณกะที่สรจักรเขียนในนิตยสารหลายเล่ม

ความที่คลุกคลีกับวงการสาธารณสุขมานานกว่ายี่สิบปี ประกอบกับมีพื้นฐานร่ำเรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงเป็นพื้นฐานชั้นดีสำหรับงานเขียน สรจักรเคยกล่าวว่า “เรื่องสั้นที่ดีต้องกระชับ หักมุม มีเหตุผลในตัว และที่สำคัญที่สุด ความรู้วิชาการต้องเป็นจริง อ้างอิงได้ เพื่อประโยชน์แก่ผู้อ่าน พร้อมๆ กับการได้รับความเพลิดเพลินในอรรถรส”

ศพใต้เตียง เป็นหนึ่งในรวมเรื่องสั้นที่ผู้อ่านชอบกันมาก
ศพข้างบ้าน เป็นผลงานสร้างชื่อให้กับสรจักร

เพราะเรื่องของสรจักรเป็นเรื่องที่แปลก และแตกต่างไปจากเรื่องของนักเขียนอื่นในเวลานั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนอ่านจะชื่นชอบมาก เมื่อรวมเล่มออกมาก็ขายดีมาก หลายเล่มอย่างเช่น ศพใต้เตียง พิมพ์ซ้ำไม่ต่ำกว่ายี่สิบครั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นง่ายๆ

สรจักรเคยให้สัมภาษณ์ว่าที่คิดต่างและเขียนต่าง เป็นเพราะ “ส่วนใหญ่นักเขียนไทยไม่พยายามเข้าใจผู้อ่าน แต่ชอบตามใจตนเองจนกลายเป็นค่านิยมว่า นักเขียนที่ดีต้องเขียนแต่สิ่งที่ตนเองอยากจะเขียน ถึงกับมีการสั่งสอนกันในสถาบันเลยทีเดียว จุดนี้เหมือนกับการทิ้งประชาชน เมื่อไม่เข้าใจคนอ่าน หนังสือก็ขายไม่ออก แล้วนักเขียนก็โทษว่าประชาชนไม่สนใจวรรณกรรม เราไม่เข้าใจประชาชนหรือเปล่า ผมอยากให้มองตรงนี้ด้วย”

จิตกาธาน คือนวนิยายเรื่องยาวเรื่องเดียวของสรจักร

นั่นคือมุมมองของเขา และนั่นทำให้งานของสรจักรมีความต่าง มีความน่าสนใจมากๆ

นอกจากเรื่องสั้น สรจักรเขียนเรื่องขนาดยาวเอาไว้หนึ่งเรื่อง คือ ‘จิตกาธาน’ เล่าถึงความซับซ้อนในใจของมนุษย์เอาไว้อย่างน่าสนใจ เป็นนวนิยายในแนว Psycho-Thrillers ที่หาคนเขียนได้ยากมาก

เขายังมีผลงานสารคดี ปกิณกะ และความรู้เรื่องสุขภาพ สรจักรไม่เคยจำกัดกรอบตัวเองว่าต้องเขียนอะไร หรือต้องเขียนเหมือนใคร ด้วยเชื่อว่าข้อมูลและความสามารถในการหยิบจับประเด็นเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด

เภสัชโภชนาเป็นหนังสือที่สรจักรรักมาก เพราะได้นำเอาความรู้ทางด้านเภสัชวิทยามาเขียนให้อ่านเข้าใจง่ายและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

คอลัมน์ ‘เภสัชโภชนา’ ในนิตยสาร ‘พลอยแกมเพชร’ ใช้ความรู้ทางด้านเภสัชกรมาเขียนเล่าถึงอาหารและพืชผักที่สามารถใช้เป็นยาได้ เป็นสารคดีที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

จับโกหกนอสตราดามุส เขียนขึ้นมาเพื่อแสดงมุมมองอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับคำพยากรณ์โลกอนาคต

และอีกหนึ่งเล่มที่โด่งดัง เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของนักคิดนักเขียนจำนวนมากคือ ‘จับโกหกนอสตราดามุส’ สรจักรเขียนเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อนำเสนอแนวคิดอีกมุมหนึ่ง เพราะในเวลานั้นผู้คนกำลังพูดถึงเรื่องราวการพยากรณ์อนาคตของนอสตราดามุสกันเป็นอย่างมาก และแน่นอน หนังสือเล่มนี้ขายดีพิมพ์ซ้ำหลายสิบครั้งเช่นกัน

สรจักรพบว่าตัวเองมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ เขียนหนังสือตัวเล็กลงจนแทบอ่านไม่ออก ไม่สามารถจัดทำต้นฉบับหรือค้นคว้าข้อมูลได้ดีเหมือนเดิม หลังจากรับการตรวจโดยละเอียด ก็พบว่าตนเองป่วยเป็นพาร์กินสัน หลังจากนั้นเขาจึงค่อยๆ ลดงานเขียนของตัวเองลง งานเล่มสุดท้ายคือ ‘นักฆ่าบ้ากาม’

แต่ว่ากันว่านักเขียนก็เหมือนศิลปินสาขาอื่นๆ ได้ยินเสียงปี่เสียงกลองก็ต้องลุกขึ้นมาร้องรำ เช่นเดียวกันกับงานเขียนและวรรณกรรม เมื่อได้รับกำลังใจจากแฟนหนังสือ สรจักรจึงพยายามเขียนหนังสืออีกครั้ง เรื่องสั้นชุดใหม่ของเขา ชื่อ ‘วิญญาณครวญ’ สรจักรตั้งใจจะเขียนออกมาสามเล่ม แต่ทำได้ถึงเล่มที่สองคือ ‘คนสองวิญญาณ’ ก็ต้องหยุดเขียนเพราะสุขภาพไม่ไหวจริงๆ

สรจักรรักงานเขียนตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

การเสียชีวิตของสรจักรคือการหักมุมครั้งสุดท้าย

ผู้ดูแลพบร่างของสรจักรในวัย 58 ปีจมอยู่ในสระน้ำที่บ้านของตัวเอง ตอนเช้ามืดของวันหนึ่งในปีพ.ศ. 2556

สรจักรชอบไปนั่งเล่นที่ริมสระเป็นประจำ ไม่มีใครรู้ว่าเขาเดินออกไปเมื่อไหร่ โรคพาร์กินสันที่ทำให้การเคลื่อนไหวลำบากอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาตกลงไปโดยบังเอิญ เป็นการปิดฉากราชาเรื่องสั้นลึกลับของเมืองไทยไปตลอดกาล

Don`t copy text!