จันตรี ศิริบุญรอด
โดย : พงศกร
อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรมไทย
*************************
– จันตรี ศิริบุญรอด –
นามนี้น่าจะทำให้นักอ่านเกาศีรษะและพึมพำว่า… อิหยังวะ ไผคือจันตรี… ไม่เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามมาก่อนเลย
นั่นสิครับ… จันตรี ศิริบุญรอด คือใคร ทำไมอ่านคลาสสิกถึงชวนคุยเรื่องของเขาในวันนี้
ถ้าถามนักอ่านรุ่นคุณพ่อ ที่ชอบอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ไซ-ไฟ ส่วนมากจะต้องรู้จักจันตรีกันทั้งนั้น เพราะครูจันตรีเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายวิทยาศาสตร์เอาไว้มากมายนับสิบๆ เรื่อง ถ้าจะเรียกท่านว่าเป็น ‘บิดานิยายวิทยาศาสตร์ไทย’ ก็คงไม่เกินจริงนัก
คุณจันตรีมีอาชีพเป็นครูวิทยาศาสตร์ แหม ตร๊งตรงกับสิ่งที่ท่านเขียน
เข้าใจว่านอกจากความชื่นชอบวิทยาศาสตร์เป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว เหตุผลหนึ่งที่ครูจันตรีลุกขึ้นมาเขียนหนังสือ เขียนบทความเรื่องสั้นและนวนิยายวิทยาศาสตร์ออกมามากมาย เพราะตอนที่ท่านเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์อยู่ที่โรงเรียนเคนเน็ตแม็คเคนซี จังหวัดลำปาง คงเห็นว่าสื่อการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในเวลานั้นมีไม่มาก การที่มีเรื่องสั้นสนุกๆ ให้เด็กและเยาวชนได้อ่าน เป็นการสร้างจินตนาการและทำให้หลายคนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ ซึ่งคุณครูจันตรีก็ทำได้สำเร็จ เพราะนิตยสาร ‘วิทยาศาสตร์-มหัศจรรย์’ ที่ท่านทำในนามของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยนั้นบูมมากๆ
ทุกครั้งที่ลงมากรุงเทพฯ คุณครูจันตรีจะต้องหาซื้อหาซื้อนิตยสาร ‘ไซ-ไฟ’ ของฝรั่งในยุคสมัยนั้น และหอบกลับไปลำปางเสมอ จึงไม่แปลกที่นักเขียนที่คุณจันตรีชื่นชอบก็คือ เอช. จี. เวลส์ และ ไอแซก อาซิมอฟ
วิทยาศาสตร์-มหัศจรรย์ ฉบับแรกออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2498 ตีพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากมาย เช่น นิยายวิทยาศาสตร์ บทความวิทยาศาสตร์ ประวัตินักวิทยาศาสตร์ และจัดพิมพ์เรื่อยมาจนเลิกพิมพ์ในปี พ.ศ. 2502 เนื้อหาเกือบทั้งหมดเขียนโดยคุณจันตรีเป็นหลัก หลังจากนิตยสาร วิทยาศาสตร์-มหัศจรรย์ เลิกไป คุณจันตรีก็เลิกอาชีพครู และตั้งสำนักพิมพ์ของตนเพื่อจัดทำหนังสือและนิตยสาร ‘วิทยาศาสตร์-อัศจรรย์’
นิตยสารฉบับใหม่นี้ออกต่อเนื่องอยู่ราวๆ สามปี ก่อนจะเลิกไปในปี พ.ศ. 2505 เพราะประสบกับภาวะขาดทุน แต่คุณจันตรีก็ยังเขียนหนังสือเรื่อยมาจนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2511 ทิ้งนวนิยายวิทยาศาสตร์จำนวนมากไว้ให้กับวงการวรรณกรรม เช่น ภายใต้รังสีอินฟราเรด, จันทรมนุษย์, มนุษย์มหัศจรรย์, สู่อวกาศ, สงครามระหว่างโลก, ผู้สร้างอนาคต, โลกถล่ม, ผู้ดับดวงอาทิตย์, มนุษย์คู่ และอีกมากมาย
เคยมีโอกาสได้คุยกับ ดร. ชัยวัฒน์ คุประตกุล นักเขียนและนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของประเทศ อาจารย์ชัยวัฒน์มีโอกาสได้รู้จักกับคุณจันตรี ท่านเล่าให้ฟังว่าคุณจันตรีเป็นนักเขียนที่มีความมุ่งมั่น เอาจริงเอาจังมาก ตื่นเช้ามาก็นั่งเขียนหนังสือ เขียนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเย็นและเข้านอน ครั้นพอตื่นเช้าวันใหม่ก็เริ่มนั่งโต๊ะเขียนอีก เป็นวัฏจักรเช่นนี้ นั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สุขภาพของท่านไม่แข็งแรงนัก
คุณจันตรี ศิริบุญรอด เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2460 บางข้อมูลบอกว่าเป็นคนธนบุรี แต่ข้อมูลของ คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บอกว่าเป็นคนจังหวัดสงขลา ที่เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น เป็นเด็กวัดพักอยู่ที่วัดระฆังโฆษิตาราม ภรรยาชื่อคุณสอางค์ มีบุตรธิดาด้วยกัน 10 คน
งานเขียนของคุณจันตรีตอนนี้หาอ่านยากแล้ว หนังสือเก่าขายกันแพง แต่ถึงมีเงินก็ไม่มีให้ซื้อ และไม่มีใครพิมพ์ออกมาขายซ้ำ ล่าสุดที่ยังพอจะหาได้อยู่คือรวมเรื่องสั้นชุด ผู้สร้างอนาคต, มนุษย์คู่ และ โลกถล่ม รวมเรื่องสั้นทั้งสามเล่มนี้พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ใครพบใครเห็นโปรดซื้อมาเก็บไว้ในกองดองโดยด่วน ก่อนจะหาไม่ได้และต้องไปซื้อในราคาแพง
แม้เรื่องราวต่างๆ ที่คุณจันตรีเขียนจะมีอายุมากกว่าห้าสิบปี แต่ทว่ายังทันสมัยและหลายเรื่องก็กลายเป็นความจริงในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของหุ่นยนต์ที่มีหน้าตาและผิวหนังที่ยืดหยุ่นได้เหมือนมนุษย์, เครื่องทำความสะอาดบ้าน, การเดินทางไปดาวอังคาร เป็นต้น เรื่องราวเหล่านี้เป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในเวลานั้น แต่เมื่อวิทยาศาสตร์มาผสมกับจินตนาการ จึงทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ กลายเป็นจริงในเวลาต่อมา เหมือนกับตอนที่ ฌูล กาบรีแยล แวร์น หรือที่เรารู้จักกันในนาม จูลส์ เวิร์น เขียนนวนิยายเรื่อง ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ เรื่องราวของยานลึกลับที่ท่องไปจนทั่วท้องมหาสมุทร ใครๆ ก็ว่าเขาเพ้อ มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่คนเราจะเดินทางไปใต้ท้องมหาสมุทร
แต่สุดท้ายทุกวันนี้เราก็มีเรือดำน้ำแล้ว… เหมือนในนวนิยายเรื่องนี้ไม่มีผิด
นี่ละ… พลังของนวนิยายวิทยาศาสตร์
นี่ละ… พลังของจินตนาการ
- READ ชินจิ วาดะ
- READ ชาร์ลส ดิกเกนส์
- READ แขไข เทวินทร์
- READ โรอัลด์ ดาห์ล
- READ ร.จันทพิมพะ
- READ กาญจนา นาคนันทน์
- READ เจน ออสเตน
- READ คำพูน บุญทวี
- READ เอ เอ มิลน์
- READ โกวเล้ง
- READ ดวงดาว
- READ สุริยฉัตร ชัยมงคล
- READ อกาธา คริสตี้
- READ บาร์บารา คาร์ทแลนด์
- READ บุษยมาส
- READ สรจักร
- READ เบียทริกซ์ พอตเตอร์
- READ วาณิช จรุงกิจอนันต์
- READ ริชาร์ด อดัมส์
- READ เจ้าฟ้ากุ้ง
- READ น้ำอบ
- READ เจ้าฟ้ากุณฑล – เจ้าฟ้ามงกุฎ
- READ เท็ตสุกะ โอซามุ
- READ ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เนตต์
- READ เพ็ญพิมล ธัมมรัคคิต
- READ ท. เลียงพิบูลย์
- READ อี. บี. ไวต์
- READ ลพบุรี
- READ โดโรธี ดานีลส์
- READ คุณพุ่ม
- READ โดโรธี อีเดน
- READ จรัสพร
- READ ริชาร์ด แมทธีสัน
- READ สุภาว์ เทวกุลฯ
- READ วิลเลียม เชคสเปียร์
- READ กิมย้ง
- READ สุวรรณี สุคนธา
- READ เหม เวชกร
- READ ลิวอิส แครอล
- READ เพิร์ล เอส บั๊ค
- READ ศรีฟ้า ลดาวัลย์
- READ รัดยาร์ด คิปลิง
- READ พระนางเธอลักษมีลาวัณ
- READ ซี. เอส. ลิวอิส
- READ พิมล กาฬสีห์
- READ จินตนา ปิ่นเฉลียว
- READ มากาเร็ต มิตเชลล์
- READ สันต์ เทวรักษ์
- READ เอมิลี่ บรองเต้
- READ อ.ไชยวรศิลป์
- READ บรรจบ พันธุเมธา
- READ มารี คอเรลลี
- READ แอล แฟรงค์ โบห์ม
- READ ดอกไม้สด
- READ เอโดงาวะ รันโป
- READ น.ม.ส
- READ วิกตอเรีย โฮลต์
- READ อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูว์เปรี
- READ อ.สนิทวงศ์
- READ จันตรี ศิริบุญรอด
- READ ลอรา อิงกัลส์ ไวล์เดอร์
- READ น้อย ชลานุเคราะห์
- READ ไอแซก ไดนีเสน
- READ ศุภร บุนนาค