สุริยฉัตร ชัยมงคล

สุริยฉัตร ชัยมงคล

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

เมื่อเอ่ยถึงนาม สุริยฉัตร ชัยมงคล นักอ่านหลายคนอาจนึกสงสัย

แต่ถ้าเอ่ยถึง ‘วอลเดน’ ที่กำลังโด่งดังจากซีรีส์เกาหลี และ ‘พรากจากแสงตะวัน’ ซึ่งฉบับแปลของ Out of Africa ละก็ เชื่อว่าหลายคนคงนึกออก หนังสือทั้งสองเล่มนั้น ก็คือผลงานแปลเรื่องยิ่งใหญ่ของ สุริยฉัตร ชัยมงคล

สุริยฉัตร ชัยมงคล นักแปลคลาสสิกตลอดกาล

ด้วยภาษาที่สละสลวยงดงามราวภาษากวี ทำให้นิตยสาร ไรเตอร์ ขนานนามสุริยฉัตรว่าเป็น ‘นักแปลคลาสสิกผู้ถักร้อยสร้อยอักษร’

เขาชอบเขียนบทกวีมาตั้งแต่เรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนคาเบรียลแล้ว ส่วนมากเขียนในสมุดเก็บเอาไว้อ่านเอง เป็นเสมือนหนึ่งบันทึกเรื่องราวในชีวิต มีบทกวีจำนวนหนึ่งได้นำมารวมเล่มเป็นหนังสือชื่อ ‘พันธนาการดอกไม้’ ซึ่งขายดิบขายดีเป็นที่ต้องการของนักอ่านและนักสะสม

สุริยฉัตรมีวัยเด็กที่อบอุ่น
ครอบครัวทางบิดาเป็นคนเชียงใหม่ สุริยฉัตรจึงใช้ชีวิตวัยเด็กส่วนหนึ่งอยู่ที่เชียงใหม่

นอกจากบทกวี สุริยฉัตรยังแปลหนังสือคลาสสิกเอาไว้อีกจำนวนมาก เช่น พรากจากแสงตะวัน (Out of Africa), รูปเงาบนพรมหญ้า (Shadow on the Grass), วอลเดน (Walden), ผู้ครองฟ้า (Mythology), โอดีสซี (Odyssey), ชั่วนิรันดร์ (Tuck verlasting), รุไบยาต เป็นต้น

วอลเดนที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงในเวลานี้
พันธนาการดอกไม้ รวมบทกวีเพียงเล่มเดียวของสุริยฉัตร ชัยมงคล

สุริยฉัตรเป็นบุตรชายของ บุญส่ง ชัยมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อและพัสดุของการไฟฟ้านครหลวง กับ ถนิมนันต์ เกตุแก้ว มารดาผู้อ่อนหวานและเคยเป็นนางเอกละครเวทีเรื่อง ‘รสลินยโส’ แห่งศาลาเฉลิมกรุง แน่นอน ทั้งบิดาและมารดาของสุริยฉัตรเป็นนักอ่าน เขาจึงเติบโตขึ้นมาในครอบครัวของการอ่าน สุริยฉัตรเป็นนักจำ เขาจึงมีคลังภาษาสะสมอยู่ในตัวมากมาย เมื่อวันหนึ่งเริ่มงานแปลหนังสือ จึงมีถ้อยคำให้เลือกใช้หลากหลายไม่รู้จบสิ้น

พรากจากแสงตะวัน หรือรักที่ริมขอบฟ้า แปลโดย สุริยฉัตร ชัยมงคล
Out of Africa เป็นภาพยนตร์ที่สุริยฉัตรชอบและประทับใจมาก

เขาเลือกแปลหนังสือตามความชอบของตัวเอง อย่างเล่ม ‘พรากจากแสงตะวัน’ เขาได้ไปดูภาพยนตร์ก่อนแล้วชอบมาก เลยคุยกับ คุณวิมล ไทรนิ่มนวล คุณวิมลเลยไปหาต้นฉบับมาให้ แล้วสุริยฉัตรก็ลงมือแปลจนเสร็จสมบูรณ์

ชั่วนิรันดร์ จาก Tuc Everlasting
ผู้ครองฟ้า จาก Mythology

ฉบับแปลครั้งแรกเขาให้ชื่อว่า ‘พรากจากแสงตะวัน’ แต่ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘รักที่ริมขอบฟ้า’ เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของภาพยนตร์ ก่อนจะเปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อ พรากจากแสงตะวัน ในการพิมพ์ครั้งล่าสุด

กับประมูล อุณหธูปหรืออุษณา เพลิงธรรม ที่สุริยฉัตรทั้งรักและเคารพเป็นครูทางการประพันธ์

นักแปลที่สุริยฉัตรชื่นชอบที่สุด คือ ประมูล อุณหธูป หรือ ‘อุษณา เพลิงธรรม’ เจ้าของบทประพันธ์ ‘เรื่องของจัน ดารา’ เขาเรียกคุณประมูลว่า ‘ครูมูล’ และอ่านงานทุกเล่มที่ท่านแปล สุริยฉัตรมีโอกาสได้พบกับนักแปลในดวงใจของเขาพร้อมกับมารดาของตัวเองด้วย และพบด้วยความประหลาดใจว่าทั้งครูประมูลและคุณถนินนันต์เคยรู้จักกันมาก่อน

แน่ละ… เพราะละคร ‘รสลินยโส’ ที่มารดาของเขาเคยเล่นเป็นนางเอกนั้น เป็นละครที่ครูประมูลเขียนบทนั่นเอง

หลังจากครูประมูลเสียชีวิตลง ได้ฝากให้บุตรสาวนำดิกชันนารีที่ใช้เป็นประจำ มามอบให้กับสุริยฉัตร เนื่องจากเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะสืบทอดมรดกชิ้นนี้ เป็นนัยยะแห่งการยอมรับถึงฝีไม้ลายมือของสุริยฉัตร

สุริยฉัตรปรากฏตัวในสังคมน้อยมาก นี่เป็นภาพถ่ายในการสัมภาษณ์ของนิตยสาร GM

หลังจากมารดาของเขาเสียชีวิตลงในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ สุริยฉัตรตกอยู่ในอาการซึมเศร้า หมดอาลัยตายอยากในชีวิต เพราะมารดาคือทุกสิ่งของเขา สุริยฉัตรย้ายไปใช้ชีวิตที่เชียงใหม่กับน้องสาว – สุริยฉาน ชัยมงคล ที่บ้านถนนราชวงศ์ จังหวัดเชียงใหม่

ระหว่างอยู่เชียงใหม่ เขาทำงานช้าลง แต่กระนั้นสุริยฉัตรก็ไม่ได้หายไปจากวงการวรรณกรรมเสียทีเดียว เพราะเขาเป็นผู้ควบคุมคอลัมน์ ‘รินแสงดาวลงในแก้ว แล้วแย้มสรวล’ ในนิตยสาร เพื่อนนักอ่าน ของ วิมล ไทรนิ่มนวล และ สกุล บุณยทัต

สุขภาพของสุริยฉัตรแย่ลงเรื่องๆ หลักๆ แล้วนอกจากเพราะดื่มหนัก เป็นเพราะขาดกำลังใจในการดำเนินชีวิต ในที่สุดความตายก็พรากสุริยฉัตรไปจากเสียงตะวัน เมื่ออายุได้เพียง ๔๒ ปีเท่านั้น

บทกวีสุดท้ายใน รุไบยาต ที่เขาแปล บทที่สุริยฉัตรชอบที่สุด คือคำอำลาของเขาต่อโลกใบนี้

รุไบยาต

‘เออสิ มาอยู่ไยในโลกกว้าง

เฉกชลคว้างมาเท่าไรไม่นึกฝัน

ยามจากไปก็เหมือนลมรำพัน

โบกกระชั้นสู่หนไหนไม่รู้เลย

Don`t copy text!