ลพบุรี

ลพบุรี

โดย : พงศกร

Loading

อ่านคลาสสิก โดย พงศกร อีกหนึ่งคอลัมน์ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอกับการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนรุ่นเก่า ซึ่งมีผลงานเป็นตำนานและหาอ่านได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน  เพื่อให้นักอ่านที่รักทุกเพศวัยจะได้สัมผัสกับความลึกซึ้งของงานเขียนและได้รับรู้เรื่องราวดีๆ มากมายในแวดวงวรรณกรรม

*************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

เชื่อได้ว่านักอ่านอายุราวกึ่งศตวรรษจะต้องเคยได้ยินชื่อของ ‘ลพบุรี’ เพราะเรื่อง ‘ขุนพลกาฬสิงห์’ ที่ท่านนำเอาตำนานสิงหวนวัติมาเขียนเป็นนวนิยาย คือเรื่องที่โด่งดังมากๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ใครๆ ก็ต้องเคยรู้จัก แต่เมื่อมาถึงวันนี้ ชื่อของ ‘ลพบุรี’ เริ่มจะเลือนรางไปตามกาลเวลา

ลพบุรี คือ นามปากกาของ ครูชุ่ม ณ บางช้าง

ลพบุรี คือ นามปากกาของ ครูชุ่ม ณ บางช้าง ท่านเกิดที่สมุทรสงคราม ในช่วงเวลาของรัชกาลที่ 5 เป็นบุตรของนายเฉยและนางสาย ณ บางช้าง เมื่ออายุได้สามขวบก็ย้ายไปอยู่ที่ลพบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผู้เป็นมารดา นามปากกา ‘ลพบุรี’ ของครูชุ่มจึงมีที่มาจากจังหวัดที่เติบโตมานั่นเอง

ครูชุ่มเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่เรียนอยู่ที่สวนกุหลาบวิทยาลัย เขาทำหนังสืออ่านกันเองในชั้นเรียนกับเพื่อนๆ เพื่อนสนิทคนหนึ่งเป็นคนเชียงใหม่ ใช้นามปากกาว่า ‘ศรีเชียงใหม่’ ครูชุ่มเลยใช้ ‘ลพบุรี’

อยู่ที่โรงเรียนก็ทำหนังสือเวียนกันอ่านเล่นสนุกๆ แต่จุดเริ่มต้นของการเขียนหนังสืออย่างจริงจัง เกิดขึ้นเมื่อได้ไปเป็นลูกศิษย์ของหลวงสารานุประพันธ์

หลวงสารานุประพันธ์ ผู้เป็นครูทางด้านการเขียนของลพบุรี

ในเวลานั้น หลวงสารานุประพันธ์ก็คือนักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก เป็นผู้ก่อตั้งนิตยสาร สารานุกูล มีผลงานทั้งนวนิยายทั้งที่เขียนเองและเรื่องแปล เช่น หน้าผี แพรดำ ราสปูติน ทูตแห่งกาลี เป็นต้น ผลงานที่โด่งดังที่สุดของหลวงสารานุประพันธ์ที่คนไทยทุกคนรู้จักดีไม่ใช่นวนิยาย แต่เป็นเพลงชาติที่เราร้องกันอยู่ทุกวันนี้ หลวงสารานุประพันธ์ก็คือคนแต่งเนื้อเพลงนั่นเอง

ขุนพลกาฬสิงห์ นวนิยายที่โด่งดังที่สุดของลพบุรี มีความยาว ๑๓๘ เล่มจบ

ด้วยความที่เป็นศิษย์สวนกุหลาบเหมือนกัน ทำให้หลวงสารานุประพันธ์ให้ความไว้วางใจครูชุ่มเป็นอย่างมาก หลายครั้งเวลาที่ท่านมีธุระยุ่ง แปลต้นฉบับไม่ทันส่งนิตยสาร คุณหลวงจะมอบหมายให้ครูชุ่มช่วยแปลแทน จนเมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 6 หลวงสานุประพันธ์จึงสนับสนุนให้ครูชุ่มได้แปลหนังสือแบบเต็มๆ ตัว เรื่องแรกคือ The Great War in England in 1897 ของ วิลเลียม เลอ เคอซ์ ใช้ชื่อภาษาไทย ‘ภัยแห่งประเทศอังกฤษ’ ซึ่งมีความยาว 8 เล่มจบ

The Great war in England in 1897
วิลเลียม เลอ เคอซ์

ครูชุ่มได้ค่าเรื่องจากการแปลหนังสือครั้งแรกเป็นเงินถึง ๙๐ บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนมากในเวลาที่ก๋วยเตี๋ยวขายกันแค่ชามละห้าสตางค์ ทำให้ ‘ลพบุรี’ ตั้งใจสร้างผลงานอย่างจริงจัง ถึงกับย้ายไปอยู่ที่บ้านหลวงสารานุประพันธ์ และช่วยแปลหนังสืออื่นๆ ออกมาอีกมากมาย

ครูชุ่มเป็นครูประจำโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

หลังเรียนจบ ครูชุ่มเข้ารับราชการเป็นครู สอนหนังสือที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ระหว่างอยู่เชียงใหม่ก็มีความสนใจประวัติศาสตร์ล้านนาและตำนานโบราณต่างๆ ของภาคเหนือ พงศาวดารของอาณาจักรน่านเจ้า นครแสนหวี แคว้นโยนก จนมีความรอบรู้เป็นอย่างมาก จึงเริ่มนำเอาตำนานที่ได้อ่านมาเขียนเป็นนวนิยายเรื่องยาว เรื่องแรกชื่อ ‘เลือดโยนก’ ลงพิมพ์ในนิตยสาร สารานุกูล อย่างต่อเนื่อง นับเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องแรกๆ ของไทยเลยก็ว่าได้

แผ่นดินเลือด

ความสำเร็จของ เลือดโยกนก ทำให้ครูชุ่มเขียนนวนิยายในแนวตำนานอิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเหนือออกมาอีกหลายเรื่อง เช่น เศวตฉัตรน่านเจ้า, เอื้องแซะเมืองนาย, เจ้าหมื่นด้งนคร เป็นต้น ที่สร้างชื่อเสียงให้มากที่สุดคือ ขุนพลกาฬสิงห์ ที่มีความยาวถึง ๑๓๘ เล่มจบ

เอื้องแซะเมืองนาย

ที่ ขุนพลกาฬสิงห์ โด่งดังและคนอ่านชอบมาก เพราะพระเอกเป็นวีรบุรุษที่เก่งกล้า ตัวละครในเรื่องมีการใช้เวทมนตร์คาถาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มากการต่อสู้ชิงไหวชิงพริบคล้ายนวนิยายจีนกำลังภายใน สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ถึงกับขนานนามนวนิยายแนวนี้ว่า “จินตนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทย”

 เศวตฉัตรน่านเจ้า เรื่องราวของอาณาจักรน่านเจ้าที่ยิ่งใหญ่ในอดีต

แต่ถึงแม้จะเป็นนวนิยาย หากเนื้อหาประวัติศาสตร์นั้นมีความแม่นยำมาก ตั้งแต่ลำดับเหตุการณ์สำคัญที่กิดขึ้น ไปจนถึงตำแหน่งที่ตั้งของอาณาจักร

นิตยสารสารานุกูล

นวนิยายของ ‘ลพบุรี’ ได้รับการพิมพ์ออกมาเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มเล็กๆ โดยสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ เรียกกันว่านวนิยายเพลินจิตต์ฉบับกระเป๋า ช่วงที่นิยมมากๆ ครูชุ่มต้องเขียนนวนิยายพร้อมกันหลายเรื่อง และใช้นามปากกาอื่นๆ เพิ่มเติมคือ พรหมมาศ, เมืองละโว้ และศรทอง ซึ่งทั้งหมดมีความหมายเกี่ยวข้องกับเมืองลพบุรีทั้งสิ้น

จนกระทั่งนวนิยายฉบับกระเป๋าเริ่มเสื่อมความนิยมลง สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ปิดตัวไปใน พ.ศ. 2507 ครูชุ่มเลยหยุดเขียนนวนิยายไปหลายปี จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2512 จึงกลับมาเริ่มเขียนงานอีกครั้ง แต่คราวนี้จะเน้นเขียนเป็นบทความ สารคดีเชิงตำนานของสถานที่ต่างๆ วัดในภาคเหนือ และตำนานท้องถิ่น ไม่ได้กลับไปเขียนวนิยายอีกเลย

ลพบุรี เสียชีวิตลงเมื่อปี พ.ศ. 2530 อายุได้ 90 ปี ด้วยโรคชรา

ปัจจุบัน นวนิยายของท่านหาอ่านได้ยากแล้ว แต่ทุกคนที่ได้อ่านจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ความที่เป็นเรื่องย้อนอดีตไปไกลหลายร้อยปี จึงทำให้ทุกเรื่องเป็นนวนิยายที่อมตะ ไม่ล้าสมัย และยังคงอ่านกันได้จนถึงปัจจุบัน

Don`t copy text!