Soylent Green

Soylent Green

โดย : ภาสกร ศรีศุข

Loading

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

ผู้กำกับ : Richard Fleischer

ผู้อำนวยการสร้าง : Walter Seltzer, Russell Thacher

ผู้เขียนบท : Stanley R. Greenberg

อ้างอิงจากนวนิยายเรื่อง Make Room! Make Room! โดย Harry Harrison

นักแสดง : Charlton Heston, Leigh Taylor-Young, Edward G. Robinson

ดนตรีประกอบ : Fred Myrow

ผู้กำกับภาพ : Richard H. Kline

ผู้ตัดต่อ : Samuel E. Beetley

Soylent Green เป็นภาพยนตร์ปี 1973 ว่าด้วยโลกอนาคตที่ประชากรล้นโลก อาหารขาดแคลน จนต้องเอามนุษย์มาผลิตเป็นอาหาร

หนังถูกดัดแปลง (แบบหลวมๆ) จากนิยายเรื่อง Make Room! Make Room! ของ Harry Harrison (แม้เนื้อในหลายอย่างจะไม่เหมือนนักก็ตาม) ตัวหนังก็ออกแนวสืบสวนสไตล์โลกอนาคต บ้านเมืองในหนังดูแปลกตาไม่เหมือนโลกปัจจุบันเท่าไร ที่ว่าแปลกตาก็เพราะแม้หนังจะบอกว่าประชากรล้นโลก แต่หลายฉากดูโล่งโถงไร้ความหนาแน่นของผู้คน ดูเผินๆ อาจเหมือนหนังทำพลาดลืมใส่ตัวประกอบลงไป แต่จริงๆ แล้วผู้เขียนคิดว่าการทำแบบนั้นกลับเป็นผลดี ทำให้คนดูสัมผัสได้ถึงความน่าสงสัย ซึ่งไปๆ มาๆ ฉากที่ดูโล่งไร้ผู้คนนั้นกลับทำให้อารมณ์ลึกลับมันมากขึ้น และช่วงท้ายก็ได้อารมณ์ชวนขนลุกอีกต่างหาก

ผู้เขียนว่าหนังน่าติดตามดี ช่วงต้นอาจดูเรื่อยๆ บ้างและมีจังหวะอืดเป็นพักๆ ตามสไตล์หนังเก่าๆ แต่โดยรวมแล้วหนังมีปมเกี่ยวกับคดีให้เราคิดตามอยู่เรื่อยๆ หยอดลงมาเลี้ยงให้คนดูเกิดอารมณ์ติดตามเป็นระยะ ซึ่งจุดที่เป็นพลังดึงคนดูอย่างหนึ่งก็ต้องยกให้ Heston ขานี้เล่นหนังได้หายห่วง แต่ที่ต้องชื่นชม ปรบมือ และคารวะก็คือ Edward G. Robinson ที่เล่นบทเป็นเพื่อนของพระเอกที่มาทีไรก็ดึงความสนใจได้เรื่อยๆ

บทสรุปของหนังจะว่าไปก็ชวนตกอกตกใจเอาเรื่อง โดยเฉพาะที่มาที่แท้จริงของ ‘ซอยเลนต์ กรีน’ เวเฟอร์สีเขียวประทังหิวเหล่านั้น

หนังสะท้อนความจริงที่เราควรตระหนัก เพราะเรื่องประชากรเพิ่มขึ้นจนล้นโลกนั้นก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด ขนาดทุกวันนี้ประชากรยังไม่ถึงขั้นล้นแต่ทรัพยากรของโลกก็ร่อยหรอลง ธรรมชาติก็แปรปรวนอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสิ่งที่เรากระทำต่อโลก จนโลกต้องปรับตัว และสุดท้ายคนที่โดนผลลัพธ์เต็มๆ ก็คือมนุษย์อย่างเรานี่แหละ (รวมถึงสัตว์โลกและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกด้วย)

หนังเรื่องนี้อายุปาเข้าไปเกือบ 50 ปี แต่เรื่องที่เล่านั้นก็ยังร่วมสมัยครับ เพราะปัญหาประชากร, ทรัพยากรธรรมชาติ หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ยังมีให้เห็น แต่ถ้าถามว่าจากวันนั้นถึงวันนี้มันมีความเปลี่ยนแปลงในด้านดีหรือร้ายก็คงต้องบอกว่าแล้วแต่คนมอง การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีนั้นก็มี (คนมีจิตสำนึกต่อธรรมชาติมากขึ้น, องค์กรเพื่อโลกมากขึ้น) หรือจะมองว่ามันไม่เปลี่ยนเลยก็ได้ (เพราะคนที่ยังไม่ใส่ใจธรรมชาติก็ยังมีหรือคนที่ตั้งหน้ากอบโกยจากธรรมชาติก็ยังอุดมอยู่)

แต่ผู้เขียนก็อยากมองในด้านดีว่าอย่างน้อยถ้าโลกไม่ถึงกับมีแต่คนเห็นแก่ตัวจนไม่เหลือคนที่พยายามช่วยโลกอยู่เลย มันก็ยังพอมีความหวัง เพราะคนที่พยายามทำสิ่งดีก็ยังมี คนที่ได้รับรู้แนวคิดดีๆ และนำไปคิดต่อนำไปปฏิบัติต่อก็ยังพอมี

ในมุมหนึ่งบทสรุปเกี่ยวกับ ‘ที่มาของซอยเลนต์ กรีน’ มันก็สมเหตุผลน่ะนะ เมื่อโลกประชากรล้น เมื่อโลกมีปัญหาเรื่องทรัพยากร แล้วจะให้ทำอย่างไรเพื่อมอบทางออกให้กับโลก

ทางหนึ่งก็คือบทสรุปของหนังนั่นแหละ

ผู้เขียนเลยมองว่าจุดจบของหนังนั้นก็เป็นการเตือนมนุษย์อยู่กลายๆ นั่นละ

ไหนๆ มีคนเตือนแล้ว ก็ควรฟังควรคิดต่อกันสักหน่อยนะ อย่าให้เรื่องจริงมันตรงกับในหนังเลย… เอ หรือมันกำลังจะเกิดขึ้นหนอ

Don`t copy text!