Close Encounters of the Third Kind

Close Encounters of the Third Kind

โดย : ภาสกร ศรีศุข

Loading

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

*************************

ผู้กำกับ : Steven Spielberg

ผู้อำนวยการสร้าง : Julia Phillips, Michael Phillips

ผู้เขียนบท : Steven Spielberg

นักแสดง : Richard Dreyfuss, Teri Garr, Melinda Dillon, François Truffaut

ดนตรีประกอบ : John Williams

ผู้กำกับภาพ : Vilmos Zsigmond

ผู้ตัดต่อ : Michael Kahn

 

Roy Neary ช่างไฟฟ้าอาศัยอยู่ที่รัฐ Indiana แต่งงานกับภรรยา Ronnie มีบุตรทั้งหมดสี่คน ค่ำคืนหนึ่งระหว่างขับรถบนท้องถนน พบเจอเหตุการณ์ลึกลับ มีแสงสว่างจ้าสาดส่องลงมาจากฟากฟ้า สิ่งของโน่นนี่นั่นในรถขยับเคลื่อนไหวเองได้ จึงรีบเร่งออกติดตามจนครุ่นคิดเข้าใจว่าพบเห็น UFO เกิดความหมกมุ่นครุ่นคิดจนไม่เป็นอันกินอันนอน จนภรรยาและลูกๆรับไม่ได้ต้องหลบหนีออกจากบ้าน

ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์ที่ทำให้ค้นพบมนุษย์ต่างดาว แต่ยังมีจิตใจของคนที่มีความมุ่งมั่นศรัทธาอันแรงกล้า ชีวิตไม่ปรารถนาสิ่งอื่นใด ซึ่งอาจมีเพียงบุคคลเดียวเท่านั้นได้รับโอกาสออกเดินทางสู่โลกใบหน้า อาณาจักรของมนุษย์ต่างดาว

มนุษย์ต่างดาวในบริบทของ Close Encounters of the Third Kind สามารถครุ่นคิดตีความได้ครอบจักรวาลมากๆ ซึ่งหัวข้อที่ผู้ชม/นักวิจารณ์นิยมเปรียบเทียบกันคือพระผู้เป็นเจ้า และพระเอกของเรื่องมีสถานะไม่ต่างจากโมเสส

เท่าที่ผู้เขียนไล่อ่านความคิดเห็นไม่ชอบหนังเรื่องนี้ ส่วนใหญ่บ่นกันจังว่าดูไม่ค่อยเข้าใจ เรื่องราวกระโดดไปมาชวนให้มึนงงสับสน แถมพฤติกรรมสุดอลวนของพระเอก ต้องคลุ้มคลั่งเสียสติขนาดนั้นเชียวหรือ

Close Encounters of the Third Kind อารัมภบทด้วยหมอกฝุ่นจากทะเลทราย Sonoran Desert มองอะไรไม่ค่อยเห็นเทียบได้กับองค์ความรู้ของมนุษย์ต่อจักรวาล อยู่ดีๆ ก็พบเครื่องบินรบที่สาปสูญหายไปตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง สะท้อนได้ถึงการปรากฏตัวไม่มีปี่ขลุ่ยของมนุษย์ต่างดาวที่เดินทางมาถึงโลก

สิ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบสุดของอารัมภบทนี้คือการจบฉากด้วยพายุฝุ่นเข้าปกคลุมนักแสดง David Laughlin นักทำแผนที่ที่จับพลัดจับผลูกลายเป็นนักแปลภาษา… ว่าไปภาพลักษณ์ของพี่แกดูคล้าย Steven Spielberg อยู่ไม่น้อย (ผู้เขียนคิดว่านี่อาจเป็นการเทียบแทนตนเองของ Spielberg ในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นได้!)

ช็อตที่เมื่อ Roy Neary รับโทรศัพท์ สังเกตว่าทุกคนในครอบครัวด้านหลังจะมีความเบลอๆ ไม่คมชัดหรืออยู่ในสายตาและความสนใจของเขาสักเท่าไหร่

เมื่อตอนอยู่บ้าน Roy Neary ให้ลูกชายแก้ปัญหาเศษส่วนด้วยการเล่นกับรถไฟของเด็กเล่น ปรากฎว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมันเกือบๆ เกิดขึ้นในชีวิตจริง แค่ว่าไม่ใช่รถไฟที่เกือบคร่าชีวิตเขา แต่คือยานอวกาศ/จานบินที่ส่องแสงลงมาสว่างจ้าจากเหนือศีรษะ ระยะใกล้เกินกว่า 500 เมตรอย่างแน่นอน นี่สามารถเรียกได้ว่า Close Encounters of the Second Kind

ใบหน้าครึ่งหนึ่งของ Roy Neary ถูกแผดเผาด้วยลำแสงแห่งศรัทธา สะท้อนถึงความลังเลไม่แน่ใจ เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง… จริงๆ ก็เชื่อเต็มร้อยเพราะเห็นกับตา แต่พอไม่สามารถพิสูจน์ให้กับภรรยาและลูกๆ ได้ จึงเกิดความหมกมุ่นยึดติด ต้องการคำตอบหรือข้อเท็จจริง สิ่งที่ฉันเห็นด้วยตามันจริง-เท็จประการใด

ลักษณะท้องฟ้าช่วงขณะที่ Barry ถูกลักพาตัว ผู้กำกับ Spielberg มีความจงใจให้ดูเหมือน Angel of Death ที่ปรากฎในภาพยนตร์เรื่อง The Ten Commandments ค่ำคืนที่เด็กแรกเกิดชาวอิยิปต์จะสูญเสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุ

ความหมกมุ่นคลุ้มคลั่งของ Roy Neary ทำให้เขาค่อยๆ สูญเสียศรัทธาและความเชื่อมั่นจากภรรยา (ผู้ไม่เชื่ออะไรสักอย่าง) และลูกๆ ด้วยการใช้เทคนิค Deep Focus ช็อตที่พบเห็นเด็กชายร่ำร้องไห้ แต่คนเป็นพ่อกลับเพิกเฉยไม่สนใจ

เอเลี่ยนก่อนหน้าการมาถึงของภาพยนตร์เรื่อง Alien คือคำเรียกบุคคลที่ไม่ใช่พรรคพวกเดียวกับตนเอง มีความแตกต่างทางเชื้อชาติพันธุ์ ไม่สามารถพูดคุยสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ

ซึ่งนอกจากนัยยะสิ่งมีชีวิตต่างดาวและการมาถึงของพระเจ้า เอเลี่ยนในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับการตีความถึงคนผิวสี, อิสตรี, สหภาพโซเวียต (ซึ่งกำลังทำสงครามเย็น/แข่งขันแก่งแย่งพื้นที่บนอวกาศอยู่ขณะนั้น) และข้อเท็จจริงบางสิ่งอย่างที่ได้รับการปกปิด(จากรัฐบาล)

มนุษย์ทุกคนล้วนมีความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ว่าจะสูง-ต่ำ ดำ-ขาว เพศชาย-หญิง หรือแม้แต่มนุษย์-ต่างดาว เพราะถ้าสามารถสื่อสารกันรู้เรื่องด้วยภาษา จะคำพูด ท่วงท่า ภาษามือ ท่วงทำนองดนตรี หรือแม้แต่สมการทางคณิตศาสตร์ ย่อมสื่อถึงสติปัญญาที่สูงส่งเหนือกว่าเดรัจฉาน

แต่แปลกที่คนเราเมื่อพบเจอบุคคลแปลกหน้า แรกเริ่มมักแสดงออกราวกับเขาเป็นเอเลี่ยนต่างดาว มองด้วยสายตาดูถูกเหยียดหยาม ครุ่นคิดจินตนาการว่าตนเองสูงส่งเลิศล้ำเลอค่ากว่า ใคร่เพียงแสวงหากอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน มีแค่เพียงบางคนเท่านั้นที่เอาความบริสุทธิ์จริงใจหันหน้าเข้าหากัน

Close Encounters of the Third Kind จะว่าไปมีลักษณะภาพยนตร์แนวชวนเชื่อ ไม่ใช่การมีตัวตนของเอเลี่ยนต่างดาวหรือพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น แต่คือความเชื่อมั่นศรัทธาในผู้อื่น อันจะนำมาซึ่งความเสมอภาคเท่าเทียมของทุกสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่แค่พรรคพวกเพื่อนพี่น้องร่วมชาติเดียวกัน ต่างด้าว-ต่างดาว เพศชาย-หญิง หรือแม้เด็ก-ผู้ใหญ่ (และสรรพสัตว์น้อยใหญ่) เมื่อโลกทั้งใบสามารถครุ่นคิดแสดงออกเช่นนั้นได้ ทั้งห้วงจักรวาลคงยินดีพูดคุยติดต่อสื่อสารกับเรา

สำหรับผู้เขียนแล้ว ใจความของหนังไม่ใช่การประสบพบเจอกับมนุษย์ต่างดาวหรืออะไร แต่คือความพยายามในการขวนขวายไขว่คว้าเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบข้อเท็จจริงของชีวิต ซึ่งหลังจากการหมกมุ่นครุ่นยึดติด เสียสละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ในที่สุดก็สามารถเข้าถึงสัจธรรมแห่งโลก และได้รับโอกาสออกเดินทางมุ่งสู่โลกหน้า/สรวงสวรรค์ชั้นฟ้า

ผู้กำกับ Steven Spielberg นอกจากรสนิยมชื่นชอบส่วนตัวในเรื่องอวกาศ จักรวาลและสิ่งมีชีวิตต่างดาว สิ่งที่เขาหมกมุ่นยึดติดคือการพิสูจน์ตัวเอง เติมเต็มความเพ้อฝันและยอมรับจากคนอื่น… ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าได้ตอบสนองครบถ้วนทุกสิ่งทุกอย่าง และสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ชมกับตัวเขาเองได้สำเร็จอีกด้วย

สิ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบที่สุดในหนังคือความกระหึ่มอลังการของยานแม่ นี่ตั้งแต่ตอนรับชมครั้งแรกแม้ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง พอถึงฉากนี้ปุ๊ปก็อึ้งทึ่ง ตะลึงงัน อ้าปากค้าง แค่ในจอโทรทัศน์ยังสัมผัสได้ขนาดนี้ ถ้ามีโอกาสในโรงภาพยนตร์ไม่พลาดอย่างแน่นอน

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่
Don`t copy text!