Belle de Jour

Belle de Jour

โดย : ภาสกร ศรีศุข

Loading

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

************************

ผู้กำกับ : Luis Buñuel

ผู้อำนวยการสร้าง : Henri Baum, Robert and Raymond, Hakim

ผู้เขียนบท : Luis Buñuel, Jean-Claude Carrière

อ้างอิงจากนวนิยายเรื่อง Belle de Jour โดย Joseph Kessel

นักแสดง : Catherine Deneuve, Jean Sorel, Michel Piccoli

ผู้กำกับภาพ : Sacha Vierny

ผู้ตัดต่อ : Louisette Hautecoeur

คืออย่างที่เห็นตามเนื้อเรื่องคือ เซเวอรีน นางเอกของเรื่องนั้น มีชีวิตที่ดี มีสามีที่น่าจะสมบูรณ์แบบ แต่เธอกลับยังไม่ยอมมีอะไรกับสามีของเธอทั้งๆ ที่ก็อยู่กินกันมาเป็นปี และอยู่ๆ เธอก็ไปหาอนาอิส แม่เล้าที่ซ่องแห่งหนึ่งเพื่อไปเป็นโสเภณี ซึ่งเรื่องราวแบบนี้ย่อมสร้างความงุนงงให้ใครก็ตามที่รับรู้ แน่นอนว่ารวมถึงคนดูอย่างเราๆ ด้วย

บุนเยลแทรกภาพสั้นๆ สองครั้งที่สะท้อนมโนสำนึกของเซเวอรีนที่สื่อถึงอดีตของเธอกับอีกสองสามครั้งที่เป็นเสมือนสิ่งที่เกิดใน ‘จิตใต้สำนึก’ ของเธอ

ภาพสั้นๆ ที่ว่าคือภาพเด็กหญิงกำลังถูกชายวัยกลางคนลูบคลำและจูบเธอโดยที่เธอยืนนิ่งและอีกภาพคือภาพของเด็กหญิงคนเดียวกันกำลังทำพิธีศีลมหาสนิทในโบสถ์ซึ่งเธอปฏิเสธการรับขนมปัง ซึ่งเด็กคนนี้ก็คือเซเวอรีนตอนเด็ก มันสื่อว่าเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศมาตั้งแต่เด็กและนั่นเองที่ทำให้เธอนั้นรู้สึก ‘สกปรก’ จนเธอไม่อาจที่จะรับขนมปังในพิธีได้ แต่เมื่อเธอมีคนรัก เธอก็ยังรู้สึกว่าเธอ ‘สกปรก’ เกินกว่าจะมีสัมพันธ์กับผู้ชายคนนี้หรืออีกนัยหนึ่งเธออาจจะรู้สึก ‘รังเกียจ’ การมีเพศสัมพันธ์ก็เป็นได้ แต่ไม่ว่าจะทางใดมันก็จะทำให้เธอย้อนไปในวัยเด็กซึ่งเธอเป็นเด็กที่ ‘สกปรก’ เธอจึงระงับเรื่องราวเหล่านั้น และการที่เธอนึกภาพเหตุการณ์ในตอนต้นเรื่อง (เหตุการณ์ที่นั่งรถม้ากับปิแอร์) มันก็คือการที่เธอมีจินตนาการเกี่ยวกับความต้องการทางเพศของเธอไปในทางที่เธอถูกลงโทษซึ่งก็ปะปนไปด้วยความพึงพอใจ มันก็เป็นตัวสะท้อนภาพที่เธอมองตัวเองว่า ‘สกปรก’ และสมควรถูกลงโทษ (อีกภาพที่เธอถูกสาดโคลน นั่นก็ยิ่งชัดเจน)

แต่เมื่อเธอได้ยินเรื่องของคนรู้จักของเธอที่ไปทำงานเป็นโสเภณี เธอก็ดูจะเกิดความรู้สึกปั่นป่วน เป็นไปได้ว่ามันได้กระตุ้นประสบการณ์ในวัยเด็กขึ้นมา สิ่งที่เคยถูกระงับไว้ก็ถูกกวนให้ขึ้นมาในจิตสำนึก ซึ่งซ่องอาจจะเป็นที่เดียวที่เธอรู้สึกว่า ‘เหมาะ’ กับเธอ

อย่างที่ฟรอยด์บอก มนุษย์ต่างก็มีแรงขับอยู่ในจิตใต้สำนึกทั้งสิ้น ทั้งแรงขับทางเพศและแรงขับต่อความก้าวร้าว แน่นอนว่าเซเวอรีนก็มีแรงขับทางเพศ เพียงแต่แรงขับทางเพศของเธอไม่สามารถถูกแสดงออกแบบธรรมดาได้ เธอไม่อาจยอมรับความปรารถนาทางเพศตามปกติได้เพราะเธอมองว่าเธอไม่สมควรได้รับ เธอต่ำเตี้ยและสกปรกโสโครกกว่านั้น ซ่องจึงเป็นพื้นที่ที่แรงขับทางเพศของเธอได้รับการตอบสนองอย่างน่าพึงพอใจสำหรับเธอ

อีกประการคือคนเราจะมีความรู้สึกสับสนต่อเรื่องเพศ คือมีทั้งความรู้สึกพึงพอใจและความรู้สึกรังเกียจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีวัยเด็กที่เคยถูกกระทำทางเพศมาก่อนจะยิ่งมีความรู้สึกเช่นนี้รุนแรงมากกว่าคนทั่วๆ ไป ดังนั้นการทำงานในซ่องของเธอจึงเป็นที่ที่ทั้งตอบสนองแรงขับทางเพศของเธอและเป็นที่ที่ลงโทษเธอไปด้วย (โดยการเป็นโสเภณี ถูกร่วมเพศโดยขัดขืนไม่ได้และบางครั้งก็รุนแรง)

ยิ่งกว่านั้นเมื่อเธอได้เจอผู้ชายคนหนึ่งที่มาเที่ยวซ่อง เธอก็รู้สึกถูกใจและหลงใหลชายผู้นี้เป็นพิเศษ ทั้งๆ ที่เมื่อเทียบกับสามีของเธอแล้วก็ดูไม่มีอะไรที่จะเทียบได้ นี่ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของเซเวอรีนว่าต่ำต้อยเพียงใด

จุดที่น่าสนใจคือเมื่อถึงตอนท้ายของเรื่อง ชายที่มาติดพันเซเวอรีนที่ซ่องก็ได้พยายามฆ่าปิแอร์จนปิแอร์พิการ ส่วนชายคนนั้นก็ถูกตำรวจยิงตาย เพื่อนของปิแอร์ที่ชื่ออูซง (ซึ่งเป็นคนที่พูดถึงสถานที่ ‘ซ่อง’ ที่เขาเคยไปจนเซเวอรีนสนใจและไปรับแขกที่นั่น) ซึ่งรู้ว่าเซเวอรีนไปทำงานซ่องก็มาหาปิแอร์และบอกความจริงเกี่ยวกับเซเวอรีนให้ปิแอร์รู้ เราไม่รู้ว่าอูซงได้บอกจริงๆ หรือไม่ แต่ในฉากต่อมาปิแอร์ก็เดินได้ และเสียงรถม้าที่ปรากฏตอนต้นเรื่องก็ปรากฏขึ้นมา ทำให้คิดได้ว่าไม่ว่าปิแอร์จะรู้ความจริงหรือไม่ แต่เซเวอรีนก็เข้าใจเช่นนั้นและเธอก็ต้องการที่จะถูกลงโทษให้สาสมอย่างที่เห็นตอนต้นเรื่องนั่นเอง (เหมือนบ่วงที่เกิดซ้ำ) ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเธอเคยบอกปิแอร์ว่าเธอไม่เห็นรถม้าอีกแล้ว

 

Don`t copy text!