My Fair Lady

My Fair Lady

โดย : ภาสกร ศรีศุข

Loading

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

 

ผู้กำกับ : George Cukor

ผู้อำนวยการสร้าง : Jack L. Warner

ผู้เขียนบท : Alan Jay Lerner

อ้างอิงจาก My Fair Lady โดย Alan Jay Lerner และ Pygmalion โดย George Bernard Shaw

นักแสดง : Audrey Hepburn, Rex Harrison, Stanley Holloway, Wilfrid Hyde-White, Gladys Cooper

ดนตรีประกอบ : Frederick Loewe, Alan Jay Lerner

ผู้กำกับภาพ : Harry Stradling

ผู้ตัดต่อ : William H. Ziegler

ศาสตราจารย์หนุ่มโสดผู้เชี่ยวชาญภาษาทั่วโลกพนันกับเพื่อนคู่หูว่าเขาจะทำให้เอไลซา ดูลิตเติล หญิงขายดอกไม้ข้างถนน กลายเป็นสุภาพสตรีชั้นสูงเพรียบพร้อมด้วยกิริยาและภาษาอังกฤษชั้นเลิศ ความสำเร็จดีเกินคาด แม้แต่ลูกศิษย์ชั้นยอดของศาสตราจารย์ก็ยังเข้าใจผิด คิดว่าเธอเป็นเจ้าหญิงต่างแดนผู้สมบูรณ์แบบอย่างไม่มีใครเทียบ

เธอพอใจความสำเร็จตามที่ใฝ่ฝันแต่แล้วกลับรู้สึกสับสนในอนาคตของตนเอง คนคุ้นเคยย่านตลาดถิ่นเก่าไม่มีใครจำได้ ขณะที่พ่อขี้เมาต้องเผชิญปัญหาการใช้ชีวิตใหม่ภายใต้กรอบ ‘ศีลธรรมของชนชั้นกลาง’ อย่างจำยอม

เอไลซาตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่กับหนุ่มผู้ดีคนหนึ่งที่ยอมรับที่มาของเธอได้ แต่แล้วความรู้สึกที่ซ่อนลึกในใจทำให้เธอต้องกลับมาหาศาสตราจารย์ในที่สุด

แม้เรื่องราวของ ‘สำเนียง’ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความสนุกสนาน จนทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากมายและเป็นที่รู้จักของทุกคนมาจนถึงทุกวันนี้ แต่เรื่องของสำเนียงก็ยังสะท้อนให้เราเห็นตัวอย่างของการใช้ความรุนแรงทางอ้อมหรือความรุนแรงเชิงโครงสร้างในหนังเรื่องนี้อย่างชัดเจน ความรุนแรงเชิงโครงสร้างคืออะไร มันคือความรุนแรงทางอ้อมที่ไม่ได้ทำให้ใครเจ็บตัวหรือเสียชีวิตในทันที แต่ทำให้เขาเจ็บตัวหรือตายแบบผ่อนส่ง ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดระเบียบสังคมหรือโครงสร้างสังคมที่ทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งเอาเปรียบใช้อำนาจต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองครอบงำวิถีทางดำเนินชีวิตของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ทำให้กลุ่มคนที่ถูกเอาเปรียบไม่มีงานทำหรือมีงานทำที่ได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าที่จำเป็นในการครองชีพหรือในการที่จะมีสุขภาพอนามัยที่ดี ซึ่งในที่นี้ก็คือการที่นางเอกเอไลซาถูกปิดกั้นโอกาสทางอาชีพอย่างที่ไม่ควรจะเป็นเพราะสำเนียงการพูดของเธอ ทำให้เธอไม่สามารถไปเป็นพนักงานขายของในร้านได้ แต่กลับต้องมาขายดอกไม้ตามถนน มีชีวิตที่อัตคัดขัดสน

นอกจากนี้เธอยังได้รับการดูถูกว่าไม่มีการศึกษา และถูกหัวเราะเยาะจากฮิกกินส์ แต่เอไลซาก็เป็นตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมจำนนต่อความรุนแรงเชิงโครงสร้างนี้ เธอจึงได้ตัดสินใจเดินทางไปขอให้ฮิกกินส์สอนเธอพูดภาษาอังกฤษอย่างถูกต้อง จากจุดนี้เราเห็นได้ว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้างนั้นทำให้ผู้ที่ถูกกระทำรู้สึกทุกข์ใจเพียงใด จนไม่สามารถทนอยู่เช่นนั้นต่อไปได้ นับว่าเป็นโชคดีที่นางเอกเลือกที่จะนำตัวเองพ้นออกมาจากจุดนั้นโดยการหาความรู้ให้กับตัวเองคือฝึกปรับปรุงตัวเองเสียใหม่ ซึ่งในที่สุดเธอก็ทำสำเร็จ แต่หากคิดในมุมกลับถ้าเอไลซาถูกกระทำเช่นนั้นทุกวันๆ ได้รับการดูถูกเหยียดหยามจากคนในชนชั้นที่สูงกว่า จนเธอจนตรอกและเลือกที่จะใช้ความรุนแรงเพราะทนไม่ได้อีกต่อไป ใครจะรู้ว่าฮิกกินส์ หนึ่งในผู้ที่ยังทำให้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างยังดำรงอยู่ต่อไปด้วยการดูถูกผู้อื่นและแบ่งแยกชนชั้นอาจจะถูกเอไลซาลอบทำร้ายด้วยความแค้นใจก็เป็นได้ และตอนจบของหนังเรื่องนี้ก็คงเปลี่ยนไปไม่ใช่น้อย

เราได้เห็นแล้วว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้างไม่ว่าจะเป็นการแบ่งชนชั้น การเหยียดดูถูกชนชั้นที่ต่ำกว่าจากสำเนียง เสื้อผ้าการแต่งกาย นำไปสู่การปิดกั้นโอกาสทางอาชีพ ฯลฯ นั้นนำมาซึ่งความทุกข์ต่อผู้ที่ถูกกระทำทั้งสิ้น แม้การกระทำเหล่านี้จะไม่ได้เป็นการใช้ความรุนแรงหรือทำร้ายร่างกายพวกเขาโดยตรงก็ตาม ซึ่งหากผู้ถูกกระทำถูกกดมานานจนถึงจุดที่ทนไม่ไหวก็อาจจะทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงต่อสู้กลับก็เป็นได้เพราะไม่มีสิ่งใดจะเสีย และจะทำให้สังคมนั้นขาดซึ่งความสงบสุขและสันติภาพ ดังนั้น ความรุนแรงเชิงโครงสร้างจึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับการปรับปรุงและแก้ไขไม่ให้มีอยู่ต่อไป โดยวิธีที่ดีที่สุดก็คือการให้ความรู้ให้การศึกษาเพื่อผู้ที่ถูกกระทำจะได้ตระหนักว่าตนถูกกระทำและลุกขึ้นปกป้องสิทธิ์ของตนเองต่อไป รวมไปถึงเราทุกคนต้องไม่เป็นผู้ที่สนับสนุนให้ความรุนแรงนี้มีอยู่โดยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงเชิงโครงสร้างทั้งอย่างที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

Don`t copy text!