Andrei Rublev

Andrei Rublev

โดย : ภาสกร ศรีศุข

Loading

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

************************

Andrei Rublev

ผู้กำกับ : Andrei Tarkovsky

ผู้เขียนบท : Andrei Konchalovsky, Andrei Tarkovsky

ผู้อำนวยการสร้าง : Tamara Ogorodnikova

นักแสดง : Anatoly Solonitsyn, Ivan Lapikov, Nikolai Grinko, Nikolai Sergeyev, Nikolai Burlyayev, Irma Raush

ผู้กำกับภาพ : Vadim Yusov

ผู้ตัดต่อ : Tatyana Egorycheva, Lyudmila Feiginova, Olga Shevkunenko

ดนตรีประกอบ : Vyacheslav Ovchinnikov

Andrei Rublev เป็นพระในศาสนาคริสต์แบบรัสเซีย (ออร์โธดอกซ์) มีชีวิตอยู่ในราว พ.ศ. 1900-1970 (ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา) มีหลักฐานว่าเขาเป็นคนวาดภาพในวิหารที่มอสโก นอกจากนั้น Andrei Rublev ยังวาดภาพที่โด่งดังและถือกันว่างดงามที่สุดในจำนวนจิตรกรรมยุคกลางคือภาพ ‘Trinity’ ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Tretyakov ในกรุงมอสโคว

ไม่ใช่แค่ชื่อเหมือนกัน แต่ยังมีเรื่องราวชีวิต จิตวิญญาณศิลปิน และความเชื่อศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ทำให้ปรมาจารย์ผู้กำกับ Andrei Tarkovsky ระบายวาดภาพจิตรกรเอกชาวรัสเซีย Andrei Rublev ราวกับภาพยนตร์อัตชีวประวัติของตนเอง

การรับชมครั้งนี้ยังรู้สึกได้ว่าเป็นจริงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเจ็ดเรื่องราวแรกมิอาจเทียบเท่าตอนสุดท้าย วินาทีที่ระฆังดังกึงก้องกังวาล ใครอยู่แห่งหนไหนจักต้องหันหน้าชายตามองมาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

อารัมภบทบวกกับเจ็ดตอนแรกของหนังไม่ใช่ว่ามีความห่วยบรมประการใด คือทุกตอนต่างมีความยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบในตัวเอง แต่เรื่องราวความน่าสนใจเมื่อเทียบบทสรุปสุดท้ายมีความแตกต่างห่างชั้นระดับฟ้ากับเหว กระนั้นไม่ขอแนะนำให้กระโดดข้ามไปดูที่ 45 นาทีสุดท้ายเลยนะ ฝึกความอดทนค่อยเป็นค่อยไป แผดเผามอดไหม้ตกอยู่ในขุมนรกสักพักหนึ่งก่อน พอฟื้นคืนชีพจักได้พบเห็นคุณค่าของชีวิตและความไร้ที่ติของภาพยนตร์เรื่องนี้โดยทันที

ระฆัง ไม่ใช่แค่สำหรับเคาะบอกชั่วโมงยาม แต่ยังคือเสียงของ ‘ความหวัง’ ศูนย์รวมจิตใจทุกผู้คนที่ได้ยินได้ฟัง มันช่างมีความลึกลับพิศวง ไพเราะงดงามราวกับท่วงทำนองจากสรวงสวรรค์ ซึ่งก็ไม่แค่มนุษย์เท่านั้นจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบสนองสิ่งนี้

ความสนใจของ Andrei Tarkovsky ต่อ Andrei Rublev ไม่ใช่แง่มุมผลงาน อัตชีวประวัติ หรือพื้นหลังประวัติศาสตร์ แต่กำลังต้องการทดลองเชื่อมโยงตนเองเข้ากับตัวละคร สร้างความสัมพันธ์ นำเสนอพัฒนาการความคิด อิทธิพลแรงบันดาลใจ และความเชื่อศรัทธาต่อพระเจ้า ซึ่งเรื่องราวส่วนใหญ่ถือว่าเป็นการปรุงแต่งสร้างสรรค์ขึ้น (อ้างอิงจากแค่ยุคสมัยพื้นหลังและบางตัวละครที่มีจดบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์)

เรื่องราวของหนังแบ่งออกเป็นแปดตอนบวกกับอารัมบท/ปัจฉิมบท นำเสนอช่วงชีวิตของจิตรกร Andrei Rublev ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 15 (ค.ศ. 1400-1424) อันส่งผลกระทบกลายเป็นอิทธิพล แรงบันดาลใจ ต่อการรังสรรค์ผลงานวาดภาพฝาผนังตามโบสถ์วิหารทั่วกรุงมอสโก

Andrei Rublev เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ‘Iconic’ ศิลปินจากยุคกลาง ทำให้ชาวรัสเซียต่างมีภาพจินตนาการแตกต่างกันไป การเลือกนักแสดงมีชื่อหน้าคุ้นเคย ผู้ชมคงไม่จดจำตราตรึงสักเท่าไหร่ ตัวเลือกนักแสดงที่ยังไม่เคยผ่านผลงานภาพยนตร์ใดๆ ถือว่าประสบความสำเร็จน่าเชื่อถือมากๆ เพราะนั่นกลายเป็นภาพลักษณ์ติดตัว และการแสดงออกทางใบหน้าราวกับภาพวาดผลงานศิลปะของ Andrei Rublev อย่างยิ่งยวดเลยล่ะ

ก็ไม่เพียงแค่ภาพลักษณ์เท่านั้นนะ สิ่งที่ต้องชมเลยสำหรับนักแสดงที่ไม่มีชื่อที่ Andrei Tarkovsky เลือกมาคือวิวัฒนาการทางอารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมาผ่านสีหน้าสายตา มีความหลากหลายเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ที่ตราตรึงสุดคือช็อตสุดท้ายของหนัง เขานั่งลงโอบกอดเด็กชายหนุ่มแล้วพูดเสียงสั่นๆ พร้อมคราบน้ำตา

สไตล์ Tarkovsky มักเน้นถ่ายทำลองเทกเคลื่อนติดตามตัวละคร หรือไม่ก็หมุนรอบทิศทาง 360 องศา (ลักษณะคล้ายพู่กันตวัดกวัดไกว) ปรับโฟกัสเบลอ-ชัด เล่นระยะใกล้-ไกล สองสิ่งคู่ขนานเกิดขึ้นพร้อมกันแต่มักอยู่คนละฟากฝั่งหรือทิศทางตรงกันข้าม และช่วงท้ายพบเห็นการใช้เครน/เฮลิคอปเตอร์ เพื่อขยายขอบเขตมุมมองให้มีความยิ่งใหญ่อลังการ ทิวทัศนียภาพพื้นหลังกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา

การเลือกถ่ายทำด้วยฟิล์มขาว-ดำ ไม่เพียงสะท้อนมุมมองต่อโลกอันโหดร้ายของ Andrei Rublev แต่เพื่อมิให้ผลงานศิลปะอันทรงคุณค่า (ของ Rublev) ถูกมองข้ามไม่ได้สนใจ (เพราะภาพสีทุกสิ่งทุกอย่างจะดูกลมกลืนไปเสียหมด) เว้นไว้เพียงปัจฉิมบทช่วงท้าย เมื่อบรรดาภาพวาดชิ้นเอกปรากฏสีสันขึ้นมา มันจึงมีความงดงาม ตราตรึง ขนลุกขนพองอย่างที่สุด

ในช่วงอารัมบท ชายชื่อ Yefim ต้องการท้าพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าตนเองสามารถได้รับอิสรภาพโบยบินบนฟากฟ้าเหมือนดังนกกา แต่บอลลูนนั้นหนามิได้ตระเตรียมการอะไรสำหรับร่อนลง นั่นคงเป็นราคาแห่งความทะเยอทะยานที่ ‘ศิลปิน’ ต้องแลกมา

วินาทีที่ Yefim ตกลงพื้น ตัดภาพไปที่ม้ากำลังนอนกลิ้งเกลือกแบบสโลว์โมชัน เป็นสัญลักษณ์ของชีวิต อิสรภาพ และการเริ่มต้นออกเดินทาง ส่งต่อถึง Andrei Rublev (และผู้กำกับ Andrei Tarkovsky)

เริ่มต้นองก์แรก แนะนำสามจิตรกรที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันตัดไม่ขาด (ตั้งแต่ต้นจนจบ) กำลังออกเดินทางท่ามกลางผืนแผ่นดินชนบทรัสเซีย แล้วอยู่ดีๆ ห่าฝนก็สาดเทลงมา ชีวิตพานพบเจอสิ่งไม่คาดฝันอยู่เสมอๆ

สามจิตรกรต่างมีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม Andrei Rublev เป็นนักสังเกตการณ์ มีมนุษยธรรมสูงส่ง ชื่นชอบการค้นหาความดีในตัวคน โหยหาแรงบันดาลใจ แต่เต็มไปด้วยความใคร่สงสัย ขลาดหวาดกลัวต่อภัยไม่อาจคาดเดา

Daniil ชีวิตผ่านอะไรมามากจึงเกิดความเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย ขี้เกียจคร้าน แม้มีฝีมือเป็นที่โปรดปราน แต่ก็ไม่มีอะไรสามารถปรับเปลี่ยนแปลงมุมมอง โลกทัศนคติส่วนตัวได้โดยง่าย (ตัวละครได้แรงบันดาลใจจากจิตรกร Daniel Chorny)

Kirill เป็นคนไร้ฝีมือ ไร้ชื่อเสียงโด่งดัง แม้มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ แต่นิสัยขี้อิจฉาและหลงตนเอง ทำให้เห็นผิดเป็นชอบ ครุ่นคิดตัดสินใจอะไรผิดพลาดโดยง่าย

ตัวตลกมีคำเรียกภาษารัสเซียว่า Skomorokh นักแสดงที่สามารถร้องรำทำเพลง เล่นดนตรี ทำได้ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเรียกเสียงหัวเราะขบขัน แต่ขณะเดียวกันก็ชอบล้อเลียน เสียดสี ศาสนา ขุนนาง พระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ถูกจับกุม ลงโทษ โดยเฉพาะจาก Russian Orthodox Church จนแทบหมดสิ้นสูญพันธุ์ในศตวรรษที่ 17

ทิศทางการกำกับการถ่ายภาพของ Sequence นี้ สังเกตว่ากล้องจะเคลื่อนหมุน 360 องศา ติดตาม Skomorokh ไปรอบๆ กระต๊อบ สะท้อนถึงความเห็นแก่ตัวของตัวตลกนี้ “โลกต้องหมุนรอบตัวเขา”

หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่า Kirill ไปแจ้งความจับตัวตลกต่อทางการตอนไหน คือช็อตเล็กๆ นี้ที่ Andrei Rublev มองผ่านช่องแคบๆ เล็ก พบเห็นไกลๆ และด้านนอกฝนยังตกพรำๆ นั่นเอง

ฉากที่เมื่อเจ้าหน้าที่ทางการกำลังเดินเข้าไปในบ้านเพื่อจับกุมตัวตลก สังเกตชายขี้เมาสองคนด้านนอกกำลังต่อสู้ หยิบไม้/ขวาน พยายามขว้างใส่กันแต่ไม่โดนสักที และจังหวะนี้ตั้งท่าอย่างดิบดีดันไปติดพันต้นไม้ขวางหน้าเสียอย่างนั้น นี่เป็นการสะท้อนการปกครองยุคสมัยนั้น สามัญชนไม่อาจเอื้อมไขว่คว้า สู้รบปรบมือต่อเจ้าหน้าที่/ชนชั้นนำได้

เมื่อตัวตลกถูกเจ้าหน้าที่ทางการจับกุม ไม่มีใครในกระต๊อบหลังนี้ (รวมถึงผู้ชม) ล่วงรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา ภาพถ่ายผ่านประตูสะท้อนถึงมุมมองของผู้คน คับแคบต่อสิ่งที่พบเห็น เต็มไปด้วยความใคร่พิศวงสงสัย

Witches’ Sabbath คือพิธีกรรมชุมนุมของคนนอกศาสนา ไม่เชื่อถือในพระเจ้า ใช้ชีวิตด้วยอิสรภาพเสรี สังเกตการถ่ายทำ Sequence นี้ ใช้กล้องแพนติดตามตัวละครกำลังเดินวิ่งเคลื่อนไปฝั่งซ้าย Andrei Rublev พบเห็นเกิดความใคร่สนใจ แต่วินาทีนั้นเดินๆ อยู่ไม่ทันมองไฟลุกติดเสื้อผ้า นี่เป็นสัญลักษณ์ของเพลิงราคะ ราวกับพระผู้เป็นเจ้ากำลังหักห้ามตักเตือนไว้มิให้อยู่นาน เพราะมันอาจลุกลามเคลิบเคลิ้มคล้อยตามจนมิสามารถควบคุมตนเองได้ นัยยะของทิศทางการเคลื่อน/แพน กล้องเคลื่อนทางซ้าย สวนทางกับความถูกต้อง กล้องเคลื่อนทางขวา ทิศทางของความถูกต้อง

การที่ Andrei Rublev ถูกจับหมัดตรึงกางเขนเหมือนพระเยซูคริสต์ อาจมีนัยยะเปรียบเทียบถึงการทำงานของเขา คือผู้เผยแพร่ศาสนา หลักคำสอนสั่งพระเจ้า บุตรแห่งพระเจ้า… ไม่แตกต่างกัน

การโต้ถกเถียงระหว่าง Andrei และ Daniil สถานที่คือทุ่งดอกไม้ มันช่างสวยงามกว้างใหญ่ แต่จิตใจของเขากลับหมกมุ่นครุ่นคิดมาก ไม่ต้องการวาดภาพ The Last Judgment ที่โหดร้าย แต่ Andrei Rublev ก็เคยวาดภาพ The Last Judgment (1408) อยู่ที่ Assumption Cathedral, Vladimir

ผู้เขียนละฮากริบกับฉากนี้ เมื่อ Grand Prince ไม่พึงพอใจกับสถาปัตยกรรมที่นายช่างออกแบบมาให้ แต่เพราะรับงานอื่นมาแล้ว เลยมิสามารถแก้ไข ซึ่งระหว่างกำลังอุ้มบุตรชาย ถูกเขาตบตีหน้าใช้ความรุนแรงใส่… ประมาณว่า พ่อ! เลิกเห็นแก่ตัวเถอะ

ความเกรี้ยวกราดโกรธของ Andrei Rublev ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับสถาปนิก ทำให้เขาสาดเทสีใส่ผนังสี จิตใจแปดเปื้อนด้วยความสกปรกโสมม ความชั่วร้ายของโลกใบนี้ ขอให้เด็กชายอ่านข้อความจากไบเบิล และสิ่งทรงคุณธรรมสุดของเขา คือรับเลี้ยงดูแล Durochka ตัวตลกสาวที่ทั้งโง่และใบ้

ลึกๆ ผู้เขียนรู้สึกว่าการรับเลี้ยงดูแล Durochka เพื่อชดใช้ความผิดที่ Andrei Rublev ไม่สามารถช่วยเหลือสาวนอกรีตผู้นั้นได้… แต่ความรู้สึกมันเทียบแทนกันได้จริงหรือ

ฉากอื่นๆ ที่ดูเหมือนมีการใช้ความรุนแรงต่อสัตว์ ล้วนเป็นจัดฉากขึ้นยกเว้นเพียงวินาทีนี้ เพราะผู้กำกับ Tarkovsky ต้องการสะท้อนสิ่งชั่วร้าย ภัยจากสงคราม ซึ่งม้าผู้โชคร้ายตัวหนึ่งที่ซื้อจากโรงฆ่าสัตว์ คือมันกำลังจะต้องตายจริงๆ นะแหละ เลยไม่ตะขิดตะขวง ศีลธรรมมโนธรรมสูงส่งประการใด

การฆ่าม้าจริงๆ และ Andrei Rublev ถูกบีบบังคับให้ต้องสังหารทหารผู้ชั่วร้ายสะท้อนถึงสภาพจิตใจของเขาขณะนั้นว่า ‘ตายทั้งเป็น’ สูญสิ้นความเชื่อศรัทธา แรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานใดๆ เหตุนี้เลยกระทำการลงทัณฑ์ทรมานตนเอง ตั้งสัตย์สาบานปิดปากไม่ขอพูดคุยกับใครอีก ซึ่งคนสุดท้ายที่สนทนาด้วยคือ Theophanes the Greek

Kirill หวนกลับมาในสภาพทรุดโทรม แก่เฒ่า และน้ำเสียงแหบแห้ง ขณะนี้กำลังพูดคุยกับ Andrei Rublev แม้ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ (สะท้อนความเย็นยะเยือกที่อยู่ภายใน) พบเห็นหยิบนำเอาก้อนหินเผาไฟ สะท้อนถึงจิตใจยังลุ่มร้อนหมกมุ่นครุ่นต่อการกระทำของตนเอง ไม่สามารถปล่อยวางอดีตอันเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานได้

Boriska เด็กชายหนุ่ม บุตรของนักหล่อระฆัง ช็อตแรกของเขาพบเห็นหาง/ตูดม้า สะท้อนถึงความตกต่ำไร้ค่า ไม่มีตัวตนในสายตาผู้อื่น ไก่ส่งเสียงขับขานยามเช้า ปลุกให้ตื่น บอกโมงยาว บ่งบอกถึงเวลาลุกขึ้นทำอะไรเพื่อตัวตนเองเสียที

แรกเริ่มคือค้นหาสถานที่สำหรับขุดดิน มันจะมีวินาทีที่ Boriska เหม่อมองท้องฟ้า กล้องค่อยๆ เคลื่อนขึ้นมุมสูงน่าจะด้วยเครน ราวกับพระผู้เป็นเจ้ากำลังทอดสายตามองลงมา

การพบเจอดินเหนียวสำหรับปั้นระฆังเป็นความบังเอิญขณะฝนตก (ฟ้าประทาน) ใช้รองเท้าขว้างจากนั้นลื่นไถลตกลงมาเบื้องล่าง สะท้อนได้ถึงสิ่งทรงคุณค่าสุด(ของการทำระฆัง) ไม่ได้อยู่สูงส่งค่ำฟ้า แต่คือรองเท้าและดินจากบริเวณต่ำต้อยด้อยค่าที่สุด (ในสายตามนุษย์)

ช็อตต่อมาเป็นการนำเข้ามุมมองของ Andrei Rublev น่าจะครั้งแรกที่พบเห็น Boriska ทั้งๆ ลื่นไถลจากเนินสูงขนาดนั้นยังพยายามดิ้นรนตะเกียกตะกาย สร้างความพิศวงสงสัย ดึงดูดความสนใจเขาอย่างยิ่งยวดเลยล่ะ

กล่าวคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับหนุ่มน้อยคนนี้ สะท้อนอะไรหลายๆ อย่างถึงตัวเขา แรกเลยก็การตกจากที่สูงเท่ากับว่าเคยมากด้วยความเชื่อศรัทธาแรงกล้า ปัจจุบันไร้เรี่ยวแรงหมดสูญสิ้นทุกสิ่งอย่าง

กลับตาลปัตรกับเมื่อตะกี้ ครานี้ Andrei Rublev มองจากมุมสูงลงมาในหลุมขุดเพื่อหลอมระฆัง พบเห็น Boriska แม้เต็มไปด้วยความเหนื่อยล้าใกล้หลับ แต่กลับไร้ความยินยอมพ่ายแพ้ต่อสิ่งใด

ระหว่างกำลังเริ่มเผาไหม้หลอมเครื่องเงิน จะมีเหตุการณ์คู่ขนานเกิดขึ้น เมื่อตัวตลกจากตอนแรก หวนระลึกจดจำ Andrei Rublev ครุ่นคิดเข้าใจว่าบาทหลวงผู้นี้นี่แหละที่ส่งมอบตนเองต่อเจ้าหน้าที่ทางการ ติดคุกหัวโตหลายปี แถมโดนตัดลิ้นหายไปครึ่งหนึ่ง… แล้วนั้น Kirill เข้ามาห้ามปราม คุกเข่าไหว้วานลงทัณฑ์ที่ตนเถอะ

ในมุมมองของตัวตลก ยินยอมให้อภัยเพราะคิดเห็นว่าไม่ใช่ความผิดของ Kirill แต่พอข้อเท็จจริงได้รับการเปิดเผยออก มันกลายเป็นความตลกขบขันไม่ออก ที่คุกเข่าขอให้ลงทัณฑ์ เพราะตนเองนี่แหละเป็นคนกระทำ!

ฉากที่ Kirill สารภาพทุกสิ่งทุกอย่างต่อ Andrei Rublev สังเกตว่าทั้งสองรายล้อมรอบด้วยควันไฟ ของเปลวเพลิงที่มอดไหม้หมดแล้ว หลงเหลือเพียงขี้เถ้า… สะท้อนถึงสารภาพบาปต่อสิ่งที่เป็นอดีต กาลเวลาเคลื่อนผ่านไปแล้ว ซึ่งก็พบว่ามันไม่ใช่เรื่องจะแค้นเคืองโกรธ

การกระทำนี้ของ Kirill ทำให้ Andrei Rublev เกิดความตระหนักได้ถึงทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อเกิดขึ้นผ่านไปแล้วก็หลงเหลือแค่ความทรงจำ จะมัวนำเอาอารมณ์ความรู้สึกนั้นมาหมกมุ่นดั่งเปลวไฟคุกรุ่นอยู่ทำไม

ภาพช็อตนี้คือมุมมองต่อ Grand Prince แม้ประชาชนต่างคุกเข่าก้มหัว แต่การสร้างระฆังใบนี้มองเห็นผ่านช่องแคบๆ หลังจากแก่งแย่งชิงเมืองนี้มา ก็เท่านี้ละนะความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้คน

ความตึงเครียดกดดันของ Boriska ทำให้เขาเดินควักไขว่ไปมารอบๆ ระฆัง ระหว่างบาทหลวงกำลังทำพิธีสมโภชระฆัง ไม่สามารถอยู่นิ่งยืนสงบ

วินาทีที่ระฆังดังขึ้น เป็นภาพของ Andrei Rublev หันหน้ามาพานพบเห็นกับ Durochka ในชุดขาวแม่ชี กำลังเดินลากม้า ทั้งหมดนี้ส่อถึง Andrei Rublev ได้ค้นพบหนทางสว่าง เสียงจากสวรรค์ บอกว่ายกโทษให้อภัยทุกสิ่งแล้วมา ยกเลิกสัตย์สาบานไม่ปริปากพูดคุย และหวนกลับไปทำงานวาดภาพฝาผนังเสียทีเถอะนะ

สุดท้ายแล้วทั้ง Andrei Rublev และ Boriska ต่างนั่งคลุกอยู่กับดิน พูดให้กำลังใจเพื่อให้สามารถลุกขึ้นก้าวเดินต่อไปข้างหน้า กระทำสิ่งทรงคุณค่าต่อมวลชน (ไม่ใช่ชนชั้นผู้นำ เท้าไม่เคยเปื้อนดิน)

กล้องเคลื่อนจากชายสองวัย ไล่มาจนถึงเท้า และมาสิ้นสุดยังกองเพลิงมอดไหม้ สะท้อนถึงอดีตที่กำลังเคลื่อนผ่านไป และค่อยๆ แปรสภาพสู่ภาพวาดผลงานของ Andrei Rublev มีสภาพรอยแตกร้าวไม่ต่างกัน

บทเพลงในหนังเรื่องนี้สะท้อนถึงจิตวิญญาณอันล่องลอยของ Andrei Rublev ความเชื่อศรัทธาที่แม้ตั้งมั่นแต่กำลังค่อยๆ สั่นคลอน หลังจากประสบพบเหตุการณ์เลวร้ายมากมายจนหมดสูญสิ้นเรี่ยวแรงบันดาลใจ ถึงกระนั้นตราบเท่าที่ยังมีชีวิตลมหายใจ โอกาสและความหวังย่อมหวนคืนกลับมาหา ซึ่งพอตั้งใจเงี่ยหูสดับฟังเลยรับรู้เข้าใจว่าเป้าหมายสิ่งนิรันดรนั้นมีเพียงสรวงสวรรค์หนึ่งเดียว

สาสน์สาระอันทรงคุณค่าของหนังอยู่ตอนสุดท้าย มันอาจคือความบังเอิญ/โชคดีที่ชายหนุ่มสามารถหล่อหลอมทำระฆังได้สำเร็จ แต่ชีวิตมันก็ประมาณนี้มิใช่หรือ เรียนรู้ ทดลองผิดๆ ถูกๆ หาคำตอบทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเอง ไม่เช่นนั้นจะสามารถเกิดความเข้าใจ ได้รับการยอมรับเฉกเช่นไร

Don`t copy text!