Ivan’s Childhood
โดย : ภาสกร ศรีศุข
นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์ “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์
************************
ผู้กำกับ : Andrei Tarkovsky
ผู้เขียนบท : Vladimir Bogomolov, Andrei Konchalovsky, Mikhail Papava
อ้างอิงจากเรื่องสั้นเรื่อง Ivan โดย Vladimir Bogomolov
นักแสดง : Nikolai Burlyayev, Valentin Zubkov, Evgeny Zharikov, Stepan Krylov, Nikolai Grinko
ดนตรีประกอบ : Vyacheslav Ovchinnikov
ผู้กำกับภาพ : Vadim Yusov
ผู้ตัดต่อ : Lyudmila Feiginova
เรื่องราวเกิดขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณชายแดนแนวรบทางตะวันออก ระหว่างกองทัพของสหภาพโซเวียตกับเยอรมนี เด็กชายที่สูญเสียครอบครัวในระหว่างสงคราม เขาต้องการทำทุกอย่างเพื่อล้างแค้นเยอรมนี แต่สิ่งที่เขาทำได้คือเป็นแค่สายลับสอดแนมตามแนวชายแดน แต่นั่นคือหน้าที่ของเด็กหรือ
Ivan’s Childhood เป็นหนังที่ผู้เขียนให้ความสนใจมาสักพักหนึ่งแล้ว เพราะมักได้รับการพูดถึงว่ามีความยิ่งใหญ่ในระดับที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้หนังสงครามเรื่องอื่นๆ อาทิ The Deer Hunter, Apocalypse Now และ Come and See หรือแม้แต่ผู้กำกับดังในประเทศรัสเซียเองอย่าง Sergei Parajanov หนังเรื่องนี้ถือเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้าง The Color of Pomegranates ในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เหมือนดั่งที่ Tarkovsky สร้างรูปแบบ Tarkovskian ของตนเองขึ้นมา
ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นชื่อ Ivan เขียนโดย Vladimir Bogomolov ในปี 1957 ได้รับการแปลมากถึง 20 ภาษา สมัยนั้น สตูดิโอผู้สร้าง Mosfilm จึงได้ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงแล้วมอบหมายให้ Mikhail Papava เขียนบทภาพยนตร์ ซึ่ง Papava ได้ทำการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวจากเรื่องสั้นนี้พอสมควร สร้างให้ Ivan มีความเป็นวีรบุรุษ และเปลี่ยนแปลงตอนจบ เขาตั้งชื่อหนังใหม่ว่า Second Life ซึ่ง Eduard Abalov ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับ และเปิดกองถ่ายทำไปแล้วเกือบครึ่งทาง เมื่อนำตัวอย่างไปฉายให้นักวิจารณ์และหน่วยงานต่างๆ ดู ก็ถูกตำหนิติเตียนในทิศทางการกำกับที่ไม่น่าพอใจ ทำให้ Mosfilm สั่งหยุดการถ่ายทำแล้วไล่ Abalov ออก Tarkovsky หลังจากได้ยินข่าวก็ยื่น Resume ต่อ Mosfilm หลังเรียนจบจาก VGIK ซึ่งหลังจากสตูดิโอได้เห็นผลงานหนังสั้นที่เขาทำเป็นโปรเจกต์จบก็เลยตัดสินใจเสี่ยง ให้เป็นผู้สานต่องานกำกับหนังเรื่องนี้ด้วยเงื่อนไขที่ว่าจะต้องใช้งบประมาณแค่ครึ่งหนึ่งของทุนสร้างเดิม (คือเงินจำนวนที่เหลืออยู่จากทุนสร้างเดิมของหนัง และพวกเขาไม่ต้องการเสียเงินเพิ่มอีกกับหนังเรื่องนี้อีก) นี่ถือเป็นงานท้าทาย Tarkovsky อย่างมาก วัดดวงไปเลยว่าถ้าทำแล้วออกมาดี โอกาสในอาชีพสายนี้ก็จะสดใส ถ้าออกมาเลวก็อาจได้จบสิ้นกัน
หลังจาก Tarkovsky ได้อ่านบทของ Papava ก็ไม่ค่อยประทับใจนัก เขาให้ Vladimir Bogomolov เข้ามาช่วยแก้ไขเรื่องราว ปรับเปลี่ยนอะไรต่างๆ มากมาย เขาไม่อยากให้ผู้ชมมองว่า Ivan คือวีรบุรุษ แต่คือเด็กที่มีปัญหา และตอนจบตัดสินใจที่จะกลับไปยึดตามต้นฉบับของเรื่องสั้นที่เป็นยังไงผู้เขียนไม่ขอเปิดเผยนะ เอาว่าคือผลลัพธ์ชะตากรรมของ Ivan หลังสงครามจบ หลายคนอาจคาดเดาได้ว่าเป็นยังไง แต่ให้ไปเห็นวิธีการนำเสนอของหนังเองดีกว่า แล้วจะรู้สึกว่าน่าทึ่ง มีชั้นเชิงมากๆ
Vadim Yusov เพื่อนสนิทที่ได้ถ่ายหนังเรื่องที่เป็นโปรเจกต์เรียนจบด้วยกันกับ Tarkovsky คงเพราะทุนสร้างที่จำกัด จึงไปเกลี้ยกล่อมเพื่อนสนิทให้ร่วมเป็นร่วมตายกัน ด้วยค่าตัวถูกๆ งานภาพของ Yusov ในหนังเรื่องนี้กับแนวทางของ Tarkovsky ได้เปิดโลกทัศน์และมุมมองใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์ โดยเฉพาะการถ่ายภาพธรรมชาติ ที่ดูแล้วอาจไม่ได้มีความหมายอะไรต่อหนัง แต่มีความรู้สึก บรรยากาศ และแฝงด้วยความหมายเชิงอภิปรัชญา รวมทั้งชีวิต โลก และสิ่งเหนือธรรมชาติ ยกตัวอย่าง ภาพในโปสเตอร์หนังที่ผู้เขียนเลือกมา ให้ความรู้สึก คล้ายไม้ชี้ไปที่เด็กชาย เปรียบเหมือนความแหลมคมของปลายดาบ (ความทรงจำและโลกที่โหดร้าย) พุ่งแทงเข้าไป ตั้งใจจะทำร้ายเด็กชาย
หนังเรื่องนี้มีทั้งฉากที่เป็นโลกความจริงและฉากที่เป็นเหมือนความฝัน เปิดมาฉากแรกเชื่อว่าผ่านไปสักพักใครๆ ก็น่าจะคาดเดาได้ว่านั่นคือความฝัน ในโลกแห่งนี้ มันมีภาพที่ฝืนธรรมชาติ สวยงามเกินจริง มีการเคลื่อนกล้องที่ดูโอเวอร์ (บางครั้งเหมือนลอยได้) ภาพพื้นหลังแปลกๆ และการกระทำบางอย่างที่ดูผิดปกติ นี่คือโลกในความฝัน สำหรับโลกความจริง บรรยากาศ โทนสีจะดูอึมครึม มืดครึ้ม สกปรกโสโครก เห็นแล้วเจ็บปวด รวดร้าว แหลมคม และหาความสวยงามแทบไม่ได้
ฉากที่ถ่ายในสวนต้นเบิร์ช ให้ความรู้สึกที่ประหลาดมาก คือภาพมันเหมือนความฝันแต่ซีนนี้คือโลกความจริง การแสดงออกของตัวละคร มีการเกี้ยวพาราสีหญิงสาว มันเหมือนพวกเขากำลังฝันกลางวันอยู่ จุดเด่นของฉากนี้คือฉากจูบที่ถ้าสังเกตดีๆ กล้องจะเคลื่อนลงเล็กน้อย ถ่ายมุมเงย เป็นภาพที่ผู้เขียนมองเห็นเป็นเหมือนหัวลูกศร (ผู้ชายยืนแยกขาเป็นหัวลูกศร และผู้หญิงที่สักพักเธอหยุดแกว่ง จะลอยในอ้อมกอดของผู้ชายเป็นเส้นตรง) นี่เป็นสัญลักษณ์แสดงทิศทาง ถ่ายระหว่างคันดินสองฝั่ง (ความจริงกับความฝัน) ถ้าต้องเลือกระหว่างความจริงกับความฝันล่ะ จะเลือกอะไรดี
ความยาว 94 นาที นี่ถือเป็นหนังที่สั้นที่สุดของ Tarkovsky (ผู้กำกับคนนี้ขึ้นชื่อเรื่องทำหนังยาวที่สุดและช้าที่สุด) ด้วยเหตุนี้มันจึงมีความสั้น กระชับ และรัดกุมอย่างคาดไม่ถึง สำหรับคนที่ไม่ชอบความอืดอาดในหนังของ Tarkovsky ถ้าได้ดู Ivan’s Childhood คงหาข้ออ้างบ่นว่าหนังยืดยาด เยิ่นเย้อ ยืดยาวไม่ได้แล้วนะ ลองเอาเวลาสั้นๆ นี้ไปคิดวิเคราะห์หาความหมายเชิงปรัชญาในแต่ละฉากดู ผู้เขียนเห็นอยู่เต็มไปหมดตระการตาจนขี้เกียจคิดตามเลยล่ะ ให้ความเข้าใจมันซึมซาบผ่านผิวหนังเข้าไป ผู้เขียนคิดว่ามันจะดูสนุกกว่าคิดแบบเอาเป็นเอาตายที่อาจทำให้คุณได้ตายจริงๆ เลยก็ได้
สำหรับ Tarkovsky หนังเรื่องนี้พยายามสื่อว่าอดีตสำคัญและจับต้องได้มากกว่าปัจจุบัน นี่เขาหมายถึงพื้นฐานของทุกสิ่งมีชีวิตที่กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ล้วนผ่านช่วงเวลาที่เรียกว่าอดีต และสิ่งที่ขัดเกลาตัวตน วิถี แนวคิด รูปแบบ ทัศนคติ ก็ล้วนมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตทั้งสิ้น เมื่อพูดถึงมนุษย์ ความสนใจของ Tarkovsky คือการค้นหาช่วงเวลาที่สูญหายไป ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาเล็กๆ ที่ทำให้ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของมนุษย์ถูกเจือปน
ผู้เขียนจะขอพูดถึงทั้ง 4 ความฝันของ Ivan นะ เพราะมันได้สะท้อนอะไรหลายๆ อย่างออกมาด้วย ฝันแรก นำเสนอความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของ Ivan เขาเป็นเด็กที่ชอบการไล่จับผีเสื้อ ชื่นชมความพิศวงของใยแมงมุม วิ่งเท้าเปล่าในทุกหญ้า และพูดกับแม่ว่า ‘Mum, there’s a cuckoo!’ ความฝันจบที่ Ivan กำลังล่องล่อยอยู่บนอากาศ ก่อนตกลงมาตื่นขึ้นด้วยเสียงระเบิด กลับคืนสู่โลกความเป็นจริง การสนทนาระหว่าง Ivan ในตอนต้นเรื่อง แสดงให้เราเห็นว่า เขาไม่มีความสนใจที่จะกลับสู่โลกของวัยเด็กอีกต่อไป (แม้เขาก็ยังคงฝันถึงมันอยู่เรื่อยๆ ก็เถอะ)
ฝันที่สอง ในบ่อน้ำแห่งหนึ่ง ระหว่างความจริงกับความฝัน (จุดสูงสุดและจุดต่ำสุด) ผู้เขียนคิดว่าด้านบนของบ่อน้ำแทนด้วยอดีตความฝันของ Ivan ส่วนด้านล่างแสดงถึงปัจจุบันความจริงที่เขาประสบอยู่ ครั้งหนึ่งแม่ของ Ivan อธิบายถึงดวงดาวที่ตลอดเวลายังส่องแสงอยู่ แม้ในเวลากลางวันหรือค่ำคืนที่มืดมิดที่สุด ดวงดาวนี้เปรียบได้กับความหวัง ซึ่งหลังจากที่แม่เสียชีวิต (ด้านบนของบ่อน้ำ) ความหวังของเขาได้สูญสิ้นมลายหายไป
ฝันที่สาม Ivan และน้องสาวนั่งอยู่บนหลังรถบรรทุกที่เต็มไปด้วยแอปเปิ้ล ในช่วงสงครามอาหารเป็นสิ่งหายาก แต่ในความฝันนี้กลับมีแอปเปิลเต็มไปหมด ภาพหลังของฉากเป็นภาพเนกาทีฟ (ภาพสีสลับด้าน) นี่แสดงถึงความตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง Ivan ยื่นแอปเปิลให้น้องสาว แต่เธอปฏิเสธถึง 3 ครั้ง (นี่เป็นเหมือนลางสังหรณ์ว่าอาจมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น) และสุดท้ายเกิดอุบัติเหตุแอปเปิลตกกระจัดกระจายเต็มหาด พวกเขาไม่ได้กิน เป็นม้าที่ได้อิ่มท้อง (ม้าคือสัตว์สัญลักษณ์ประจำตัวของ Tarkovsky มีปรากฏอยู่ในหนังของเขาทุกเรื่อง แฝงหมายความว่ายังไงลองคิดดูเองนะ)
ฝันสุดท้าย ต่อเนื่องจากฝันที่สาม Ivan และน้องสาววิ่งเล่นกันที่หาด มีแม่ยืนดู ยิ้มอยู่ห่างๆ นี่แสดงถึงความสุข สงบสันติ ตอนจบ Ivan แซงเด็กหญิงแล้วยังวิ่งต่อไปเรื่อย จนเกือบชนต้นไม้ต้นหนึ่ง (ต้นไม้ที่น่าจะตายแล้ว) ภาพเหมือนจะหกล้มแล้วตัดขึ้น The End นี่มองได้ว่าคือชะตากรรมของ Ivan ด้วย ที่สุดท้ายเขาล้มลง…
ในบรรดาฉากความฝันทั้งสี่นี้ เปรียบเสมือนฉากในความฝันที่แสดงถึงความทรงจำสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของ Ivan เราจะเห็นว่า Ivan อยากมีวัยเด็กที่เต็มไปด้วยความสุข บริสุทธิ์ และความหวัง แต่เพราะการมาของสงคราม ทำให้เขาสูญเสียแม่และครอบครัว ได้เห็นความโหดร้ายของสงคราม ทำให้เขาตัดสินใจกลายเป็นตัวละครที่มีค่าในสงคราม นี่เราไม่สามารถมองว่าเขาเป็นวีรบุรุษผู้รักชาติได้เลย แต่คือคนที่กร้านโลก ไม่มีอะไรให้เกรงกลัว ไม่มีอะไรจะสูญเสีย เขาไม่ฟังคำใครทั้งนั้น ไม่มีใครเปลี่ยนใจเขาได้ เป้าหมายเขามีอย่างเดียวคือแก้แค้น ผู้เขียนเชื่อว่าแม้สงครามจบแต่ Ivan ไม่จบแน่นอน ต้องกลายเป็นบ้าหรือสติมีปัญหาเมื่อโตขึ้นแน่ๆ หรือไม่ก็มีอีกหนทางที่เป็นทางออกได้
ในหนังเรื่องนี้ Tarkovsky ได้สร้างทฤษฎีทางภาพยนตร์ขึ้นมาที่ชื่อ ‘Sculpting in Time’ อธิบายง่ายๆ คือเวลาการดำเนินเรื่องในหนังไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่จะต้องไหลลื่นต่อเนื่อง เราสามารถกำหนดให้อะไรจะเกิดขึ้นก่อนหลัง สลับซ้ายขวา กระโดดหน้าถอยหลัง ยืดหด ยังไงก็ได้ นี่มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมเกิดสัมผัสในเวลาว่าเวลาผ่านไป สูญเสียไป และมีความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่เกิดขึ้น เทคนิคนี้เกิดขึ้นในกระบวนการตัดต่อเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งแช่ภาพทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน (ให้รู้สึกว่าเวลาผ่านไปนานแล้ว) ตัดต่อแบบกระโดดข้าม (รู้สึกว่าเวลาสูญเสียไปแป๊บเดียว) และบางครั้งก็ตัดสลับไปมา อดีตปัจจุบัน (ให้เห็นความสัมพันธ์ของเวลา)
สำหรับฉากความฝันสุดท้ายที่ใครๆ ต่างก็ถกเถียงกัน มันแสดงให้เห็นชัดเลยว่าไม่ใช่ความฝันของ Ivan แน่ๆ แต่กลับมี Ivan อยู่ในนั้น ทำไมกัน คนทั่วไปคงมองว่าฉากนี้คือการทำให้รู้สึกเหมือน ภาพแฟนตาซี Happy Ending ของหนัง หรือนั่นคือสรวงสวรรค์ของ Ivan สำหรับคนที่บ้าหนังเรื่อง Inception สักหน่อยก็จะมองกลับกันว่านี่คือโลกความจริงและโลกอันโหดร้ายนั่นคือความฝัน ผู้เขียนมองฉากนี้ว่าคือจินตนาการของผู้กำกับต่อความฝันของ Ivan หลังจากสงครามจบ นี่คือสิ่งที่ Ivan ต้องการมากที่สุด (ในความฝันของเขา)
ในบรรดาหนังของ Tarkovsky ผู้เขียนคิดว่า Ivan’s Childhood เป็นหนังที่ย่อยง่าย เข้าใจง่ายที่สุดแล้ว เพราะหนังมีความกระชับรัดกุมและตรงไปตรงมาที่สุด ไม่ต้องคิดวิเคราะห์อย่างหนักก็สามารถเข้าใจเรื่องราว ซึมซับบรรยากาศ เห็นความสวยงามของหนังได้ไม่ยาก แต่ถ้าได้คิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ก็จะเห็นความสวยงามในอีกรูปแบหนึ่ง นี่คงถือเป็นการลองผิดลองถูกครั้งแรกของ Tarkovsky เขามีข้อจำกัดมากมายในการสร้างหนังเรื่องนี้ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาถือว่าไม่ธรรมดา สำหรับหนังเรื่องนี้ ผู้เขียนไม่ให้คะแนนเต็ม เพราะคิดว่าหนังยังมีหลายๆ จุดที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้ และ Tarkovsky เองก็ยังไม่พอใจกับผลลัพธ์ของหนัง ถ้าเราพอใจกับสิ่งที่มีแค่นี้ ผู้เขียนก็มองว่าเป็นการลบหลู่ Tarkovsky ทางใดก็ทางหนึ่งนะ
- READ Gangubai Kathiawadi
- READ In the Mood for Love
- READ Pain and Glory
- READ Singin’ in the Rain
- READ Sonic the Hedgehog
- READ The Invisible Man
- READ The Meg
- READ Unhinged
- READ Exit
- READ Encanto
- READ Sky of Love
- READ Still Human
- READ The Curse of the Weeping Woman
- READ The Nun
- READ Yesterday
- READ Rocketman
- READ Ocean’s 8
- READ Greenland
- READ Bird Box
- READ Hula Girls
- READ The Outpost
- READ It Happened One Night
- READ Joker
- READ Soylent Green
- READ My Fair Lady
- READ The Babadook
- READ The Bride Wore Black
- READ There will be Blood
- READ Waterloo Bridge
- READ The Arrival of a Train at La Ciotat
- READ The Philadelphia Story
- READ Brief Encounter
- READ Incident in a Ghostland
- READ Dolemite Is My Name
- READ I Kill Giants
- READ As Good as It Gets
- READ Belle de Jour
- READ Andrei Rublev
- READ The Climb
- READ Monster Hunter
- READ The Conjuring : The Devil Made Me Do It
- READ Cruella
- READ A Woman Under the Influence
- READ Ivan’s Childhood
- READ Loki
- READ Repulsion
- READ The Tenant
- READ Chinatown
- READ Promising Young Woman
- READ Rosemary’s Baby
- READ The Man Who Fell to Earth
- READ Tom and Jerry
- READ Walkabout
- READ Harold and Maude
- READ Comrades: Almost a Love Story
- READ The Killing of a Chinese Bookie
- READ Being There
- READ Burning
- READ Better Days
- READ The Poseidon Adventure
- READ Don’t Look Now
- READ The Manchurian Candidate
- READ Midnight Cowboy
- READ The Firm
- READ Ammonite
- READ Charlie Wilson’s War
- READ Soul
- READ Tootsie
- READ Close Encounters of the Third Kind
- READ Dog Day Afternoon
- READ Crazy Rich Asians
- READ 1917
- READ Closer
- READ The Shining (1980)
- READ We Are X
- READ Last Christmas
- READ Breakfast at Tiffany’s
- READ Call Me by Your Name
- READ The Impossible
- READ Gravity
- READ The Last Five Years
- READ The Eight Hundred
- READ A Beautiful Day in the Neighborhood