Brief Encounter

Brief Encounter

โดย : ภาสกร ศรีศุข

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

************************

Brief Encounter เป็นหนังที่สร้างขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลงเพียงเล็กน้อย เรื่องราวไม่ได้เกี่ยวกับสงครามแนวชวนเชื่อหรือมีการพูดถึงสงครามแม้แต่น้อย แต่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Wartime Romance ที่มีความเป็นอมตะ ดัดแปลงมาจากบทละครสั้นของ Noël Coward ชื่อ Still Life

Laura Jesson เธอรักครอบครัว รักลูก รักสามี มีชีวิตที่สุขสงบสันติ เป็นคนธรรมดาสามัญ คำพูดของเธอที่ว่า ‘ฉันไม่เคยคิดมาก่อนว่าความรุนแรงดังกล่าวจะสามารถเกิดได้กับคนธรรมดาสามัญเช่นชั้น’ (I didn’t think such violent things could happen to ordinary people.) ความรุนแรงที่ว่านี้ของเธอคือการตกหลุมรักชายอื่น นอกใจสามี มีชู้

Dr. Alec Harvey ชายผู้ซึ่งมีความต้องการไม่แพ้ Laura เขาตกหลุมรักและพร้อมที่จะเสียสละเพื่อเธอ ผู้ชายเป็นเพศที่ได้เปรียบเสมอเรื่องความรักนะ เพราะมีความกล้าตัดสินใจ กล้าพูด กล้าทำมากกว่าผู้หญิง แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ Alec มีอิทธิพลเหนือเธอ เขายื่นข้อเสนอต่อ Laura ที่จะทิ้งลูกทิ้งเมียมาอยู่ด้วยกันและขอให้เธอทำตาม ซึ่งการที่เธอจะทำตามคำขอของเขาไหมนั่นอีกเรื่องหนึ่ง Alec ไม่มีการฝืนบังคับเธอ ถือว่าเป็นสุภาพบุรุษมากๆ

ผู้เขียนกึ่งๆ มองว่านี่เป็นหนังเฟมิสินต์นะ เพราะเพศที่เป็นผู้ตัดสินใจเลือกคือ Laura เพศหญิงไม่ใช่ Alec เพศชายที่เป็นผู้ยื่นข้อเสนอให้เท่านั้น ทั้งการเป็นชู้ เรื่องเซ็กซ์และการเลิกรา ซึ่งหนังให้การตัดสินใจของเธอเกิดขึ้นอยู่ในกรอบของศีลธรรม ไม่ได้ให้เกิดความขัดแย้ง หรือเห็นต่างจากสังคม (หนังเฟมินิสต์ทั่วๆ ไปมันจะเป็นการตัดสินใจของฝ่ายหญิง เพื่อก้าวข้ามผ่านขอบเขตอะไรบางอย่าง) นี่ผู้เขียนเลยเรียกว่าเป็นกึ่งๆ เฟมินิสต์ ที่ปลูกฝังค่านิยมหรือทัศนคติต่อความรักและครอบครัวในทิศทางที่เหมาะสม

สิ่งที่คอยยับยั้งชั่งใจ Laura คือ ‘จิตใต้สำนึก’ ซึ่งมักมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรม ความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาระหว่างความสุขของตนเองกับความสุขของผู้อื่น ในบางครั้งเราก็ต้องเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อความสุขของคนอื่น ผู้หญิงมักมีความละเอียดอ่อนในเรื่องพวกนี้มากในระดับที่ผู้ชายคาดกันไม่ถึงทีเดียว

เราจะได้เห็นมุมกล้องเอียงๆ บ่อยครั้ง แสดงถึงความลังเลสงสัย มีขณะหนึ่งของการถ่ายภาพที่ทรงพลังมาก กล้องค่อยๆ เคลื่อนเข้าหา Laura แบบม้วน (หมุนกล้อง) อารมณ์ในขณะนั้นจิตใจของเธอมีความสับสนอลม่าน ลังเลไม่แน่ใจ เมื่อวินาทีได้ยินเสียงรถไฟ เธอจึงรีบวิ่งออกมาเป็นครั้งสุดท้าย (มันเหมือนว่าเธอจะพยายามฆ่าตัวตาย แต่จิตใต้สำนึกห้ามเธอไว้)

หน้าหนังเป็นเรื่องของความรักที่ขัดต่อศีลธรรมและประเพณี แต่ใจความแฝงของหนัง ผู้เขียนคิดว่าเป็นการสะท้อนภาพของสงครามในมุมของความรัก มองครอบครัวเป็นเหมือนประเทศ และการเป็นชู้เหมือนความขัดแย้งที่กลายเป็นสงคราม เกิดการต่อสู้ แก่งแย่งให้ได้มาครอบครอง ซึ่งตอนจบเมื่อ Laura และ Alec ตัดสินใจที่จะไม่พบหน้ากันอีก นี่หมายถึงการไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งหรือสงคราม ต่างฝ่ายไม่แก่งแย่งชิงดีกัน เรื่องทุกอย่างก็จบ สงครามก็จะไม่เกิด เราจะเลือกเชื่อใจคนที่เราพบกันมาเพียงชั่วครู่หรือคนที่อยู่กับเรามาหลายปีหรือเกือบทั้งชีวิต

ด้วยความที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปมาก ทำให้ทัศนคติแบบหนังเรื่องนี้ถือว่าเก่า เชย และยิ่งประเด็นเฟมินิสต์ที่สอนให้ผู้หญิงกล้าพูดกล้าทำกล้าตัดสินใจ ไม่ยึดติดกับกรอบระเบียบของสังคม เรื่องราวแบบนี้ถือว่าตกสมัยไปแล้ว กระนั้นหนังก็ไม่ล้าหลังเลยนะ นี่แหละที่เรียกว่า ‘ความคลาสสิก’ มันคือความดีงาม แนวคิดในอุดมคติที่เรียกว่าล้าหลังเพราะคนเริ่มคิดทำแบบนั้นกันไม่ได้แล้ว ผู้เขียนจินตนาการไม่ออกเลยว่าโลกต่อไปจะเป็นอย่างไร ถ้ามนุษย์ไม่เชื่อในความคลาสสิกอีกต่อไป

Don`t copy text!