The Eight Hundred

The Eight Hundred

โดย : ภาสกร ศรีศุข

Loading

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

*************************

ภาพ : http://www.china.org.cn/

ผู้กำกับ : Guan Hu

ผู้อำนวยการสร้าง : Wang Zhonglei, Liang Jing

ผู้เขียนบท : Guan Hu, Ge Rui

นักแสดง : Huang Zhizhong, Zhang Junyi, Oho Ou, Jiang Wu, Zhang Yi, Wang Qianyuan, Du Chun, Vision Wei, Li Chen, Yu Haoming, Zheng Kai

ดนตรีประกอบ : Rupert Gregson-Williams, Andrew Kawczynski

ผู้กำกับภาพ : Cao Yu

ผู้ตัดต่อ : Yiran Tu, He Yongyi

 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ายึดเซี่ยงไฮ้โดยที่มีกองกำลังของจีนชื่อว่ากองกำลังปฏิวัติแห่งชาติที่ 88 ที่คอยต่อสู้และปกป้องคลังสินค้าซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้าย ขณะที่มีกองกำลังเพียง 400 คนแต่ได้วางแผนหลอกล่อกองทัพญี่ปุ่นว่ามีกองกำลังถึง 800 คน และยังได้รับความช่วยเหลือจากประชาชนชาวจีนอย่างลับๆ อีกด้วย ขณะที่กองทัพญี่ปุ่นก็พยายามทุกวิถีทางแต่ก็ไม่สามารถเข้ายึดโกดังคลังสินค้าได้ กองกำลังปฏิวัติที่ 88 สามารถยืนหยัดต่อสู้อย่างไม่กลัวตาย ในการรบครั้งนี้ได้ทำการรบกันถึง 4 วัน 4 คืน จนได้รับการยกย่องและบันทึกจากประชาชนชาวจีนว่าเป็นวีรกรรมการต่อสู้ที่กล้าหาญยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของกองกำลังปฏิวัติที่ 88

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

แง่มุมที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นความน่าสนใจมากๆ ของหนังเรื่องนี้ นอกจากการสะท้อนภาพชีวิตท่ามกลางสมรภูมิสงครามของทหาร 400 กว่านาย ที่สู้รบและอาศัยอยู่ในโกดังสี่ห้าง ที่ยิ่งสู้รบ ยิ่งวางกำลังต่อต้าน ยิ่งใช้ยุทธวิธีมากแค่ไหน จะใช้วิธีบ้าบิ่นหรือลึกล้ำสักแค่ไหน ก็ต้องแตกพ่ายอย่างยับเยินให้กับกองทัพญี่ปุ่นที่มีแสนยานุภาพทางการทหารเหนือกว่าในทุกด้าน แถมทหารญี่ปุ่นยังขึ้นชื่อเรื่องของความโหดเหี้ยมและยอมพลีชีพเพื่อพระจักรพรรดิอีกต่างหาก กำลังพลที่ว่ามีน้อยอยู่แล้วก็ยิ่งน้อยลงไปอีก ยิ่งสู้รบก็ยิ่งจะมีแต่ตายกับตาย

ภาพ : https://www.ft.com/

อีกจุดที่ผู้เขียนคิดว่ายอดเยี่ยมก็คือการสะท้อนภาพวิถีชีวิตและเรื่องราวของชาวเซี่ยงไฮ้ ทั้งทหารและพลเรือนที่อพยพข้ามไปอยู่ในอีกฝั่งของแม่น้ำที่สามารถสะท้อนภาพความคิดของผู้คนในยามศึกสงครามได้ดีมากๆ ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็นภาพอันแสนหดหู่ของทหารที่ประจำการอยู่ที่ฝั่งฐานทัพที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง ซากศพทหารทั้งสองฝ่ายที่ถูกนำเอามากองรวมกัน ทหารที่ยังอยู่ รวมถึงนายทหารหนีทัพที่ถูกจับได้ก็ต้องอาศัยอยู่ด้วยความกลัว ไม่อยากจะร่วมรบ แต่ก็หนีไปไหนไม่ได้ ไม่อย่างนั้นก็ต้องตาย

ส่วนผู้อพยพหลายชาติที่อาศัยอยู่ร่วมกันที่อีกฝั่งแม่น้ำกลายเป็นประชาชนที่ติดตามเฝ้าดูสงครามอย่างใกล้ชิด แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะทำอะไร ภาพที่เราจะได้เห็นคือภาพอันสวยงามของเมืองอันศิวิไลซ์ในยุค 30’s ที่เต็มไปด้วยความปกติสุขสำราญ ผู้คนซื้อของ จ่ายตลาด ดูงิ้ว เล่นกาสิโน ชาวต่างชาติที่ถ่ายภาพ และเฝ้าทำข่าวสงคราม และเมื่อยามที่เกิดสงครามขึ้นอีกฝั่ง ประชาชนก็แห่กันมายืนดูเหมือนราวกับว่ากำลังยืนดูหนังหรือละครสงครามเรื่องหนึ่งอย่างไรอย่างนั้น เรียกได้ว่านี่เป็นภาพสะท้อนของ ‘คนหน่ายสงคราม’ ได้อย่างเจ็บแสบจริงๆ

หนังเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าจะเป็นหนังสงครามที่สะท้อนภาพความโหดร้ายของสงครามในมุมมองของทหารได้อย่างเต็มที่ เพราะตลอดทั้งเรื่อง เราจะได้เห็นภาพการรบราฆ่าฟันกันแบบชนิดที่ว่าคอสงครามคงไม่ผิดหวัง เพราะสู้รบกันแบบจัดเต็มจริงๆ ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็นภาพศึกสงครามที่โหดร้ายชนิดว่าโดนยิงกบาล โดนระเบิดร่างแยกบ้างละ มีฉากที่ทหารญี่ปุ่นพลีชีพด้วยการระเบิดตัวเอง โดนยิงนิ้วขาด แก้มทะลุ มือขาดบ้างละ โดนแรงระเบิดจนทำให้เศษกระจกทะลุหน้าบ้างละ เรียกว่าเป็นหนังสงครามที่อาจไม่ค่อยเหมาะกับน้องๆ หนูๆ และคนขวัญอ่อนอย่างแรงเลยล่ะ

รวมถึงการสะท้อนภาพของผู้คนในสภาวะสงครามที่มีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘สงคราม’ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมสงครามของทหาร การหนีทัพ คนที่อยู่อย่างสุขสบาย คนที่หากินกับสงคราม คนที่เฝ้าสังเกตการณ์ คนที่มีใจรักชาติและพร้อมจะสละชีพเพื่อปกป้องชาติและคนในชาติ รวมถึงคนที่แม้ว่าจะไม่ได้ร่วมรบ แต่ก็พยายามที่จะช่วยเหลือในทุกๆ ทางเพื่อที่จะสนับสนุนเหล่าทหารในการปกป้องชาติด้วย

แต่ไม่ว่าหนังเรื่องนี้จะมีภาพที่โหดร้ายอย่างไร แต่สิ่งที่เข้ามาทำให้หนังสงครามเรื่องนี้กลมกล่อมก็คืองานด้านภาพ แม้ว่าจะเป็นหนังจีน แต่ก็ต้องบอกว่าด้านงานสร้างและเอฟเฟ็กต์ต่างๆ ถือว่าอยู่ในระดับที่สูสีกับหนังฮอลลีวูดได้อย่างสบายๆ เลย และด้วยความที่หนังเรื่องนี้เป็นหนังจีนเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยระบบ IMAX ก็ต้องเรียกได้ว่าไม่เสียของ เพราะงานด้านภาพก็ถือว่าอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าทั้งสวยงามและดุเดือดเลือดพล่านสมกับเป็นหนังสงคราม ทั้งหมดนี้ทำให้เราคนดูสามารถทะลุเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง เสมือนเข้าไปอยู่ในโกดังสี่ห้าง เข้าไปร่วมรบ ร่วมหดหู่ หน่วง สิ้นหวัง ไปด้วยพร้อมๆ กัน

ส่วนข้อสังเกตของหนังเรื่องนี้ อย่างที่ผู้เขียนเกริ่นไว้ว่านี่คือหนังสงครามเต็มขั้น สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกว่าสิ่งที่หนังเรื่องนี้ยังไม่ค่อยเข้าที่เข้าทางมีอยู่สองจุด หนึ่งคือ ด้วยความที่หนังเรื่องนี้เน้นเล่ามุมมองของการสู้รบของทหารในโกดังสี่ห้าง และผู้กำกับเองก็พยายามที่จะสอดแทรกเรื่องราวของทหารบางนายที่มีบทบาทที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าทหาร ทหาร และคนหนุ่มหนีสงครามที่ถูกกักตัว แต่สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกคือ ตัวละครและการกระทำต่างๆ ที่ตัวละครได้ทำนั้นยังไม่ค่อยมีอะไรที่ชวนให้น่าจดจำสักเท่าไหร่ แถมพอหนังไปให้ความสำคัญที่การศึกสงคราม ก็ทำให้ส่วนของดราม่า (หรือมุกตลกเล็กๆ) ที่ผู้กำกับพยายามสอดแทรกก็ดูจะเจือจางไปหน่อย รวมถึงบทบาทของตัวละครแต่ละตัวก็ยังไม่มีมิติอะไรที่ทำให้ชวนจดจำหรือชวนให้เอาใจช่วยได้มากนัก

ภาพ : https://supchina.com/

และอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือ หนังเรื่องนี้เป็นหนังสงครามชาตินิยมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เลย คือเรียกได้ว่าเป็นหนังที่เชิดชูวีรบุรุษทหาร และเชิดชูความเป็นชาตินิยม และให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการร่วมปกป้องชาติ ไม่ว่าจะเป็นทหารที่อยู่แนวหน้า หรือพลเรือนที่อยู่แนวหลังก็ตาม หรือแม้แต่คนที่เคยเพิกเฉย หรือหลบลี้สงคราม ก็ต้องกลับเห็นความสำคัญของชาติมากกว่าตัวเองให้ได้ ซึ่งในหนังมีฉากที่แสดงออกถึงความรักชาติรักแผ่นดินอยู่มากเหมือนกัน ด้วยความที่มันเป็นหนังชาตินิยมจ๋าๆ ขนาดนี้ คนที่รู้สึกจั๊กจี้กับความเป็นชาตินิยมก็อาจจะรู้สึกแปลกๆ กับหนังเรื่องนี้ไปเลยก็ได้

แต่ถ้าไม่ติดขัดกับความชาตินิยม คิดว่าอยากดูหนังสงครามและศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์จีนอันยิ่งใหญ่ว่าด้วยการต่อสู้ของทหารเพียงหยิบมือที่กล้าลุกขึ้นท้าทายกองทัพญี่ปุ่น ผู้เขียนคิดว่าหนังเรื่องนี้ก็ถือว่าไม่เสียหลายอยู่นะ

Don`t copy text!