Cruella

Cruella

โดย : ภาสกร ศรีศุข

Loading

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

************************

Cruella

ผู้กำกับ : Craig Gillespie

ผู้เขียนบท : Dana Fox, Tony McNamara

อ้างอิงจากนวนิยายเรื่อง The Hundred and One Dalmatians โดย Dodie Smith

ผู้อำนวยการสร้าง : Andrew Gunn, Marc Platt, Kristin Burr

นักแสดง : Emma Stone, Emma Thompson, Joel Fry, Paul Walter Hauser, Emily Beecham, Kirby Howell-Baptiste, Mark Strong, John McCrea

ผู้กำกับภาพ : Nicolas Karakatsanis

ผู้ตัดต่อ : Tatiana S. Riegel

ภาพยนตร์ที่เป็นขวัญใจวัยเด็ก ในปี พ.ศ. 2539 ที่เต็มไปด้วยความน่ารักของเจ้าหมาลายจุด และคราวนี้เตรียมพบกับอีกมุมที่จะทำให้ได้รู้จักกับครูเอลล่า หญิงสาวที่เป็นตัวแม่ทางด้านแฟชั่นด้วยสไตล์การแต่งตัวที่จัดจ้านที่สุด เธอร่วมมือกับคู่หูจอมโจรที่ชื่นชอบความวายป่วงของเธอช่วยกันหาเลี้ยงชีพข้างถนนแห่งกรุงลอนดอน แต่แล้ววันหนึ่งชื่อเสียงของเธอกลับไปเข้าหูบารอนเนส วอน เฮลล์แมน เจ้าแม่แฟชั่นในวงการ เรื่องราวพลิกผันทำให้ครูเอลล่าได้เปิดอีกมุมที่ร้ายของเธอ เธอมีคติประจำใจคืออย่าร้ายกับเธอ เพราะเธอจะกลายเป็นเจ้าแม่แฟชั่นผู้เกรี้ยวกราดและเต็มไปด้วยความอาฆาต

เอสเทลล่าในวัยเด็กตลอดจนถึงช่วงวัยรุ่นเรียกได้ว่าแสบเหมือนพริกสิบเม็ด ในช่วงแรกของหนังอบอวลด้วยความสนุกและความเปรี้ยวของสาวน้อย ความฉลาดและพรสวรรค์เริ่มเปล่งแสงออกมาให้ได้เห็นแม้ในยามที่เป็นจุดพลิกผันในชีวิตของเธอ สิ่งเหล่านี้แปรเปลี่ยนกลายเป็นโกรธแค้น ความร้ายกาจและความบ้าคลั่ง เมื่อเธอเปิดประตูเข้าสู่ House of Baroness

หลังจากเอสเทลล่าย่างก้าวเข้าสู่โลกของบารอนเนส จิ๊กซอว์ที่เสมือนหล่นหายไปเมื่อตอนเด็กของเอสเทลล่าถูกเติมเต็ม เรื่องราวความจริงของตัวเธอเป็นภาพสมบูรณ์ขึ้น ความจริงอันโหดร้ายทำให้เธอเข้าสู่ด้านมืด ผลักตัวตนที่อ่อนแอเข้าสู่หลุมลึกในใจ และถือกำเนิดตัวตนใหม่ผ่านความโกรธและโศกเศร้าสู่ความพยาบาทและต้องการแก้แค้น ช่วงที่เอสเทลล่าเข้าสู่วงวนของความมืดที่ก่อตัวภายในตัวเองนั้นมีสิ่งที่ขาดไปคือการสร้างอารมณ์ร่วมให้คนดูคล้อยตามไปกับตัวละคร หนังไม่ได้สร้างบรรยายอารมณ์ที่นานพอให้คนดูได้เดินทางไปพร้อมๆ กับสิ่งที่ตัวละครได้ประสบมากนัก ช่วงแสดงอารมณ์เศร้าหรือเจ็บปวดของครูเอลล่าเป็นแค่ฉากเล็กๆ เท่านั้น เป็นเหตุให้อารมณ์ของตัวละครส่งมาไม่ถึงคนดู หนังเน้นหนักไปในทางความปรารถนาที่จะล้างแค้นของครูเอลล่าและวิธีการล้างแค้นของตัวละครแทน

ทั้งตัวละครเอสเทลล่าและครูเอลล่าแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลยในแง่ของการถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละคร สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมีเพียงแค่เมกอัพและเสื้อผ้าที่จัดเต็มแบบเกินต้านทานเท่านั้น โดยครูเอลล่านั้นเป็นแค่ร่างอวตารอีกเวอร์ชันที่เพิ่มความบ้าคลั่งเข้ามาเท่านั้น ถึงแม้ว่าปมเรื่องราวของครูเอลล่าจะค่อนข้างสร้างความประหลาดใจพอสมควร แต่เมื่อชั่งน้ำหนักของเหตุผลนั้นเเล้ว การที่ตัวละครผลักตัวเองเข้าสู่ด้านมืดและสร้างอีกตัวตนเพื่อแก้แค้น ก็อาจจะฟังดูน้ำหนักเบาไปหน่อย

การถือกำเนิดของครูเอลล่ามาพร้อมกับการถีบจักรเย็บผ้า ถักทอผลงานศิลปะสไตล์พังก์อันวิจิตรบรรจงมากมาย เสื้อผ้าของเธอซ่อนความกบฏอยู่ในชิ้นงาน การต่อสู้ด้วยแฟชั่นครั้งนี้เปรียบได้กับเรื่องราวการฟาดฟันระหว่างแบรนด์แฟชั่นรุ่นคลาสสิกที่คร่ำหวอดในวงการมายาวนานอย่างดิออร์หรือชาแนลกับแบรน์แฟชั่นดาวรุ่งที่ฉีกรูปแบบเดิมๆ อย่างอีฟส์ แซงต์ โลรอต์

การปรากฏตัวครั้งแรกในฐานะครูเอลล่าต่อสาธารณะชนเพื่อประกาศตัวจะงัดข้อกับผู้ทรงอิทธิพลอย่างบารอนเนสสะท้อนนัยยะของการต่อต้านอำนาจเก่าและความต้องการเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างสังคม อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการขบถต่อกลุ่มชนชั้นสูง ผลงานศิลปะผ่านฝีเข็มและเส้นด้ายของครูเอลล่าแฝงความป่าเถื่อน การเสียดสีสังคมและความปรารถนาที่จะหลีกหนีสังคมเน่าเฟะของชนชั้นสูง เฉกเช่นเดียวกับแนวดนตรีพังก์

ผลงานของครูเอลล่าสะท้อนถึงวิวัฒนาการและการปฎิวัติ ชุดที่เธอสวมใส่มาประชัดกับบารอนเนสบอกเล่าความปรารถนาที่จะมายืนแทนที่ในฐานะนักออกแบบแฟชั่นอันดับหนึ่งของลอนดอน ยกตัวอย่างชุดเปิดตัวในฐานะครูเอลล่านั้นเป็นชุดเดรสยาวสีแดงท่อนล่างเป็นหางปลากรุยกรายเหมือนเพลิงกำลังลุกโชน โดยชุดเดรสสีแดงนั้นเป็นผลงานอันเก่าแก่ของบารอนเนสที่ครูเอลล่านำมาตัดเย็บใหม่ให้เข้ากับในแบบฉบับที่เป็นตัวเธอมากขึ้น เพื่อประกาศก้องถึงการมาของคลื่นลูกใหม่ หรืออย่างการเพนต์หน้าด้วยข้อความว่า ‘Future’ ของครูเอลล่า และการยืนอยู่บนหลังรถที่บารอนเนสนั่งอยู่ด้วยชุดเเจ็กเก็ตทหารและกระโปรงจากเศษผ้าฟูฟ่องโดยข้างกระโปรงของเธอปรากฏข้อความว่า ‘Past’

และอีกหนึ่งชุดที่เป็นที่ตราตรึงคนดูอย่างชุดราตรีที่ตัดเย็บจากขยะจากชาวเมืองลอนดอน ครูเอลล่าปรากฏตัวจากรถขนขยะด้วยชุดราตรีจากขยะรีไซเคิลและข่าวโคมลอยเกี่ยวกับเธอ ครูเอลล่าทำผมทรงสะดุดตาของเธอที่ออกสไตล์ของมารี อ็องตัวแน็ต และเธอก็จากไปบนรถขนขยะ โดยชุดนี้อาจจะแฝงนัยยะเสียดสีในเรื่องชนชั้นทางสังคมของชาวลอนดอน ซึ่งครั้งหนึ่งเธอก็เคยเป็นเด็กกำพร้าข้างถนนไม่ต่างอะไรกับเศษขยะที่พวกเขาทิ้งขว้างไม่สนใจ เธอเป็นคนชายขอบมาตลอด จนวันหนึ่งเธอได้รับการตีพิมพ์อยู่บนหน้าหนึ่งของทุกหนังสือพิมพ์และกำลังเป็นที่สนใจในวงกว้างในสังคม ทรงผมสุดบรรเจิดที่ช่างหาทำอันเป็นเอกลักษณ์ของมารี อ็องตัวแน็ต เป็นภาพแทนถึงกลุ่มชนชั้นสูงในสังคมอย่างในสังคมของฝรั่งเศสในช่วงพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งเขาเหล่านั้นใช้ชีวิตอย่างหรูหราอู้ฟู่ไม่สนใจชีวิตของชนชั้นล่างจนนำมาซึ่งการปฏิวัติฝรั่งเศสในที่สุด

การฟาดฟันด้วยการออกแบบเสื้อผ้าระหว่างครูเอลล่ากับบารอนเนสเป็นจุดที่คนดูจะได้เพลิดเพลินและตื่นตาไปกับเสื้อผ้าที่ตัดเย็บอย่างประณีตมากมายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแบรนด์อย่าง Dior, Vivienne Westwood และ Alexander McQueen รวมไปถึงคนดูจะได้เสพผลศิลปะผ่านเสื้อผ้าที่ตัวละครสวมใส่กันด้วย ขนาดตัวเอกของเรื่องอย่าง เอ็มม่า สโตน ก็มีชุดมากถึง 47 ชุดด้วยกัน

เอสเทลล่าได้จากไปแล้วจริงๆ เธอสูญเสียตัวตนในด้านดีของเธอและท้ายที่สุดได้เปลี่ยนเป็นคนที่แข็งกร้าวและคิดถึงแต่ตัวเอง แม้ว่าในหนังยังไม่ได้บอกเล่าถึงความอำมหิตและความบ้าบิ่นของครูเอลล่าถึงขนาดฆ่าคนหรือสัตว์ได้ แต่ตัวหนังได้บอกถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าเธออาจจะพัฒนาความอำมหิตของเธอไปอีกขั้นในอนาคต

ส่วนสำคัญที่ทำให้หนังไปไม่สุดคือฉากดึงอารมณ์ร่วมกับคนดูที่น้อยไป ทำให้คนดูไม่สามารถสัมผัสและมีเวลาทำความเข้าใจตัวละครอย่างครูเอลล่ามากนัก ส่งผลให้การกระทำต่างๆ ของเธอเป็นเพียงแค่คนที่ต้องการเพียงแต่จะแก้แค้น แม้ว่าฉากไคลแม็กซ์ที่ควรจะกระชากอารมณ์คนดูได้มากกว่านี้ ก็ไปได้เพียงครึ่งๆ กลางๆ เอ็มม่า สโตน ถ่ายทอดอารมณ์เจ็บปวด สงสัยและโศกเศร้าได้อย่างดีเยี่ยม แต่ปัญหาอยู่ที่บทที่พยายามยัดไส้ความมืดมนและการหักมุมที่ควรจะทำให้คนดูประหลาดใจ แต่ปมที่พยายามยัดใส่เข้ามานั้นไม่สามารถช่วยให้คล้อยตามได้จริงๆ

อย่างไรก็ตาม Cruella ก็เป็นหนังที่สนุกและควรดูอีกหนึ่งเรื่องในปี 2021 เราจะได้เห็นอีกหนึ่งมุมมองของหนึ่งตัวละครในการ์ตูนในวัยเด็กที่เรามองว่าเขาเหล่านั้นเป็นวายร้าย เเต่ทุกๆ เรื่องราวย่อมมีวายร้ายเสมอ เราคนใดคนหนึ่งอาจเป็นวายร้ายในเรื่องราวของคนอื่นก็ได้ ท้ายที่สุดแล้วดิสนีย์ก็ยังคงเป็นดิสนีย์อยู่วันยังค่ำ ตัวร้ายของเรื่องอย่างบารอนเนสก็ถูกจัดการได้อย่างราบเรียบดั่งถูกฉีดน้ำยาปรับผ้านุ่ม จุดจบของตัวละครบารอนเนสเป็นไปตามแบบฉบับของดีสนีย์ที่มีจุดจบที่เห็นบ่อยๆ แต่สำหรับใครที่เป็นแฟนหนังดิสนีย์ก็คงจะสนุกอย่างแน่นอน เพราะหนังใส่รายละเอียดเล็กๆ ให้ได้ถูกหยิบมาใส่จากหนังต้นฉบับ One Hundred and One Dalmatians หนังผสมผสานอารมณ์ความสนุกสานและความตลกได้อย่างลงตัวตามสไตล์ของดิสนีย์ที่ไม่เน้นหนักไปที่ฉากรุนแรงมากมายนัก อีกทั้งหนังยังให้กลิ่นอายความเป็นดนตรีพังก์ร็อกช่วงยุค 70s โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพลงประกอบหนังที่ทั้งดนตรีและเนื้อเพลงถูกใส่เข้ามาอย่างเหมาะเจาะกับเหตุการณ์ในภาพยนตร์

เอ็มม่า สโตน สวมบทบาทเป็นครูเอลล่าได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งการถ่ายทอดอารมณ์และสำเนียงอังกฤษดั้งเดิม นักแสดงเอ็มม่าทั้งสองประชันอารมณ์กันได้อย่างที่คนดูเต็มอิ่มแน่นอน หนึ่งประเด็นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นในหนังคือความเด็ดเดี่ยวและการต่อสู้เพื่อบางสิ่งบางอย่างของตัวละครฝ่ายหญิง การฟาดฟันกันด้วยความสามารถและความสร้างสรรค์ทางการแสดงออกทางศิลปะเพื่อเรียกร้องบางสิ่งบางอย่างอย่างเป็นอิสระ

Don`t copy text!