Tootsie

Tootsie

โดย : ภาสกร ศรีศุข

Loading

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

*************************

ผู้กำกับ : Sydney Pollack

ผู้อำนวยการสร้าง : Charles Evans, Sydney Pollack, Dick Richards, Ronald L. Schwary

ผู้เขียนบท : Larry Gelbart, Murray Schisgal

ผู้ประพันธ์ : Don McGuire, Larry Gelbart

นักแสดง : Dustin Hoffman, Jessica Lange, Teri Garr, Dabney Coleman, Charles Durning

ดนตรีประกอบ : Dave Grusin

ผู้กำกับภาพ : Owen Roizman

ผู้ตัดต่อ : Fredric Steinkamp, William Steinkamp

มเคิล ดอร์ซีย์ เป็นนักแสดงที่เป็นที่ยอมรับนับถือ แต่ไม่มีใครในนิวยอร์กที่ต้องการจ้างเขา เพราะเขาเป็นพวกเพอร์เฟ็กชันนิสต์และทำงานด้วยยาก หลังจากผ่านไปหลายเดือนโดยไม่มีงานทำ ไมเคิลได้ยินเรื่องจาก แซนดี เลสเตอร์ เพื่อนและนักเรียนการแสดงของเขาว่าจะมีการเปิดละครโทรทัศน์เรื่อง เซาท์เวสต์เจนเนอรัล ออกอากาศในช่วงกลางวันซึ่งมีคนดูมาก ซึ่งเธอพยายามให้ได้บทบาทเป็นเอมิลี คิมเบอร์ลี ผู้บริหารโรงพยาบาล ไมเคิลได้ไปหา จอร์จ ฟีลด์ส์ เพื่อให้เขาหางานให้ แต่ถูกจอร์จปฏิเสธเนื่องจากความเรื่องมากของไมเคิล ด้วยความที่ไม่มีอะไรจะเสีย ไมเคิลจึงปลอมตัวเป็นผู้หญิงเพื่อเข้าคัดตัวแสดงโดยใช้ชื่อว่า ‘โดโรธี ไมเคิลส์’ และได้รับบทนี้ในที่สุด ไมเคิลรับงานนี้เพราะต้องการหาเงินให้ได้ 8,000 ดอลลาร์ฯ สำหรับใช้จัดการแสดงหนึ่งซึ่งเขียนบทโดย เจฟฟ์ สเลเตอร์ เพื่อนร่วมห้องของเขา โดยมีตัวเขาเองและแซนดีรับบทนำ ไมเคิลสวมบทบาทตัวละครของเขาเป็นเฟมินิสต์ที่สดใส กล้าหาญ และมีความมุ่งมั่น ยังความประหลาดใจแก่นักแสดงคนอื่นๆ และบรรดาทีมงาน ซึ่งต่างก็คิดว่าเอมิลี (ตามบทที่เขียนไว้) ควรจะเป็นอีกหนึ่งตัวละครหญิงที่อ่อนแอและหวั่นไหวง่าย บทบาทที่เขานำเสนอได้กลายเป็นที่ถูกอกถูกใจไปทั้งประเทศอย่างรวดเร็ว

เมื่อแซนดีจับไมเคิลได้ขณะกึ่งเปลือยในห้องนอนของเธอเอง เพราะเขาต้องการจะลองใส่ชุดของเธอเพื่อประเมินให้ได้แนวคิดดี ๆ ว่าตู้เสื้อผ้าของโดโรธีควรจะเป็นอย่างไร เขาก็พยายามกลบเกลื่อนโดยอ้างว่าเขาต้องการจะมีเพศสัมพันธ์กับเธอ เรื่องราวยิ่งเลวร้ายยิ่งขึ้นเมื่อเขาเกิดนึกชอบพอเข้ากับนักแสดงร่วมคนหนึ่งของเขา คือ จูลี นิโคลส์ ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและมีความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดีนักกับ รอน คาร์ลิเซิล ผู้กำกับรายการเหยียดเพศนิสัยไม่ค่อยดี ขณะอยู่ในงานปาร์ดี้เมื่อไมเคิล (ไม่ได้แต่งหญิง) เข้าหาจูลีโดยเลือกใช้ประโยคตามอย่างที่เธอเคยพูดกับโดโรธีไว้ว่าเธอน่าจะเป็นผู้หญิงที่ง่ายเกินไป เธอสาดน้ำใส่หน้าเขา ต่อมา ในฐานะโดโรธี เมื่อเขาทำการทดสอบให้ยิ่งๆ ขึ้น จูลีได้จบความสัมพันธ์กับรอนลงอย่างทันทีทันใดตามคำแนะนำของโดโรธี และก็ทราบด้วยว่าเธอไม่ได้เป็นเลสเบียนหลังจากที่โดโรธีจะจูบจูลีแต่ถูกจูลีปฏิเสธแบบทันควัน

ในขณะเดียวกันนั้นโดโรธีก็มีบรรดาผู้นิยมชมชอบในตัวเธอให้ต้องรับมืออย่าง จอห์น แวน ฮอร์น สมาชิกนักแสดงสูงวัยรายหนึ่ง และเลส พ่อของจูลีซึ่งเป็นพ่อม่าย เลสนัดเดทกับโดโรธีและเต้นรำด้วยกัน หลังจากนั้นได้ขอแต่งงานด้วยและยืนยันหนักแน่นให้โดโรธีคิดใคร่ครวญเรื่องนี้ก่อนให้คำตอบกับเขา เมื่อไมเคิลกลับถึงบ้านในวันหนึ่งเขาก็พบจอห์น ผู้ซึ่งเกือบจะใช้กำลังบังคับขืนใจต่อโดโรธีกระทั่งเจฟฟ์เดินเข้ามาหยุดสถานการณ์ไว้ได้ จากนั้นไม่นาน แซนดีซึ่งมาหาไมเคิลได้ถามเขาว่าทำไมถึงไม่ตอบโทรศัพท์เธอเลย ในตอนแรกแซนดีสงสัยว่าไมเคิลเป็นเกย์ แต่ในที่สุดไมเคิลยอมรับกับเธอตรงๆ ว่าเขารักอยู่กับผู้หญิงคนอื่น แซนดีถึงกับร้องกรี๊ดลั่นห้องและตัดสินใจเลิกคบหากับเขา

จุดพลิกผันมาถึงเมื่อทางผู้จัดรายการต้องการขยายสัญญาทำงานกับโดโรธีไปอีกปีหนึ่งอันเนื่องมาจากความนิยมในตัวเธอ ไมเคิลคิดหนทางฉลาดๆ เพื่อปลดเปลื้องตัวเองให้พ้นจากประเด็นดังกล่าว โดยเมื่อการแสดงได้ถูกบังคับให้ต้องออกอากาศแบบสดเนื่องจากปัญหาทางเทคนิค เขาได้ด้นสดอย่างผ่าเผยต่อหน้ากล้อง ถอดวิกผมทิ้ง เช็ดเครื่องสำอางบนใบหน้าออก และเปิดเผยว่าแท้จริงแล้วเขาคือเอ็ดเวิร์ด น้องชายฝาแฝดของเอมิลีซึ่งเข้ามาสวมบทบาทเป็นตัวเธอก็เพื่อแก้แค้นเธอ เหตุการณ์ครั้งนี้ได้สร้างความตกตะลึงให้กับทุกคนในกองถ่ายเป็นอย่างมาก การเผยเรื่องราวนี้ช่วยให้ทุกๆ คนมีทางออกได้งดงามมากบ้างน้อยบ้าง อย่างไรก็ตาม จูลีซึ่งโกรธจัดได้ต่อยเขาที่ท้องทันทีที่กล้องหยุดออกอากาศ ก่อนจะฉุนเฉียวออกไป

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

หลายสัปดาห์ให้หลัง ไมเคิลกำลังเดินหน้าทำงานการแสดงของเจฟฟ์ เขาก็ได้เอาแหวนขอแต่งงานของเลสไปคืนให้กับเจ้าตัว เลสตอบกลับมาว่า “เหตุผลเดียวที่แกยังมีชีวิตอยู่ก็เพราะฉันยังไม่ได้จูบแก แต่ฉันไม่น่าไปเต้นรำกับแกเลย” อีกทั้งยังถามไมเคิลว่าทำไมต้องปลอมตัวเป็นโดโรธี ไมเคิลบอกว่าแค่อยากหางานทำเท่านั้น และได้ถามเลซว่าจูลีได้พูดถึงเขาบ้างหรือเปล่า เลซส่ายหน้าพร้อมกับกำหมัดชกไปที่ต้นแขนไมเคิลเบาๆ

ต่อมาไมเคิลมารอจูลีอยู่ด้านหน้าสตูดิโอ เธอไม่เต็มใจที่จะพูดกับเขา แต่ท้ายที่สุดก็ยอมรับว่าเธอคิดถึงโดโรธี ไมเคิลบอกเธอว่า “ไม่จำเป็น เพราะผมอยู่นี่แล้ว และผมก็คิดถึงคุณ ผมเป็นผู้ชายที่ดีต่อคุณในฐานะผู้หญิงดีกว่าที่ผมเป็นผู้หญิงในฐานะผู้ชาย” จูลีไม่เข้าใจความหมายที่ไมเคิลพูด ไมเคิลได้พูดต่อไปว่า “ผมอยากดีเท่าเดิมโดยที่ไม่ต้องปลอมตัวอีก” เธอให้อภัยเขาพร้อมกับเอ่ยขอยืมชุดที่ไมเคิลเคยใส่ในคราวโดโรธี และทั้งคู่ก็เดินไปตามถนนด้วยกัน

คำว่า ‘ตุ๊ด’ ในภาษาไทย ว่ากันว่าเริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายก็จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งความหมายภาษาอังกฤษจริงๆแ ล้วแปลว่า น้องสาว, อีหนู! แต่บ้านเราใช้เรียกผู้ชายหรือกะเทยที่นิยมการแต่งเนื้อแต่งตัว แสดงจริตกิริยาเหมือนผู้หญิง

Tootsie เป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอการดิ้นรนของนักแสดงชายคนหนึ่ง เมื่อไม่มีใครว่าจ้างเลยทดลองแต่งหญิง ซึ่งสิ่งที่ตัวละครประสบพบเจอนั้นสะท้อนค่านิยมผิดๆ เพื้ยนๆ ของมนุษย์ บุรุษเป็นใหญ่ อิสตรีต้องถูกย่ำไว้

สิ่งต้องชมเลยสำหรับ Hoffman คือสำเนียงเสียงพูดปักษ์ใต้ ไม่ได้ต้องการดัดจริตให้แหลมเฟี้ยว แต่มีระดับขึ้นๆ ลงๆ สั่นเทิ้มเล็กๆ เหมาะสมกับภาพลักษณ์ และแว่นกลมใหญ่หนาเตอะ ปกปิดตัวตนแท้จริงไว้ภายใน

ผู้เขียนสังเกตว่าส่วนใหญ่ของหนังน่าจะถ่ายทำแบบ Long Take แล้วถูกนำไปหั่นออกเป็นชิ้นเล็กๆ ปะติดปะต่อร้อยเรียงเข้าด้วยกัน จนมีลักษณะเหมือนโมเสก

Tootsie เป็นหนังที่ตอนจบมีความ ‘feel good’ อย่างมาก จากความเข้าใจผิด พลิกลิ้นไปมาจนสามารถยินยอมให้อภัย หวนกลับมาเป็นเพื่อนกัน หรือมากกว่านั้น ซึ่งช็อตสุดท้ายพบเห็นผลักไสและแช่ภาพกอดคอ อดไม่ได้จะอมยิ้มหวาน

สำนวน ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ถ้าเอาแต่ครุ่นคิด บางทีก็อาจไม่เข้าใจว่าอีกฝ่ายรู้สึกเช่นไร, ในกรณีของ Tootsie เมื่อบุรุษแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นอิสตรี ประสบพบเจอสิ่งต่างๆ ที่ถือเป็นค่านิยมปกติ(ในยุคสมัยนั้น) เลยทำให้เขาตระหนักถึงความผิดปกติ นั่นไม่ใช่ถูกต้องเหมาะสมควรแม้แต่น้อย

อิสตรีในยุคสมัยนั้น แม้ได้รับสิทธิเสมอภาคเพิ่มขึ้น แต่อะไรๆ อีกมากที่ยังฝังรากลึกในทัศนคติ ค่านิยมทางสังคม มิอาจถูกลบล้างปรับเปลี่ยนได้โดยทันที ต้องมีเหตุการณ์อะไรบางอย่าง เมื่อความอึดอัดสะสมถึงขีดสุด ก็ถึงเวลาปะทุระเบิดออก โลกยุคสมัยถัดจากนั้นถ้าใครยังฝืนกระทำด้วยวิถีจากอดีต คราวนี้ละจะถูกโจมตี ประณาม ขับไล่ออกนอกรีตนอกรอย… แบบยุคสมัยปัจจุบันนี้

ว่าไปมันก็แปลกดีนะ Tootsie คือภาพยนตร์แนวเฟมินิสต์ ที่ตัวเอกคือบุรุษ เกิดความเข้าใจอิสตรีได้จากการปลอมแปลงตนเอง ประสบพบเจอเรื่องร้ายๆ เลยเกิดจิตสำนึกบางอย่างขึ้นมาได้

Sydney Pollack ถือว่าได้เป็น ‘Woman’s Director’ ชื่นชอบการสร้างภาพยนตร์โดยมีผู้หญิงคือจุดศูนย์กลาง ขณะที่ Tootsie ถือเป็นข้อยกเว้นที่ไม่ใช่ข้อยกเว้น เพราะเนื้อหาสาระคือ มุมมองของบุรุษต่ออิสตรี เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วจะสามารถเข้าใจสัจวิถีของโลกใบนี้ว่าชาย-หญิงนั้นมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

นอกจากประเด็นเฟมินิสต์ยังปลูกฝังสั่งสอนให้รู้จักก้าวออกจากกฎกรอบขอบเขต ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีปฏิบัติทางสังคม ผู้ชายไม่จำต้องเป็นแค่ชายอีกเสมอไป (ผู้หญิงก็เช่นกัน) ชีวิตเคยถูกใคร/อะไรควบคุมครอบงำ ย่อมสามารถดิ้นหลุดจากกรงขัง อะไรเคยผิดพลาดก็เรียนรู้จักปรับปรุงตัวแก้ไข เติบโต และมุ่งสู่อนาคตวันข้างหน้าที่สดใส

Don`t copy text!