The Man Who Fell to Earth

The Man Who Fell to Earth

โดย : ภาสกร ศรีศุข

Loading

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

************************

The Man Who Fell to Earth

ผู้กำกับ : Nicolas Roeg

ผู้อำนวยการสร้าง : Michael Deeley, Barry Spikings

ผู้เขียนบท : Paul Mayersberg

อ้างอิงจากนวนิยายเรื่อง The Man Who Fell to Earth โดย Walter Tevis

นักแสดง : David Bowie, Rip Torn, Candy Clark, Buck Henry, Bernie Casey

ดนตรีประกอบ : John Phillips, Stomu Yamashta

ผู้กำกับภาพ : Anthony B. Richmond

ผู้ตัดต่อ : Graeme Clifford

The Man Who Fell to Earth คือหนังอิงนวนิยายวิทยาศาสตร์ปี 1976 ของผู้กำกับ Nicolas Roeg สร้างโดยได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายชื่อเดียวกันของนักเขียนนาม Walter Tevis บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวผู้เดินทางมาเยือนโลกโดยมีจุดประสงค์ในการนำทรัพยากรจากโลกกลับไปช่วยดวงดาวที่แสนแห้งแล้งของตัวเอง

เมื่อเขาลงมาใช้ชีวิตปะปนกับชาวโลก เขาได้ตั้งชื่อตัวเองใหม่ว่า ‘Thomas Jerome Newton’ เขาก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็นอัจฉริยะด้านเทคโนโลยีผู้ร่ำรวย เขามีความสัมพันธ์แปลกประหลาดกับหญิงสาวธรรมดาคนหนึ่งนามว่า Mary-Lou

The Man Who Fell to Earth คือภาพยนตร์อิงนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่ดูยากมากๆ เรื่องหนึ่ง สามารถครุ่นคิดตีความได้มากมาย แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็ไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย และด้วยทิศทางการกำกับของ Nicolas Roeg ที่ล้ำอนาคตไปไกลจนเกินไป และผ่านมาหลายทศวรรษน้อยคนนักจักสามารถทำความเข้าใจได้

ถึงผู้เขียนจะได้รับชมหนังเรื่องนี้และไม่ถึงขั้นกุมขมับส่ายหัว แต่ก็รู้สึกว่าบางอย่างมันเล่น ‘มาก’ เกินไป คือต้องคอหนังอิงนวนิยายวิทยาศาสตร์ระดับไม่ยอมใครเท่านั้นจริงๆ ถึงจะคลั่งไคล้และขบคิดจนหัวแตกตาย คนธรรมดาทั่วไปคงเลิกดูตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรกแล้วกระมัง

เบื้องต้นให้คำใบ้เล็กๆ กับ ‘ชายผู้ตกลงมาบนโลก’ ลองครุ่นคิดความหมายเชิงสัญลักษณ์ดูสิว่ามีแนวโน้มเป็นอะไรได้บ้าง มนุษย์ต่างดาว, ชาวต่างชาติ, บุคคลผู้มีความคิดอ่านนอกคอก หัวขบถ และแตกต่างจากคนปกติทั่วไป และอื่นๆ อีกมากมาย

การแสดงของ David Bowie ก็คือตัวตนของเขาเองน่ะแหละ อ่านท่องจำบท แล้วก็ใส่จิตวิญญาณลงไป ถ้าเป็นฉันจะแสดงออกอย่างไร นี่เท่ากับว่าที่พบเห็นในหนังไม่ใช่ Thomas Jerome Newton แต่คือ David Bowie ตัวจริงเสียงจริง!… ถึงกระนั้นความน่าทึ่งก็คือพวกเขาราวกับเป็นคนคนเดียวกัน มนุษย์ต่างดาวจริงๆ  หรือเปล่า แยกแยะไม่ออกเลยสักนิด

งานภาพของหนังแพรวพราวด้วยเทคนิคทางด้านภาพยนตร์ต่างๆ มากมาย ใส่ใจเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มุมกล้องแปลกๆ เต็มไปด้วยความโฉบเฉี่ยวและฉวัดเฉวียน แทบทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเชิงสัญลักษณ์แฝงนัยยะและความหมาย

หนึ่งในภาพวาดที่มีชื่อที่พบเห็นในหนังนั่นก็คือภาพ Fall of Icarus โดย Pieter Bruegel the Elder จิตรกรชาวเฟลมิชของสมัย Dutch and Flemish Renaissance ผู้มีชื่อเสียงในด้านการเขียนจิตรกรรมภูมิทัศน์และภาพชีวิตประจำวันโดยเฉพาะของเกษตรกรที่ทำให้ได้รับสมญาว่า ‘Peasant Bruegel’

ในตำนานเทพเจ้ากรีก Icarus สามารถบินได้ด้วยปีกที่สร้างโดย Daedalus ผู้เป็นพ่อ แต่ก็ได้ตักเตือนลูกชายไม่ให้บินเข้าใกล้พระอาทิตย์หรือทะเลจนเกินไป เพราะความตื่นเต้น Icarus ก็บินสูงขึ้นจนใกล้พระอาทิตย์ ความร้อนแรงหลอมละลายขี้ผึ้งที่เชื่อมขนนกบนปีกจนตกจากท้องฟ้าลงไปทะเลและจมน้ำตาย ซึ่งในภาพนี้ขาของเด็กชายยังคงโผล่อยู่เหนือน้ำทางมุมล่างขวาของภาพไม่ไกลจากเรือ แต่พระอาทิตย์เกือบตกดินแล้ว ก็แปลว่าเขาอาจเสียชีวิตมาสักพักใหญ่ๆ

เราสามารถมองตัวละคร Newton เทียบเท่ากับ Icarus ได้ ตัวเขาเคยอาศัยอยู่บนฟากฟ้าหรือดาวเคราะห์อื่น แต่เหตุผลบางสิ่งบางอย่างทำให้ต้องตกลงมาและท้ายที่สุดก็จมน้ำตาย

ภาพวาดนี้ยังสามารถมองในมุมมองของคนไถนา คนเลี้ยงแกะและคนหาปลา พวกเขาดูไม่สนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (กับ Icarus) สักเท่าไหร่ นี่เป็นการแสดงความไม่ยินดียินร้ายของมนุษย์ในความทุกข์ยากที่บังเกิดขึ้น ซึ่งก็สามารถสะท้อนเรื่องราวของ Newton ที่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับโลกมากมาย แต่ความสนใจของเขากลับอยู่ที่อย่างอื่นเสียมากกว่า

หลังจากพบเห็นม้าสีขาว (สัญลักษณ์ของความหวัง) Newton ครุ่นคิดหวนระลึกถึงอดีตเมื่อครั้งที่ดาวเคราะห์บ้านเกิดของตนเองยังเขียวขจีสดใส พ่อ-แม่ และลูกๆ ทั้งสองต่างวิ่งเล่นสนุกสนานเพลิดเพลินใจ จากนั้นทุกอย่างค่อยๆ แปรสภาพเปลี่ยนแปลง จนสุดท้ายกลายเป็นทะเลทรายอันแห้งแล้ง ชีวิตพบเจอความสิ้นหวัง

ไม่ต้องไปสนเหตุผลตรรกะว่าทำไมยานอวกาศหน้าตาคล้ายตู้รถไฟในหนังเรื่องนี้ถึงสามารถส่ง Newton ออกเดินทางมาสู่โลกได้ ผู้เขียนครุ่นคิดว่าการออกแบบให้สื่อความหมายของ ‘การเดินทาง’ แค่นั้นก็ถือว่าเป็นขนบของหนังอิงนวนิยายวิทยาศาสตร์เพียงพอแล้วกระมัง

ปืนสามารถแทนด้วยสัญลักษณ์ของลึงค์หรืออวัยวะเพศชาย ซึ่งก็แน่นอนละว่าเอามาใช้ในฉากร่วมรักอันสุดเหวี่ยง ย่อมถือเป็นอาวุธลำดับที่สอง (ซึ่งแอบเห็นของ Bowie แว้บๆ ด้วยนะ)

หลังจากยานอวกาศของ Newton ถูกระเบิดทำลายล้าง เขาเดินอย่างละห้อยและเศร้าสลดเข้ามาในบ้าน ผ่านรูปภาพลิง ซึ่งสะท้อนถึงวิวัฒนาการอันถดถอยของมวลมนุษย์ชาติ

จริงๆ แล้วภาพวาดนี้จะมีปรากฏขึ้นก่อนหน้าอีกครั้งหนึ่ง เมื่อตอนที่ Mary-Lou เดินทางมาหา Newton ความต้องการของเธอมีเพียงสัญชาตญาณสัตว์ที่มีความต้องการร่วมรักกับเขาเท่านั้นเอง

ในช็อตสุดท้ายของหนัง เวลาผ่านไปหลายปี ใครๆ ต่างแก่หง่อม แต่ไม่ใช่สำหรับมนุษย์ต่างดาว Newton ยังมีภาพลักษณ์คงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ภายในของเขาจมปลักในความทุกข์และโศกเศร้า หมดสิ้นความหวังและหมดอาลัยตายอยาก ดื่มด่ำและเมามายไปกับสุราจากเงินที่หลงเหลือมหาศาล เรียกได้ว่าชีวิต ‘ตก’ ต่ำถึงขีดสุด

ความมึนงงของหนังคือการไม่บ่งบอกระยะเวลาว่าดำเนินเคลื่อนผ่านไปเท่าไหร่แล้ว (เห็นว่าประมาณ 25 ปี) ซึ่งวิธีการเดียวจะสังเกตได้คือริ้วรอยเหี่ยวย่นกับผมหงอกบนศีรษะของตัวละครอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Newton นั่นเพราะสำหรับเขา ‘เวลา’ คือสิ่งคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง อายุขัยน่าจะยืนยาวหลายร้อยพันหมื่นแสนปีหรืออาจเป็นอมตะด้วยซ้ำนะ

The Man Who Fell to Earth คือเรื่องราวของบุคคลผู้มีความเพ้อฝันและทะเยอทะยานด้วยสติปัญญาความสามารถสูงส่งเหนือกว่าใคร เลยต้องการทำบางสิ่งบางอย่างให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย แต่กลับถูกสังคมโลกและระบบทุนนิยมฉุดเหนี่ยวเกี่ยวรั้งและกีดกั้นขวางทางจนในที่สุดก็มิอาจสมประสงค์ดั่งใจปอง

คงไม่ผิดอะไรที่จะมองว่าระบบทุนนิยม (และสหรัฐอเมริกา) คือแนวคิดที่เต็มไปด้วยสิ่งมอมเมาผู้คนให้ลุ่มหลงในเงินทอง ชื่อเสียงและความสำเร็จ แม้เทคโนโลยีและความเจริญก้าวหน้าล้ำสมัย แต่จิตใจของคนกลับตกต่ำทรามลงทุกวัน วิวัฒนาการมนุษย์ราวกับกำลังย้อนถอยหลังกลายเป็นลิง สัตว์เดรัจฉานใช้ชีวิตเพียงสนองสัญชาตญาณและความสุขสำราญสของตนเองเท่านั้น

มุมมองอื่นของ The Man Who Fell to Earth เปรียบ Thomas Jerome Newton ได้กับผู้อพยพ/ลี้ภัยเข้าสู่สหรัฐอเมริกา (อาทิ ชาวยิว, ชาวเอเชีย, คนผิวสี) มุ่งมั่นตั้งใจทำงานจนประสบความสำเร็จ แต่เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งกลับถูกตรวจสอบ กีดกันและผลักไสไล่ส่ง เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่อเมริกันชนแท้ๆ

พระเจ้า/บุตรของพระเจ้าจุติลงมาเพื่อช่วยเหลือผลักดันให้มนุษย์มีพัฒนาการและความเจริญก้าวหน้า แต่สุดท้ายกลับพ่ายแพ้ให้กับความมักมากและเห็นแก่ตัว (ประมาณว่าพระเจ้ายังพ่ายแพ้ต่อทุนนิยม)

นอกจากนี้ยังสามารถเปรียบเทียบตรงๆ ว่า Newton คือตัวแทนที่สามารถแทนด้วย David Bowie และผู้กำกับ Nicolas Roeg ทั้งสองถือเป็นพวกนอกคอก หัวขบถ ชอบทำตัวแตกต่างและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่กลับถูกกีดกันและกั้นขวางโดยสังคม/กองเซนเซอร์ที่มักเห็นอะไรๆ แตกต่าง

หนังพยายามนำเสนอว่า ‘ปัจจัยภายนอก’ คืออิทธิพลสำคัญที่ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ แต่ที่สุดแท้จริงของปัญหานั้น ล้วนเกิดจาก ‘ภายใน’ จิตใจของเราเองที่เมื่อประสบความล้มเหลวก็มักยกธงขาวยอมแพ้ หมดสิ้นอาลัยตายอยาก จมปลักอยู่ในโคลนตม ไม่คิดจะลุกขึ้นตะเกียกตะกายไขว่คว้าหาโอกาสครั้งใหม่… ก็แปลกนะทั้งๆ ที่ก็เฉลียวฉลาด อายุยืนยาวและมีเวลาตั้งมากมาย แต่กลับพ่ายต่อจิตใจตนเองซะอย่างนั้น

ส่วนตัวไม่ค่อยประทับใจหนังสักเท่าไหร่ เพราะการเล่นท่ายากมากเกินไป คนดูเลยขี้เกียจทำความเข้าใจรายละเอียดเล็กๆ ยิบย่อย แต่ก็แอบอึ้งในทิศทางการกำกับของผู้กำกับ Nicolas Roeg ว่าคิดได้ไง! จะซับซ้อนไปไหน

Don`t copy text!