Harold and Maude

Harold and Maude

โดย : ภาสกร ศรีศุข

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

************************

Harold and Maude

ผู้กำกับ : Hal Ashby

ผู้อำนวยการสร้าง : Colin Higgins, Charles B. Mulvehill

ผู้เขียนบท : Colin Higgins

นักแสดง : Ruth Gordon, Bud Cort

ดนตรีประกอบ : Cat Stevens

ผู้กำกับภาพ : John Alonzo

ผู้ตัดต่อ : William A. Sawyer, Edward Warschilka

หนังเล่าเรื่องถึงฮารอลด์เด็กผู้ชายอายุ 18 ปี ที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยมากๆ ฐานะหนึ่ง งานอดิเรกของเขาก็คือ… การแกล้งทำเป็นฆ่าตัวตายและการไปงานศพคนแปลกหน้าที่เขาไม่เคยคุยด้วยหรือเจอกันมาก่อน

ฮารอลด์เป็นเด็กเก็บตัว ขี้อาย และมีความคิดแปลกประหลาดจนจิตแพทย์ลงความเห็นว่าเขาป่วยมีอาการทางจิต ฮารอลด์ไม่มีเพื่อนที่สนิทในวัยเดียวกันสักคน พ่อแม่ที่แสนร่ำรวยก็ไม่เคยสนใจเขา เพราะวันๆ เอาแต่ยุ่งอยู่กับการทำงาน และการเอาแต่จับคู่หมั้นทางการเมืองให้กับลูกชาย ซึ่งฮารอลด์ก็ประหลาดเกินกว่าที่คู่หมั้นของเขาจะอยู่ด้วยได้ เขาไม่รู้ว่าเขาจะใช้ชีวิตไปทำไม ชีวิตของเขาว่างเปล่าเหมือนหายใจทิ้งไปวันๆ ฮารอลด์ใช้ชีวิตอย่างไร้ความหมาย จนกระทั่งเจอกับโม้ด ผู้หญิงวัย 80 ที่ใช้ชีวิตตรงกันข้ามกับเขาทุกอย่าง

เธอใช้ชีวิตราวทุกวันคือเรื่องเกี่ยวกับวันนี้ เธอไม่สนใจอะไรรอบตัวเธอมากนัก เธอรักในต้นไม้ รักในการทำให้โลกนี้มีความหมาย ทั้งกับตัวเธอและคนรอบตัว เธอรักในการเต้นรำ เธอเป็นฮิปปี้ที่มองว่าต้นไม้ไม่ควรอยู่ริมถนนข้างทาง เธอมักจะเอาพลั่วมาขุดดินเพื่อขโมยรากต้นไม้ไปปลูกในป่าเสมอๆ ด้วยมอเตอร์ไซค์ฮาเลย์ของเธอ และเธอมองว่าสัตว์ไม่ควรถูกขังในกรง ความงดงามสามารถดำรงอยู่ได้ขอแค่ให้มันมีอิสระ โม้ดสอนให้ฮารอลด์รู้จักเสียงดนตรี การเต้นรำ ความรัก สีที่แตกต่างกันของดอกไม้และต้นไม้ คุณค่าของการมีชีวิต และความหมายของการอยู่ต่อ

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

แม้จะเป็นหนังชีวิตแต่ลีลาการเล่าเรื่องก็ออกแนวเกินจริงนิดๆ ซึ่งความเกินจริงและความล้นที่ว่ากลับไม่ได้ทำให้หนังเสียกระบวนเลย แต่กลับทำให้การเสียดสีประเด็นต่างๆ ที่หนังใส่ลงมามีรสชาติจัดจ้านยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ตัวอย่างเช่น เรื่องของฮารอลด์ เด็กหนุ่มตัวเอกของเรื่องที่บทของเขานั้นถือเป็นการสะท้อนชีวิตวัยรุ่นที่ต้องอยู่ในกรอบของพ่อแม่ แม้เขาจะมีเงินทองให้ใช้มากมาย แต่เขากลับพบว่าชีวิตที่ตัวเองดำเนินนั้นมันจืดชืดไร้อิสระจนแทบไม่ต่างอะไรกับตายไปแล้ว

ในหนังเราจะได้เห็นฮารอลด์แกล้งฆ่าตัวตายรอบแล้วรอบเล่า ส่วนหนึ่งก็เพื่อหาทางจบชีวิตอันแสนน่าเบื่อของตนลง พร้อมๆ กับเรียกความสนใจ (ที่ไม่มีวันจะได้) จากแม่บังเกิดเกล้า แต่แม่ก็ไม่คิดจะหันมาเข้าใจ เอาแต่วางแผนบงการชีวิตลูกแบบคิดเองเออเองว่าลูกฉันต้องการแบบนี้ (ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นความต้องการของแม่มากกว่า) จนลูกหมกมุ่นเรื่องความตาย ไปงานศพประจำ แล้วยังไปดูเขาพังตึก ดูลานขยะ เรียกว่าจมอยู่กับการคิดทำลายตัวเองแบบเต็มๆ

แต่แล้วเมื่อเขาได้เจอโม้ด สาวแก่ผู้ร่าเริงและใช้ชีวิตประหนึ่งฮิปปี้วัยรุ่นที่ไม่สนใจกรอบกติกาที่มนุษย์ตั้ง แต่จะสนใจธรรมชาติ การสังเกตชีวิต และสนใจคนรอบข้าง เธอเลยสนใจที่จะให้เวลากับฮารอลด์แบบเต็มที่ คอยฟังและเข้าใจในสิ่งที่ฮารอลด์เป็น จนในที่สุดฮารอลด์ก็รู้สึกรักหญิงชราที่มีชีวิตชีวามากกว่าเด็กสาวรุ่นราวคราวเดียวกับเขา ชอบจนถึงขั้นรักไปในที่สุด

หนังสื่อถึงสิ่งง่ายๆ ที่หลายคนมักจะลืม เช่น ในยามที่พ่อแม่มีปัญหากับลูก สิ่งที่อาจจะต้องเริ่มคิดคือการทบทวนตัวเองว่าที่ผ่านมานั้นเรามีส่วนหล่อหลอมให้ลูกเป็นอย่างที่เขาเป็นตอนนี้หรือไม่ บางคนมีลูกชอบขึ้นเสียงก็ลองย้อนมองตัวเองว่า เราล่ะขึ้นเสียงให้ลูกเห็นบ่อยไหม หรือยามที่เรากับลูกมองหน้าต่อกันไม่ติด มองไม่ตรงกันทุกทียามคุยกัน หรือยามเกิดความห่างเหิน ก็ควรลองพิจารณาว่าเราเป็นฝ่ายเข้าหาเขา เป็นฝ่ายทำความเข้าใจกับเขาสักเพียงไหน เพราะครั้นจะไปหวังให้วัยรุ่นที่อ่อนเดียงสาเรื่องเหล่านี้เป็นฝ่ายเข้าหาก่อน และทำตัวเป็นผู้ใหญ่ก่อนอาจเป็นเรื่องยาก พ่อแม่และผู้ใหญ่ต่างหากที่ควรเริ่มทำตัวเป็นต้นแบบดีๆ ให้เขาเดินตาม แน่นอนว่าห่างเหินหรือสร้างช่องว่างให้ลูกเห็นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลูกจะเลียนแบบสร้างช่องว่างกับเราบ้าง

อีกหนึ่งเรื่องที่ควรคิดก็คือ เราได้ก้าวเข้าไปในโลกของเขาบ้างหรือไม่ หรือเอาแต่คิดจะจับลูกมายัดอยู่ในโลกของเรา ทำตามกฎเราเพียงอย่างเดียว โดยไม่แม้กระทั่งจะอธิบายให้เขาเข้าใจว่าทำไมต้องเป็นแบบนั้น ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจยามเห็นนายฮารอลด์พยายามแกล้งฆ่าตัวตายไม่รู้กี่หน… ก็เขาเหมือนไร้ตัวตนและไร้ความหมายอยู่แล้วนี่นา

แต่สำหรับโม้ดแล้ว เธอสนใจฮารอลด์อย่างจริงใจ เธอค่อยๆ เรียนรู้ว่าเขาชอบอะไรและโลกของเขาเป็นอย่างไรก่อน แล้วจากนั้นค่อยนำเสนอสิ่งที่ดี ค่อยสอดแทรกสิ่งสวยงามในโลกของเธอเข้าไปยังโลกของเขา

อย่างตอนที่ฮารอลด์บอกว่าชอบดูการทำลายโน่นนี่เป็นกิจวัตร ชอบไปงานศพ ชอบไปดู ‘จุดจบง’ ตามที่ต่างๆ โม้ดก็ค่อยๆ  พาเขาไปเจอกับ “จุดเริ่มต้น” อย่างดอกไม้บานหรือต้นไม้กลางใจเมืองที่โดนมลพิษรมจนเกือบตาย นี่เป็นการสอนฮารอลด์ง่ายๆ ว่าชีวิตไม่ได้มีแต่ทางตายอย่างเดียว มันยังมีการเกิดควบคู่กันไปเสมอ แม้เราจะเกิดมานานแล้ว เราก็ยังเกิดความรู้ใหม่ได้ทุกวัน เกิดความสนุกใหม่ เจอเพื่อนใหม่ได้อีกเรื่อยๆ

ใช่ว่าเราจะเกิดมาเพื่อรอความตายเพียงอย่างเดียวอย่างที่ฮารอลด์หมกมุ่นคิดอยู่ ใช่ว่าถ้าพ่อแม่ไม่ยอมให้เราได้เดินตามความฝันหรือไม่ยอมให้เราได้เป็นตัวของตัวเองแล้ว เราจะยอมแพ้และยอมลาโลกเพื่อจบทุกสิ่ง เพราะจริงๆ เราพยายามสู้เพื่อตัวเองได้ เราเพียรพยายามสร้างโลกสวยๆ แบบที่เรามีแพลนไว้ในหัวได้ แต่จุดสำคัญคือเราต้องมีพลังใจ มีพลังสมอง และมีชีวิตอยู่ ข้อหลังนี่สำคัญอย่างยิ่ง

เลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกเป็นได้ จะเป็นอะไรก็เลือกแล้วทำให้ได้ การดูหนังเรื่องนี้ต้องดูแบบเปิดใจ เพราะความสัมพันธ์ของฮารอลด์กับโม้ดอาจจะเกินคาดหมายใครหลายคนไปบ้าง แต่ก็เป็นการเสนอให้เราเข้าใจว่าความรักความเข้าใจอันแท้จริงนั้นเกิดได้ไม่จำกัดวัย มันเกิดได้เสมอกับคนที่ใช่จริงๆ สำหรับเรา

หนังเรื่องนี้มีความสวยงามในตัว อย่ามองเพียงว่ามีบทสรุปแปลกๆ แหวกๆ แล้วจะพาลไม่รับหนังเรื่องนี้ ดารานักแสดงในเรื่องถือว่ายอดเยี่ยม ดูเหมาะกับบทมาก โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนยกให้หนังเรื่องนี้เป็นงานชั้นดีสุดๆ ของผู้กำกับ Hal Ashby อยากให้ลองได้ชมหนังเรื่องนี้กันสักครั้งนะ เชื่อว่ามันต้องให้อะไรกับท่านแน่ ไม่มากก็น้อย

Don`t copy text!