Don’t Look Now

Don’t Look Now

โดย : ภาสกร ศรีศุข

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

************************

Don’t Look Now

ผู้กำกับ : Nicholas Roeg

ผู้อำนวยการสร้าง : Peter Katz

ผู้เขียนบท : Allan Scott, Chris Bryant

อ้างอิงจากเรื่องสั้นขนาดยาวเรื่อง Don’t Look Now โดย Daphne du Maurier

นักแสดง : Julie Christie, Donald Sutherland

ดนตรีประกอบ : Pino Donaggio

ผู้กำกับภาพ : Anthony B. Richmond

ผู้ตัดต่อ : Graeme Clifford

หนังเล่าเรื่องของสามีภรรยา ‘แบ็กซ์เตอร์’ ซึ่งสูญเสียลูกสาวจากอุบัติเหตุจมน้ำที่บ่อน้ำในสวนหลังบ้าน จากนั้นทั้งคู่ก็เดินทางไปยังเวนิซด้วยเหตุที่ ‘จอห์น แบ็กซเตอร์’ ได้รับการจ้างวานให้บูรณะโบสถ์แห่งหนึ่ง ซึ่งที่เวนิซเองทั้งคู่ได้พบกับหญิงตาบอดผู้เป็นร่างทรงที่อ้างว่าเธอ ‘มองเห็น’ ลูกสาวของเขาทั้งสอง ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้ ‘ลอรา’ ภรรยาของจอห์นมีความสุขขึ้นมา ต่างจากจอห์นที่มองหญิงตาบอดด้วยความเคลือบแคลงและรู้สึกหวั่นวิตกกับคำพูดของเธอ

สไตล์ของ Nicholas Roeg ขึ้นชื่อในเรื่องการนำเสนอเรื่องราวหรือพล็อตที่ไม่มีการเรียงลำดับเวลา เป็นการตัดต่อที่ไม่ต่อเนื่อง อยากจะใส่ภาพอะไรในช่วงเวลาไหนก็ใส่เข้ามา ไม่ว่าจะอดีต ปัจจุบัน อนาคต บางทีก็ใส่เข้ามาพร้อมกันในฉากเดียว มีคำกล่าวถึงสไตล์ของ Roeg ว่า “เปรียบเสมือนว่าเขาทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างแตกละเอียดออกเป็นพันๆ ชิ้น แล้วนำมาเรียงต่อกันใหม่ เข้ารหัสไว้แบบไม่สามารถคาดการณ์ได้ จนบางครั้งทำให้คุณสงสัยว่ามันเกิดบ้าอะไรขึ้นกันเนี่ย” คำเปรียบเทียบที่ตรงที่สุดคือ ‘กระเบื้องโมเสก’ ที่เกิดจากการเอาชิ้นส่วนกระเบื้องเล็กๆ หลากสีหลากขนาดมาเรียงต่อกัน มองใกล้ๆ อาจไม่เห็นอะไร แต่มองไกลๆ จะเห็นเป็นรูปร่างสวยงาม (ในหนังเรื่องนี้ก็จะเห็นกระเบื้องโมเสกเต็มไปหมดเลยนะ)

เทคนิคนี้ของ Roeg ถือว่ามีอิทธิพลต่อผู้กำกับหนังในยุคถัดๆ มา ต่อผู้กำกับดังๆ อาทิ Steven Soderbergh, Tony Scott, Ridley Scott, François Ozon และ Danny Boyle

หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือรวมเรื่องสั้นของ Daphne du Maurier เรื่อง Not After Midnight ตีพิมพ์เมื่อปี 1971 มีทั้งหมด 5 เรื่องยาว สำหรับเวอร์ชันที่ขายในอเมริกาเปลี่ยนชื่อเป็น Don’t Look Now (สลับเอาชื่อตอนอื่นมาเป็นชื่อหนังสือ) เมื่อพูดถึงผลงานดังๆ ของนักเขียนคนนี้ เชื่อว่าหลายคนอาจรู้จัก อาทิ Rebecca, The Bird สองเรื่องนี้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดย Alfred Hitchcock

ความโดดเด่นของการถ่ายภาพคือการจัดองค์ประกอบ การจัดแสง การเคลื่อนไหวกล้องและความต่อเนื่อง ผู้เขียนทึ่งที่สุดคือความต่อเนื่องของงานภาพ มันเหมือนว่าผู้กำกับต้องมีภาพทุกช็อตอยู่ในหัวแล้ว ถึงทำให้สามารถกำหนดทิศทางการเคลื่อนของกล้องที่ถูกต้องเหมาะสม ขณะที่มีการตัดต่อเพื่อเปลี่ยนฉากได้ เช่นมีฉากซีนหนึ่ง กล้องเคลื่อนเข้าหา (หรือซูมเข้า) รูปภาพที่มีคนใส่ชุดสีแดง แล้วตัดเปลี่ยนฉากไปเป็น กล้องเคลื่อนออก (หรือซูมออก) จากผิวน้ำที่เห็นภาพสะท้อนเด็กหญิงใส่ชุดสีแดง ฯ ผู้เขียนเห็นแล้วอ้าปากค้าง เฮ้ย เจ๋งว่ะ! น่าทึ่งมากๆ และมันไม่ได้มีแค่ครั้งสองครั้งในหนังนะ นับไม่ถ้วนเลยละ

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

สำหรับความสวยงามของเวนิซ คนส่วนใหญ่จะจดจำได้จากการล่องเรือ ตึกที่ตั้งอยู่เหนือน้ำ โบสถ์สวยๆ ดนตรีเพราะๆ และเทศกาลสวมหน้ากาก แต่น้อยคนจะได้เห็นระดับรากหญ้า พื้นฐานของเมืองนี้ สภาพคนทำงาน กลางค่ำกลางคืน ถนนหนทาง หรือโรงแรมนอกฤดูท่องเที่ยว ฯ ที่ผู้เขียนกล่าวมาเราจะได้เห็นทั้งหมดเลยนะ มันก็ไม่เชิงเป็นด้านมืดของเวนิส แต่ขอเรียกว่าอีกมุมหนึ่งของผู้คนที่มีชีวิตอยู่ที่นั่น เชื่อว่าเราคงไม่ได้เห็นวิถีชีวิตเหล่านี้จากหนังเรื่องอื่นใดอีกเป็นแน่ การเลือกถ่ายหนังช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงทำให้โทนภาพที่ออกมามีสีเทาจืดๆ เข้ากับบรรยากาศหนังมาก (ใกล้หน้าหนาวก่อนที่ทุกอย่างจะกลายเป็นสีขาว) และการจัดแสงในฉากกลางคืนทำให้เห็นตรอกซอกซอยที่ซับซ้อน มีความพิศวงเหมือนกำลังเดินอยู่ในเขาวงกตที่อันตราย

สีเด่นที่สุดของหนังคือสีแดง ชุดคลุมกันฝนของเด็กหญิงที่ปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่รู้อดีต/ปัจจุบัน/อนาคต (เธอตายไปตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วนะ แต่การตัดต่อสไตล์ Roeg จะผสมผสานอดีต/ปัจจุบัน/อนาคตให้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน) ตอนกลางคืน เราจะเห็นสีแดงนี้เด่นกว่าสีอื่น (เพราะการจัดแสงและองค์ประกอบสีของฉาก) นี่เป็นสีของเลือดและความตาย มี 2-3 ครั้งที่เราจะเห็นเด็กหญิงสวมชุดสีแดงแค่หางตาไกลๆ แล้วเธอก็เดินหายลับไปในมุมตึก ขณะอีกตัวละครเดินเข้ามา นี่คือจุดเริ่มต้นของ Hide-and-Seek แบบที่เราจะได้เห็นในหนัง Horror สมัยนี้ทั่วไป นอกจากชุดคลุมกันฝนแล้ว ก็มีผ้าพันคอของพระเอกที่เป็นสีแดงเด่น

ในเวนิสมีเรื่องราวประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสีแดงอยู่ด้วยนะ ในศตวรรษที่ 16 ชาวยิวถูกทางการบังคับให้ใส่ชุดสีแดงเพื่อแบ่งแยกฐานะและชนชั้น นี่ถือเป็นกฎหมายประกาศใช้จริงของเมือง ซึ่งภายหลังแก้กฎหมายใหม่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง เพราะสีแดงดันไปเหมือนชุดของ Cardinal มากเกินไป ในหนัง Cardinal ไม่ได้ใส่ชุดสีแดง (แต่ใส่หมวกสีแดง) และไม่ได้มีความหมายถึงยิว แต่มีอีกนัยยะหนึ่งคือเห็นสีแดงแล้วระลึกถึงเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต

อาจมีคนคิดว่ามันแปลกเกินไปหน่อยหรือเปล่าที่เด็กหญิงใส่ชุดคลุมกันฝนสีแดง ทั้งๆ ที่แดดก็ร้อน ฝนก็ไม่ได้ตก ผู้เขียนคิดว่าชุดคลุมสีแดงมีนัยยะเชิงสัญลักษณ์มากกว่าในทางปฏิบัตินะ เช่น ชุดคลุมแห่งความตาย, การปกป้องตนเองจากสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น ฯลฯ สาเหตุที่เด็กหญิงจมน้ำ หลายคนคงมโนไปว่าเธอคงพลาดตกน้ำขณะเอื้อมมือเก็บลูกบอล แต่ถ้าคุณสังเกตขณะที่พ่ออุ้มเด็กหญิงขึ้นมาจากน้ำ ใบหน้าของเธอหงายขึ้นไม่ใช่คว่ำลง (ถ้าจมน้ำก็ควรจะคว่ำตัวสิ ไม่ใช่หงายตัว) มีคนวิเคราะห์ว่านี่มีลักษณะเหมือนตำนาน Ophelia (ในนิยาย Shakespear) ใบหน้าของเธอที่เงยขึ้นแสดงถึงความทรงจำที่ผุดขึ้นจากส่วนลึกของจิตใจ (หรือสัมผัสที่ 6) นี่มองฉากแรกของหนังได้อีกอย่างว่าเป็นนิมิต การพยากรณ์ล่วงหน้าที่บอกว่ากำลังมีอีกหนึ่งความตายใกล้เข้ามา

การตัดต่อคือสิ่งที่โดดเด่นที่สุดในหนัง แต่ในปีที่ฉายนั้นกลับไม่ได้รับรางวัลอะไรเลย เป็นไปได้ยังไง! นอกจากการตัดต่อที่เชื่อมความต่อเนื่องระหว่างงานภาพแล้ว หนังยังมีการตัดสลับไปมาระหว่างสองเหตุการณ์ที่โดดเด่นมากๆ โดยเฉพาะฉาก Sex Scene อันลือลั่นที่ทำการตัดสลับระหว่างการมีเซ็กซ์ที่เร่าร้อน กับพวกเขาทั้งสองกำลังแต่งตัวเพื่อออกไปกินข้าวเย็น หากกล่าวถึงความหมายของฉากนี้ เซ็กซ์คือความใกล้ชิดของคนสองคนที่กลายเป็นหนึ่ง ส่วนการแต่งตัวคือแยกออกจากกัน นี่จึงสื่อถึงความแตกต่างและการเป็นตัวตนของตนเอง

ในฉาก Sex Scene ผู้เขียนเกิดคำถามขณะดูว่ามันจำเป็นต้องให้เร่าร้อนรุนแรงขนาดนั้นด้วยหรือ นี่ต้องดูหนังจนจบถึงจะตอบได้ว่าจำเป็นนะ เพราะนี่เป็นฉากที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวละครที่แสดงโดย Sutherland และ Christie มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมากๆ สัมผัสได้ราวกับว่าเป็นคู่รักที่แต่งงานกันจริงๆ นี่ทำให้เวลาใครคนหนึ่งมีปัญหา อีกคนจะวิตกกังวล เป็นห่วงเป็นใยอย่างลึกซึ้ง เซ็กซ์ที่รุนแรงแสดงถึงความความสัมพันธ์ที่แนบแน่นเป็นที่สุดของทั้งคู่ มีนักวิเคราะห์มองว่าฉากนี้สามารถมองได้ถึงการมีเซ็กซ์นับครั้งไม่ถ้วนของพวกเขา เพราะการตัดสลับที่เหมือนว่าเสร็จแล้วเริ่มใหม่ วนเวียนซ้ำๆ ระหว่างมีเซ็กซ์กับแต่งตัวอยู่หลายหน ถึงเราจะเห็นเหมือนพวกเขามีเซ็กซ์กันแค่ครั้งเดียว แต่นัยยะการตัดต่อแบบนี้ หมายถึงตลอดเวลา หลายครั้งและนับไม่ถ้วน

สัมผัสที่ 6, นิมิต, ลางสังหรณ์ และสัญชาติญาณ ในมุมหนึ่งคำพวกนี้ก็มีความหมายแบบเดียวกันต่อสิ่งที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่สามารถอธิบายได้ ถ้าฉันทำแบบนี้จะรู้สึกไม่ดีแน่ หรือฉันต้องทำแบบนี้ให้ได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น มนุษย์เรามีการเลือกรับการตีความกับสิ่งเหล่านี้ต่างกันออกไป บ้างก็เชื่อทันทีและทำไปโดยไม่เคยพิจารณา บ้างก็หัวชนฝาไม่คิดไม่ทำแน่นอน แต่ว่ากันจริงๆ การกระทำกว่า 90% ของมนุษย์ล้วนเกิดขึ้นโดยสัญชาตญาณทั้งนั้นและมักไม่รู้ตัวด้วย เช่น เวลาคันก็ยกมือเกา คงมีน้อยมากๆ ที่พอคัน จะมาคิดว่า เกาไหม หรือไม่เกา ถ้าไม่ใช่สิ่งที่มีผลกระทบต่อตัวเองหรือบางสิ่งบางอย่าง ก็คงไม่มีใครมาเสียเวลาคิดเรื่องบางเรื่องให้เปลืองสมองหรอก เมื่อยก็ขยับ หิวก็กิน ปวดฉี่ก็เข้าห้องน้ำ นี่ต้องใช้ความคิดด้วยเหรอ

ผู้เขียนคิดว่าเหตุผลที่พระเอกตามคนสวมชุดแดงไปในช่วงท้ายเพราะความต้องการที่จะหาคำตอบเพื่อยืนยันความเชื่อ ความคิดของตัวเองในความสับสนที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ตน อะไรจริงอะไรเท็จ ครั้งนี้ต้องขอพิสูจน์ให้รู้ให้ได้คำตอบ ถือเป็นความโชคร้ายของเขาที่ได้พบกับอะไรก็ตามที่เรียกว่าโชคชะตาเล่นตลก คงถึงเวลาของเขาจริงๆ ไม่งั้นคงไม่มาเจออะไรแบบนี้แน่ ตอนจบแบบนี้ของหนัง มันกระชากใจคนดูพอสมควร ก็นึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี แต่กลายมาเป็นว่าหลอน! เลยมีนักวิจารณ์หลายคนมองว่านี่เป็นต้นแบบหนังประเภท Horror ด้วย สำหรับนัยยะของมัน ผู้เขียนคิดว่าอาจไม่มีความหมายอะไรเลย เป็นผลลัพธ์ของนิมิตที่มีมาตั้งแต่ต้นเรื่องเท่านั้น หรือถ้ามองว่าเป็นการไม่เชื่อในพระเอก ผู้เขียนคิดว่ามันก็ดูจะโหดร้ายไปหน่อย

สำหรับชื่อหนัง Don’t Look Now นี่เป็นชื่อที่น่าพิศวงมาก ผู้เขียนคิดว่าคือช่วงนิมิตสุดท้ายของ John “อย่าเพิ่งมองในตอนนี้” นี่น่าจะเป็นเสียงตะโกนเรียกของ Laura และ Christine ที่พยายามเรียกไม่ให้พ่อตามนิมิตไป

ในแนวคิดและคำถามของหนัง ถ้ามีใครไม่รู้มาเตือนว่า “ให้ระวังตัวไว้จะมีอันตราย” เป็นคุณจะเชื่อหรือเปล่า คนไทยเชื่อว่าส่วนใหญ่จะ ‘เชื่อ’ ไว้ก่อน เพราะเราเป็นชาวพุทธที่ค่อนข้างเชื่อเรื่องแนวลี้ลับแบบนี้อยู่แล้ว เป็นผู้เขียน ผู้เขียนก็เชื่อนะ คิดแล้วขนลุก ว่าไปก็เคยเจอกับตัวลักษณะนี้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่เตือนว่าจะมีอันตราย เป็นเตือนอย่างอื่น กระนั้นนี่ไม่ใช่กับคนยุโรป อเมริกา เรื่องพรรค์นี้คนส่วนใหญ่จะ ไม่เชื่อ ตราบใดที่ไม่เจอเข้ากับตัวเองก็ไม่เอามาคิดให้หนักหัวหรอก สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนตระหนักได้จากการดูหนังเรื่องนี้คือคนที่เขาเตือนเราคงจะต้องมั่นใจว่าเรารับฟังเขาจริงๆ ถ้าไม่ เขาคงไม่เตือนให้เสียเวลาหรอก ใครก็ไม่รู้ไม่ใช่เรื่องเขา และในเรื่องที่เขาเตือน ก็ควรจะพิจารณาให้มากนะ เดี๋ยวนี้คนหลอกลวงมีเยอะ ผู้เขียนเชื่ออย่างยิ่งว่าคนที่อยู่ดีๆ มาเตือนเรา เขาไม่หวังอะไรตอบแทนทั้งนั้น (พวกหวังผลตอบแทนนี่แหละ ตัวหลอกลวงเลย) ซึ่งถ้าเราเกิดอันตรายแล้วรอดพ้นหรือตระหนักขึ้นมาได้ นั่นแหละเราถึงค่อยตอบแทนเขา อยากให้เท่าไหร่ก็ตามศรัทธา นี่แหละถึงจะเหมาะสมที่สุด

นี่เป็นหนังที่ผู้เขียนหลงรักตั้งแต่นาทีแรก สังเกตเห็นการตัดสลับจากช็อตหนึ่งไปอีกช็อตหนึ่ง โดยผ่านวัตถุที่มีความหมาย/ลักษณะคล้ายๆ กัน นี่ถ้าเป็นแบบนี้ทั้งเรื่องจะสุดยอดมากๆ sequence แรกผ่านไป ก็ยืนยันความเชื่อนี้เลยว่าหนังทั้งเรื่องต้องเป็นแบบนี้ ถือเป็นความประทับใจแรกต่อหนังที่ดีสุดๆ ไปเลย

คิดว่าหนังดูยากพอสมควรนะ แต่ผู้เขียนดูหนังเรื่องนี้แทบจะเข้าใจโดยทันที ทุกสัญลักษณ์และภาษาของภาพยนตร์นี่เป็นสิ่งที่อาจต้องใช้ประสบการณ์ในการดูหนังพอสมควรถึงจะสามารถเข้าใจหนังได้โดยไม่ต้องคิดวิเคราะห์อะไรมาก ซึ่งคงเป็นความท้าทายของผู้ชมโดยทั่วไป ถ้าต้องการดูหนังให้เข้าใจ มันมีอะไรให้ขบคิดเยอะเลย ถ้าดูครั้งแรกแล้วยังเข้าใจไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งฝืน เอาเวลาไปเก็บประสบการณ์ ดูหนังเพิ่มอีกสัก 100-200 เรื่อง เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาก็จะเห็นความน่าสนเท่ห์สุดๆ ของหนังเรื่องนี้ได้

Don`t copy text!