Breakfast at Tiffany’s

Breakfast at Tiffany’s

โดย : ภาสกร ศรีศุข

Loading

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

*************************

ผู้กำกับ : Blake Edwards

ผู้อำนวยการสร้าง : Martin Jurow, Richard Shepherd

ผู้เขียนบท : George Axelrod

อ้างอิงจากนวนิยายเรื่อง Breakfast at Tiffany’s โดย Truman Capote

นักแสดง : Audrey Hepburn, George Peppard, Patricia Neal, Buddy Ebsen, Martin Balsam, Mickey Rooney

ดนตรีประกอบ : Henry Mancini

ผู้กำกับภาพ : Franz F. Planer

ผู้ตัดต่อ : Howard Smith

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

Breakfast at Tiffany’s บอกเล่าถึงเรื่องราวในนิวยอร์กช่วงปี 1943 หรือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่สหรัฐอเมริกาตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกภายหลังถูกโจมตีที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ นักเขียนหนุ่มไร้นามแถมยังยากไร้ ย้อนไปเล่าเรื่องในอดีตสมัยที่เขาเคยใช้ชีวิตอยู่ที่แมนฮัตตัน ย่านอัปเปอร์อีสต์ไซด์ ในอพาร์ตเมนต์สีอิฐน้ำตาล และที่แห่งนี้เองที่เขาได้รู้จัก ฮอลลี โกไลต์ลี หญิงสาวสังคมชั้นสูง ผู้ซึ่งมีชีวิตด้วยการออกงานสังคมกับชายรุ่นใหญ่กระเป๋าหนัก คนที่คอยพาเธอไปร้านอาหารหรืองานสังสรรค์ต่างๆ เอาอกเอาใจเธอด้วยเงินทอง และเธอก็หวังว่าจะได้แต่งงานกับใครสักคนเพื่อหลุดจากวังวนนี้

เมื่อเวลาผ่านไป ฮอลลีค่อยๆ เปิดใจเล่าเรื่องส่วนตัวของเธอกับนักเขียนหนุ่มทีละน้อย มุมมองและชีวิตที่เป็นแบบฉบับเฉพาะของฮอลลีทำให้นักเขียนหนุ่มตกหลุมรักเธอ แต่ด้วยทุกอย่างที่ประดังประเดเข้ามาในชีวิตของหญิงสาว ก็ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ครั้งนี้ไม่เป็นไปอย่างที่คิด

ภาพลักษณ์ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ทางแฟชั่นของ ออเดรย์ เฮปเบิร์น ได้สะท้อนค่านิยมผู้คนแห่งศตวรรษ 20 ลุ่มหลงความร่ำรวย เลิศหรู สิ่งของภายนอกแลดูระยิบระยับงามตา สูงส่งมีมูลค่ากว่าจิตวิญญาณความเป็นคน

ภาพ : https://www.newyorker.com/

Breakfast at Tiffany’s เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนค่านิยมของมนุษย์ ไม่เพียงทศวรรษ 50s-60s ตามพื้นหลังเรื่องราว แต่สามารถเหมารวมทั้งศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องมาถึงศตวรรษที่ 21 โลกที่ผู้คนเต็มไปด้วยความเพ้อฝัน ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง หลงใหลในภาพมายา รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส อัตลักษณ์ภายนอก พยายามทุกวิถีทางเพื่อตอบสนองราคะ-โทสะ-โมหะ หลงลืมสิ่งทรงคุณค่าสูงสุดภายใน ได้รับการเตือนสติก็ไม่เคยสาแก่ใจ

หลังจากรับชมหนังรอบนี้ ผู้เขียนพบเห็นสิ่งที่เป็น ‘ด้านมืด’ ซ่อนเร้นอยู่มากมาย ชัดเจนเลยว่าผู้กำกับพยายามกลบเกลื่อน บิดเบือน สร้างภาพมายา ‘ขายฝัน’ แถมตอนจบแฮปปี้เอนดิ้งเป็นอะไรที่โลกสวยเกินจริง นอกเสียจากการแสดงของออเดรย์ และบทเพลง Moon River โดยรวมรู้สึกค่อนข้างน่าผิดหวังทีเดียว

จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดจากนวนิยาย Breakfast at Tiffany’s แต่งโดย Truman Capote ชื่อจริง Truman Streckfus Persons นักเขียนชื่อดังสัญชาติอเมริกัน

ห้องของฮอลลีสะท้อนตัวตนความสนใจของเธอ แรกเริ่มมีเพียงความว่างเปล่า เฟอร์นิเจอร์คงแทบไม่ได้ซื้ออะไรใหม่ ข้าวของเครื่องใช้กระจัดกระจาย หาโน่นนี่นั่นเต็มไปด้วยความวุ่นวาย แถมกระเป๋าใส่เสื้อผ้าใช้เป็นที่เก็บโทรศัพท์ (มันเสียงดัง เลยเก็บซ่อนไว้ไม่ให้หนวกหู)

ภาพ : https://bookriot.com/

ผิดกับห้องของ Paul Varjak ได้รับการประดับตกแต่งอย่างเลิศหรูพิศมัย ลวดลายผนัง เฟอร์นิเจอร์ ราวกับหลุดจากโลกแฟนตาซีเพ้อฝัน แต่ลักษณะของผ้าม่าน มู่ลี่ สถานที่แห่งนี้ไม่ต่างอะไรกับกรงขัง

ทำไมนางเอกถึงไปรับประทานอาหารเช้าที่ Tiffany ร้านขายเครื่องประดับเพชรแห่งนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความเพ้อฝันของหญิงสาว ใคร่อยากได้ครอบครองเป็นเจ้าของ แต่ก็มีเพียง ‘เงินทอง’ เท่านั้นถึงสามารถตอบสนอง และที่ต้องเป็นยามเช้าหลังตื่นนอน (แต่เหมือนเธอยังฝันหวาน ไม่ได้นอนมากกว่า) เพื่อให้ตระหนักถึงความจริง วันนี้ยังได้แค่เฝ้ามอง อนาคตสักวันต้องไขว่คว้ามาสวมใส่คล้องคอให้จงได้!

หญิงสวยกับเพชรงามถือเป็นของคู่กันที่ช่วยเสริมความตระการตา มูลค่าราคาสูงยิ่งๆ ขึ้นไป แต่ถึงกระนั้นสิ่งเหล่านี้ก็แค่เพียงภาพลักษณ์ภายนอก มิสามารถบ่งบอกคุณค่าความงามทางจิตใจ นั่นไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าหรือรับรู้ได้โดยทันที

ใจความของ Breakfast at Tiffany’s นำเสนอเรื่องราวของหญิงสาวผู้พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้ได้ครอบครองสิ่งของที่เธอครุ่นคิดว่าล้ำค่าที่สุดในโลก นั่นคือเงินทอง เพชรพลอย และมหาเศรษฐีร่ำรวย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเธอก็กำลังได้รับบทเรียนจากเพื่อนรักเพื่อนตาย ‘ความรัก’ บริสุทธิ์จริงใจต่างหาก! ที่สูงค่าเสียจนไม่สามารถประเมินด้วยตัวเลขใดๆ ได้

ภาพ : https://www.hollywoodreporter.com/

นี่คือสาเหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนมองว่าตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้ช่างเป็นมายา ‘สไตล์ฮอลลีวูด’ โลกสวยเกินจริงไปเสียหน่อย ไม่กล้านำเสนอด้านมืด ความสิ้นหวังของตัวละคร ที่ยังสะท้อนค่านิยมผู้คนในยุคสมัยนั้นหรือแม้แต่สมัยนี้ ต่างจมปลักอยู่กับความเพ้อฝัน ลวงหลอกตนเอง มืดบอดเสียจนมองไม่เห็นสิ่งสวยงามทรงคุณค่าที่สุดภายในจิตใจคน

ส่วนตัวชื่นชอบและประทับใจการแสดงของ ออเดรย์ เฮปเบิร์น ต่อให้เสื้อผ้าแฟชั่นสวยอลังการสักเพียงไหน ก็มิอาจกลบเกลื่อนบดบังความบริสุทธิ์สดใส ตัวตนจิตวิญญาณแท้จริงลงได้ นอกจากภาพลักษณ์ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ทางแฟชั่น ก็บทเพลงประกอบ Moon River น้ำเสียงเล็กๆ แต่ดังกึกก้องกังวานสั่นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจของผู้ชมทั้งโลก

Don`t copy text!